บันทึกจากค่ำคืนแห่งการอิอฺติกาฟ ๑๐ คืนและ ๑๐ วันสุดท้ายรอมฎอน ๑๔๒๘


เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. ๑๔๒๘ ปีที่แล้วในช่วง ๑๐ วันและ ๑๐ คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนผมได้เข้าอิอฺติกาฟที่มัสยิดซูบูลุสสลาม (เดิมชื่อมัสยิดดารุลญะดีด) ใกล้บ้าน ในปีที่แล้วขณะอิอฺติกาฟผมได้บันทึกวาบความคิดไว้ในปกในของคัมภีร์อัลกุรอานไว้ว่า

.....................................................................................................................................

"อากาศมีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงคงอยู่ของชีวิตเราฉันใด อัลกุรอานก็มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงคงอยู่ของอิสลามในตัวเราฉันนั้น

ชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากอากาศ เราจะยังคงความเป็นอิสลามอยู่ได้อย่างไร หากปราศจากอัลกุรอานชี้นำทางแก่ชีวิตของเรา"

                                          ๔ ตุลาคม ๒๕๕๐

                                        ณ มัสยิดซูบูลุสสลาม

                                       ค่ำคืนแห่งการอิอฺติกาฟ

.....................................................................................................................................

การอิอฺติกาฟ คือการปฏิบัติตามซุนนะห์ หรือแบบอย่างของท่านนบี (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ด้วยการเข้าไปอยู่ในมัสยิดโดยไม่ออกไปใหนเว้นแต่มีความจำเป็น กิจกรรมหลักๆในช่วงอิอฺติกาฟคือการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ละหมาด การรำลึกถึงอัลลอฮฺ การทบทวนชีวิตที่ผ่านมาตลอดปี การวอนขอการอภัยโทษในความผิดบาป ผิดพลาดที่กระทำในวันเวลาที่ผ่านมา การสำนึกถึงความกรุณาปรานีที่อัลลอฮฺผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้แก่เรา และตระหนักถึงอันตรายแห่งทัณฑ์ทรมานที่จะได้รับในวันแห่งการตอบแทนพิพากษาในวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้ทบทวนตนเองกลับตัวกลับใจ ปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงตนเองสู่การเชื่อฟัง (ฏออัต) ต่ออัลลอฮฺ และนบีมุหัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) และละเว้นให้ห่างไกลยิ่งจากบรรดาข้อห้าม (ฮารอม) ต่างๆ และปฏิบัติเฉพาะสิ่งที่ทรงใช้และอนุมัติ (ฮาลาล) เท่านั้น การอิอฺติกาฟเป็นสภาวะของการละจากชีวิตทางโลกชั่วคราว โดยมุ่งมั่นแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ในช่วงดังกล่าวผู้เข้าอิอฺติกาฟจะทำการละหมาดวายิบ ๕ เวลาและละหมาดซุนนะห์ต่างๆเพิ่มเติม วิงวอนขอดุอา (ขอพร) และเตาบัต (สำนึกผิดกลับตัวกลับใจ)มากๆ

ไม่แน่ใจว่าลักษณะของการอิอฺติกาฟของมุสลิมจะตรงกับการจำพรรษาหรือจำศีลที่วัดของผู้นับถือพุทธศาสนาหรือเปล่า ?

หมายเลขบันทึก: 206256เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 06:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • ครูอ้อย  มาเยี่ยมเยือน  และอ่านรับความรู้ไปแล้วค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ  รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

สวัสดีครับ ครูอ้อย

  • ขอบคุณมากครับครูอ้อยที่แวะมาเยี่ยมเยือนผมในเดือนรอมฎอน ซึ่งสำหรับมุสลิมทั่วโลกแล้วเดือนนี้เป็นเดือนที่เปี่ยมด้วยความจำเริญและมีความดีงามมากมาย
  • เดือนนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเดือนแห่งการขออภัยโทษของปวงมนุษย์ต่อพระผู้ทรงสร้างพวกเขา เป็นเดือนที่สนับสนุนให้ปวงมนุษย์ประกอบคุณงามความดีเป็นพิเศษมากกว่าเดือนอื่นๆ และในเดือนนี้มุสลิมจะถือศีลอด ด้วยการอดอาหาร น้ำนับตั้งแต่เวลาประมาณ 4.47 โดยประมาณจนถึงเวลาประมาณ 18.11 น. เป็นเวลา 1 เดือน
  • เดือนรอมฎอนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบปีของมุสลิม เพราะเมื่อมุสลิมเข้าสู่เดือนรอมฎอน ชีวิตปกติของพวกเขาก็เข้าสู่กฏกติกาใหม่สำหรับเดือนนี้ นั่นคือ
  • สิ่งที่อนุมัติ(ฮาลาล)สำหรับพวกเขาจะถูกกำหนดให้เป็นเงื่อนไขที่ต้องละเว้นในระหว่างเวลาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้แก่ อาหาร น้ำดื่ม การร่วมหลับนอนกันระหว่างสามีภรรยาในช่วงกลางวัน ให้ระมัดระวังในการพูดจา และให้ละเว้นโดยเด็ดขาดในสิ่งที่ต้องห้าม (ฮารอม) อบายมุขทุกประเภท การกำหนดให้สิ่งที่อนุมัติเป็นเงื่อนไขที่ต้องละเว้นในช่วงวันแห่งการถือศีลอดนับเป็นวิธีการสำคัญที่จะฝึกให้ผู้ถือศีลอดรู้จักการเชื่อฟังและมีความยำเกรงในหัวใจต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานี ซึ่งโดยปฏิบัติพวกเขาสามารถที่จะแอบทานอาหารหรือแอบดื่มน้ำได้โดยที่มนุษย์ไม่อาจเห็นการกระทำของเขาได้ แต่ด้วยความตระหนักและยำเกรงในพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงมองเห็นพวกเขาไม่ว่าพวกเขาจะกระทำสิ่งใด พวกเขาก็อดทนที่จะไม่ฝ่าฝืนข้อกำหนดและเงื่อนไขแห่งการถือศีลอดที่กำหนดไว้ และคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมที่จะได้รับรางวัลของการถือศีลอดต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานี
  • และด้วยการที่พวกเขาอดอาหารโดยทั่วหน้าไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าเขาจะเป็นกษัตริย์หรือคนยาจกเข็ญใจ ความหิวที่ได้สัมผัสอย่างเท่าเทียมกันนี้เองนำไปสู่ความรู้สึกถึงความหิวโหยของกันและกัน ของพี่น้องของเขาที่มีน้อยกว่าขาดแคลนกว่า เดือนนี้จึงเป็นอีกเดือนที่ท่านศาสดาสนับสนุนให้มุสลิมบริจาคให้มากโดยเฉพาะการบริจาคให้กับพี่น้องที่ยากจนเข็ญใจ การเลี้ยงอาหาร และรวมถึงมีบทบัญญัติภาคบังคับที่ให้มุสลิมทุกคนบริจาคซากาตให้แก่ผู้ที่สมคมรรับซากาตในช่วงปลายของเดือนรอมฎอน
  • นอกจากนี้เดือนรอมฎอนยังเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา ในเดือนนี้ท่านศาสดาแนะนำให้มุสลิมทุกคนอ่านอัลกุรอานให้มาก ในเดือนนี้มีละหมาดวิติร ซึ่งเป็นละหมาดที่อิมามจะอ่านอััลกุรอานคืนละ 1 ยุซ หรือ 1บท 1 เดือนก็ 30 บทครบ 1 เล่มพอดี การอ่านอัลกุรอานในเดือนรอมฎอนอุปมาดั่งการอ่านทบทวนบทบัญญัติต่างๆของอัลลอฮฺ ทบทวนคำสั่งใช้ต่างๆ ทบทวนคำสั่งห้ามต่างๆ ทบทวนสิ่งต่างๆที่ทรงบัญชาปวงมนุษย์ ทบทวนถึงการปฏิบัติในรอบปีที่ผ่านมาของเราโดยเทียบกับโองการแต่ละโองการที่เราอ่าน ซึ่งเมื่อทบทวนอ่านเราก็จะพบว่ามีจำนวนมากที่เราละเลย ละทิ้ง ฝ่าฝืนคำสั่งเหล่านั้น บกพร่อง หลงลืม หรือละเว้นไม่ปฏิบัติในหน้าที่ที่ควรทำ ซึ่งเมื่อพบและตระหนัก มุสลิมก็จะขออภัยโทษต่อความบกพร่องผิดพลาดดังกล่าว และคาดหวังในการอภัยโทษจากพระผู้ทรงกรุณาปรานี
  • ดีใจที่ครูอ้อยเข้ามาอ่านรับความรู้เอาไป และหวังว่าพระองค์จะทรงให้ความรู้ที่ครูอ้อยรับไปนั่นก่อเกิดเป็น"ความดี" แก่ครูอ้อย ณ พระองค์ และผมหวังใจว่าพระองค์จักทรงประทานรัศมีแห่งความอบอุ่นขึ้นในดวงใจของครูอ้อย และนำครูอ้อยด้วยรัศมีนั้นจนกระทั่งครูอ้อยได้พบพระองค์ ณ วันหนึ่ง แท้จริงอำนาจบริบูรณ์เป็นของพระองค์ อามีน

เพราะออกซิเจนตอนนี้มีสวนผสมของคาบอนมากไปหรือเปล่าทำให้มนุษย์มองข้ามความสำคัญกับอากาศออกซิเจน...

ซึ่งไม่ต่างจากสังคมปัจจุบันที่มีสวนผสมของฟิตนะ ความวุ่นวาย

และความดีย่อมผสมกับความชั่ว....ไม่ต่างกับอากาศ

ครับคุณเจ้าหญิง เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจครับ ขอบคุณมากครับ

  • มาสลามโมเลกุน  อาบัง
  • มาแกนาซิเดาะ...
  • สวัสดีค่ะ  มาแนะนำตัวเอง
  • วะอาลัยกุมฯ และสวัสดีครับคุณมนัญญา
  • มาแกนาซิเดาะ แหมไม่ยักกะรู้ว่าคนเชียงใหม่แกเแจะภาษามลายูถิ่นได้ด้วย
  • ยินดีที่ได้รู้จักคุณมนัญญาครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท