ทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ควรจะเป็น


 

                โลกกำลังประสบปัญหาใหญ่ที่คนจำนวนมากยังไม่ตระหนักนัก คือภาวะโลกร้อน (Global Warming) การที่อุณหภูมิของโลกค่อยๆเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพดินฟ้าอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือกำลังละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ผู้คนหวั่นวิตกน้ำจะท่วมโลก เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมากผิดปกติในบางพื้นที่ ต้นเหตุมาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงมากเกินไป ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดภาวะเรือนกระจก กักเก็บความร้อนไว้ในโลก

                นอกจากนี้ โลกกำลังมีปัญหาน้ำมันราคาแพง ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจของโลกปั่นป่วนวุ่นวาย ต้นเหตุเกิดจากการใช้น้ำมันกันมากเกินไป และน้ำมันก็มีอยู่จำกัด ถ้าใช้กันอย่างที่เป็นอยู่ อีกไม่เกิน100ปี น้ำมันจะหมดไปจากโลก คนทั้งโลกจะเดือดร้อนหนักขึ้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างประเทศ เกิดสงครามในรูปแบบต่างๆ โลกขาดความสงบสุข เกิดความขัดแย้ง เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในระดับโลก

                ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จึงได้รับผลกระทบจากปัญหาระดับโลกมาเป็นปัญหาของชาติด้วย ปัญหาน้ำมันแพงระดับโลก ทำให้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบ เกิดปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาเงินเฟ้อ คนมีรายได้ไม่พอรายจ่าย คนที่เดือดร้อนคือคนที่มีรายได้น้อย รัฐบาลต้องหาวิธีการมาช่วยเหลือ ซึ่งก็คงประทังได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะรากเหง้าของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

                ประเทศชาติยังประสบปัญหาอีกหลายอย่างนอกจากปัญหาพลังงาน ปัญหาการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของคนสองกลุ่มที่ชัดเจน นำประเทศชาติไปสู่ภาวะวิกฤต ชะงักงันในทุกๆด้าน เกิดปัญหาความไม่สงบสุขในชาติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาลึกซึ้งรุนแรงจนหลายฝ่ายวิตกกังวล เกรงจะหาทางออกไม่ได้

                ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ก็เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยทั้งชาติ เพราะทำให้เสียชีวิต ทรัพย์สิน ทรัพยากรของชาติที่ควรจะใช้เพื่อพัฒนาประเทศ กลับต้องนำมาใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ผู้คนขาดความรู้สึกปลอดภัย การประกอบอาชีพมีความยากลำบาก เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน บั่นทอนความเจริญและความมั่นคงของประเทศชาติ

                นอกจากปัญหาหลักๆที่ยกมาแล้ว ประเทศไทยยังมีปัญหาที่ผู้คนไม่ตระหนักถึงอีกจำนวนมาก และปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ทำให้รูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ทำให้การลื่นไหลของข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่คนที่ล้าหลังต่อการพัฒนาก็จะถูกทิ้งห่างมากขึ้น การพึ่งพากันในระดับโลกมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการทำมาหากินเปลี่ยนแปลงไป การงานอาชีพเปลี่ยนไป คนในอาชีพเกษตรกรรมลดจำนวนลง ในขณะที่อาชีพด้านอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ชนบทหดตัวเล็กลง ครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น สุขภาพอนามัยของคนดีขึ้น คนเกิดใหม่ลดลง แต่ผู้สูงอายุมีมากขึ้นมีปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล

                ที่กล่าวมทั้งหมดเป็นบริบทของการศึกษา ทั้งบริบทในระดับโลกและบริบทภายในประเทศของเราเอง ทั้งหมดส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรมก็เช่น ความไม่สงบในภาคใต้ ทำให้ครูและนักเรียนไม่ปลอดภัย ครูขาดขวัญ มีครูย้ายออกจากพื้นที่มาก เกิดปัญหาขาดแคลนครู กิจกรรมการเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่ เกิดปัญหาคุณภาพการศึกษา ประชากรย้ายถิ่น ทำให้เกิดปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ในขณะที่โรงเรียนในเมืองไม่พอบริการ ปัญหาเด็กบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสถูกละเลย ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท ยังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการแก้ไข

                ในขณะที่ในระบบการศึกษาเองก็มีปัญหา การปฏิรูปการศึกษาที่ทำกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 หลังจากมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นเวลาเกือบ10ปีแล้ว ก็ยังมีปัญหาสืบเนื่อง ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ โรงเรียนมัธมศึกษาเรียกร้องการมีระบบบริหารของตนเองแยกออกมาจากการศึกษาพื้นฐานโดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดระบบโครงสร้างที่ไม่ลงตัว ปัญหาการแย่งกันเข้าเรียนต่อโดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษา สะท้อนถึงความไม่พอเพียง และคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน เกิดปัญหาการต้มตุ๋นหลอกลวง เรียกรับเงิน เหล่านี้เป็นสิ่งน่าละอาย ไม่สมควรเกิดขึ้นในวงการการศึกษา ปัญหาครูและบุคลากรที่ยังไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีการเสนอผลงานเพื่อปรับวิทยฐานะจำนวนมาก แต่ที่ปรับได้มีจำนวนน้อย ปัญหาครูมีหนี้สิน ปัญหาการผลิตครูให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน

                ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาที่จัดทำและนำเสนอโดยสำนักงานสภาการศึกษา สรุปได้ว่า จากเป้าหมายเชิงนโยบายของชาติที่ต้องการให้คนมีคุณธรรม นำความรู้ นั้นบรรลุเป้าหมายได้เพียงครึ่งเดียว คือการสร้างคุณธรรมให้กับเด็กและเยาวชน แม้จะยังมีปัญหาอยู่มาก แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าจัดได้ดีพอสมควร แต่ความรู้กลับมีปัหา ผลการประเมินระดับชาติไม่ว่าจะชั้น ป.6 ม. 3 หรือ ม.6 ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไม่ถึงมาตรฐานที่ควรจะเป็นคือ50  พบว่าเด็กไทยอ่อนภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ สำหรับโลกปัจจุบันและอนาคต เราเคยภูมิใจว่าเป็นเสือตัวที่ห้าภาคเศรษฐกิจในเอเชีย ขณะนี้เสือตัวที่ห้ามีปัญหาคุณภาพการศึกษา ผลการประเมินระดับนานาชาติเปิดเผยให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ระดับหลังของหลายประเทศในเอเชีย และอยู่ระดับค่อนข้างท้ายในระดับนานาชาติ ผลการประเมินของ สมศ. เปิดเผยว่ามีโรงเรียนไม่ผ่านการประเมินถึง 17,432 โรง และที่มีอาการน่าเป็นห่วง ที่เรียกกันว่าโรงเรียน ICU ถึง 560 โรง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐานของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าคิดจะแข่งขันในระดับนานาชาติต้องรีบยกมาตรฐานการศึกษาไทย แต่จะทำได้อย่างไรยังเป็นที่น่าเป็นห่วง

                จากการวิเคราะห์งบประมาณเพื่อการศึกษา พบว่าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนงบประมาณเพื่อการอื่นแล้วไม่ได้เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ อุดมศึกษามีสัดส่วนการเพิ่มสูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบประมาณการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ (80%) ยังใช้เป็นเงินเดือนและค่าจ้าง งบพัฒนามีน้อยและลดลง แผนงานโครงการด้านคุณภาพการศึกษาจึงไม่ค่อยได้รับการดูแล งบลงทุนเพื่อการศึกษาพบว่ามีอัตราต่ำมาก ขัดแย้งกับความต้องการซึ่งมีปริมาณสูง

                ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตรา49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น ยังมีปัญหาทางปฏิบัติอยู่มาก มีการแปลความที่ต่างกัน และเกิดข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพ มัธยมศึกษาได้รับผลกระทบกมากกว่าประถมศึกษา

                ถ้าดูในเชิงปริมาณ การศึกษาภาคบังคับคือประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นจัดได้กว้างขวางและทั่งถึงพอสมควร ประชากรวัยเรียนร้อยละ98ได้รับการศึกษาภาคบังคับถึงม.ต้น แต่สัดส่วนการเรียนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าถึงได้เพียงร้อยละ73 ค่าเฉลี่ยการศึกษาของคนไทยยังอยู่ที่8.6 ไม่ถึงการศึกษาภาคบังคับ9ปี

                ยังมีคนในวงการการศึกษาไม่มากนักที่ทราบว่า กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) ออกมาแล้ว กรอบนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศ5ปีข้างหน้า (จริงๆแล้วเหลืออีกเพียง3ปีเศษๆ) ถ้าไม่รีบดำเนินการคงยากที่จะบรรลุเป้าหมายได้

                ภายใต้ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆที่ยกมา เป็นความจำเป็นของนักการศึกษาและผู้รับผิดชอบ จะต้องช่วยกันกำหนดแนวทางเดินทางการศึกษาที่เหมาะสมกับสังคมไทย ทั้งในภาพรวมและในพื้นที่ย่อยที่มีความเป็นไปได้ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศโดยรวม สมควรจะทำเรื่องใดก่อนและหลังอย่างไร  สมควรได้รับการพิจารณา  ประเด็นปัญหาที่อยากฝากให้ช่วยกันคิดแก้ไขคือ

1.       การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาพื้นฐานให้สูงขึ้น ทำอย่างไรจะให้เด็กไทยอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง

2.       ระบบบริหารการศึกษาพื้นฐานที่ยังไม่ลงตัวจะแก้ปัญหาอย่างไร ความคิดที่จะมีเขตพื้นที่การศึกษาของมัธยมศึกษาเป็นการเฉพาะอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่การคิดแก้บางส่วน อาจไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด จะแก้ทั้งระบบได้อย่างไร

3.       ปัญหาครูบุคลากรทางการศึกษายังเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาการกระจายครู ปัญหาครูขาด ครูเกิน ปัญหาคุณภาพของครู ปัญหาหนี้สินของครู ล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาทั้งสิ้น

4.       ปัญหาการถ่ายโอนความรับผิดชอบการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีความลักลั่นไม่ลงตัว จริงๆแล้วน่าจะเป็นเรื่องการร่วมมือกันรับผิดชอบมากกว่าการถ่ายโอนความรับผิดชอบ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร

5.       หลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ ครูยังยึดเนื้อหาสาระมากกว่ากระบวนการเรียนรู้

6.       สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษายังไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ และยังพัฒนาได้ช้า โรงเรียนขาดแคลนเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ยังไม่กว้างขวาง

7.       การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจากส่วนกลางไปยังสถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษายังไม่เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง ยังเป็นการกระจายความรับผิดชอบโดยมีเงื่อนไข จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

8.       พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จะต้องจัดควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบ แต่ทั้งสองระบบยังแยกกันจัดแบบคู่ขนาน สมควรดำเนินการอย่างไรให้เป็นระบบเดียวกัน

9.       สังคมต้องการความช่วยเหลือจากการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาสังคม คนไทยขาดความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ขาดการรับรู้เรื่องสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริต สำนึกสาธารณะ ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ความเสมอภาค การศึกษาจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร

10.    นิสัยบางอย่างที่ควรปลูกฝังเพื่อให้เกิดการพัฒนาตัวเอง เช่น นิสัยรักการแสวงหาความรู้ นิสัยรักการอ่าน รวมถึงการช่วยกันสร้างสังคมให้เป็นสังคมเพื่อการเรียนรู้ สมควรดำเนินการอย่างไร

ที่ยกมา10ประการ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องช่วยกันคิดแก้ปัญหา และหาทางพัฒนา เพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถสร้างพื้นฐานชีวิตให้คนไทยและสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

 

----------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 197908เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีคะ...ท่านอาจารย์ที่เคารพ

...เป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาที่ดีมาก...หนูขออนุญาตนำไปสานต่อเพื่อประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ดีของการศึกษาไทยต่อไป

...ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ เป็นอย่างสูง...

เอื้อง...แสงเดือน

(นิสิตปริญญาเอก  สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา  ชั้นปีที่  1  ม.นเรศวร)

สวัสดีครับท่าน

                    รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้อ่านสิ่งที่ท่านสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการศึกษาไทยที่มีอยู่อีกมากมาย....

                    ทุกอย่างเรายังต้องรอผู้มาแก้ไขให้ลุล่วงโดยเร็ว...แต่ในภาวะที่ประเทศไทยโดนกระทบจากอิทธิพลของปัจจัยต่าง ๆ มากมาย...สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ขณะนี้คนไทยขาดความสามัคคีกันอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยอ่อนแอ ได้แต่รอว่าสักวันหนึ่งคงมีอัศวินม้าขาวมากู้วิกฤตให้เราได้...

                    ขณะนี้พวกเราคงทำได้เพียงทำตามหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเท่านั้นเองครับ

                                                             ขอบพระคุณครับ

วันนี้ยินดีและปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งค่ะที่ได้อ่านเรื่องดีๆจากผู้รู้

สวัสดีค่ะ

ได้อ่านข้อคิดของท่านแล้ว ขอนุญาตนำไปเป็นขยายผล ให้บุคลากรในโรงเรียนสังกัด สพท.กำแพงเพชร เขต 1 ช่วยกันคิดแก้ปัญหาและพัฒนาต่อไปค่ะ

เรียนท่านพนม พงษ์ไพบูลย์

ขอคำแนะนำในการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา เนื่องจากได้พยามยามนิเทศ ติดตามช่วยเหลือโรงเรียนแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จค่ะ

ได้มาเรียนรู้กับท่าน ซึ่งได้กลั่นมาจากประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ขอนำไปใช้เติมปัญญา หากมีศักยภาพในการแก้ปัญหาใดในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ก็จะทำให้ดีที่สุดครับ

นับเป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสศึกษางานดีๆจากท่าน และขอบคุณอาจารย์ดร.ดิสกุล ที่สอนการทำบล็อก มิฉะนั้นศิษย์คนนี้จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสสิ่งดีๆเช่นนี้

ปัญหาการศึกษาของชาติที่แท้จริง น่าจะมาจากการเมืองมากกว่าด้านอื่น ๆ เพราะการเมืองเป็นผู้กำหนดชะตาของการจัดการศึกษา

เปลี่ยนการเมืองแต่ละครั้ง นโยบายการศึกษาเปลี่ยนไป พรบ การศึกษา 2542 ดีอยู่แล้ว ถ้าการเมืองเดินตามให้ครบถ้วนก็จะทำให้การศึกษาพัฒนามากกว่านี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท