สพฐ.วาง6กลยุทธ์พัฒนาปีงบฯ"52
ตั้งเป้าร.ร.80%มีเกณฑ์คุณภาพดี ติวเข้มครูสอนประวัติศาสตร์"ต.ค."
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าได้หารือเรื่องการเตรียมแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษา ปีงบประมาณ 2552 เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งมี 6 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย 1.ในปีที่ผ่านมามีการเน้นเรื่องคุณธรรม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว และจะเพิ่มเรื่องการสร้างจิตสำนึกในความเป็นชาติไทย รวมทั้งตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อน 2.เน้นการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กพิการ เด็กที่เจ็บป่วยตามโรงพยาบาลให้ได้เข้าถึงบริการการศึกษา และส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่สูงในโรงเรียน 2,212 แห่ง และ 200 หย่อมบ้านที่ยังมีบริการการศึกษาไม่เพียงพอ รวมทั้งจะหาทางออกแก่เด็กไร้สัญชาติที่เรียนอยู่ตามศูนย์การเรียนรู้ขององค์กรเอกชนต่างๆ 3.จะเน้นคุณภาพการศึกษา โดยให้โรงเรียนทุกแห่งในสังกัด สพฐ.ต้องไม่มีโรงเรียนใดอยู่ในเกณฑ์การปรับปรุงตามเกณฑ์ประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และต้องมีโรงเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีตามมาตรฐานการประเมินของ สมศ.จำนวนไม่ต่ำกว่า 80% ของโรงเรียนทั้งหมด
4.ไม่ให้มีโรงเรียนที่ขาดแคลนอัตรากำลังเกิน 20% และโรงเรียนที่สอนในชั้นมัธยมศึกษาต้องมีครูสอนวิชาตรงตามวุฒิการศึกษาที่จบ หรือหากมีครูสอนวิชาไม่ตรงวุฒิจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินว่าสามารถสอนได้ 5.นักเรียนจะต้องมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตร ส่วนนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษจะต้องมีช่องทางแสวงหาและพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ รวมทั้งดูแลเด็กที่เรียนอ่อนด้วย และ 6.ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศให้โรงเรียนมีสัดส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ต่อนักเรียน 40 คน และมีการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตให้ครบทุกโรงเรียน มีการจัดคลังสื่อเสริมการเรียนการสอน ซึ่ง สพฐ.ตั้งเป้าว่านักเรียนช่วงชั้นที่สองขึ้นไปจะต้องสามารถใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานได้ และจะต้องมีนักเรียนที่มีความสามารถระดับโปรแกรมเมอร์ โดยจะให้โรงเรียน 3,000 กว่าแห่งทั่วประเทศดำเนินการนำร่องการเปลี่ยนแปลง
"ในเรื่องของการปรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้โดดเด่น เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะรวมอยู่ในกลยุทธ์หลักข้อที่ 1 ซึ่งได้มอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปสำรวจว่า ความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นมีมากน้อยเพียงใด และต้องดูว่าการเรียนการสอนควรเป็นเช่นไร ซึ่งคิดว่าจะต้องมีการพัฒนาสื่อเสริมและส่งเสริมกิจกรรม รวมทั้งจะต้องมีการอบรมครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ที่มา เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทค http://www.kroobannok.com.