KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 559-2. การสร้างและการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไท และสุขภาพวิถีไท


จุดเป็นหรือตายจะอยู่ที่การตีความว่า “สร้างและจัดการความรู้เพื่อใคร และโดยใคร” คำตอบของผมคือ ไม่ต่ำกว่า ๘๐% ต้องเพื่อชาวบ้าน และโดยชาวบ้าน นี่คือหัวใจ ของความสำเร็จ

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 559-2. การสร้างและการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไท และสุขภาพวิถีไท

 

เช้าวันที่ ๔ ก.ย. ๕๑ ผมจะต้องรีบบึ่งจากโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ (หลังกล่าวเปิดมหกรรมจัดการความรู้ โรคเบาหวาน ครั้งที่ ๒) ไปศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเป็นวิทยากร อภิปรายแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องตามหัวข้อข้างบน    โดยคุณหมอสมศักดิ์ผู้เสนอจะนำเสนอตั้งแต่ ๙.๐๐ น.    กว่าผมจะไปถึงก็คงเกือบ ๑๐ น.   เพราะฉนั้นผู้เสนอก็เสนอไป ผู้อภิปรายก็อภิปรายไปโดยไม่ต้องฟังผู้เสนอ    และไม่ได้อ่านข้อเสนอมาก่อนด้วย    แปลกดีจริงๆ    ผู้จัดงานนี้คือกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

 

เอกสารที่ผมใช้ในการเตรียมตัวอภิปรายมี ๒ ชิ้น คือ

1.     การทบทวนสถานการณ์ การสร้างและจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท

2.     แผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท

 

เอกสารชุดหลัง ช่วยให้ผมรู้คำจำกัดความของ ภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ดังนี้

ภูมิปัญญาไท หมายถึง องค์ความรู้ เทคโนโลยี การปฏิบัติ (practice) และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมทั้งบริบทของการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และการแพทย์ทางเลือก

สุขภาพวิถีไท หมายถึง วิถีทางซึ่งเป็นไปเพื่อสุขภาพและปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระจากความเจ็บป่วย ความทุกข์ และความบีบคั้นทั้งปวง

 

ผู้จัดการประชุมต้องการให้ผมไปอภิปราย การสร้างและการจัดการความรู้ ใน ๒ เรื่องหลักนี้    ผมจึงเตรียมไปอภิปรายโดยอาศัยเอกสารเท่าที่มี  

เอกสารบอกว่า เป้าหมายหลักมี ๒ ประการ คือ ความเข้มแข็งของระบบสุขภาพของประเทศ  และการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ    ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง  

นอกจากนั้น ผมยังเห็นด้วยกับวิธีคิด เรื่อง ๕ ยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยมียุทธศาสตร์สร้างและจัดการความรู้เป็นแกนกลาง   อีก ๔ ยุทธศาสตร์ได้แก่  (๑) พัฒนาระบบสุขภาพ  (๒) พัฒนากำลังคน  (๓) คุ้มครองภูมิปัญญาไทย  (๔) พัฒนายาไทยและยาสมุนไพร  

Concept ดีแล้ว   ส่วนที่จะต้องเอาใจใส่ คือ implementation หรือภาคปฏิบัติ   ซึ่งจะต้องตีความหลักการสู่การปฏิบัติให้เหมาะสม  

 

จุดเป็นหรือตายจะอยู่ที่การตีความว่า สร้างและจัดการความรู้เพื่อใคร และโดยใคร    คำตอบของผมคือ ไม่ต่ำกว่า ๘๐% ต้องเพื่อชาวบ้าน และโดยชาวบ้าน   นี่คือหัวใจ ของความสำเร็จ

ถ้าตกลงกันได้อย่างนี้ ภาคปฏิบัติต้องเอาชาวบ้านเป็นฐาน   ทั้ง ๕ ยุทธศาสตร์ต้องไปบูรณาการที่ชาวบ้าน   บูรณาการอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน   มีชาวบ้านเป็น พระเอก นางเอก    ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระเอก หรือผู้ช่วยนางเอก    หรือเรียกในภาษา KM ว่า คุณอำนวย    ถ้าจับหลักนี้ได้ โอกาสสำเร็จก็มีอยู่สูง    ถ้าคนของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แสดงผิดบท   เล่นเป็นพระเอกนางเอกเสียเอง ก็จะไม่มีวันสำเร็จ

จบแล้วครับ คำอภิปรายฉบับฟันธงของผม 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๑

 

 

สุขภาพวิถีไท

 

หมายเลขบันทึก: 204864เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2008 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพิ่งทราบว่า ผู้จัดขอให้ อจ มา comment สิ่งที่ผมจะนำเสนอ เพราะผมยังเข้าใจว่า เขาให้ผมไปเสนอความเห็นของผมเกี่ยวกับแผน เหมือนที่ อจ ได้กรุณา comment ไว้

ที่พูดแบบนี้ก็เพราะผมพยายามบอกคนรับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งมาขอคำแนะนำผม และผมก็ได้ให้คำแนะนำ พร้อมกับไปช่วยจัดกระบวนการรับฟังความ้ห็นของฝ่ายต่างๆ ว่า ทางทีมงานที่ดูแลเรื่องนี้คงต้องจับประเด็นต่างๆ และเอาไปเขียนเป็นแผนที่เขาคิดว่า จะปฏิบัติได้ ตามเงื่อนไขของเขาเอง (เช่น กำลังคน ความสามารถ กำลังเงิน) แต่ดูเหมือนทีมที่ทำงานจะไม่มีใครรับว่าจะจับประเด็นที่ได้จากการปรึกษาหารือกันเมื่อราว 3 อาทิตย์ก่อน และพยายามขอให้ผมเป็นคนไปพูดในที่ประชุม ซึ่งผมก็พยายามบอกว่า น่าจะได้ประโยชน์น้อย เพราะความเห็นของผมก็ได้พูดไปหมดแล้วในการคุยกับทีมทั้ง 2 ครั้ง

น่าเห็นใจคนทำงานสำคัญๆแบบนี้ แต่ดูจะได้รับความสนใจ และการสนับสนุนอย่างเป็นระบบน้อยมากครับ

อจ ไม่ต้องห่วงครับว่าผมจะเสนออะไร เพราะอจ ไม่น่าจะต้องมีภาระมาอ่านแล้ว comment สิ่งที่ผมจะเสนอ แต่น่าจะเสนออย่างที่ อจ คิดว่าเป็นจุดสำคัญนั่นแหละครับ

ประเด็นของผมเองก็คึงคล้าย อจ เพียงแต่ว่า หลังจากการ ประชุมรับฟังความเห็น (ซึ่งมีผู้มาร่วมไม่ถึง 10 คน) ผมสรุปว่า การทำงานนี้ โดยเน้นอย่างที่ อจ ว่า น่าจะมีความเป็นไปได้ต่ำ เพราะดูเหมือนที่ประชุมยังมองเป็นเรื่องการส่งเสริมการวิจัย แบบ conventional อยู่ ซึ่งก็มีความสำคัญเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ อจ จะพูด กับสิ่งที่ผมจะพูดก็น่าจะ เสริมกัน เพราะจะเป็นข้อเสนเกี่ยวกับการขัดการความรู้ใน 2 แนวทางหลัก ซึ่งแม้จะมีประโยชน์ต่อประชาชนเหมือนกัน แต่ก็ใน degree ที่แตกต่างกัน

ขออนุญาต ต่อยอดครับ

ชาวบ้าน ที่กล่าวถึง อาจจะรวมถึง กลุ่มหมอ(รวมแพทย์แผนตะวันตก )ที่มีวิถีแบบชาวบ้าน และทดสอบ วิถีชาวบ้าน กับตนเอง หรือ เครือข่ายของตนเอง

ส่วนคุณอำนวย ก็อาจจะรวมถึง เครือข่าย ของ กรมพัฒนาแพทยืแผนไทย ที่อยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ใกล้กับชาวบ้าน ชาวเมือง ที่ หว่านเพาะ ภูมิปัญญาวิถีไทย และ รอเก็บเกี่ยวผล จากภูมิปัญญา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท