เอกสารประวัติศาสตร์ของ สคส.


         จุดเริ่มต้นของ สคส. อยู่ราวๆ กลางปี ๒๕๔๕    เพื่อไม่ให้หลักฐานสำคัญๆ สูญหายไป จึงขอนำเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบาย สกว. ที่ลงมติอนุมัติให้ สกว.  รับเป็นหน่วยงานแม่ของ สคส. ดังต่อไปนี้ 

รายงานการประชุม
คณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย
 ครั้งที่ 6/2545
วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2545
 ณ ห้องประชุม 1  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
อาคาร เอส เอ็ม ทาวเออร์  ถนนพหลโยธิน  สนามเป้า  กรุงเทพฯ

วาระที่ 4 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา      

วาระที่ 4.4  โครงการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

  สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ครั้งที่ 5/2545 
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2545  ที่ฝ่ายเลขานุการได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อันเป็นโครงการความร่วมมือกับ สกว.  โดยมี ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ที่ปรึกษาพิเศษของ สกว.  เป็นผู้จัดการโครงการ  และที่ประชุมได้ขอให้เรียนเชิญ  ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  มานำเสนอรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการฯ  นั้น

   ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ได้มานำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการสถาบันส่งเสริม
การจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  ต่อคณะกรรมการฯ  ซึ่งประกอบด้วย

1. กิจกรรมเพื่อการก่อตัว
2. การจัดการความรู้
3. องค์ประกอบของความรู้
4. หลักสำคัญ
5. ผลของการจัดการความรู้
6. องค์ประกอบของการจัดการความรู้ที่ดี
7. เครือข่ายที่ สคส. จะส่งเสริม
8. การดำเนินงานในปีที่ 1

9. ความเชื่อมโยงระหว่าง  สสส., สกว. และ สคส.   ซึ่งจะมีคณะกรรมการนโยบาย
ของ สคส.  จำนวน 9-11 คน
10. ลักษณะองค์กรและการทำงานของ สคส.
11. ผลงานที่คาดหวังของ สคส. ในเวลา 3 ปี
12. งบประมาณ
13. การประเมินโครงการ
14. ปณิธานความมุ่งมั่น
15. เหตุผลที่ สคส. ควรอยู่กับ สกว.

    ทั้งนี้  ฝ่ายเลขานุการได้ขอรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมคณะกรรมการฯเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและการดำเนินโครงการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  ต่อไป

ความเห็นของคณะกรรมการ

  1.  สคส. เป็นรูปแบบเครือข่ายของ สกว. ที่แตกต่างจากการบริหารจัดการภายนอกอย่างที่
มีอยู่หลายโครงการ/ชุดโครงการในปัจจุบัน  เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างแปลก  และอาจจะเกิดคำถามได้ว่า  เหตุใดจึงต้องนำ สคส. มาอยู่กับ สกว.  และเหตุใด สสส. จึงไม่ให้เงินสนับสนุนโดยตรงไปยัง สคส.  ดังนั้น  สกว., สสส. และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงควรเตรียมคำตอบไว้ด้วย  ทั้งในด้านของการบริหารจัดการ  ค่าใช้จ่าย และด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานซึ่งกันและกัน
       (ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ชี้แจงว่า  นำ สคส. มาอยู่ภายใต้ สกว. และใช้ระบบบริหารจัดการ
ของ สกว.  เนื่องจาก สกว. มีระบบบริหารจัดการ โดยเฉพาะการตรวจสอบ ที่เข้มแข็ง  และ สคส. สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานและนักวิจัยได้สะดวกขึ้นโดยใช้เครือข่ายของ สกว.   ทั้งนี้  สคส. มิได้คาดหวังจะเข้ามาใช้เงินของ สกว.   นอกจากในอนาคตรัฐบาลเห็นความสำคัญของ สคส. และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนผ่าน สกว. มาให้ดังเช่นโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)   ทั้งนี้  สคส. จะจ่ายค่าใช้จ่ายด้านต่างๆรายเดือนให้แก่ สกว. ด้วย)
  2.  การนำ สคส. มาอยู่กับ สกว. เท่ากับเป็นการขยายผลการบริหารจัดการ  (Downstream
Management)  ของ สกว.  ซึ่งมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารจัดการในลักษณะนี้  
         โดย สสส. ซึ่งสนับสนุนงบประมาณจะตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน  และให้ สกว. ช่วยกำกับดูแลและตรวจสอบด้านการบริหารจัดการ  โดยคงจะต้องขอมติ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ การตรวจสอบ การติดตามประเมินผลและความช่วยเหลือ  จากคณะกรรมการนโยบายฯ   คณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ   คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงาน   และบุคลากรของ สกว.  ในการดำเนินงานของ สคส. ด้วย  เช่น  การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบาย สคส.   การแต่งตั้งผู้อำนวยการ สคส.   หรือการที่ สคส. จะมีระเบียบใดใช้เองนอกเหนือจากระเบียบ สกว. ที่ สคส. ใช้อยู่   ก็ควรต้องเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายฯ ของ   สกว.  เป็นต้น
3. ควรมีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง สกว. กับ   สคส. 
และแนวทางของ สกว. ในการกำกับดูแล สคส.  รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานของ สกว. ในอนาคต
        (ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ชี้แจงว่า  แม้จะเรียกว่าสถาบัน  แต่ สคส. ก็ยังเป็นเพียงโครงการ
เท่านั้น  ส่วนในอนาคตคาดว่า  สคส. จะแยกออกไปเป็นสถาบันอิสระโดยจะมีการหางบประมาณสนับสนุนจากแหล่งอื่นด้วย  หรือเมื่อมีการประเมิน สคส. ตามที่กำหนดไว้  หากผลการประเมินออกมาไม่ดี  ก็สามารถ
ยุบ สคส. ได้)
  4.  สคส. มีลักษณะของการบริหารจัดการคล้ายกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) 
สคส. จึงอาจใช้รูปแบบการบริหารจัดการเช่นเดียวกัน  กล่าวคือ  มีคณะกรรมการนโยบายของโครงการ 
(ดังที่ได้วางแนวทางไว้แล้ว)   และมีผู้อำนวยการโครงการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายฯ ของ สกว.  รวมทั้งจะต้องนำเสนอแผนงานและงบประมาณรายปีของโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายฯ ของ สกว.
โดยรวมไว้ในการเสนอขออนุมัติแผนงานและงบประมาณประจำปีของ สกว.   ส่วนการอนุมัติการสนับสนุนโครงการวิจัยก็อยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการ สคส. ตามที่ สกว. มอบหมาย    ทั้งนี้  ควรจะขอหารือและขอความเห็นชอบจาก สสส. เกี่ยวกับการบริหารจัดการในลักษณะเช่นนี้ด้วย  
          (ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ได้ให้ความเห็นว่า  สสส. คงจะเห็นชอบกับการบริหารจัดการ
สคส.  ในลักษณะเช่นเดียวกับ คปก.  เนื่องจาก สสส. ได้ตกลงมอบการบริหารจัดการ สคส. ให้แก่ สกว. แล้ว   โดย สสส. เห็นว่า  การมี สคส. จะช่วยให้ สสส. ดำเนินงานของตนเองได้ดียิ่งขึ้น   เนื่องจากมีสถาบันที่ช่วยดูแลเรื่องการจัดการความรู้ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยที่สำคัญในการดำเนินงานของ สสส.   อย่างไรก็ตาม  การรอแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบาย สคส. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ของ สกว. ครั้งต่อไปในอีก2 เดือนข้างหน้า จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ สคส. พอสมควร)
  5.  ศักยภาพของ  ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช   ซึ่งเคยบริหารจัดการ สกว. ได้ผลดีมาแล้ว 
เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพิจารณาให้ สกว. สนับสนุนการบริหารจัดการ สคส. ด้วย
       
    ทั้งนี้  จากความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายฯ ในข้อ 4 และ 5 ข้างต้น 
ฝ่ายเลขานุการได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ พิจารณาแต่งตั้ง  ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ที่ปรึกษาพิเศษสกว.  รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สคส. จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ สคส. ในโอกาสต่อไป

มติของคณะกรรมการ

  1.  ให้ฝ่ายเลขานุการยกร่างกรอบหรือรายละเอียดเกี่ยวกับการกำกับดูแลโครงการสถาบัน
ส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  พร้อมทั้งพันธะผูกพันของ สกว. ให้ชัดเจน  โดยควรมีรูปแบบ
ของการกำกับดูแลเช่นเดียวกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก  เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน 
 และนำร่างกรอบหรือรายละเอียดดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
  2.  อนุมัติแต่งตั้ง  ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ที่ปรึกษาพิเศษของ สกว.  รักษาการในตำแหน่ง
ผู้อำนวยการโครงการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.) 

- - - - - - - - - - - - - - - -

         ผมย้อนกลับไปดูเรื่องราวของการก่อตั้ง สคส. ทีไร ก็อดขอบคุณ สสส. และ สกว. ไม่ได้     เพราะ สคส. เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นบนความไม่พร้อม ไม่ชัดเจน    แต่ทั้ง สสส. และ สกว. ก็ยังมีความเชื่อบางอย่างว่ากิจกรรมนี้จะก่อคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง และน่าจะทำให้สำเร็จได้    จึงยอมลงเงิน และลงชื่อองค์กร เข้ามาเสี่ยงด้วย    บัดนี้ สคส. ได้พิสูจน์คุณประโยชน์ และพิสูจน์ผลงานไปส่วนหนึ่งแล้ว    ผมจึงนำบันทึกนี้มาลงไว้เพื่อ ลปรร. ว่า เรื่องเชิงสร้างสรรค์นั้นส่วนใหญ่ (อาจจะกล่าวได้ว่าทั้งหมด) จะเริ่มต้นที่ความฝัน หรือจินตนาการ ซึ่งเป็นเพียงภาพรางๆ     ถ้าคนที่เกี่ยวข้องไม่มีความเชื่อ (faith) เพียงพอ    และไม่ยอมเสี่ยงเข้าไปฟันฝ่า กิจกรรมสร้างสรรค์เกือบทั้งหมดจะไม่เกิด  

วิจารณ์ พานิช
๒๓ มีค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20587เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2006 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 07:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท