Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑ : รัฐไทยปฏิบัติต่อคนชายขอบอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ICCPR หรือไม่ ? :แนวคิดด้านวิธีวิทยาและการทำรายงานการสำรวจสถานการณ์


 

            งานของผู้ทำรายงานฉบับนี้มีเป้าหมายในจุดเริ่มต้นของการทำงานในแนวคิดที่จะทำการตรวจสอบสถานการณ์รอบด้านเกี่ยวกับ ICCPR และ คนชายขอบ และเมื่อถึงจุดสิ้นสุดของการทำงานตรวจสอบ ผู้ทำรายงานพบว่า โดยข้อมูลที่พยายามแสวงหาอย่างรอบด้าน เราอาจจำแนกมุมมองในการตรวจสอบออกเป็น ๕ เรื่องใหญ่ๆ กล่าวคือ (๑) การตรวจสอบพันธกรณีของรัฐไทยภายใต้ ICCPR (๒) การตรวจสอบสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย (๓) การตรวจสอบสถานการณ์ภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้น (๔) การตรวจสอบสถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและข้อนโยบาย และ (๕) การตรวจสอบสถานการณ์ด้านข้อเสนอแนะจากสาธารณชน

๑.  แนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานการณ์ด้านพันธกรณีตาม ICCPR และคนชายขอบ

เนื่องจากเป็นรายงานเพื่อการตรวจสอบสถานการณ์รอบด้านในประเทศไทย เพื่อที่จะทราบว่า ประเทศไทยได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนตามที่กำหนดใน ICCPR  ดังนั้น จึงต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า (๑) ข้อบทใดใน  ICCPR ที่รับรองสิทธิของคนชายขอบ ?  (๒) ข้อบทนั้นรับรองอย่างใด ?

ผู้เขียนควรจะนำเสนอให้ได้ว่า การรักษาการตามสิทธินี้เป็นหน้าที่ขององค์กรของรัฐไทยองค์กรใด ? และมีองค์กรภาคเอกชนใดเข้ามาสนับสนุนงานรักษาสิทธินี้ แต่ในรอบแรกของการเสนอรายงานนี้ ผู้เขียนยังไม่อาจจะทำได้แล้วเสร็จได้ จึงยังไม่มีรายงานการสำรวจสถานการณ์ด้านผู้รักษาการตามสิทธิดังกล่าว แต่ก็จะมีในรายงานฉบับต่อไป 

๒.   แนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของคนชายขอบ

เนื่องจากความเป็นคนชายขอบของมนุษย์ในสังคมไทยมักเกิดจากสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยซึ่งมนุษย์แต่ละคนมี ผู้เขียนรายงานจึงจะต้องหยิบยกประเด็นของ “สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย” มาพิจารณาเพื่อที่จะได้คำตอบว่า มีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานใดบ้างที่คนชายขอบไม่อาจเข้าถึงได้ เพราะเหตุที่ไร้สถานะทางกฎหมายไทย ?

นอกจากนั้น การพิจารณาในประเด็นนี้ของคนชายขอบ ย่อมจะทำให้ทราบได้ว่า ความด้อยโอกาสในลักษณะใดของคนชายขอบที่ทำให้คนชายขอบได้มาซึ่งสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย ซึ่งบุคคลไม่มีอยู่มาแต่ต้น

โดยสรุป การศึกษาในประเด็นนี้ จะทำให้ทราบถึงสัมพันธภาพระหว่างสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยและสิทธิมนุษยชนภายใต้ ICCPR นั่นเอง 

๓.  แนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานการณ์ด้านการตรวจสอบสถานการณ์ภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นแก่คนชายขอบ 

หลังจากที่ศึกษาสัมพันธภาพระหว่างคนชายขอบและสิทธิมนุษยชนภายใต้ ICCPR แล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมาพิจารณาปัญหาประสิทธิภาพของสิทธิดังกล่าวต่อคนชายขอบในประเทศไทย การสำรวจในส่วนนี้ ผู้ทำรายงานย่อมจะต้องตอบให้ได้ว่า (๑) คนชายขอบในประเทศไทยเข้าถึงสิทธิมนุษยชนภายใต้ ICCPR หรือไม่ ? (๒) ในกรณีที่คนชายขอบเข้าถึงสิทธิดังกล่าว มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวหรือไม่ ? และ (๓) หรือรัฐไทยมีอุปสรรคในการส่งเสริมให้คนชายขอบเข้าสู่การบริโภคสิทธิมนุษยชนดังกล่าวหรือไม่ ?

การศึกษาในประเด็นนี้จึงเป็นส่วนที่สำคัญมากของรายงาน โดย UN Protocol ผู้เขียนรายงานจึงต้องมีกรอบความคิด ๔ ลักษณะในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพแห่งสิทธิที่รัฐไทยได้ทำให้เกิดขึ้นแก่คนชายขอบ กล่าวคือ

            ๓.๑.  ขอบเขตของรายงานด้านเวลาศึกษา (temporel scope)

ด้วยประเทศไทยมี HRC มี Concluding Observations ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ คณะที่ปรึกษาและกระทรวงยุติธรรมจึงเห็นควรนำเสนอรายงานจากข้อเท็จจริงในช่วง พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นต้นมา จนถึงระยะเวลาที่คาดว่า รายงานควรจะปิดเล่มเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี นั่นก็คือ ราว พ.ศ.๒๕๕๑ นั่นเอง

           ๓.๒.  ขอบเขตของรายงานด้านบุคคลศึกษา (personal scope)

คณะที่ปรึกษาเห็นควรจำแนกเรื่องราวของ “คนชายขอบ” ตามความห่วงใยของ HRC โดยจะมีการจัดกลุ่มในลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) คนไร้รัฐ (๒) คนไร้สัญชาติ (๓) ผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตาย (๔) เหยื่อแห่งการค้ามนุษย์ (๕) แรงงานอพยพ และ (๖) ผู้ประสบภัยพิบัติ

             ๓.๓.  ขอบเขตของรายงานด้านพื้นที่ศึกษา (spatial scope)  

คณะที่ปรึกษาเห็นควรศึกษาทั้งกรณีของมนุษย์ที่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทย และมนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศ กล่าวคือ คนสัญชาติไทยหรือคนที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย แต่ไปปรากฏตัวในดินแดนของรัฐต่างประเทศ

            ๓.๔. ขอบเขตของรายงานด้านเนื้อหาศึกษา (material scope)  

คณะที่ปรึกษาเห็นควรศึกษาสิทธิมนุษยชนที่เป็นสิทธิพลเมือง (แพ่ง) และสิทธิทางการเมือง โดยจำแนกและเรียบเรียงประเภทแห่งสิทธิดังกล่าวตามสถานการณ์เด่นที่เกิดจริงแก่มนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวจริงกับประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๕๑ ไม่ว่าพวกเขานั้นจะอยู่ ณ ที่ใดของโลก

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่เราค้นพบ เราอาจจำแนกสถานการณ์เด่นด้านสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบออกได้เป็น ๑๕ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) ปัญหาสิทธิในชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (๒) ปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย  (๓) ปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมาย (๔) ปัญหาสิทธิในสัญชาติ (๕) ปัญหาสิทธิในชื่อบุคคล (๖) ปัญหาสิทธิในบริการการศึกษา (๗) ปัญหาสิทธิในบริการสาธารณสุข (๘) ปัญหาสิทธิในการประกอบอาชีพ (๙) ปัญหาสิทธิในการคุ้มครองแรงงาน (๑๐) ปัญหาสิทธิในการเคลื่อนไหว (๑๑) ปัญหาสิทธิในการถือครองทรัพย์สิน (๑๒) ปัญหาสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมาย (๑๓) ปัญหาสิทธิในการเข้าร่วมทางการเมือง (๔) ปัญหาสิทธิในความมั่นคงทางวัฒนธรรม และ (๑๔) ปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

๔.   แนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและนโยบาย

ในขั้นตอนนี้ เราจะตระหนักในสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของคนชายขอบ ดังนั้น การสำรวจข้อกฎหมายและข้อนโยบายของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับคนชายขอบย่อมจะสามารถเห็นสัมพันธภาพระหว่างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เราจะได้ค้นพบว่า การเข้าไม่ถึงหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้ ICCPR ของคนชายขอบในประเทศไทยนั้นเกิดจากความไม่มีกฎหมายหรือนโยบาย หรือเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบาย ?  หรือเพียงเพราะคนชายขอบนั้นไม่ตระหนักรู้ถึงความมีของกฎหมายและนโยบายที่รองรับสิทธิมนุษยชนที่ ICCPR รับรองให้แก่ตน

๕. แนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานการณ์ด้านข้อเสนอแนะจากสาธารณชน

ในการทำงานค้นคว้าปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบภายใต้ ICCPR ผู้เขียนตระหนักว่า มีข้อเสนอแนะจำนวนมากมายจากสาธารณะชนทั้งในประเทศไทยและนอกประเทศไทย ผู้เขียนรายงานจึงเห็นควรที่จะประมวลข้อเสนอแนะในการจัดการคนชายขอบในประเทศไทยจากคนรอบด้านในประชาคมโลก

นอกจากนั้น ผู้เขียนควรจะต้องนำเสนอว่า รัฐไทยยอมรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบหรือไม่ ? และหากไม่ยอมรับ รัฐไทยมีเหตุผลในการปฏิเสธหรือไม่ ? อย่างไร ? หรือในกรณีที่มีการรับฟังข้อเสนอ กระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคืบหน้าไปแค่ไหน ? และมีผลกระทบอื่นใดหรือไม่

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนย่อมจะต้องไม่ลืมที่จะทบทวนความคืบหน้าหรือความถอยหลังของรัฐไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิดังกล่าวของคนชายขอบในประเทศไทย ซึ่ง HRC แสดงความห่วงใยอย่างชัดเจนไว้ใน Concluding Observations ดังที่กล่าวถึงข้างต้น  จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑ มีความเปลี่ยนแปลงในสัมพันธภาพด้านสิทธิทางพลเมือง (แพ่ง) และทางการเมืองระหว่างรัฐไทยและคนชายขอบในความห่วงใยของ HRC  หรือไม่ ?  อย่างไร ?

คำสำคัญ (Tags): #iccpr
หมายเลขบันทึก: 204862เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2008 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ตามมาเรียนรู้กับอาจารย์
  • ได้ความรู้ในงานวิจัยอีกแบบหนึ่ง
  • แต่แค่การนั่งในภาพก็ไม่เท่ากันแล้วครับ
  • มีคนนั่งสูงกว่าคนชายขอบ
  • อิอิๆๆ

ฮิฮิ

พวกเขาอยากให้นั่งสูง เขาจะได้เห็นหน้าชัดๆ ค่ะ

อ.แหวว อ้วน ไม่เท่าไหร่

บางท่านตัวเล็ก เขาขอให้นังบนเก้าอี้ จะได้มองเห็นค่ะ

มาอ่านและลงชื่อไว้ครับ

คุณกวินขา

อย่าเกรงใจที่จะแนะนำนะคะ

กำลังหาคนแนะนำค่ะ เพิ่งเขียนเสร็จ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท