กิจกรรมที่ดี ต้องไม่เพียงตอบสนองกิเลสส่วนตัวของตัวเอง (กระมัง)


กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคมที่ดีกว่า

หลังการเดินทางกลับจากวัดเกาะแก้ว 
อ.บ้านฝาง  จ.ขอนแก่น  ผมพาเจ้าสองหนุ่มตรงดิ่งเข้าเมือง   เพื่อตัดผมให้แล้วเสร็จ 
หลังจากละเลยเพราะไม่มีเวลามาแสนนาน ซึ่งกว่าจะกลับเข้าบ้านได้ เวลาก็ล่วงถึงสองทุ่มพอดิบพอดี

 

ในห้วงยามที่เพื่อนชีวิตไม่อยู่เช่นนี้  การมีโอกาสควบหน้าที่พ่อบ้านและแม่บ้านอย่างเสร็จสรรพ  พลอยให้ชีวิตดูตื่นเต้น  ท้าทาย และอบอุ่นไปในอีกมิติหนึ่ง

 

คืนนี้ (30 สิงหาคม 2551)  ผมมีบรรยายให้นิสิตได้รับฟังในเวทีโครงการ คืนใสใส สานสายใยชาวดิน  ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มนิสิตพรรคชาวดิน  โดยเนื้อหาที่ต้องบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนกับนิสิตนั้น  ก็หนีไม่พ้นเรื่องกิจกรรมของนิสิต  ประวัติความเป็นมาของพรรค  และพันธกิจของคนหนุ่มสาวที่มีต่อสังคม

 

แรกเริ่มผมร้อนใจมาก  เพราะไม่รู้จะดูแลลูก ๆ อย่างไรดี  เพราะการบรรยายนั้นเป็นช่วงเวลา 3-5 ทุ่ม ด้วยเหตุนี้  คงไม่สามารถพาพวกเขาไปนั่งข่มตาหลับอยู่ในเวทีนั้นได้เป็นแน่  จึงได้แต่พยายามโทรหาน้องนุ่งที่สนิทกันช่วยมาทำหน้าที่อยู่เป็นเพื่อนเจ้าสองหนุ่ม และพาพวกเขาเข้านอน ฯลฯ

 

 

ผมไปถึงเวทีในราวเกือบจะ 3  ทุ่ม อันเป็นช่วงเวลาที่พิธีบายศรีสู่ขวัญได้เสร็จสิ้นลง  จากนั้นการร่วมรับประทานอาหารของนิสิตก็เริ่มขึ้นอย่างคึกคัก  ขณะที่เวทีก็มีกิจกรรมบันเทิงเริงใจขับกล่อมอยู่อย่างครึกครื้น

 

ผมเกริ่นกล่าวเข้าสู่เนื้อหาการบรรยาย หรือพูดคุยกับนิสิตด้วยภาพรวมความเป็นมาของพรรคชาวดินโดยกว้าง ๆ  พร้อม ๆ กับการเชื่อมโยงให้เห็นบุคลิกของพรรคชาวดินให้นิสิตได้รับรู้ในทำนองว่า  เป็นกลุ่มนิสิตที่ค่อนข้างยึดมั่นหลักการ  จริงจัง  สร้างสรรค์และออกแนวศิลปิน  โดยมีปรัชญาการดำเนินงานของพรรคว่า กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคมที่ดีกว่า  และมีสโลแกนที่คุ้นหูว่า ศรัทธา  เชื่อมั่น

 

กรณีดังกล่าวนั้น  ผมยกตัวอย่างปรากฏการณ์ด้านกิจกรรมมายืนยันและสนับสนุนคำพูดของผมอย่างหนักแน่น  เป็นต้นว่า  การริเริ่มผลักดันให้มีสโมสรนิสิตคณะ  การยกร่างระเบียบแนวปฏิบัติว่าด้วยกิจกรรม  การประกาศนโยบายกระจายงบประมาณสู่ชมรม  การจัดกิจกรรมที่เข้มข้น เข้าร่วมการพิทักษ์สิทธิ์ของนิสิตและประชาชนมาอย่างสม่ำเสมอ (แต่ปัจจุบันแทบไม่พบ) 

 

และนั่นยังรวมถึง  การริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ขึ้นในมหาวิทยาลัย  เช่น  ลอยกระทง  มหกรรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน  ค่ายแบบบูรณาการที่ไม่เน้นการก่อสร้างวัตถุเสียทั้งหมด  (ค่ายสาธารณสุขสู่ชนบท)  ต้นไม้สายใยรัก  กระดาษเพื่อน้อง  ต้านลมหนาวสานปัญญา  ฟุตบอล 7  คน  ฯลฯ 

 

ขณะที่ด้านศิลปะศิลปินนั้น  ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า  พรรคชาวดินเป็นต้นตำรับของการจัดกิจกรรมในทำนองศิลปะแขนงต่าง ๆ อยู่มากโข  ทั้งจัดคอนเสริ์ต (โครงการหอบเสื่อมาเผื่อน้อง)  โดยเชิญศิลปินมีชื่อมาแสดงดนตรี  หรือไม่ก็ทอล์คโชว์  ซึ่งเน้นแนวคิดนั่งฟังสบาย ๆ  ไม่เต้นแร้งเต้นกาเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  พร้อม ๆ กับการสนับสนุนให้นิสิตแกนนำของพรรค (ประจวบ จันทร์หมื่น)   ได้ออกอัลบั้มเพลงของตัวเอง   และจัดคอนเสริ์ตของตนเองขึ้นในมหาวิทยาลัย   ซึ่งนั่นน่าจะเป็นมิติใหม่ในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้  (ปัจจุบันนิสิตท่านนั้นก็กลายเป็นศิลปินที่มีอัลบั้มเพลงสังกัดค่ายดังไปแล้ว)

 

กิจกรรมในทำนองนี้  ต้องยอมรับว่า  เป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงความกล้าของนิสิตพรรคชาวดินในการค้นหาแนวทางใหม่ในการจัดหาทุนไปทำกิจกรรม  แทนที่จะเน้นการฉายหนังอย่างเดียว  แต่กลับนำมิติด้านดนตรีและทอล์คโชว์มาเป็นทางเลือก  ซึ่งบางครั้งก็ทำสติ๊กเกอร์จำหน่ายในราคาถูก  เรียกได้ว่า  ได้ทั้งเงินและกระแสของการปลุกเร้าจิตสำนึกในวาระต่าง ๆ  ไปด้วยเช่นกัน

 

เกี่ยวกับการจัดคอนเสริ์ตนั้น  ผมยังจำแม่นเลยว่า  หอบเสื่อมาเผื่อน้อง โครงการ 2”  ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2540  นั้น  ได้กำไรมาก้อนโตเป็นแสนบาทเลยทีเดียว 

 

-         รายได้ส่วนหนึ่งนำไปจัดกิจกรรม ผ้าป่าอาหารสัตว์ ที่จังหวัดชัยภูมิ  และกิจกรรม ค่ายสาธารณสุขสู่ชนบท  ที่บ้านผาน้อย  อ.วังสะพุง จ.เลย  ซึ่งเป็นการสร้างห้องน้ำให้นักเรียน  อบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์และยาเสพติด  รวมถึงการจับมือกับโรงพยาบาลจังหวัดเลยออกหน่วยบริการตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้าน 

 

กิจกรรมที่ผมยกตัวอย่างนั้น  ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมในการริเริ่มและบุกเบิกในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า  กิจกรรมหลายกิจกรรมก็ปิดตัวลง  ไม่มีการสานต่อ  หลงเหลือเพียงเรื่องเล่าและภาพถ่ายเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้นที่พอให้แตะต้องและสัมผัสได้

 

 

 

 

ภายหลังการพูดคุย หรือนำเสนอเรื่องราวในทำนองประวัติของพรรคผ่านมิติกิจกรรมต่าง ๆ  โดยสังเขปแล้วนั้น  ผมก็เชื่อมโยงมาถึงการทำกิจกรรมในภาพรวมของสังคม 

 

หลัก ๆ  ผมสะท้อนแนวคิดของตัวเองว่า  กิจกรรมที่ดี ต้องไม่เพียงตอบสนองกิเลสส่วนตัวของตัวเองเท่านั้น  แต่ควรต้องตอบสนองต่อสังคมด้วย  ซึ่งนั่นก็หมายถึงการรับใช้สังคม  เฉกเช่นปรัชญาของพรรคที่ว่า กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคมที่ดีกว่า และปรัชญาของมหาวิทยาลัย ดังว่า ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน

 

รวมถึงแนวคิดที่ว่า 

-    กิจกรรม คือ การเรียนรู้ที่ไม่มีถูก  มีผิด 

-         กิจกรรม คือ  เครื่องมือในการค้นหาตัวเอง , ค้นหาเพื่อน และค้นหาสังคม

-         กิจกรรม คือ  เรือนเพาะชำชีวิตของนิสิต

-         กิจกรรม คือ เบ้าหลอมจิตสำนึกสาธารณะ

-         กิจกรรม คือ กระบวนการสังเคราะห์ความหมายของชีวิตและการมีอยู่ของชีวิต ฯลฯ

 

ในตอนท้ายของค่ำคืนนั้น  -
ผมได้หยิบยกเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า  
คำขานรับ  ของศรีบูรพา (กุหลาบ  สายประดิษฐ์)  ให้กับนิสิตฟังโดยคร่าว ๆ  โดยเรื่องสั้นดังกล่าวถูกพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์ ซึ่งเป็นการพิมพ์ก่อนยุคปี พ.ศ. 2500 เลยทีเดียว

 

เรื่องสั้นดังกล่าว  สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตของปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัย  และสภาพการณ์ของมหาวิทยาลัยในมุมอันแปลกแยกไปจากที่สังคมวาดหวังไว้

โดยตัวละครเอกฝ่ายชายได้ตัดสินใจหันหลังให้กับมหาวิทยาลัย  ไม่ยอมเข้าสอบเพื่อให้สำเร็จการศึกษาตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย  พร้อม ๆ  กับการบอกลาหญิงสาวคนรัก  เพื่อออกไปค้นหาความหมายของชีวิตในวิถีของตนเอง 

 

และนี่คือส่วนหนึ่งของถ้อยคำที่ปรากฏในเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า คำขานรับ

 

....คนที่ประสงค์เพียงแต่จะหากินเลี้ยงชีพให้เป็นสุขสำราญไปวันหนึ่ง ๆ  ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย  เพราะคนเกือบทั้งประเทศ ก็ไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย  แต่เขาก็เลี้ยงตัวและครอบครัว มีความสุขสบายไปตามเรื่องตามทางของเขา ...

 

... การที่เรามาเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อจะศึกษาให้มีวิชาความรู้สึกซึ้งนั้น  จะต้องมีความมุ่งหมายที่อยู่เหนือไปกว่าการมาขนเอาวิชาไปทำมาหากินเลี้ยงชีพเพื่อตัวเราเท่านั้น  เราควรจะมีความมุ่งหมายเพื่อจะได้ช่วยผู้อื่นที่ช่วยตัวเองได้ ...

 

... มหาวิทยาลัยของเราไม่ต่างไปกว่าที่อื่น ๆ  ที่ผมได้ผ่านมาแล้วในวัยเด็ก  คือ แทนที่จะเป็นทางเปิดให้เราไปสู่อิสรภาพ  กลับกลายเป็นที่คุมขังอันมั่นคง  คุมขังเราไว้ในประเพณีและความคิดเก่า ๆ  

 

...  ตราบใดที่เราคิดถึงแต่ตัวของเราล้วน ๆ คือตั้งหน้าเรียนไป  เพื่อจะได้กระดาษแผ่นหนึ่ง  สำหรับจะไปประมูลเอาราคาสูงสุดในตลาดของความขี้ฉ้อขูดรีด  เราก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเด็กที่อ่อนโยน สุภาพและน่ารัก  แต่ถ้าเราแบ่งเวลาไปคิดถึงเรื่องของคนอื่น ๆ  คิดถึงความทุกข์ยาก และความกดขี่อยุติธรรม ที่เกิดขึ้นที่ที่นั่นและที่โน่น ... เราก็จะถูกแลดูด้วยดวงตาอันทมึงทึง และถูกบริภาษว่าเป็นเด็กที่เกะกะ เป็นผู้ที่จะก่อกวนความไม่สงบ ......

 

 

 

ผมไม่รู้หรอกว่า  การนำเรื่องราวในแนวอุดมคติมาบอกเล่ากับนิสิตท่ามยุคสมัยเช่นนี้  จะถือเป็นเรื่องเฉิ่มเชยหรือไม่  แต่ถึงกระนั้น  ผมก็ทบทวนแล้วว่า  การนำเรื่อง คำขานรับ  มาบอกกล่าวกับพวกเขา  ก็ดีกว่าไม่นำมาพูด  อย่างน้อยก็คงช่วยให้กิจกรรมในค่ำคืนนั้น  ดูมีสาระขึ้นบ้างกระมัง  -

 

ส่วนเขาจะรับรู้ รับฟัง และ ขานรับ  ต่อแนวคิดเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน  ทุกอย่างก็สุดแท้แต่นิสิตจะเลือกที่จะค้นหา  หรือแสวงหาความหมายของการเรียนและการใช้ชีวิตด้วยตัวของเขาเอง

 

สำหรับผมแล้ว .. ผมแค่มาบอกเล่าเรื่องราวบางเรื่องเท่านั้น 
และไม่ลืมที่จะ  พ่วงแถมหน้าที่อีกอย่าง  คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเรียนและการใช้ชีวิตของพวกเขา -  (ผู้ซึ่งเรียกตนเองว่า "ปัญญาชน")

สำหรับผมแล้ว...
ค่ำคืนนั้น  ผมว่า  ผมทำดีที่สุดแล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 207409เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2008 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาชื่นชม คุณแผ่นดิน

บรรยายได้ดี เห็นบรรยากาศเลยนะนี่

สวัสดีครับ อ.. umi

อันที่จริง  จะให้ดีเรื่องสั้นเรื่องนี้ต้องอ่านให้จบทั้งเรื่องนะครับถึงจะเข้าใจในวัตถุประสงค์ หรือแนวคิดที่ปรากฏในเรื่องสั้น  แต่ที่ผมยกมาสั้น ๆ นั้น  เพียงเพื่อสื่อสารให้รู้ว่า  การเรียนในมหาวิทยาลัย คงไม่ใช่เพาะร่ำเรียนเพื่อให้จบไปแล้วมี "ใบเบิกทาง"  ไปสู่อาชีพอย่างเดียว  หากแต่หมายถึง  การเรียนรู้ชีวิตไปพร้อม ๆ กับการเรียนหนังสือ

และนั่นก็รวมถึง  การย้ำให้นิสิตนักศึกษา  ได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองที่ต้องเติบใหญ่มาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ  .

ขอบพระคุณครับ

 

 

กว่าจะมีเวลาได้ทำในสิ่งที่ตอบสนองกิเลสส่วนตัว..เวลาของแต่ละวันของผมก็ล่วงเลยไปเกือบจะเป็นวันใหม่ซะแล้ว...

เพราะทุกวันนี้ถูกปีบคันด้วยภาระหน้าที่การงาน(อย่างหนักหน่วง)บางวันคำก็ไม่ได้ยืน..คืนก็ไม่ได้อยู่..เดินทางท ำงานในกรุงเทพและปริมณฑลเผื่อจะถึงที่พักก็ดึกดื่นเลยครับ

จนกิจกรรมที่สนองกิเลสที่ผมวางแผนต้องผลัดวันไปจนเกิดความโหยหา เช่น เข้าแผงหนังสือ,ท่องเน็ต,ฟังการปราศัย,ติดตามงานเขียนบทความที่เคยเสพอ่าน..!!!!!

"กิจกรรมคืนใสใส..สานสายใยชาวดิน.." ผมคงได้แต่จินตนาการบรรยากาศงาน ที่ปัจจุบันแนวคิดของต้นกล้าชาวรุ่นใหม่ๆกับแนวทางการทำงานทีสนองความคิด..หรือปฎิบัติตามคำสั่งนโยบายฯ..หรือวิถีทางใหม่ๆจนสูญเสียอิสรภาพความคิดหรือแนวคิดที่เป็นตัวของตัวเอง(เหมือนผมตอนนี้...ฮ่าๆ) หรือจินตนาการผมอาจจะผิดผมก็ไม่เสียใจครับ..แต่ปลุกใจที่ผมยังได้เห็นยังได้ยินคำว่า "ศรัทธา เชื่อมัน" ขอบคุณพี่มากครับที่ยังคอยถ่ายทอดบรรให้ได้ติดตามอยู่ตลอด..ยังคงให้ผมมีกำลังใจและแนวคิดที่ทำให้ผม"ไม่หลงลืมอะไรไปบางอย่าง"

 

ส่งดอกไม้ที่บ้านพี่สาวมาเป็นกำลังใจค่ะ

Az111

สวัสดีค่ะอ.แผ่นดิน

อ่านแล้วเหมือนได้ร่วมในกิจกรรมด้วย...

ชอบที่ว่า .. “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

เพราะผู้มีปัญญาย่อมรตระหนักดีว่า เราทุกคนในโลกล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ

ความคิด คำพูด การกระทำของเราย่อมส่งผลต่อภาพรวม

ชื่นชมแนวคิดและกิจกรรมดี ๆ ค่ะ

(^___^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท