จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

จดหมายข่าว 4


ฉบับที่ 4/2551

 

อัสลามูอาลัยกุมวาเราะมาตุลลอฮิวาบารอกาตุฮ์

·       ห่างหายไปหลายนานครับจากฉบับที่ผ่านมาจนมาถึงฉบับนี้ เหตุผลเดิมครับ คือ งานยุ่ง เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปิดงบประมาณของหลายหน่วยงานครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณการวิจัย  อีกเหตุผลหนึ่งคือ สุขภาพครับ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และอยากฝากให้อาจารย์และบุคลากรทุกท่านได้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนะครับ เพราะอีหมานที่สมบูรณ์นั้นอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์ครับ

·       สัปดาห์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยของเราได้ต้อนรับการตรวจสอบการประกันคุณภาพ ซึ่งทุกท่านคงได้ร่วนในกิจกรรมดังกล่าวไปแล้ว

·       สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดที่ยังเป็นปัจจุบันอยู่ คือกิจกรรมวิชาการฉลอง 10 ปี มหาวิทยาลัยครับ

·       นี้เป็นความคึกคักของมหาวิทยาลัยในช่วงนี้ครับ

 

 

ประเด็นเป็นข่าว

·       ข่าวสำคัญคือ ข่าวการประกาศทุนวิจัยของสำนักวิจัยฯ ครับ  ทุกท่านคงได้รับทราบข่าวสารกันไปแล้ว ซึ่งการรับสมัครดังกล่าวจะหมดเขตในวันที่ 30 ก.ค. นี้แล้วนะครับ อาจารย์หรือบุคลากรท่านใดต้องการทำวิจัยอย่าพลาดทุนนี้นะครับ ออ. ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะท่านที่ต้องการนะครับ เพราะจากการประเมินของคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายนอก ก็บ่งชี้ว่า ผลงานวิจัยของเราอยู่ในระดับต่ำครับ ดังนั้นหนทางเดียวที่จะทำให้เรามีคุณภาพได้ ก็คือ อาจารย์ทุกท่านจะต้องทุ่มเทในการทำวิจัยมากขึ้น ผมเองทราบดีครับว่า อาจารย์ส่วนใหญ่มีภาระงานสอนเยอะ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะปฏิเสธการทำวิจัยนะครับ เพราะส่วนหนึ่งในการยืนยันคุณภาพของการผลิตบัณฑิตก็คือ ผลงานวิจัยของอาจารย์ครับ

·       อาจารย์ท่านใดต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อทำโครงการวิจัยกับผม สามารถไปคุยกันได้ครับที่ห้องทำงานของผมนะครับ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 27 ก.ค เป็นต้นไป ผมจะกลับไปประจำการที่ที่ทำงานครับ

·       เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ทางคณะได้จัดสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับการเสนอโครงการวิจัย ครับ จากการพูดคุยผมเห็นว่าประเด็นของการตั้งโจทย์วิจัยเป็นประเด็นสำคัญที่อาจารย์หลายท่านอยากให้มีการให้รายละเอีย ซึ่งในการสนทนาครั้งที่ผ่านมา ผมไม่สามารถให้รายละเอียดได้เนื่องจากเวลามีจำกัด ดังนั้นหากท่านใดมีประเด็นจะพัฒนาสามารถคุยเพิ่มเติมได้ครับ ทั้งนี้ปัจจุบันมีแหล่งงบประมาณภายนอกสนับสนุนการทำงานวิจัยของอาจารย์เยอะครับ ผมขอยืนยัน

 

 

การจัดการความรู้

·       จากประเด็นที่คุยเมื่อจดหมายข่าวฉบับที่แล้ว (คลิกไปทบทวนได้ครับที่ http://gotoknow.org/blog/hq2/190751  ซึ่งมีอาจารย์สองท่านไปร่วมแสดงความคิดเห็นไว้นะครับ ยังถือว่าน้อยมากครับ) ผมได้ตั้งประเด็นไว้ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้เชี่ยวชาญได้อย่างไร ซึ่งข้อสรุปแรกคือ การจบอะไรมายังไม่สามารถยืนยันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญได้

·       คำตอบหลักๆ ที่เป็นที่ยอมรับการถึงการเป็นผู้เชี่ยวชาญคือ ผลงานครับ ผลของการทำงาน คือตัวการันตีคุณภาพคน ซึ่งผลงานจะออกมาได้ก็ด้วยการทำการศึกษาวิจัยของอาจารย์ แล้วนำมาสู่การเผยแพร่ และได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการในเรื่องนั้นๆ

·       ประเด็นสำคัญคือ แหล่งสำหรับการวิจัย สำหรับการหาความรู้ไม่ได้อยู่ที่มหาวิทยาลัยครับ แต่จะอยู่ที่ที่มีการใช้ความรู้ดังกล่าว เช่นหากต้องการรู้ในเรื่องการปลูกข้าว หากไปหาในห้องสมุด เราจะเรียกความรู้นั้นว่า ความรู้ที่ประจักษ์แล้ว มีคนรู้แล้วและมีการเผยแพร่ความรู้นั้นแล้ว นักวิชาการหรืออาจารย์ที่ไปอ่านแล้วมาสอนต่อ ก็เป็นเพียง ผู้รู้ แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญครับ

·       ดังนั้นแหล่งที่จะให้อาจารย์พัฒนาความรู้ได้คือ ที่ที่มีการปลูกข้าวทำนา นั่นคือ ที่ที่มีการนำความรู้ไปใช้จริง ซึ่งวิธีการพัฒนาความรู้ก็คือ การศึกษาว่าจากความรู้เดิมที่มีการนำไปใช้แล้วนั้น ยังมีปัญหาอะไรอยู่ แล้วจะแก้อย่างไร เมื่อแก้ได้นั่นแหละ คือการค้นพบความรู้ใหม่ และการนำไปสู่การพัฒนา

·       ความต้องการในการพัฒนาองค์กรยังไม่สิ้นสุดครับ นั่นหมายความว่า แหล่งสำหรับการทำวิจัยของอาจารย์ก็ยังไม่มีที่สิ้นสุดครับ อาจารย์ทุกท่านยังมีสนามสำหรับการสร้างความเชี่ยวชาญในสายวิชาการของอาจารย์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงอยู่ที่ตัวของอาจารย์แล้วล่ะครับว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรในสายอาชีพของอาจารย์

·       เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้พูดคุยกับนักวิจัยจากนอกสถาบัน เขามาวิจัยเรื่องๆ หนึ่งในสามจังหวัด จากการเก็บข้อมูล เขาก็เจอประเด็นเกี่ยวกับสภาชูรอ เขาเอาเรื่องนี้มาคุยต่อกับผม ซึ่งผมก็ได้เชิญอาจารย์มะพลีและอาจารย์อับดุลเลาะห์ อูมา ร่วมในการพูดคุยด้วย ปรากฏจากการคุยกันก็ได้เป็นโจทย์วิจัยเพื่อการทำงานร่วมกันต่ออีก

·       อาจารย์ครับ พื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเรานี้ มีความแตกต่างจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายปัญหาจึงไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ปัจจุบันองค์ความรู้เพื่อการแก้ไขปัญหายังมีอยู่จำกัดครับ ผมจึงเชื่อว่า อาจารย์ทุกท่านมีศักยภาพในการนำเสนอแนวคิดเพื่อการพัฒนาภูมิภาคนี้ได้ครับ

·       การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อชุมชน เป็นความท้าทายที่รออาจารย์ทุกท่านครับ

 

 

      สลามและดุอา

 

 

คำสำคัญ (Tags): #จดหมายข่าว
หมายเลขบันทึก: 196621เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2008 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วาอาลัยกุมมุสสาลาม

- มาอ่านข่าวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท