เรียนรู้การมีสติ จากการอบรม นสส. กรมอนามัย (3)


การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการปฏิบัติเพื่อละทิ้งความพอใจ และความไม่พอใจ เพื่อเข้าไปถึงความเป็นอิสระ และบริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง ... นั่นก็คือ ความพอใจก็ไม่สำคัญ ความไม่พอใจก็ไม่สำคัญ แต่ก็คงไม่ใช่ไม่ใส่ใจนะคะ แต่จะนำมาพิจารณาร่วมได้ว่า แล้วเราจะจัดการกับสิ่งที่เผชิญนั้นได้อย่างไร

 

ก่อนเข้าวัด มีทั้งผู้จัด และรุ่นพี่ ทั้งเพื่อน พี่ น้อง นสส. มาให้ความคิดเห็นกันว่า เข้าวัดแล้วได้อะไร ซึ่งสรุปโดยเนื้อๆ ก็คือ

  • ได้เรียนรู้ “สติ”
  • ดูรูป ดูนาม ดูกาย ดูใจ
  • ความสงบ : ความสุขที่เกิดจากความสงบ

ดิฉันเข้าไปพิสูจน์แล้ว ด้วยใจที่เปิดรับต่อทุกสถานการณ์ และค่อนข้างเห็นด้วยว่า เป็นจริงค่ะ

จุดเน้นของการฝึกปฏิบัติบูชานี้ อยู่ที่ “วิปัสสนากรรมฐาน” การถือศีล และการทำวัตร

มีความรู้กันสักนิดหนึ่งนะคะ ว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” เป็นการอบรมจิต (หรือภาวนา) อย่างหนึ่ง ที่เป็นการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ... สิ่งที่ได้คือ การ “ละ” และ “วาง” คือ ละความเห็นผิด และ วางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ผลพวงก็จะได้ ความสันติสุข และเป็นผู้มีอิสระ เบาสบาย เพราะได้เห็นแจ้งความเป็นจริงของชีวิต จนสามารถปลดเปลื้องเครื่องร้อยรัดเศร้าหมองต่างๆ ได้

ขั้นตอนปฏิบัติสิคะ ยาก ... กว่าที่จะได้คิด และยาก ... ที่กว่าจะปฏิบัติได้ ... ดิฉันก็คงอยู่ในขั้นคิดได้ แต่ปฏิบัติได้บ้าง ไม่ได้บ้างละค่ะ ยังไงละค่ะ เราปฏิบัติอย่างไร นั้นก็คือ

  • เฝ้าตามดู และระลึกรู้ความรู้สึกทางร่างกาย และจิตใจอย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง โดยไม่คิดปรุงแต่ง วิเคราะห์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
  • การส่งอารมณ์ คือ เล่าอารมณ์ความรู้สึกต่อการฝึกปฏิบัติ ... ส่วนนี้ดิฉันก็เพิ่งได้คิด เพราะว่า อาจารย์นันท์นภัสจะเน้นอย่างมาก ต่อการพูดคุย ถาม-ตอบ คำถามปัญหากับผู้เข้าอบรมทุกคน ทั้งหมด 54 คนนะคะ ที่ต้องคุยกับอาจารย์ทั้งหมด ... ดิฉันจึงคิดว่า อาจารย์เป็นครูที่ทุ่มเทแรงกาย และใจอย่างแท้จริง

ระหว่างปฏิบัติ ก็น่ารำคาญอยู่บ้างด้วยกิริยาที่ปฏิบัติอย่างช้าๆ เรียกว่าเชื่องช้าก็ได้ แต่ไม่ใช่เฉื่อยแฉะ หรือเฉื่อยชานะคะ เพราะว่า ต้องทำให้เป็นการปฏิบัติรู้สิ่งที่เรากระทำ
เราเรียนรู้ด้วยวิธีใช้คำบริกรรม ปฏิบัติด้วยการพูดมีเสียง และพูดในใจในที่สุด เพื่อให้เกิดการกำหนดรู้ ซึ่งก็คือ

  • เมื่อแรกรู้ว่า ร้อน ก็คือ มีสติ เข้าไปรู้ความร้อน หรือความรู้สึกร้อน
  • เมื่อระลึกรู้ว่า กำลังรู้สึกร้อนอยู่ สัมปชัญญะ ซึ่งหมายถึง ความรู้ตัว ก็ทำงาน
  • เมื่อพูดในใจว่า “ร้อนหนอ ร้อนหนอ” หรือคำอื่นใด พร้อมกับระลึกรู้ความร้อน หรือความรู้สึกร้อน ก็เท่ากับเป็นการเข้าไปย้ำความระลึกรู้ให้ชัดเจนตามที่เป็นจริง ช่วยให้สติสัมปชัญญะเข้มแข็งขึ้น ส่งกำลังมาให้เกิดสติในการรับรู้ความรู้สึกอื่นๆ ต่อไป

ดิฉันได้เรียนรู้ว่า

“ความเชื่องช้า ทำให้เรามีเวลาในการคิด ตรึกตรอง ใจเย็น เกิดความคิดที่รอบคอบ ... ซึ่งน่าจะส่งผลให้เกิดการทำงานที่ผิดพลาดน้อยกว่า” … น่าจะนำมาช่วยได้ในการปฏิบัติงานจริงในปัจจุบัน เพราะเราต้องทำงานที่เยอะแยะมากมาย และเร่งด่วนอยู่เนืองๆ ทักษะนี้น่าจะช่วยได้ในการตั้งรับงานที่ได้รับ และเชิงรุกในงานที่ต้องการมุ่งเป้าหมาย ...

สุดท้าย ดิฉันก็เห็นด้วยว่า ... การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการปฏิบัติเพื่อละทิ้งความพอใจ และความไม่พอใจ เพื่อเข้าไปถึงความเป็นอิสระ และบริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง ... นั่นก็คือ ความพอใจก็ไม่สำคัญ ความไม่พอใจก็ไม่สำคัญ แต่ก็คงไม่ใช่ไม่ใส่ใจนะคะ แต่จะนำมาพิจารณาร่วมได้ว่า แล้วเราจะจัดการกับสิ่งที่เผชิญนั้นได้อย่างไร

และยังมีอีกเยอะแยะมากมายที่ยังนำมาสาธยายได้ไม่หมด ถ้ามีผู้ร่วมมาช่วยขยายความคิดนี้ต่อ ก็จะขอบคุณมากค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 20579เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2006 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท