ศักราช
อาจารย์ ศักราช ลุงปั๋น ฟ้าขาว

ความเชื่อข้อห้ามขึดล้านนา : อดีต ปัจจุบัน อนาคต(๙)


ด้วยบริบทของสังคมไทยแบบเสรีนิยมทำให้ความเชื่อของคนเปลี่ยนไป ทำให้เห็นการลอกเลียนแบบลักษณะสถาปัตยกรรมจากวัด และประติมากรรมที่กล่าวมาเป็นองค์ประกอบอันสำคัญทางศาสนา จากคติความเชื่อที่ดีงามดั้งเดิม นำไปใช้ในเชิงธุรกิจการค้า ไปปรากฏในสถานที่ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สปา แบบรู้เท่าถึงการณ์และเกิดจากการกระทำที่ไม่รู้ ขัดกับข้อห้ามขึดของล้านนาที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

ภาพสัตภัณฑ์วัดสวนดอก โดยศักราช  ฟ้าขาว

           พื้นฐานความเชื่อด้านศาสนาจากการรับรู้ของชาวล้านนาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รับรู้ว่างานประติมากรรมพญานาค รูปสิงห์ จะตั้งอยู่ทางเข้าออกของวัดเพื่อปกป้องคุ้มครองและจรรโลงพระพุทธศาสนา เห็นซุ้มประตูโขงหน้าวัดเพื่อจะนำเราไปสู่สวรรค์ เราเห็นยอดฉัตรที่ประดับอยู่บนปราสาทราชวังหรือพระธาตุเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปอยู่ในที่ที่อันเหมาะสม เห็นหอธรรมที่ตั้งอยู่ในวัด เห็นตุงกระด้าง เห็นหีบธรรม เสาหงส์ ต้นดอก ธรรมมาสน์ เตียงพระเจ้า สัตภัณฑ์ ที่ประพฤติปฏิบัติและสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมเพื่อความหมายต่อการถวายเป็นพุทธบูชา สิ่งเหล่านี้เป็นฐานการรับรู้หรือเงื่อนไขการประพฤติปฏิบัติของสังคมล้านนาที่ยอมรับกันได้มาอย่างยาวนาน

                   ด้วยบริบทของสังคมไทยแบบเสรีนิยมทำให้ความเชื่อของคนเปลี่ยนไป ทำให้เห็นการลอกเลียนแบบลักษณะสถาปัตยกรรมจากวัด และประติมากรรมที่กล่าวมาเป็นองค์ประกอบอันสำคัญทางศาสนา จากคติความเชื่อที่ดีงามดั้งเดิม นำไปใช้ในเชิงธุรกิจการค้า ไปปรากฏในสถานที่ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สปา แบบรู้เท่าถึงการณ์และเกิดจากการกระทำที่ไม่รู้  ขัดกับข้อห้ามขึดของล้านนาที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

  องค์ประกอบทางพุทธศาสนาหลายอย่างที่ไปปรากฏในสถานที่ไม่พึงประสงค์นั้น แทบไม่น่าให้อภัย เพราะสะดุดต่อความรู้สึก ต่อความเชื่อที่สั่งสมบ่มเพาะมาแต่บรรพบุรุษ มีการจำลองเลียนแบบวัดให้อยู่ในโรงแรม และมีการจัดแสดงบริเวณสถานที่ที่จำลองวัดภายในโรงแรม  นำเอาพญานาค รูปปั้นสิงห์เฝ้าอยู่หน้าโรงแรม ใช้สัตภัณฑ์เครื่องบูชาพระพุทธรูปในวิหารนำไปเป็นพนักพิงของเก้าอี้ในโรงแรม หรือดัดแปลงเป็นที่เขี่ยบุหรี่ของแขกที่พัก ออกแบบลักษณะของหลองข้าว(ยุ้งข้าว)ทำเป็นห้องน้ำในร้านอาหาร นำเอาหรือเลียนแบบหำยนต์ที่ป้องกันภูตผีปิศาจบนประตูทางเข้าห้องนอนของชาวล้านนานำไปประดับอยู่หน้าหรือในห้องน้ำร้านอาหาร ใช้หีบธรรมแทนเคาเตอร์หรือตกแต่งในโรงแรม ใช้เครื่องดอก เครื่องสูงนำไปใช้ประดับทางเข้าร้านอาหาร หรือรูปปั้นสามเณรใช้ประดับตกแต่งอยู่ในสวนเป็นต้น

                   แนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีการลอกเลียนแบบศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล ศาสนธรรม และศาสนพิธีที่มีการนำไปใช้สอยผิดประเภทของงานในปัจจุบันและอนาคตนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมาย ระเบียบแบบแผน หรือปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองศาสนาและหรือควบคุมการลอกเลียนแบบสัญลักษณ์ทางศาสนา และหากชาวล้านนา(บางส่วน)หรือผู้ประกอบการยังไม่มีความสำนึกในกำพืดของตนเองแล้ว ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นผิดจารีตประเพณี หรือกระทำไปแล้วขัดต่อข้อห้ามขึดในล้านนาแล้ว เราจะเห็นการลบหลู่ศาสนาจากการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจการค้า จะมีการเหยียบย่ำความดี ความงามที่เกิดจากการสั่งสมบ่มเพาะและถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษอยู่อย่างนี้ตลอดไป

                    นอกจากนั้นบทบาทขององค์กรท้องถิ่นควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลควบคุม การออกแบบและการก่อสร้างสถาปัตยกรรม อาคารต่าง ๆ  เพราะองค์กรท้องถิ่นเป็นหน่วยงานแรกที่จะรู้ว่าแบบแปลนแผนผังที่ผู้ประกอบการเสนอขออนุญาตมานั้น มีลักษณะเลียนแบบหรือจำลองเอาศาสนสถาน ศาสนาวัตถุมาไว้ในแหล่งประกอบการหรือไม่ ตลอดถึงสถาปนิก มัณฑนากรควรตระหนักถึงรูปแบบ บรรยากาศในลักษณะใดที่เหมาะสมกับสถานประกอบการ และหากผู้ออกแบบทั้งสถาปนิก และมัณฑนากรที่ไม่ใช่คนในท้องถิ่น ควรศึกษาบริบทของชุมชนในล้านนาให้ถ่องแท้เสียก่อน

                    อย่างไรก็ตาม บริบทในปัจจุบันลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีเข้าครอบงำรัฐและสังคมอย่างไม่หยุดยั้ง  ความมีอัตตาของคนจะเข้ามาแทนที่ความเป็นอัตลักษณ์ของสังคมพื้นถิ่นในทุกระดับและทุกภูมิภาค คนไทยจะมีการเพิ่มพูนความเป็นปัจเจกหรือมีอัตตามากขึ้น ตลอดถึงการดิ้นรนหาโอกาสการสะสมความมั่งคั่งทางวัตถุเพื่อสร้างความหรูหราโอ่อ่า และสร้างอำนาจให้กับตนเองและกลุ่มจำเพาะบางกลุ่ม  ซึ่งจะยิ่งทำให้การล่มสลายทางศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอัตลักษณ์ล้านนาคงสูญสลายและหายไปอย่างรวดเร็ว และอาจจะไม่ต่างจากการเป็นเมืองขึ้นหรือเสียเอกราชเช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมา และอาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ขึดหลวงในอนาคตก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 201027เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท