ในนามีปลา ในนามีข้าว


เดือนแปดกินปลาข่อน

             ไทบ้านพูดกันว่าย่างเข้าเดือนแปด จะได้กิน"ปลาข่อน" (ปลาในนาที่น้ำแห้งขอด) เห็นจะจริงดังไทบ้านพูด เพราะฝนทิ้งช่วงไปเกือบเดือนแล้ว เช้าวันหนึ่งฉันออกจากบ้านในตอนเช้าตรู่เพื่อไปดูนาเหมือนทีทำเป็นประจำ หลังจากฝนทิ้งช่วงไป น้ำในนาเริ่มแห้งลง จากเดิมน้ำในนาทุกแปลงมีเต็มนา ตอนนี้แปลงด้านบนสุดซึ่งรับน้ำจากหมู่บ้านโดยตรงนั้นแห้งลงไปเกือบหมดนา ทำให้ปลาในนาซึ่งเคยมีน้ำอาศัย พากันมาอยู่บริเวณที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มมากที่สุดในแปลงนาด้านบน น้ำแห้งลงเกือบหมดแบบนี้ หอยเชอรี่ ศัตรูข้าวที่ชาวนาส่วนใหญ่กลัว (ยกเว้นฉัน) กำลังขุดดินฝังตัวเองหนีความแห้งแล้งอยู่ วันนี้ฉันจึงเก็บหอยเชอรี่ได้ง่ายกว่าทุกวัน แถมตัวใหญ่ๆทั้งนั้น ฉันเก็บหอยเชอรี่ทั้งเล็กและใหญ่ได้เต็มถุงพลาสติกใบใหญ่ที่เตรียมมา แต่มันยังไม่พอ หอยเชอรี่เยอะ จนต้องเก็บมาใส่ในตะกร้ารถจักรยานจนเต็มอีก ๑ ตะกร้า ฉันคงจะทำปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่ได้เต็มถังใหญ่ก็คราวนี้ล่ะ

               พูดถึงเรื่อง "ปลาข่อน" ต่อ

เก็บหอยเชอรี่เสร็จประมาณ  ๑๐ โมงเช้า กลับมาบ้านจึงโม้ให้แม่ป้าที่บ้านฟังว่า น้ำในนาแห้งแล้วปลาเต็มไปหมดเลยแกตื่นเต้น บอกว่า "นั่นล่ะของดีต้องรีบไปเอา ไม่งั้นเดี๋ยวคนอื่นมาเอาไปซะก่อน" และ ๑๑ โมงเช้าฉันและป้า พร้อมอุปกรณ์ครบชุดสำหรับ "สาปลา" ทั้งตะแกรง,คุ,ขันน้ำ,ถุงผ้าดางใส่ปลา,พร้อมเพรียงกันอยู่ที่ทุ่งนา  แดดวันนั้นร้อนมาก แต่โชคดีที่บริเวณซึ่งเราจะจับปลากันนั้น มีร่มไม้บังแดดพอให้ไม่ร้อนมากนัก แต่โชคไม่ดีเท่าไหร่ (สำหรับฉัน) เมื่อป้าบอกว่าต้งอช่วยกันวิดน้ำที่เหลืออยู่บริเวณที่ต้องการจับปลานั้นให้แห้งซะก่อน ตอนแรกฉันดูๆ ก็เห็นว่าน้ำนิดเดียวไม่น่าจะใช้เวลาในการวิดน้ำนานมานัก ที่ไหนได้......ฉันและป้าใช้เวลาวิดน้ำกัน ๑ ชั่วโมง

"โอ๊ย....เมื่อยๆ พอแล้วๆ" ฉันบ่น

"เห็นบ่ เห็นบ่  ข่อยถามเจ้าแล้วว่าน้ำหลายบ่ เจ้าก็บอกว่าบ่หลาย " ป้ายืนเย้ยอยู่บนคันนา

 "มาแล้วก็ต้องเฮ็ดให้มันแล้ว " ป้าชี้นิ้วสั่งการต่อไป

ไม่มีคำแก้ตัวได้แต่ก้มหน้าก้มตาวิดน้ำขึ้นจากนาต่อไป ใครจะไปรู้ว่าวิดน้ำที่ดูว่านิดเดียวจะนานขนาดนี้ ไม่น่าเลย ..................

ป้าสอนให้ฉันทำ ทำนบเล็กๆกั้นน้ำไว้เป็นช่วงๆ เพื่อจะได้วิดไปทีละส่วน จับปลาไปทีละส่วน และจะได้รู้สึกว่ามันไม่เยอะด้วย มันก็จริงนะ และเราก็เริ่มจับปลากัน พอน้ำแห้งปลาเต็มไปหมด จับง่าย  แค่ใช้มือกำขึ้นมือก็ติดปลามาเพียบ เพราะปลาส่วนใหญ่เป็นปลาตัวเล็ก เช่น ปลาเข็ง (ปลาหมอ),ปลาค่อ (ปลาช่อน),ปลานิล,ปลาหลด,ปลาดุก,ปลากระดี่, และแถมด้วยลูกงูน้ำอีกหลายๆตัว   เจ้าพวกหลังนี่แหละ ที่ทำให้ฉันต้องกระโดดขึ้นคันนาหลายต่อหลายครั้ง ด้วยความไม่ชอบงู ฉันต้องยืนทำใจอยู่นาน จึงจะกล้าลงมาช่วยป้าจับปลาอีกรอบ  บางครั้งเราเจอปลาช่อนตัวโตๆหากแต่มันฝังตัวอยู่ในโคลนโผล่แต่หัวขึ้นมา  ทำให้เราไม่แน่ใจนักว่ามันคืองูหรือปลากันแน่  ฉันและป้ามักจะเกี่ยงกันว่าใครจะเข้าไปจับมัน เพื่อความปลอดภัยเรายืนห่างๆมัน หาไม้ยาวๆมาแหย่ๆดู มั่นใจแล้วค่อยจับ สำหรับปลาตัวเล็กนั้นจับไม่ยาก ใช้ขันตักขึ้นมาทั้งโคลนทั้งปลา ใส่ตะกร้าแล้วค่อนเอาไปล้างน้ำโคลนออก

  แดดบ่ายโมง - บ่ายสอง ร้อนขึ้นทุกขณะ จนอยากจะเป็นลม หิวก็หิว เราไม่ได้พกข้าวมากิน เพราะไม่คิดว่ามันจะนานขนาดนี้ ได้มะม่วงคนละสองลูก ประทังความหิวพอได้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ขึ้นมาบ้าง (สำหรับฉัน) แต่สำหรับคนแก่อายุ ๖๔ ปี อย่างป้าดูแกสดชื่นกว่าฉันอีกแน่ะ แดดบ่ายมาร่มไม้เริ่มเปลี่ยนไปอยู่บนคันนาแทน แต่บริเวณที่เราจับปลานั้นไม่มีร่มเงาไม้แล้ว   ฉันเริ่มพักบ่อยขึ้น เพราะทั้งร้อนและเวียนหัว แต่ดูป้าจะมีพลังมะม่วงกักตุน เหลือเฟือ แกวิดน้ำๆ อย่างกะสาวๆแน่ะ ฉันซะอีกเหมือนคนแก่ แป๊บๆก็พัก ตอนบ่ายนี้ฉันกินแรงคนแก่ไปเยอะ ฮา......

   เราได้ปลาเยอะมาก เต็มสองตะกร้าแล้ว ฉันชวนป้ากลับบ้าน แกไม่ยอมกลับ บอกว่าจะเอาปลาให้หมด เดี๋ยวยมีคนอื่นมาเอา อุตส่าห์วิดน้ำไว้แล้ว แกพยายามวิดน้ำสุดแรงเกิดเพื่อให้ได้ปลาเยอะ และเย้ยฉันสนุกๆของแกไป

 "เห็นบ่ เห็นบ่  วิดน้ำได้หลายเติบแล้ว"

ส่วนฉันไม่ไหวแล้ว

 "บ่ไหวแล้ว พักก่อนเด๊อ อยากฮาก"

ฉันวิ่งขึ้นไปยืนใต้ร่มต้นตาล อาเจียนออกมา มีแต่น้ำขมๆ เฮ่อ....ได้อาเจียนแล้วค่อยโล่งหน่อย ส่วนป้ายังจับปลาต่อ และหยอกว่าฉันอาเจียนเหมือนพวกขี้เหล้า

 "ฮากปานขี้เหล้าว่ะ"    

"ไป ไป กลับบ้าน "ฉันชวน

อันที่จริงป้ายังไม่อยากกลับนัก เพราะปลายังไม่หมด แต่แกคงสงสารฉัน ไม่น่าเล้ย.....ฉันคิด แต่สำหรับป้าแกดูจะมีความสุขเป็นพิเศษ เพราะอย่างน้อย มื้อเย็นนี้ไม่ต้องซื้อกับข้าว แถมยังจะได้ทำ"ส้มปลาน้อย"ไปขายด้วย

 

คำสำคัญ (Tags): #ปลาข่อน
หมายเลขบันทึก: 198783เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2008 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมคะ พ่อน้องซอมพอ ปีนี้ข้าวปลาทางเมืองน่าน ดีมั้ยคะ ทางทุ่งกุลาปีนี้ หากน้ำไม่ท่วมตอนปลายปี คาดว่าฤดูเกี่ยวข้าวที่กำลังจะมาถึงคงจะคึกคักน่าดูทีเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท