เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา .. ระวังหน่อยก็ดี !


ขาดเรื่องสำคัญ คือ การพัฒนา “คน” ให้ทันกับ “ของ” ... เป็นดาบหลายคมที่อาจสร้างความลุ่มหลง เหลวไหล เป็นของเล่นที่ผลาญเวลาได้มากที่สุด

 

                ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.  2542 หมวด 9 ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  มีข้อความที่ระบุชัดแจ้ง  ถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  ทั้งในมาตรา  63  64  และ  65  ดังนี้


                มาตรา  63  รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่  สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์  วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  การศึกษาตามอัธยาศัย  การทะนุบำรุงศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น

                มาตรา  64  รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต  และพัฒนาแบบเรียน  ตำรา หนังสือทางวิชาการ  สื่อสิ่งพิมพ์อื่น  วัสดุอุปกรณ์  และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น  โดยเร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต  จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิตและมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิต  และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  ทั้งนี้  โดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม


                มาตรา 65  ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต  และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  เพื่อให้มีความรู้  ความสามารถ  และทักษะในการผลิต  รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม  มีคุณภาพ  และประสิทธิภาพ


                จะเห็นได้ว่าตามมาตรา  63  นั้นเป็นเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาทุกรูปแบบ  รวมทั้งเพื่อทะนุบำรุงศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมอีกด้วย  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องติดตามดูกันต่อไปว่าจะเป็นจริงได้สักแค่ไหน  เพราะพลังอำนาจและผลประโยชน์มหาศาลที่มีอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนนั้น  ไม่ธรรมดา


                สิ่งที่น่าสนใจติดตามอีกด้านหนึ่งก็คือผลอันเกิดจากการปฏิบัติตามมาตรา  64 และ 65  โดยในมาตรา  64 นั้น เน้นที่การพัฒนาและการผลิตสื่อเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้ในทางการศึกษา  ผลที่จะตามมาก็คือเราจะได้เห็นสื่อและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หลั่งไหลเข้าสู่สถานศึกษามากยิ่งขึ้น  ภายใต้เหตุผลที่สวยงามต่างๆ นานา และลงท้ายด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  64  ดังกล่าวข้างต้น


                ในแง่ของปริมาณ  ความสำเร็จของงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาคงดูได้ไม่ยาก  เพียงตรวจนับจำนวนเครื่องมือและสื่อต่างๆ ว่ามีเพียงพอและมีอัตราส่วนที่เหมาะสมกับอาจารย์และนักศึกษาหรือไม่  ซึ่งก็จะมีมาตรฐานที่เป็นสากลเป็นตัวเทียบอยู่แล้ว  จึงไม่น่าห่วงว่าเราจะล้าหลังไม่มีข้าวของที่จำเป็นไว้ใช้  เพราะการผลักดันให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง  คงมีมาจากหลายทิศทาง  ทั้งด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติและเหตุด้วยผลแอบแฝงในเชิงผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ แต่ปริมาณหรือจำนวนของสื่อหรือเครื่องมือที่มีใช้  ไม่น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของความสำเร็จในด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา


                เมื่อพิจารณาตามมาตรา  65  จะเห็นได้ชัดว่ามุ่งเน้นการพัฒนาที่ตัวบุคคล  ทั้งในส่วนของการผลิตและการใช้เทคโนโลยี  ข้อความสำคัญในวรรคสุดท้ายที่ว่า  “…รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม  มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ”  เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก  เพราะถ้ามองย้อนอดีตเรามักจะขาดเรื่องสำคัญ คือ  การพัฒนา “คน” ให้ทันกับ “ของ” ทำให้เครื่องมือเครื่องใช้ในระบบเทคโนโลยีต่างๆ เป็นของเล่นของคนกลุ่มหนึ่งไปโดยอัตโนมัติ  เหตุก็เพราะไม่ได้สนใจอย่างจริงจังกับการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ “ของ”  ที่มีให้คุ้มค่าที่สุดนั่นเอง  เทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องอะไรบางอย่างที่ แพง และเปลี่ยนแปลงเร็วตามเงื่อนไขของระบบทุนนิยมและกระแสแห่งวัตถุนิยม  ทั้งยังเป็นดาบหลายคมที่อาจสร้างความลุ่มหลง  เหลวไหล  เป็นของเล่นที่ผลาญเวลาได้มากที่สุด  ส่งเสริมความมักง่าย  ความเห็นแก่ตัวและการคดโกง  แถมด้วยเป็นเครื่องเร่งความเป็นทาส  ขาดความเป็นไทยได้มากยิ่งขึ้นด้วย


                ในทางกลับกันเราก็มีสิทธิ์ผลักดันให้เทคโนโลยี  เป็นเครื่องส่งเสริมความ “ฉลาดรู้”  และ “ปรีชาสามารถ” ให้เกิดมีขึ้นในผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน    ทั้งนี้เทคโนโลยีจะต้องได้รับการพัฒนา  ปรับเปลี่ยนและนำมาใช้อย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและการปฏิบัติและสนองตอบต่อกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่  ของทั้งอาจารย์และนักศึกษา

 

หมายเลขบันทึก: 20920เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2006 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

High-Tech และต้อง High-Touch คะ

แนวคิดที่เปลี่ยน..ไป "โลก"

Thoory --->>> To--->>> Practice

สวัสดีครับ
   ตามมาขอบคุณ คุณน้อง  Dr.Ka-poom
   ขออภัยครับที่ปล่อยให้โดดเดี่ยวอยู่ในบันทึกนี้ร่วม 2 ปี

ผมอยากได้ความหมายของคำว่าเทคโนโลยีเพื่อการศึกษากรุณาช่วยหน่อยนะครับหาไม่เจอ ขอบคุณครับ

เรียนคุณ

  •  หาง่ายครับ เข้า Google แล้วใส่คำที่อยากค้นหา เดี๋ยวก็เจอ
  •  คลิก ที่นี่ ก็ได้  แต่น่าเสียดาย คนเขียนไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มา
  •  ที่นี่ก็ดีครับ ... http://school.obec.go.th/sup_br3/t_2.htm
  • และอื่นๆอีกมากมาย

ขอบคุณมากครับ และจะรบกวนอีกอน่อยนะครับ คำว่านวัตกรรมการศึกษา กับนวัตกรรมเพื่อการศึกษา ความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไรครับ ขอความกรุณาด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณเจี๊ยบ

  • นวัตกรรมการศึกษา = Educational Education น่าจะหมายถึง ระบบปฏิบัติ อันเป็นแนวทางใหม่ๆ ที่วิจัย ทดลองทำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาทางการศึกษา
  • นวัตกรรมเพื่อการศึกษา ... โดยรูปคำน่าจะ = Innovation for Education ได้แก่ระบบปฏิบัติ หรือความคิด-การกระทำใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาทางการศึกษา
  • สรุปแล้วน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน  แม้จะใช้คำต่างกัน

"ระยะเวลา" ไม่ได้ทำให้บันทึกนี้ล้าสมัยแต่อย่างใดครับ 

"สร้างคน พัฒนาคน" ตาม "เทคโนโลยี" ยากที่ซู้ด ครับอาจารย์

เคยเห็นอาจารย์แถวนี้ ... พักการหาความรู้ใส่ตัว พัฒนาตน มาแล้ว 10 ปี เรียกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วสอนอย่างไร 10 ปีต่อมาก็สอนอย่างนั้น

เศร้าใจแท้ ๆ ครับ ... อุตส่าห์ได้มีโอกาสมาสอนบัณฑิต

แอบใส่ความคิดเห็นมาครับอาจารย์

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn

  • ขอบคุณครับที่แวะเวียนมาอ่านเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ที่น่าจะยังพูดกันต่อไปไม่รู้จบ  เพราะโรคเรื้อรังนี้รักษายากอย่างท่านว่า
  • เราโชคร้ายที่สะดวกสบายจนเกินพอดีมานานมากครับ .. ไม่มีเงื่อนไขแห่งภัยธรรมชาติ หรือความโหดร้ายของฤดูกาล มาสร้างความแกร่งให้พวกเรา
  • เป็นนักบริโภคที่ยิ่งใหญ่  ถลำตัวไปให้เขาหลอกแบบน่าสมเพชอยู่สม่ำเสมอ ... พูดเรื่องนี้ ของจะขึ้นอีกแล้วครับ .. ก็คงต้องมองไปข้างหน้า  ทำแต่ละก้าวให้ถูกต้องไปเรื่อยๆกระมังครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท