การศึกษาต่อเนื่อง


การศึกษาต่อเนื่อง

การศึกษาต่อเนื่อง คืออะไร 

     ความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง           การศึกษาต่อเนื่องมีความหมายได้หลายประการ

          ประการแรก คือ การให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่ได้ศึกษามาแล้วในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย  เมื่อบุคคลจบจากการศึกษาไปประกอบอาชีพแล้วระยะหนึ่ง  มีความจำเป็นต้องหาความรู้เฉพาะ  หรือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเพิ่มเติม  เพื่อปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ถ้าปรากฏว่าในวิชานั้นมีผู้ค้นหาได้ความรู้ใหม่  ก็ไปสมัครเรียนการเรียนแบบนี้เป็นลักษณะต่อเนื่องจากที่เรียนแล้วในเบื้องต้นไม่มีที่สิ้นสุด   เพราะวิชาการจะเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ ต้องหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันโลก สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา จะจัดหลักสูตรเฉพาะในระยะสั้นบ้างยาวบ้างสำหรับผู้ต้องการศึกษาต่อ  โดยไม่ให้ปริญญาบัตร  หรือประกาศนียบัตร แต่อาจให้ใบรับรองซึ่งเป็นคนละแบบกับการเข้าศึกษาต่อเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร

          ประการที่สอง คือ  การศึกษาในรูปแบบที่เคยเรียกว่า การศึกษาผู้ใหญ่ ที่รัฐหรือองค์กรเอกชนจัดให้แก่ "ผู้ใหญ่" คือ ผู้มีอายุเกินวัยเรียนตามกฎหมาย แต่ไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนด้วยเหตุที่ยากจน  ต้องใช้เวลาประกอบอาชีพ  หรือต้องเร่ร่อนตามผู้ปกครองซึ่งอพยพย้ายถิ่นบ่อยๆ หรืออยู่ในท้องที่ห่างไกล ไม่มีโรงเรียน    วิชาที่สอนมีตั้งแต่วิชาหลักที่เป็นทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ คือ ทักษะในการอ่านเขียน ทักษะในการคำนวณนอกจากนี้ก็มีวิชาความรู้ทางอาชีพ ความรู้ทางจริยธรรมและหน้าที่ของพลเมือง สุขวิทยาอนามัยและอื่นๆ  แล้วแต่ความต้องการของแต่ละท้องถิ่นแต่ละสังคม กลุ่มเป้าหมายแต่เดิม  คือ  ผู้มีอายุเกินวัยเรียน แต่ต่อมาได้รวมกลุ่มเด็กที่อยู่ในวัยเรียน   แต่ไม่อาจเข้าเรียนในโรงเรียนที่จัดขึ้นสำหรับเด็กโดยทั่วไปเพราะอยู่ห่างไกล    หรือต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน

          ประการที่สาม คือ กระบวนการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นหรือควรจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติของคนเราที่พยายามเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนา ซึ่งต้องเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระบบโรงเรียน  หรือนอกระบบโรงเรียน มีผู้สั่งสอนตามแบบแผน หรือเรียนเองโดยการดู ฟัง สังเกต อ่าน จดจำ ลองทำหาประสบการณ์ได้มากหรือน้อย ช้าหรือเร็ว แล้วแต่สติปัญญาและโอกาส การจัดระบบการศึกษาอย่างมีแบบแผน คือ  มีโรงเรียน   มีหลักสูตร  มีกระบวนการสอน  มีการจัดการให้เด็กหรือประชาชนทั่วไปได้รับการศึกษานั้นเป็นกระบวนการซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่คนเราได้พยายามศึกษาพัฒนาตนเองมาแล้วเป็นเวลาหลายพันปีเมื่อคนกลุ่มหนึ่งมีความรู้เรื่องราวต่างๆ  มากขึ้นพัฒนาความรู้ให้เป็นกระบวนวิชาที่มีทฤษฎี กฎเกณฑ์  แบบแผน  จึงค่อยๆ สร้างระบบการศึกษาขึ้น จากความเป็นจริงโดยธรรมชาติที่ว่าคนเราย่อมเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง กลายเป็นความคิดที่ว่าต้องจัดระบบให้คนเรียนรู้   ในบางประเทศนอกจากจะจัดระบบการศึกษาที่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ปกครองส่งเด็กในวัยเรียนเข้าศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนตามแบบแผนแล้ว ยังจัดให้มีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนนอกระบบโรงเรียนด้วย เป็นการช่วยเหลือให้ทุกคนมีโอกาสศึกษาได้ตลอดชีวิตตามความสามารถและความต้องการของตน 

การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต ทุกคนจึงควรได้รับการศึกษา 

 การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย 

          ตั้งแต่สมัยโบราณมา ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดการศึกษาให้เป็นระบบในโรงเรียน คนไทยที่ประสงค์จะหาความรู้พื้นฐานหรือหาความรู้เพิ่มเติมจะเรียนจากผู้ใหญ่ในบ้านของตน  และจากผู้รู้ในชุมชนของตน  แหล่งความรู้ที่สำคัญ  คือ วัด ซึ่งนอกจากจะสั่งสอนความรู้ทางพระพุทธศาสนาแล้ว  ยังสอนวิชาอื่นๆ  เช่นการช่าง  การรักษาโรค  โหราศาสตร์ ผู้ประกอบการ เช่น หมอ ช่างฝีมือ นักดนตรี  จะรับเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ประสงค์จะเรียนรู้   เข้าไว้เป็นศิษย์โดยไม่คิดค่าตอบแทน  แต่ศิษย์จะบูชาครู หรือสนองพระคุณของครูด้วยการรับใช้ช่วยครูทำงานในบ้าน หรืองานอาชีพของครู

          เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาต่อเนื่องของประชาชนทั่วไปและเห็นความสำคัญที่จะต้องให้ผู้ใหญ่ที่ขาดโอกาสเล่าเรียนได้เล่าเรียนตามสมควรคือ ให้สามารถช่วยตนเอง และสามารถทำหน้าที่พลเมืองที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย  รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น  ในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ    เน้นเรื่องการรู้หนังสือโดยมีประกาศพระราชบัญญัติให้ผู้ใหญ่เรียนรู้หนังสือในการรณรงค์เพื่อให้รู้หนังสือขึ้น ขณะนั้นได้นำเอาวิธีสอนแบบสอนคนหนึ่งให้อ่านออกแล้วให้ไปสอนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่นักการศึกษาผู้ใหญ่ที่รู้จักกันทั่วโลก คือ ดร.แฟรงค์ ซี เลาบัค (Dr. Frank C.Laubach)   คิดขึ้นใช้  กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้จัดทำหนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับผู้ใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรก     ร่วมมือกับโรงเรียนบางแห่งขอใช้ห้องเรียนในตอนเย็น    ให้ครูของโรงเรียนนั้นๆเป็นครูสอนผู้ใหญ่ด้วย นอกจากสอนการรู้หนังสือแล้ว   ยังมีการสอนวิชาชีพระยะสั้นๆ ในเวลาต่อมา และได้จัดตั้งห้องสมุดประชาชนขึ้นใน พ.ศ.๒๔๙๕

          การจัดการศึกษาต่อเนื่องในปัจจุบัน มีหน่วยงานของรัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก  ช่วยบริหารและดำเนินการ  ในกระทรวงศึกษาธิการมีกรมที่รับผิดชอบคือ  กรมการศึกษานอกโรงเรียนกรมอาชีวศึกษา  กรมการศาสนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน    ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกรมประมง  กรมส่งเสริมการเกษตรกรมปศุสัตว์  ในกระทรวงมหาดไทย มีกรมแรงงาน  กรมประชาสงเคราะห์  ในกระทรวงอุตาหกรรม มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม   ในกระทรวงสาธารณสุข มีกรมอนามัย  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีบริการการศึกษาแก่ประชาชนโดยจัดสอนพิเศษในระยะสั้น ในบางวิชา เช่น   โครงการการศึกษาต่อเนื่องของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นต้น ทางด้านองค์กรเอกชน มีสมาคมต่างๆ ที่จัดการศึกษาต่อเนื่องให้แก่สมาชิก ที่จัดให้แก่ประชาชนทั่วไปก็มี

         กิจกรรมสำคัญๆ ที่จัดอยู่ในขณะนี้ อาจแบ่งได้ ๓ ประเภท คือ

          ๑. การจัดการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ให้เป็นคนคิดเป็น ทำเป็น ให้ความรู้พื้นฐานในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม คือ ทักษะในการอ่าน มีวิชาพื้นฐานในการประกอบฃอาชีพ สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และร่วมในการพัฒนาประเทศ หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดงานประเภทนี้ คือ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอยู่ทุกจังหวัด ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนรับผิดชอบในการจัดชั้นเรียนสำหรับผู้ใหญ่  จัดห้องสมุดประชาชน  จัดหน่วยฝึกสอนอาชีพในระยะสั้น จัดทำหนังสือเรียน  และหนังสือส่งเสริมการอ่านสำหรับผู้ใหญ่สำหรับจังหวัดที่ศูนย์ตั้งอยู่

          ๒. ให้ข่าวสารข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับบ้านเมือง รวมทั้งข่าวสารข้อมูลทางวิชาการ  โดยใช้สื่อมวลชนต่างๆ จัดนิทรรศการ   จัดพิมพ์อนุสารและวารสารเผยแพร่  หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์  สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ กรมการศึกษานอกโรงเรียน และหน่วยงานอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น

          ๓. จัดฝึกอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมตามความต้องการและความจำเป็น เช่น จัดอบรมวิธีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิธีเพาะเห็ด วิธีซ่อมเครื่องยนต์ วิธีซ่อมเครื่องวิทยุโทรทัศน์  วิชาช่างกลึง วิชาช่าง เชื่อม เป็นต้น หน่วยงานของรัฐและของเอกชนที่จัดการฝึกอบรมประเภทนี้มีหลายแห่ง

 วามจำเป็นและความสำคัญของการศึกษาต่อเนื่อง

           การศึกษาต่อเนื่องจะได้ผลดีก็ต้องจัดโดยมีประสิทธิภาพ คือ มีเป้าหมายแน่นอน มีวิธีการถูกต้อง มีอุปกรณ์ในการดำเนินงานครบถ้วน มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีหลักสูตรที่เจาะตรงเป้าหมาย และยืดหยุ่นได้ตามสภาพการณ์ ในช่วงเวลาและท้องถิ่น   มีวิธีวัดผลและติดตามผลสำคัญที่สุดจะต้องมีการประสานงาน และร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ   ที่ดำเนินการนี้ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน  มีการสนับสนุนทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ มีระบบข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ และไปถึงประชาชน มีแผนงานในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น สำหรับการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียน สอดคล้องสัมพันธ์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เป็นกิจกรรมครบวงจร

          ระบบการศึกษาต่อเนื่องที่จัดอย่างมีประสิทธิภาพ  จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคงในชีวิต  มีความหวังและมีที่พึ่งพาอาศัยในด้านวิชาความรู้ ข้อมูลข่าวสารอันจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน   แม้จะยากจน   อยู่ห่างไกลสถานศึกษาและศูนย์กลางความเจริญ ขาดทุนทรัพย์และเวลาที่จะศึกษาในระบบให้เต็มที่ก็ยังมีโอกาสศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้ทัดเทียมผู้อื่นและทันต่อเหตุการณ์      ความอยากรู้อยากเรียนของคนเราต้องได้รับการตอบสนอง ความรู้ก็จะเพิ่มพูนจนสามารถช่วยในการพัฒนาสังคม     และอาจก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ  เพิ่มขึ้นอีก สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมแห่งความรู้ทั้งในด้านวิชาการต่างๆ และในด้านศีลธรรมและความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

         ตามสถิติการศึกษาของโลก ประชากรในโลกนี้กว่า ๘๐๐ ล้าน ยังไม่รู้หนังสือ ขาดทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม สถิติการศึกษาของไทยแสดงว่า ผู้รู้หนังสือพออ่าน ออกเขียนได้ในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของประชากรทั้งหมด คนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีหนังสืออ่านเพื่อคงไว้ซึ่งทักษะในการอ่าน   และที่สำคัญยิ่งก็คือ  เพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ และเพื่อประกอบอาชีพให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ในทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งต้องซื้อจากต่างประเทศด้วยราคาแพง  ถ้าขาดความรู้  อาจจะต้องเสียเงินมาก และไม่ได้ผลตามที่ควร อุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ คือ ผู้ปฏิบัติหรือผู้ประกอบการขาดความรู้ทางเทคโนโลยี   ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดระบบการศึกษาต่อเนื่อง  ในรูปแบบของห้องสมุดประชาชน ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านศูนย์สารนิเทศทางวิชาการ  ให้ประชาชนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ และได้ทราบความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ทางวิชาการ   จัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการ           คนเรานั้น   นอกจากความรู้ความสามารถในทางวิชาการ  และในการประกอบอาชีพแล้วยังจำเป็นต้องรู้จักชาติภูมิของตน เข้าใจเพื่อนบ้านและสังคมของตน  มีความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรม ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างขึ้นไว้ รู้จักความละเอียดประณีตของศีลธรรม     และความสวยงามของศิลปกรรม จึงจะนับว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์สิ่งเหล่านี้นอกจากจำเป็นต้องปลูกฝังสั่งสอนให้รู้จักตั้งแต่ยังเล็กแล้ว  ยังจำเป็นต้องจัดให้มีโอกาสได้เห็นได้ฟังได้มีประสบการณ์ด้วยตนเองตลอดไประบบการศึกษาต่อเนื่องในรูปแบบของการจัดบรรยายอภิปราย ทัศนศึกษา นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ หอศิลป และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมฟื้นฟูขนบธรรมเนียมที่ดีเหล่านี้จะช่วยสนองความต้องการในด้านจิตใจได้มาก

 

แหล่งอ้างอิง   ดร.โกวิท   วรพิพัฒน์

                       http:// www.charuaypontorranin.com

 

 

หมายเลขบันทึก: 205746เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท