มิติใหม่สู่วิถีปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน


ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน

มิติใหม่สู่วิถีปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน



กระทรวงศึกษาธิการยังคงเดินหน้าต่อไปกับการเปิดแนวคิดปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ด้วยการจัดมหกรรม "ศึกษาธิการสัญจร" จากห้องบรรยายสู่ห้องปฏิบัติการที่จำลองเทคนิคให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างน่าตื่นตาตื่นใจกับความแปลกใหม่ ซึ่งได้รับการต้อนรับจากครูอาจารย์อย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ กับการจัดสัญจรในภาคกลางที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 6-7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขผู้เข้าร่วมงานสูงถึง 58,000 คน หลังจากประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้มาแล้วที่จังหวัดขอนแก่นและเชียงใหม่
บรรยากาศของงาน "ศึกษาธิการสัญจรภาคกลาง" ที่จังหวัดชลบุรี ได้ปักธงกิจกรรมปฏิรูปหลักสูตรบนเวทีพิธีเปิด ที่ทำให้เห็นความแปลกใหม่ที่ผสมผสานอย่างลงตัว ระหว่างห้องเรียนที่มีกิจกรรมการสอน ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาถิ่น ห้องเรียนฟิสิกส์ ห้องภาษาอังกฤษ และห้องเรียนสังคม

ครูและนักเรียนทุกคนที่แสดงอยู่บนเวทีได้สะท้อนถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีครูเป็นผู้ตั้งคำถามท้าทายชวนคิด เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดหาคำตอบ และเชื่อมโยงไปสู่การเสวนาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นมาให้ข้อคิดตอกย้ำถึงแนวคิดการปฏิรูปการเรียนการสอนผ่านหลักสูตรที่ผ่านการวิจัยพัฒนามาแล้วเป็นอย่างดี ส่งผลให้เกิดบรรยากาศแห่งการเสวนาอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นทันที

ห้องเรียนปฏิรูปที่ จ.ชลบุรีครั้งนี้มีทั้งหมด 23 ห้องเรียน เริ่มจาก "ห้องเรียนปฏิรูปหลักสูตร" ซึ่งได้ปรับแนวคิดจากปรัชญาการเน้น "เก่ง ดี มี สุข" มาเป็น "ดี มีปัญญา พาสู่ชีวิตพอเพียง" และทำให้เข้าใจถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่โรงเรียนสามารถร่วมพัฒนาเป็นกลุ่มโรงเรียนได้ โดยประยุกต์จากโรงเรียนพี่เลี้ยงที่ทำได้ดี
"ห้องหลักสูตรทางเลือก" ได้หยิบยกเอาความสำเร็จในโรงเรียนรุ่งอรุณที่ใช้หลักสูตรของไทย ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ โดยนำไปเปรียบเทียบกับหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติ ที่ใช้หลักสูตรแนวอังกฤษแบบ International Baccalaureate (IB) ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน 13 ปี

 



"ห้องเรียนอนาคต" มองไปไกลถึงอนาคตการสร้างเว็บไซต์ นวัตกรรมทางการศึกษาที่ให้บริการแก่ครูและนักเรียนระดับมัธยมอย่างมีประสิทธิภาพใน 5 กลุ่มวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และธรณีวิทยา จำนวน 46 เรื่อง จาก http://www.skooolthai.net (ใช้ skoool แทน school เพราะเป็นชื่อการค้า) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับบริษัท อินเทล ไมโครอิเลกทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
"โรงเรียนเล็กเข้มแข็ง" ทำให้เห็นถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน ซึ่งต้องใช้การสอนคละชั้นด้วยหลักสูตรบูรณาการ การใช้สื่อช่วยสอน หรือวิธีการโรงเรียนพี่เลี้ยงช่วยสอน ทำให้เห็นความหวังในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูได้อย่างชัดเจน
"ห้องเรียนหลักสูตรหลากหลาย" ของสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้นำเสนอหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นตั้งแต่การออกแบบแฟชั่น เสริมสวย ดูเพชรพลอย การผสมค็อกเทล สปา เบเกอรี่ ขนมอบ พาณิชยนาวี และมายากล ล้วนทำให้เห็นเส้นทางเลือกของชีวิตที่ดีกว่าอีกมากมาย
ที่จะขาดไปไม่ได้เห็นจะเป็นห้องเรียนปฏิรูป "ห้องเรียนอาชีวะนิวลุก" ที่ยังคงลักษณะเด่นปรากฏในงาน "ศธ.สัญจร" เช่นเคย ซึ่งได้แสดงจุดเน้นการเรียนเป็นเรื่อง เรียนเป็นชิ้นงาน และเรียนเป็นโครงการ มีการแสดงขั้นตอนการเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์กาแฟโบราณ
ถัดไปเป็น "ห้องเรียนครูไซเบอร์" ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ "ห้องวิชาชีพครู" ที่บริการแนะนำความก้าวหน้าของเพื่อนครูจากหน่วยงาน 3 ทหารเสือ ได้แก่ ก.ค.ศ., สคบศ., และ สกสค. ซึ่งยังคงเนืองแน่นต่อคิวยาวเหยียดจากเพื่อนครูที่ต่างแวะเวียนเข้าไปปรึกษาปัญหาชีวิตครูอย่างไม่ขาดสาย ส่วน "ห้องเรียนภาษาไทย จีน อังกฤษ ห้องสอนวิทย์คณิตพิสดาร ห้องเรียนมัธยมปฏิรูป ห้องพิเศษเรียนร่วม" และ "เมืองรักเรียนรู้" ของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แทบจะต้องขอร้องคนที่ยืนอยู่แถวหน้าให้เคลื่อนตัวเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ เข้าบ้าง
งาน "ศึกษาธิการสัญจรภาคใต้" ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายในการจุดประกายปฏิรูปการเรียนการสอนก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ปีการศึกษา 2549 ในวันที่ 13-14 พฤษภาคม ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา ซึ่งนับเนื่องเป็นครั้งที่ 4 มีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเจ้าภาพ ภายใต้จุดเน้น "การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนสู่สังคมสุขสันติ" โดยมีห้องเรียนปฏิรูปจัดแสดงเพิ่มขึ้นรวมแล้วจำนวน 30 ห้อง อาทิ
"ห้องเรียนชุมชนเป็นสุข" ที่เสนอการวิจัยและการบริการให้ประโยชน์จริงแก่ชุมชน มากกว่าวิจัยเพื่อหาความรู้ใหม่ๆ "ห้องสันติศึกษา" เสนอการจัดการศึกษาให้สังคมสันติสุข วิถีชีวิตชุมชน ครอบครัวอบอุ่น เกษตรเพื่อชีวิต และอาชีพของชุมชน "ห้องปัญญาพุทธทาส" พบกับหลักธรรมของท่านพุทธทาสในโอกาสการฉลอง 100 ปีชาตกาลของท่านพุทธทาส ซึ่งองค์การยูเนสโกให้การยกย่องในฐานะเป็นบุคคลสำคัญของโลก "ห้องเรียนรู้สานวัฒนธรรม" พบกับวิถีชีวิตชาวใต้ที่น่าสนใจ เช่น ขันหมากไทยพุทธ-ไทยมุสลิม บายศรีสู่ขวัญ ศิลปะทักษิณ นาฏศิลป์ถิ่นใต้ "ห้องปฏิรูปฝึกหัดครู 1-2" เป็นการแสดงพัฒนาการผลิตครูสู่ยุคครูพันธุ์ใหม่หลักสูตร 4+1 "ห้องเรียนรู้สึนามิ" เป็นการถอดบทเรียนเพื่อป้องกันความสูญเสียจากภัยพิบัติ การจัดระบบกู้ภัย รู้จักกับการใช้นิติวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล "ห้องเรียนภาษาไทย-มลายู-อาหรับ" เป็นห้องที่เพิ่มเติมจากห้องปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ที่มีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมี "ห้องเรียนฝึกอาชีพตามพระราชดำริ" และ "ห้องเรียนของศูนย์การศึกษาตาดีกา" ที่เป็นห้องเรียนปฏิรูปอันเป็นเอกลักษณ์พิเศษของงานสัญจรภาคใต้ และ "ค่ายลูกเสือยุคใหม่" ในรูปแบบที่หลากหลายด้วยการใช้เทคโนโลยี ICT เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ทักษะลูกเสือ และติดเครื่องหมายวิชาพิเศษให้กับผู้ที่ทดสอบผ่านเกณฑ์
ส่วนห้องเรียนยอดนิยมที่ขาดมิได้ ได้แก่ "ห้องคณิตศาสตร์พิสดาร ห้องเด็กพิเศษเรียนร่วม คลีนิคปัญญา ห้องเรียนครูไซเบอร์ หมู่บ้านรักเรียน" ของ กศน. "ห้องแผนวิชาชีพครู" และ "ห้องเรียนอาชีวะ" ยังคงเป็นพระเอกตลอดกาลที่สร้างสีสันแก่ทุกคนให้แวะเวียนกันเข้าไปสัมผัสเรียนรู้
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัด "ศธ.สัญจร" แต่ละภูมิภาค จึงได้มีการถอดรหัสถอดบทเรียนที่ได้จากการจัดแต่ละครั้ง เพื่อถ่ายทอดตอกย้ำให้เพื่อนครูทั่วประเทศได้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง E-Book การสอนแบบ Brain Based Learning การใช้คำถามกระตุ้นต่อมฉลาดตามทฤษฎีหมวกหกใบ การใช้ ICT ช่วยสอนตั้งแต่เด็กอ่อนสุดจนถึงเด็กเก่ง ไปถึงเด็กพิการ
สารประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้จะแขวนไว้ในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ http://www.moe.go.th ให้เพื่อนครู ผู้เกี่ยวข้อง และผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาดาวน์โหลดได้ตลอดเวลา
ยังไม่รวมข้อมูลในการจัดการเรียนการสอนและแหล่งเรียนรู้นวัตกรรม (e_resource center) ที่สามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ http://www.thailearn.net ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) http://www.thaicyberu.go.th ของ สกอ. http://www.skooolthai.net ของ สพฐ.
http://www.nidtep.go.th ของสถาบันพัฒนาครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ http://www.vec.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ http:// www.vcharkarn.com ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
กระทรวงศึกษาธิการมั่นใจว่า การลงทุนในการจัดกิจกรรมสัญจรลงสู่ภูมิภาคทั้ง 4 จะไม่สูญเปล่าในการผลักดันเข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนในมิติใหม่ได้อย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้นักเรียนร่วมกับครูผู้สอนหาความรู้ควบคู่กันไป
อันจะนำไปสู่การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนได้ในที่สุด!!

 

แหล่งอ้างอิง จรวยพร ธรณินทร์      ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  

         http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01edu02120549&day=2006/05/12

 

 

หมายเลขบันทึก: 205752เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท