ง่ายหรือยาก


ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกสิ่งที่ถูกต้อง หากแต่เป็นการยินยอมให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกและเชื่อถือในการตัดสินใจของเขา ถ้าตัดสินใจผิดพวกเขาก็ได้เรียนรู้ ...ข้อความนี้จดไว้ในสมุดบันทึกปี 2547 ไม่ได้ระบุว่าคัดลอกมาจากหนังสือเล่มไหน แต่เขียนไว้เหนือข้อความว่า ดร. วอลเดน เบลโล

เมื่อคืนนี้ได้พลิกไปอ่านสมุดบันทึกเล่มเก่าๆ เห็นว่าข้อความดังกล่าวน่าจะเข้ากันได้กับสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ ที่อาจกล่าวได้ว่าในระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ผ่านมา พวกเราต่างได้เรียนรู้ และจากการเรียนรู้ได้แบ่งเราออกเป็นอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ

1) ตัดสินใจผิดพลาด ที่เลือก และพยายามหาทางแก้ไข

2) ตัดสินใจไม่ผิด เพราะไม่ได้เลือก และพยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางแก้ไข

3) ตัดสินใจไม่ผิด ที่เลือก และยังคงยืนยันที่จะเลือกต่อไป

ความคิดเห็นที่ต่างกันเช่นนี้เป็นเสรีภาพสำหรับทุกคน ซึ่งแต่ละกลุ่มต้องใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจความเห็นที่แตกต่างกันนั้น เนื่องจากแต่ละบุคคลคิดและตัดสินใจภายใต้บริบทแวดล้อมของตนเอง ...

สำหรับประชาชนบางกลุ่มความขาดแคลนทางเศรษฐกิจและด้อยโอกาสทางสังคม อาจทำให้เขาคิดว่าสิ่งที่ถูกหยิบยื่นให้อย่างฉาบฉวยคือความหวังของการอยู่รอดในชีวิตเขา เพราะเขามีชีวิตเพื่อวันนี้ ในขณะที่ความมั่นคงยั่งยืนที่แท้จริงเป็นสิ่งต้องใช้เวลารอคอย ใช้ความยากลำบากในการสร้างให้เกิดขึ้นมา และในชั่วชีวิตคนหนึ่งคนอาจไม่ได้อยู่ทันเห็นดอกผลแห่งความงดงามนั้น จึงไม่แปลกที่จะยังมีบางกลุ่มคน เลือก ในสิ่งง่ายและฉาบฉวยด้วยความสมัครใจ 

เมืองไทยในกำมือคือชาวบ้าน           กล้าหาญลงคะแนนผู้แทนให้

จะตอบต่อชาวบ้านประการใด            ไม่ยากเย็นเข็ญใจอย่างไรเลย

อยากให้เขามีอยู่ มีกิน                      ก็อย่าสร้างหนี้สินขึ้นเฉยเฉย

กระตุ้นให้ใช้จ่ายจนเคย                   คางเกยเข่าตายใช้ไม่พอ

ช่องว่าง ยิ่งห่าง ยิ่งถ่างช่อง              ห่วงแต่ของส่งออกให้ดอกช่อ

รวยอุตสาหกรรมกำมะลอ                ชาวบ้าน กรรมกร รอ วันต่อวัน

แค่สองเรื่องสองประการงานนี้           ก็มีเงื่อนให้แก้แปรผัน

คิดอย่างทำอย่างต่างกัน                   พัลวัน พัลเก เค้เก้ไป

มีน้อยไม่เก็บหอมรอมริบ                  เครดิตพริบตาหมดเข้าไปใหญ่

ยิ่งหาเช้ากินค่ำยิ่งช้ำใจ                     ปัญหาพอกหางหมูไว้ให้สังคม

ความยากจนข้นแค้นแน่นจิต               อยู่ที่วิธีคิดผิดสั่งสม

นายกฯ รวยล้นฟ้า คลำหาปม               จะงมงมพบง่ายง่ายใครหายจน

เป็นบทกลอนของ คมเลนส์” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 18-24 มีนาคม 2548 ฝากไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ...

ปลาทู

24 มีนาคม 2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20569เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2006 07:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นบันทึกที่คมคายน่าสนใจมาก  หวังว่าคงได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดทางการเมืองแบบ F2F  กันบ้างนะ  และก็ขอเชิญชวนเข้าร่วมชุมชน "สื่อเพื่อชุมชน"  ด้วยค่ะ  เราจะได้ ลปรร.  ได้สนุกสนานมากขึ้น

ลักษณะคล้ายๆ กับว่าจะเป็นการชมใช่หรือไม่คะ ต้องขอน้อมรับไว้ด้วยความขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง...สำหรับโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดทางการเมืองแบบ F2F นั้น ขอคิดทบทวนดูก่อนนะคะ แค่ถ้าเป็นแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเรื่องอาหารและโภชนาการ อันนี้จะตัดสินใจตกลงได้ทันทีเลยค่ะ

จะรีบสมัครเข้าชุมชน "สื่อเพื่อชุมชน" ตามคำเชิญชวนค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท