ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ดีใจจัง..ครั้งนี้เก็บเบอรี่ไทยได้สำเร็จ


คราวก่อนเก็บมาเต็มขวด..เสียทั้งหมด..คราวนี้คนรับยิ้มหวาน

          บันทึกนี้ เขียนไว้เพื่อประกาศความสำเร็จในการเก็บ ตะขบ มาฝากผู้รับโดยไม่เสียหายค่ะ

          ป้าเจี๊ยบเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับตะขบโดยตั้งชื่อเรื่องว่า  ลูกเบอรี่ไทย กินได้ฟรีริมทาง  (คลิกเข้าไปอ่านได้ค่ะ) ใครที่อ่านแล้วคงจำได้ว่า  ครั้งนั้น น้องแพรไปเที่ยวพะเยากับป้าเจี๊ยบ  เจอต้นตะขบที่ไหน เป็นต้องให้จอดรถลงไปเก็บมากิน  พอจะกลับกรุงเทพก็เก็บมาฝากน้องชายซึ่งชอบกินลูกตะขบมากเช่นกัน อุตส่าห์เก็บมาเต็มขวด  พอถึงกรุงเทพก็กินไม่ได้ รสชาติไม่หอมหวานเหมือนเด็ดกินจากต้น  ต้องทิ้งไปด้วยความเสียดาย  

          จึงสรุปเอาเองว่า "วิธีกินตะขบ ต้องเด็ดจากต้นส่งเข้าปากทันที" เท่านั้น!         

          หยุดวันแม่ที่ผ่านมา ป้าเจี๊ยบไปบ้านโฟม ‘Tree House’ ที่กลางดงของป้าแจงค่ะ   เพราะตัวเองซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่  จึงยกเครื่องเก่าไปติดตั้งให้ป้าแจงหัดใช้    

          น้องแพรไม่ได้ไปด้วยค่ะ เพราะตอนที่ชวน เจ้าตัวบอกว่า แพรขอไม่ไปนะคะ  จะอยู่กับมามี๋วันแม่  

          เช้าตรู่ ป้าเจี๊ยบไปเดินออกกำลังกาย  ก็เห็นว่าต้นตะขบหลายสิบต้นริมถนนในหมู่บ้านพากันออกลูกแดงๆ เต็มไปหมด   เห็นปุ๊บก็คิดถึงน้องแพรทันที  อยากเก็บไปฝากค่ะ  

ครั้งก่อนโน้น จำได้ว่า น้องแพรเด็ดลูกตะขบโดยการปลิดออกจากขั้ว   ไม่มีก้านติดมาด้วย  ทำให้น้ำหวานภายในลูกซึมออกมาทางขั้วได้  ซึ่งป้าเจี๊ยบคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตะขบเสีย

ดังนั้น ครั้งนี้ ป้าเจี๊ยบจะลองเก็บทั้งก้าน  ลูกไหนก้านหลุดออกจากขั้วก็ไม่เอา  คิดแล้วก็รีบเดินกลับบ้านไปหากล่องมาใส่ เลิกออกกำลังกาย อิ อิ อิ..

พยายามเก็บอย่างเบามือที่สุด และวางลงในกล่องอย่างระมัดระวัง  โชคดีมากค่ะ ตลอดเวลาที่หญิง ส.ว. เขย่งเก็งกอยเก็บตะขบ  ไม่มีใครอยู่แถวนั้นเลย..  

          ป้าเจี๊ยบเก็บตะขบตอนแปดโมงเช้า  พาลูกตะขบมาถึงมือสาวน้อยตอนสามทุ่ม  เวลาที่ใช้ในการเดินทางของลูกตะขบ  ใกล้เคียงกับครั้งโน้น  ปรากฏว่า...ไชโย..ทำสำเร็จ!

ตัวชี้วัดความสำเร็จคือ...น้องแพรกินแล้วยิ้มตาหยีเลยค่ะ  ดูภาพเอาเองก็แล้วกัน..  

 

ป้าเจี๊ยบถือโอกาสเก็บภาพดอกตะขบและลูกตะขบที่โตในระยะต่างๆ กันมาให้ชมด้วยค่ะ เพราะคราวโน้นมีแต่ลูกแดงๆ

 

คำสำคัญ (Tags): #ตะขบ#วิธีเก็บ
หมายเลขบันทึก: 201929เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2008 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ลูกตะขบสวยดีค่ะ ป้าเจี๊ยบถ่ายภาพเก่งจัง ทำให้เบอรีไทย น่ากินจังเลย

อ้อ...ลูกตะขบ นี่เองครับ

อยากทราบว่า เบอร์รี่ ไทยมีสารอาหารที่มีประโยชน์อะไรบ้างนะครับ เพราะนกชอบกิน เด็กๆชอบกิน

ชื่อสามัญ
ตะขบป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Flacourtia indica (Burm.f.) Merr.
วงศ์
Flacourtiaceae
ส่วนที่ใช้
ผล
สรรพคุณ
แก้คลื่นไส้ อาเจียน
แหล่งที่พบ
ป่าเบญจพรรณ และป่าชายหาด
  • ตามมาทานลูกตะขบแสนอร่อย หวานหอมชื่นใจ
  • ปากทางเข้าบ้านมีตะขบต้นใหญ่แอบชิมตลอดและพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่นิยมทาน แปลกนะคะ
  • ตามมาดูครับป้าเจี๊ยบ
  • ที่บ้านไร่พนมทวนมีทั้งตะขบบ้านและตะขบป่า
  • แต่น้องนกชอบตะขบบ้านมากกว่าครับ

สวัสดีค่ะ ป้าเจี๊ยบ

  • ตะขบอร่อยค่ะ
  • แต่ต้นที่บ้านแย่งกระรอกกับนกกินไม่ทัน
  • เจ้าตัวเล็กแย่งกินลูกสุกแดงหวานสวยเกลี้ยง... เหลือแต่ลูกเขียวๆ
  • คิดอีกที....ได้ดูนกกับกระรอกเพลินๆ โดยให้ตะขบเป็นค่าโชว์ตัวก็ยิ่งกว่าคุ้มค่ะ
  •  สว้สดีค่ะ คุณ  NONGYAO - CHAMCHOY   ภาพทั้งหมดตั้งใจถ่ายมาโปรโมตเบอรี่ไทยบ้างค่ะ  เห็นคนไทยเห่อแต่เบอรี่นอก  แผนการตลาดขั้นต่อไป กะว่าจะลองทำแยมมาแข่ง..
  • ขอบคุณนะคะ คุณ จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ที่ให้ข้อมูลวิชาการเพิ่มเติม  บอกว่านกกับเด็กชอบกิน แล้วผู้ใหญ่ล่ะคะ
  • นี่ไง.. ผู้ใหญ่ที่กินตะขบ  อาจารย์ naree suwan ของป้าเจี๊ยบบอกว่า "แอบชิม"  น่าจะเป็นเพราะเวลาให้ภาพผู้ใหญ่เก็บตะขบ (อย่างที่ป้าเจี๊ยบบรรยาย) น่าจะดูไม่จืด..อิ อิ อิ..  ฉะนั้น ผู้ใหญ่ก็ชอบเหมือนกัน แต่เขิน..
  • เอ๋??  เพิ่งรู้จากน้อง ขจิต ฝอยทอง ว่ามีตะขบบ้านกับตะขบป่า แล้วที่น้องแพรกินทุกครั้ง มันแบบไหนกันนี่?  น้องขจิตมีรูปเปรียบเทียบมาฝากป้าเจี๊ยบไหม จะได้รู้ว่าอันไหนเป็นอันไหน
  • คุณ ตัวยุ่ง ก็เป็นผู้ใหญ่ที่กินตะขบ  แต่ไม่อยากแย่งเจ้าตัวเล็ก จึงยอมเสียสละของอร่อยให้  ดีจังค่ะที่มีนกและกระรอกมาให้ชื่นใจ.. เป็นป้าเจี๊ยบก็ต้องยอมเหมือนกัน  
     

สวัสดีคะ อาจารย์

ศิษย์ใหม่ ขอคารวะ

สมัยตัวเองยังเด็กก็ชอบกินตะขบ ตอนนี้ ไม่ค่อยมีแล้วล่ะ อาจเป็นเพราะบ้านเมืองเจริญเกินไป หาต้นตะขบไม่เจอ ต้องไปบ้านนอก (ชนบท)ที่ห่างไกลออกไป อาจจะ นะ อาจจะเจอก็ได้

สวัสดีค่ะอาจารย์โรส

นู๋หญิง วนิดา5601

ลูกศิษย์ที่อาจารย์เป็นห่วง นู่ก็ยังเป็นห่วงตัวเองเหมือนกันค่ะ (หัวช้าไปหน่วย-เครื่องที่ใช้ก็มีปัญหาด้วย) แถวๆ บ้านนู่มีต้นตะขบค่ะ เด็กๆ แถวบ้านชอบไปเก็บกันบ่อยๆ นกนานาชนิดก็รุมกันกิน แต่ยังไม่เข้าเขตชนบทเลย(เมืองระนอง)

สวัสดีครับป้าเจ๊ยบ

แวะมาเยี่ยมเยือน พร้อมมาลองชิมตะขบ ครับ ออกจะเปรี้ยวน่าดู..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท