"วิจัยเชิงปฏิบัติการ" ของสำนักงานเกษตรอำเภอ


     กรณีตัวอย่างที่ดิฉันจะเล่าให้ท่านฟัง/อ่านกันนี้ เป็นกรณีตัวอย่างของการจัดเวทีประชุม/ จัดกระบวนการเพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยเพื่อ "พัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2551" ณ สำนักงานเกษตรอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  โดยทีมงานของดิฉันได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า

       1) เพื่อร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานในเวทีประชุมของสำนักงานเกษตรอำเภอประจำเดือนนั้นทำอะไรบ้าง?
       2) เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกี่ยวกับ "การวิจัยระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2551" ที่จะต้องทำนั้นมีอะไรบ้าง? จะทำกันอย่างไร? และสุดท้ายต้องการทราบผลอะไรบ้าง?

     ในการจัดเวทีการประชุมดังกล่าว จะเป็นการประชุมประจำเดือนของสำนักงานเกษตรอำเภอที่ปฏิบัติกันเป็นปกติวิสัยโดยมีเกษตรอำเภอบางบาล เป็นผู้นำการประชุม/ เป็นประธานที่ประชุม  แต่ในการประชุมของเดือนมิถุนายน 2551 จะมีวาระเพิ่มเติมก็คือ มีการชี้แจงงานวิจัย ที่มีผู้แทนจากกรมส่งเสวริมการเกษตร (ส่วนกลาง) และมีเจ้าหน้าที่ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดมาร่วมด้วย รวมแล้ว ประมาณ 15 คน

     เริ่มต้นของการประชุมท่านเกษตรอำเภอบางบาล ได้นำเข้าสู่เรื่องโดยเล่าเนื้อหาสาระเพื่อชี้แจงและสื่อสารข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ภายในสำนักงานเกษตรอำเภอได้รับทราบข้อมูล หลังจากนั้นก็จะมีการซักถาม/นำเสนอข้อมูลที่เป็นปัญหาในการทำงาน/หาทางออกเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น   

     การชี้แจงทำความเข้าใจ ในการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2551 ได้เริ่มต้นจากเนื้อหาสาระ ได้แก่ 1) การชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "ทำไมต้องทำงานวิจัยระบบส่งเสริมการเกษตร"  2)  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการ  ขั้นตอน  และแนวทางการทำงานวิจัยระบบส่งเสริมการเกษตร  3)  เป้าหมายสุดท้ายของการทำงานก็คือ  การหาข้อสรุปว่า "รูปแบบของระบบส่งเสริมการเกษตรที่กรมส่งเสริมการเกษตร ให้มานั้นใช้ได้หรือไม่?  แล้วควรจะปรับแก้กันตรงไหนบ้าง?  โดยใช้ผลจากการทำวิจัยมาปรับแก้เพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร  4)  สิ่งที่จะดำเนินการนั้นจะใช้วิธีการมีส่วนร่วมของทุกคน เช่น  การจัดเก็บข้อมูล และอื่น ๆ

     หลังจากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน ได้แก่

       1)  เริ่มต้นจาก "เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด"  ได้เล่าข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่ทำอยู่ตอนนี้นั้นเขาทำงานอะไรกันบ้าง? เพื่อเป็นการทบทวนงานส่งเสริมการเกษตรที่พื้นที่ทำกันอยู่ในตอนนี้นั่นเอง 
       2)  "เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่"  ได้เล่าสถานการณ์การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรที่เกิดขึ้นจริงที่เป็นกรณีของการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้นเป็นอย่างไรบ้าง?  มีปัญหาอุปสรรคตรงไหน? และควรจะปรับแก้กันอย่างไร?  เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูล/วิเคราะห์การปฏิบัติงาน/บทบาทที่ทำจริง/ปัญหาที่เกิดขึ้น/วิธีการปรับแก้ 
       3)  "เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่"  สะท้อนความรู้สึกที่มีต่อการทำงานส่งเสริมการเกษตรที่เกิดขึ้น ได้แก่  งานส่งเสริมการเกษตรนั้นมีอยู่จำนวนมากแต่ส่วนกลางขาดการประชาสัมพันธ์/เผยแพร่  สำนักงานเกษตรอำเภอ ทำงานอยู่มากมาย แต่เบื้องบนบอกว่า "อำเภอไม่มีผลงาน"  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสถานการณ์และบริบทของข้อมูลพื้นฐานทางด้านบรรยากาศของการทำงานที่รองรับการจัดเก็บข้อมูลเพื่อปฏิบัติงานวิจัยได้
       4)  "เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง"  อธิบายเนื้อหาสาระของระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2551 ได้แก่  ความเป็นมา  องค์ประกอบ  และผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย  เพื่อช่วยเหลือองค์กรและการปฏิบัติงานของพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ
       5)  "เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง"  สะท้อนข้อมูลจากการบันทึก ได้แก่  งานที่อำเภอทำในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?  ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติมีอะไรบ้าง?  การวิจัยระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2551 ที่จะเกิดขึ้นต้องการอะไร?  และแนวทางการดำเนินงานเพื่อค้นหาคำตอบ

     จากการสนทนาพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์/ความคิดเห็นดังกล่าวสรุปได้ว่า

       1)  แนวทางการดำเนินงานวิจัยระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2551 มีกระบวนการ คือ  ขั้นที่ 1  วิเคราะห์สถานการณ์  ขั้นที่ 2  ประเด็นที่จะทำวิจัย  ขั้นที่ 3  กำหนดแนวทางแก้ไข (ปัญหา/อุปสรรค)  ขั้นที่ 4  ดำเนินการในพื้นที่  ขั้นที่ 5  สรุปผลที่เกิดขึ้น  ขั้นที่ 6  นำเสนอ  และ ขั้นที่ 7  สรุป/ข้อเสนอแนะ
       2)  สถานการณ์การดำเนินงานที่เกิดขึ้นก็คือ 
            เรื่องที่ 1  การทำงานส่งเสริมการเกษตรในปัจจุบันยังขาดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน  เรามีผลงานส่งเสริมการเกษตรเกิดขึ้นมากมาย แต่เราขาดการประชาสัมพันธ์/เผยแพร่ 
            เรื่องที่ 2  การทำงานวิจัย  เจ้าหน้าที่เห็นว่า  งานวิจัยเป็นการเพิ่มภาระในการทำงาน  การทำงานวิจัยก็เพื่อปรับระดับ/ตำแหน่ง/เพิ่มซี  และผลงานวิจัยที่มาทำกันนั้นไม่มีการนำข้อมูลย้อนกลับมาให้อำเภอ/ให้กับเจ้าของข้อมูลหรือหน่วยงานได้รับทราบและใช้ประโยชน์ว่า "เป็นอย่างไรบ้าง?" จึงทำให้ไม่อยากร่วมทำงานวิจัยด้วย  แต่ถ้าเพื่อการพัฒนาหน่วยงานและการทำงานก็จะขอคิดดูใหม่/ร่วมงานวิจัยด้วย/ไม่ขัดข้อง
       3)  ข้อคิดที่เกิดขึ้นก็คือ
            เรื่องที่ 1  การขับเคลื่อนระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2551 และการทำงานส่งเสริมการเกษตร สามารถใช้วิธีการวิจัยได้
            เรื่องที่ 2  วิธีการสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเกี่ยวกับการทำวิจัยนั้น ถ้าใช้วิธีการเล่าสิ่งที่จะทำ แล้วมาแลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรค  และมาหาทางออก นั้นทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเข้าใจได้ค่อนข้างน้อย  ซึ่งอาจจะมาจาก (1) ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานวิจัย  (2)  ประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่ตนเองได้ประสบมา  และ 3) ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการทำงานร่วมกัน เช่น  อบต.  และหน่วยงานอื่น ๆ  เป็นต้น
            เรื่องที่ 3  การดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2551 นั้น ในพื้นที่ได้ดำเนินการกันอยู่แล้ว  แต่ยังไม่รู้ว่า  (1)  งานแต่ละเรื่องทำกันอย่างไร?  (2)  มีปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง?  (3)  ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร?  (4)  แล้วจะแก้ไขกันอย่างไรดี? และ 5)  เป้าหมายและผลลัพธ์สุดท้าย "ต้องการเห็นอะไร?"  ซึ่งเป็นงานที่ควรจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป  ที่น่าจะมีการจัดกระบวนการและสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันและอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อ"หาคำตอบของระบบส่งเสริมการเกษตร ที่ใช้ได้/เดินได้" ที่เป็นการทำงานร่วมกันนั่นเอง

     สุดท้ายนั้นหลังจากที่ทีมงานได้มีการจัดเวทีระดับอำเภอเสร็จแล้ว (ช่วงเช้า)  สำหรับในช่วงบ่ายก็นำข้อมูลที่พบต่าง ๆ มาร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อทบทวนเป้าหมายของการมาครั้งนี้ว่า "เรามาทำอะไรกันบ้างท  เพื่อให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง"  โดยเริ่มจากการให้ข้อมูลทีละคน ๆ ที่แต่ละคนได้สังเกตุการณ์/ร่วมเวทีในช่วงเช้า จึงสรุปได้ว่า

     1)  เราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันอีกกับทีมงานระดับอำเภอ เป็นครั้งที่ 2  โดยจะมีกรอบการปฏิบัติที่เราเองจะต้องมีความชัดเจนด้วย  มีการประชุมร่วมกันก่อน  และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่  เป็นต้น
     2)  เราจะต้องสรุปบทบาทหน้าที่ของทีมงานวิจัยของเราเองว่า "มีหน้าที่ทำอะไร?"
     3)  เราน่าจะมีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อจะได้มองเป้าหมายเป็นทิศทางเดียวกัน
     4)  เราควรจะทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ "งานวิจัย" เพื่อเป็นพื้นฐานให้กับพื้นที่และทีมงานที่จะวิจัยสำหรับดำเนินงานร่วมกันโดยช้วิธีการค่อยเป็นค่อยไป
     5)  ควรมีการให้กำลังใจทีมงาน/เจ้าหน้าที่และพื้นที่ที่ทำวิจัย เพราะมีความตั้งใจทำงานค่อนข้างสูง

     การปฏิบัติงาน "สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ...การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร" เป็นการจัดเวทีครั้งแรก โดยใช้ช่องทางของการทำงานร่วมกันในเวทีประชุมของสำนักงานเกษตรอำเภอประจำเดือน  ฉะนั้นทำให้ได้รู้ได้เห็นวิถีการจัดเวทีและข้อเท็จจริงที่เป็นประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหลักการวิชาการ กับประสบการณ์และข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงานเท่านั้นเอง.

หมายเลขบันทึก: 206100เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2008 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท