หลักการปฏิบัติธรรม


หลักการปฏิบัติธรรม

ถนนหลายสายย่อมนำไปสู่มรรค แต่โดยพื้นฐานแล้วย่อมมีทางเพียง 2 ทางเท่านั้น คือภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การเข้าถึงทฤษฎี หมายถึงการเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเนื้อหาสาระในการสอน และความเชื่อที่ว่าสรรพชีวิตย่อมรวมอยู่ในธรรมชาติอันเดียวกัน แต่ความเข้าใจตามหลักทฤษฎีนี้ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจน เพราะเราถูกห่อหุ้มด้วยอำนาจแห่งเวทนาและความหลง

สำหรับบุคคลที่ขจัดความหลงออกได้ ย่อมพบความจริงคือ บุคคลที่เพ่งพินิจต่อกำแพงธรรม (สุญญตาธรรม) อยู่เสมอ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตนเองและผู้อื่น ย่อมรวมความเป็นปุถุชนและพุทธะเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเป็นผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคงไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับอำนาจคัมภีร์ตำรา

บุคคลเช่นนั้น ย่อมประสบกับความสำเร็จ และไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีด้วย การไม่คลอนแคลนหวั่นไหวไปกับหลักทฤษฎี เรากล่าวว่าบุคคลนั้นเข้าสู่กระแสธรรม

การเข้าสู่กระแสธรรมโดยการปฏิบัติ หมายถึง การปฏิบัติที่ประกอบไปด้วยหลัก 4 ประการ (อริยสัจแบบมหายาน) เหล่านี้คือ

1.
การกำหนดรู้ทุกข์
2.
การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ
3.
การไม่มีความทะเยอทะยาน
4.
การเจริญภาวนาธรรม (อริยมรรค)

ประการที่ 1. การกำหนดรู้ทุกข์ เมื่อแสวงหาอริยมรรคย่อมเผชิญกับความยากลำบาก ผู้แสวงหาย่อมคิดถึงตัวเอง (ด้วยความท้อถอยว่า) "ในกัปกัลป์ที่ผ่านไป อันกำหนดนับไม่ได้นี้ ฉันได้ใช้ชีวิตสิ้นเปลืองไปกับสิ่งไร้สาระ และเวียนว่ายไปในภพภูมิต่างๆมากมาย บ่อยครั้งที่เราโกรธอย่างไร้เหตุล และละเมิดฝ่าฝืนทำสิ่งผิดนับครั้งไม่ถ้วน

มาบัดนี้ แม้จะไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เราก็ต้องถูกลงโทษด้วยอดีตกรรม เมื่อกรรมชั่วให้ผลตอบสนอง ทั้งเทวดาและมนุษย์ก็ไม่อาจมองเห็น ฉันจะก้มหน้ารับผลกรรมอันนี้ด้วยจิตใจที่เปิดเผย และจะไม่คร่ำครวญพร่ำบ่นถึงความไม่เป็นธรรม"

พระสูตรกล่าวว่า "เมื่อท่านพบกับความทุกข์ยากลำบากอย่าเสียใจ เพราะมันจะทำให้เกิดอุปาทาน" เมื่อเข้าใจเช่นนี้ชื่อว่าท่านทำถูกต้องกับทฤษฏี และการกำหนดรู้ทุกข์ย่อมทำให้ท่านเข้าสู่กระแสแห่งอริยมรรค

ประการที่ 2.การปรับปรุงแก้ไขทุกข์อยู่เสมอ ในฐานะเราเป็นสัตว์ที่ต้องตาย เราถูกสังขารธรรมทั้งหลายครอบงำไม่ใช่ตัวเราเอง ความทุกข์ความสุขที่เราได้รับล้วนเกิดจากสังขาร (การปรุงแต่งกาย-ใจ) เราจะไม่มีความรู้สึกเป็นสุขถ้าเราประสบโชคอันยิ่งใหญ่ เช่นชื่อเสียง โภคทรัพย์ เป็นต้น อันเป็นผลของบุญกุศลที่เราได้บำเพ็ญไว้ในอดีตกาล เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงโชคลาภก็หมดไป

ทำไมเราต้องยินดีพอใจในชีวิตเช่นนั้นด้วยเล่า ? เมื่อความสำเร็จและความล้มเหลวต่างก็เป็นสังขารธรรมทั้งนั้น จึงไม่ควรปล่อยจิตใจให้ฟู-แฟบไปกับสังขารเหล่านั้น ผู้ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสแห่งความสุข ความทุกข์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคอย่างเงียบๆ

ประการที่ 3. การไม่มีความทะเยอทะยาน คนในโลกนี้ถูกความหลงครอบงำ พวกเขาจึงมักหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับโลกธรรม ด้วยความหลงละเมอทะเยอทะยาน แต่ผู้รู้ (วิญญูชน) ย่อมตื่นตัว ท่านเหล่านั้นย่อมเลือกทำตามเหตุผลมากกว่าความเคยชิน และมีโยนิโสมนสิการ คือทำทุกสิ่งไว้ด้วยใจอันแยบคาย และปล่อยร่างกายให้เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล

ปรากฏการณ์(รูป-นาม) ทุกอย่างเป็นของว่างเปล่า ไม่มีคุณค่าควรแก่การทะยานอยาก ความเสื่อมกับความเจริญเกิดขึ้นและดับไป สลับกันอยู่ตลอดเวลา ความยินดีพอใจอยู่ในภพทั้งสาม เป็นเสมือนการอาศัยอยู่ในเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ การมีกายนี้จึงเป็นทุกข์

มีใครบ้างที่อาศัยกายนี้แล้ว พบกับความสงบสุข บรรดาผู้ที่เข้าใจสัจธรรมข้อนี้ ย่อมถ่ายถอนตนเองออกจากภพทั้งปวงและหยุดการปรุงแต่ง หรือทะยานอยากในสิ่งใดๆ

พระสูตรกล่าวว่า "การแสวงหาด้วยความทะยานอยากย่อมเป็นทุกข์, การไม่แสวงหาด้วยความอยากย่อมเป็นสุข" เมื่อไม่ทะยานอยาก ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในกระแสแห่งอริยมรรค

ประการที่ 4. การเจริญภาวนาธรรม คำว่า ธรรม หมายถึงปรมัตถสัจจะซึ่งถือว่าธรรมชาติทั้งปวงเป็นสิ่งบริสุทธิ์ด้วยธรรมสัจจะนี้ ปรากฏการณ์ทั้งปวงจึงเป็นความว่าง กิเลสตัณหา และอุปาทาน ทั้งที่เป็นอัตตวิสัยและภาวะวิสัยเป็นภาวะที่ไม่มีอยู่จริง

พระสูตรกล่าวว่า "ธรรมะ" เป็นนิชชีวะ คือ มิใช่สัตว์ บุคคล เพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายจากสัตว์บคุคลและธรรมะเป็นอนัตตา เพราะว่างเปล่าจากความมั่นหมายแห่งความเป็นตัวตน (ที่จะปฏิบัติตาม)

บุคคลผู้นั้นย่อมอุทิศทั้งกายชีวิต ตลอดถึงทรัพย์สมบัติให้เป็นทานโดยไม่เสียดาย และไม่หวังผลตอบแทนใดๆจากการให้ ไม่ว่าเป็นวัตถุ ข้าวของเงินทอง และไม่มีความลำเอียงยึดติดในการให้ทาน และช่วยสั่งสอนให้ผู้อื่นได้ขัดเกลากิเลสโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ

ดังนั้นเมื่อตนเองปฏิบัติได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่น และทำให้เขาได้เข้าถึงธรรมได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน เพราะการเอื้ออาทรต่อผู้อื่นก็เป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมไปด้วย และเมื่อบำเพ็ญบารมีธรรมทั้ง 6 ประการ นั้นก็ช่วยกำจัดความหลงของตนเองไปด้วย ซึ่งไม่ต้องไปบำเพ็ญคุณธรรมอย่างอื่นอีก (นอกจากบารมีธรรม 6 ประการ)

เมื่อตั้งอยู่ในคุณธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ต้องปฏิบัติธรรมอันอื่นอีกก็ได้ นี้คือความหมายของคำว่า "การปฏิบัติธรรม"

หมายเลขบันทึก: 208556เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2008 07:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วเข้าใจง่ายค่ะ คล้าย ๆ หลักของหลวงพ่อพุทธทาส  แต่ต้องใช้สมาธิในการอ่านสูงกว่านี้เยอะเลย  บุคคลผู้นั้นย่อมอุทิศทั้งกายชีวิต ตลอดถึงทรัพย์สมบัติให้เป็นทานโดยไม่เสียดาย และไม่หวังผลตอบแทนใดๆจากการให้ ไม่ว่าเป็นวัตถุ ข้าวของเงินทอง และไม่มีความลำเอียงยึดติดในการให้ทาน และช่วยสั่งสอนให้ผู้อื่นได้ขัดเกลากิเลสโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ

เมื่อวันศุกร์ได้รับโจทย์จากนักเรียนว่า "คุณครูครับการทำความดีทำไมต้องมีการประกวด  มันเป็นข้อจำกัด เพราะต้องทำตามกฏเกณฑ์  เพราะทุกคนมุ่งทำความดี"

วันนี้มาแสวงหาคำตอบค่ะ  แล้วจะมาตามอ่านอีกนะคะ  ว่าง ๆ ขอเชิญไปเยี่ยมพวกเราคนบ้านนอกบ้างนะคะ  ขอบคุณค่ะ

http://www.krukimpbmind.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท