สารานุกรมวิชาชีพครู3


กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

                                                                                                              ดร.ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ

ความสำคัญของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

จุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  เป็นคนดี คนเก่งและอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความเป็นไทยนั้น นอกจากการพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งกำหนดไว้ในโครงสร้าง กลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มแล้ว หลักสูตรยังกำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนไว้ด้วย โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนเพิ่มเติมจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่ม ให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง ค้นพบความสามารถ ความถนัดของตนเองเพื่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ เห็นคุณค่าในการประกอบสัมมาอาชีพ ให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย ศีลธรรม จริยธรรม รู้จักบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ การบำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน สังคม ประเทศชาติและดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนในสังคมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษาเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติจริงโดยการศึกษา วิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติตามแผนการทำงานเป็นกลุ่มและประเมินผลเพื่อปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามลักษณะความพร้อม ความต้องการ และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามดุลยพินิจของสถานศึกษาและมีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง

 

ความหมายของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

            กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่จัดอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยรูปแบบกระบวนการวิธีการที่หลากหลาย ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง มีความหมายและมีคุณค่าในการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม มุ่งเสริมสร้างเจตคติ คุณค่าชีวิต ปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง สร้างจิตสำนึกในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับตัวและปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

พื้นฐานและแนวคิดของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

            กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนา ดังนี้ ๑) พัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม  ๒) พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ โดยมุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง ๘ กลุ่ม  ๓) เข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เลือกตามความถนัดและความสนใจของตนเอง

                การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมีหลักการจัด ดังนี้  ๑) มีการกำหนดวัตถุประสงค์และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม  ๒) จัดให้เหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความสนใจ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียนและวัฒนธรรมที่ดีงาม  ๓) บูรณาการวิชาการกับชีวิตจริง ให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและรู้สึกสนุกกับการใฝ่รู้ใฝ่เรียน  ๔) ใช้กระบวนการกลุ่มในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ฝึกให้คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ จินตนาการที่เป็นประโยชน์และสัมพันธ์กับชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง  ๕) จำนวนสมาชิกมีความเหมาะสมกับลักษณะของกิจกรรม  ๖) มีการกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายของสถานศึกษา  ๗) ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ มีครูเป็นที่ปรึกษา ถือเป็นหน้าที่และงานประจำโดยคำนึงถึงความปลอดภัย  ๘) ยึดหลักการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม  ๙) มีการประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรม โดยวิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับกิจกรรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

 

การประยุกต์ใช้

            กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ประกอบด้วย กิจกรรมแนะแนวและกิจกรรมนักเรียนซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดแยกหรือบูรณาการไว้ด้วยกันก็ได้ และสามารถจัดได้หลากหลายรูปแบบและวิธีการ โดยมีขอบข่ายดังนี้  ๑) เป็นกิจกรรมที่เกื้อกูล ส่งเสริมการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในลักษณะของการปฏิบัติตามโครงการ/โครงงาน ในลักษณะเป็นกระบวนการเชิงบูรณาการโดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม เป็นพื้นฐาน  ๒) เป็นกิจกรรมที่สนองความสนใจ ความถนัด ความต้องการของผู้เรียน ตามความแตกต่างระหว่างบุคคลในลักษณะชมรม ชุมนุม กลุ่มสนใจ เน้นการให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวิชาความรู้ อาชีพและการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพ  ๓) เป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในลักษณะต่างๆ ให้สามารถจัดการกับชีวิตและสังคมได้ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น มีค่านิยมในความดีงาม มีวินัยในตนเอง มีคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ๔) เป็นกิจกรรมที่ฝึกการทำงานและการให้บริการต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ส่วนรวม เพื่อเสริมสร้างความมีน้ำใจ เอื้ออาทร ความเป็นพลเมืองดีและรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

 

                  การออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่สำคัญได้แก่การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้าน  ทั้งร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์  และสังคม   โดยอาจจัดเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีศีลธรรม  จริยธรรม  มีระเบียบวินัย  และมีคุณภาพเพื่อพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์   ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม  ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย    มีรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแบ่งเป็น    ลักษณะ  คือ

                .  กิจกรรมแนะแนว  เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล  สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน  เสริมสร้างทักษะชีวิต     วุฒิภาวะทางอารมณ์   การเรียนรู้ในเชิงพหุปัญญา  และการสร้างสัมพันธภาพที่ดี   ซึ่งครูทุกคนจะต้องทำหน้าที่แนะแนว  ให้คำปรึกษาด้านชีวิต  การศึกษาต่อ และการพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพการมีงานทำ

                ๒. กิจกรรมนักเรียน  เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความสมัครใจของผู้เรียน  มุ่งพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพิ่มเติมจากกิจกรรมในกลุ่มสาระ  เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนช่วยกันคิด  ช่วยกันทำ  ช่วยกันแก้ปัญหา  ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่  รวมถึงกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังความมีระเบียบวินัย  รับผิดชอบ  รู้สิทธิและหน้าที่ของตนเอง  แบ่งตามความแตกต่างระหว่างกิจกรรมได้    ลักษณะ  ดังนี้

                                ๒.๑  กิจกรรมพัฒนาความถนัด  ความสนใจ  ความต้องการของผู้เรียน  เป้าหมายของกิจกรรมมุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้  ความชำนาญและประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อการค้นพบความถนัด  ความสนใจของผู้เรียน  และพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ  ตลอดจนการพัฒนาทักษะของสังคม  และปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม

                                ๒.๒  กิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี  ยุวกาชาด  ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และรักษาดินแดน  เป็นกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังระเบียบวินัย  กฎเกณฑ์  เพื่อการอยู่รวมกันในสภาพชีวิตต่าง    นำไปสู่พื้นฐานการทำประโยชน์ให้แก่สังคม  และวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตย         อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่งกระบวนการจัดให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ      ยุวกาชาด  สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์และกรมการรักษาดินแดน

การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอาจจัดได้หลายรูปแบบเช่น  ๑) จัดแบ่งสัดส่วนเวลาของกิจกรรมต่าง    แล้วกำหนดเวลาเรียนในตารางเวลาเรียน  เช่นเดียวกันกับกลุ่มสาระอีก    กลุ่มสาระ ๒) จัดแบ่งสัดส่วนเวลาของกิจกรรมต่าง     แล้วกำหนดเวลาเรียนบางส่วนในตารางเวลาเรียนปกติ  และบางส่วนนอกเวลาเรียน   ๓) จัดกิจกรรมต่าง    ไปด้วยกัน  โดยการวางแผนร่วมกันของกลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรม  กำหนดเวลาเรียนบางส่วนในตารางเวลาเรียนปกติ  บางส่วนนอกเวลาเรียน

 

ตัวอย่างการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 

.   สนับสนุนการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง ๘ กลุ่ม  เป็นกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ  ด้านวิชาการในกลุ่มสาระต่าง ๆ   ทั้งในห้องเรียน และเสริมบทเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าในชีวิตประจำวัน  เช่น คลินิกภาษาไทย ชุมนุมวรรณศิลป์   ชุมนุมส่งเสริมนักอ่าน   ชุมนุมวิทยาศาสตร์ ชุมนุมคณิตศาสตร์ ชุมนุมภาษาอังกฤษ  ชุมนุมภาษาฝรั่งเศส  ชุมนุมสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

.   ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและลักษณะที่พึงประสงค์   เป็นกิจกรรมที่มุ่งฝึกอบรม
บ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองดีตามจารีตประเพณีของชาติ
  มีคุณธรรมจริยธรรม รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกันยอมรับผู้อื่น มีความอดทน  ทำงานร่วมกันเป็นทีม และภูมิใจในความเป็นไทย อันมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์   เช่น  ลูกเสือ  เนตรนารี ยุวกาชาด รักษาดินแดน

                .   ส่งเสริมการให้บริการและการประกอบอาชีพ   เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมประสบการณ์ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นและเข้าใจกระบวนการประกอบอาชีพในระหว่างเรียนเพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม เช่นชุมนุมประชาสัมพันธ์ ชุมนุมสหกรณ์ ชุมนุมพยาบาล ชุมนุมห้องสมุด ชุมนุมคอมพิวเตอร์ ชุมนุมพิมพ์ดีดไทย อังกฤษ ชุมนุมประดิษฐ์ดอกไม้ ชุมนุมเกษตรกรรม ชุมนุมงานไม้ ชุมนุมเคลือบโลหะด้วยพลาสติก ชุมนุมโสตทัศนูปกรณ์ ชุมนุมมัคคุเทศก์ ชุมนุมทัศนศึกษา

                ๔. ส่งเสริมความถนัด / ความสนใจตามความสามารถของผู้เรียน  เป็นกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมความสามารถ ความถนัดและความสนใจเฉพาะตน  เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อตนเอง  เช่น ชุมนุมดนตรีไทย ชุมนุมดนตรีสากล ชุมนุมเชียร์รีดเดอร์ ชุมนุมศิลปะการแสดง  ชุมนุมศิลปะพื้นบ้าน ชุมนุมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมนุมถ่ายภาพ ชุมนุมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ชุมนุมว่ายน้ำ ชุมนุมกรีฑา ชุมนุมบาสเกตบอล ชุมนุมเทเบิลเทนนิส ชุมนุมฟุตบอล ชุมนุมกระบี่กระบอง ชุมนุมมวยสากล ชุมนุมสมุนไพร ชุมนุมปักผ้าครอสติส

 

การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจะบรรลุผลสำเร็จได้ สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัย  วุฒิภาวะ  และความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

            วิชาการ, กรม. (๒๕๔๕). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔.

 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

หมายเลขบันทึก: 198910เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2008 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มาทักทาย
  • อาจารย์หายไปนานมากๆๆเลยครับ
  • สบายดีไหมครับ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท