การสอนดาราศาสตร์ ด้วยวิถีพุทธ ตอนที่ ๒


เมื่อเราเรียนวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องเรียนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

จากการทดสอบเด็กๆ ของเราไปสี่ร้อยกว่าคน ก็ทำให้เราทราบว่า เราต้องเริ่มอะไรสักอย่างแล้ว และเมื่อเราจะใช้ดาราศาสตร์ ช่วยให้เด็กๆของเราเรียนรู้ว่าเค้าจะเรียนอย่างไร หรือคิดอย่างไร อ่า ก็หมายความว่า ความรู้ทางดาราศาสตร์ยังไม่ได้เป็นเป้าหมายของเราตอนนี้ (จริงๆแล้วมันเป็น แต่ยังไม่ถึง) แต่เราจะใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือ

การใส่ใจต่อความคิดของตัวเอง เป็นแกนอย่างหนึ่งทางพุทธศาสนา โดยอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป แต่ที่เราจะคุ้นๆก็คงเป็นเรื่องของ สติ การติดตามรู้ความคิดของตัวเอง ฝรั่งที่เพิ่งมาสนใจเรื่องนี้ เค้าก็ โห เห็นว่ามันช่างเป็นเรื่องดีอย่างนั้นอย่างนี้ มาตั้งชื่อซะโก้ว่า Metacognition หรือ thinking about thinking หรืออาจจะมีความหมายมากมายตามแต่สุดแท้จะอ้างอิง หลักๆก็คือ การมีความตระหนักรู้ถึงการใช้ความรู้หรือการสร้างความรู้ของตัวเอง อ้าว แบบนี้ก็ย้อนกลับมาพิจารณาได้ว่า มีความหมายตรงกับคำว่า "ศึกษา" ที่มาจากคำว่า สิกขา ที่มา(อีกที)จากคำว่า "สะ" ที่แปลว่า "เอง" กับคำว่า "อิกขะ" ที่แปลว่า "เห็น" รวมก็แปลว่า "เห็นเอง" หรือ เห็นด้วยตัวเอง จากความหมายนี้ ถ้าย้อ.....น กลับไปดูศาสตร์ตระกูล active learning (เช่น cooperative, problem based, inquiry, constructivist, think pair share, ...) ก็ล้วนแต่ต้องการให้นักเรียนได้ "ศึกษา" หรือ "เห็นเอง" (ว.วชิรเมธี) และผมอยากจะเสริมให้เป็น "เห็นแจ้งด้วยตนเอง" ทั้งน๊าน....ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเรื่องการดูดาว ถ้าใครไม่เคยดูกลุ่มดาวเต่าหรือกลุ่มดาวนายพรานนะ เล่าให้ฟังยังไงก็นึกไม่ออก จะมีกระบวนการเล่าแบบไหนก็ตาม จูงมือไปดูก็แล้ว ถ้าเขาไม่เห็นได้เองว่าเป็นเต่ายังไง เป็นนายพรานยังไงก็...จำเอา(ตามประสาเด็กไทย) แล้วที่พาเค้าไปดูแล้วเค้ารู้เรื่อง ก็ไม่ได้เป็นเพราะคนเล่าหรือคนพาดูอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเค้าถักทอมันเข้ากับประสบการณ์ที่มีเดิมได้..... ก็เท่านั้น

กลับมาดูความหมายของ metacognition อีกที แหม ตอนนี้นักวิจัยทางการศึกษาสนใจเรื่องนี้เหลือเกิน และอาจลามไปถึง neural system แต่เราก็จะยังไม่ลามไปขนาดนั้น(ในขั้นนี้) ผมก็ลองหาๆ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวข้องกับ เรื่อง metacognition ของฝรั่ง ก็เจอเยอะเลย เอาให้คำเดียวคลุมเลยก็ "สติ" ครับ แต่แหม เขียนเท่านี้จะโดนปรามาส เลยจะขอยก ญาณ ๓ ซึ่งมีอยู่สามชุด แต่ใช้ชื่อเดียวกัน คือ ญาณ ๓ ในส่วน อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ญาณ ๓ ในการหยั่งรู้อริยสัจจ์ และญาณ ๓ ที่เป็นวิชชา ๓

ญาณ ๓ ในส่วน อดีต-ปัจจบัน-อนาคต ได้แก่

อตีตังสญาณ - ญาณในส่วนอดีต ในทางโลกก็หมายถึง การรู้ว่าความรู้เดิมของตนนั้นได้มาอย่างไร
ปัจจุปปันญาณ - ญาณในส่วนปัจจุบัน ในทางโลกก็หมายถึง การรู้ว่าปัญหาที่พบอยู่ในปัจจบันจะทำให้เกิดความรู้อะไรใหม่
อนาคตังสญาณ - ญาณในส่วนอนาคต ในทางโลกก็หมายถึง การทราบความสำคัญของความรู้ที่ได้ว่าจะนำไปใช้ให้เหมาะสมได้อย่างไร

(แปลแบบทึกทักเอาเอง ผิดพลาดอย่างไรชี้แนะด้วยนะครับ)

เช่น ผมมักท้าทายนักเรียนที่มาเข้าค่ายดาราศาสตร์ ด้วยคำถามง่ายๆ ที่ว่า ทำไมดวงอาทิตย์จึงขึ้นทางด้านทิศตะวันออกและตกทางด้านทิศตะวันตก หรือถามว่ากลางวันกลางคืนเกิดจากอะไร เด็กๆก็จะตอบซะน่ารักว่า โลกหมุนรอบตัวเอง อืม ก็ถามต่อว่า "รู้ได้อย่างไรว่าโลกหมุนรอบตัวเอง" คำตอบก็หลากหลายเลยครับ แต่ก็รวมใจความได้ว่า รู้เพราะครูบอก รู้เพราะหนังสือเขียนเอาไว้ อ้า...เข้าทาง ก็เลยถามว่า "แสดงว่าสิ่งเราเห็นกับตา ไม่น่าเชื่อเท่าครูบอก หรืออ่านหนังสือ เหรอ" เด็กก็ทำหน้างงงง เลยเสริมทับไปว่า "ก็เราเห็นอยู่ชัดๆ ว่าดวงอาทิตย์ มันเคลื่อนที่ จากตะวันออกไปตะวันตก แล้วก็มุดไปใต้โลก ก่อนจะมาโผล่ใหม่ตอนเช้า เป็นแบบนี้ทุกวัน แล้ว เรายังบอกว่าโลกหมุนรอบตัวเองอีกเหรอ" เด็กๆก็ยังยืนยันคำตอบเดิม ฟังดูเข้าท่าเพราะเด็กๆเชื่อมั่นในคำตอบ แต่แท้ที่จริงแล้ว การที่เค้าไม่สงสัยต่อความรู้นี้เลยกลับเป็นภัยอย่างยิ่ง การที่เด็กเรียนวิทยาศาสตร์เหมือนเรียนกฎหมาย มันส่งผลร้ายอย่างแรง และเมื่อถามว่า "การทดลองที่พิสูจน์ว่าโลกหมุนรอบตัวเองนั้นทำอย่างไร" เด็กๆส่วนใหญ่ก็กลับมาตอบว่า "การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกนั้นเป็นหลักฐานอย่างดี" อ้าว พายเรือในอ่าง ... แถไปซะดื้อๆ

การที่เด็กเชื่อครูง่ายนั้นก่อให้เกิดปัญหานะครับ (ต๊าย นายไชยพงษ์ ทำไมเธอพูดอย่างนั้นกับครูล่ะจ๊ะ) เพราะการจะเริ่มเรียนวิทยาศาสตร์ให้ดีนั้น ต้องถือกาลามสูตร นะครับ กาลามสูตรไม่ได้ว่าด้วยการห้ามเชื่อนะครับ ท่านพุทธทาส ท่านกล่าวขึ้นต้นไว้สวยงามว่า อย่าได้เชื่อในทันทีเพราะ....... อ้าว แล้วเมื่อไหร่จะเชื่อได้ล่ะ .... คนเขียนที่เขียนมานี้เชื่อได้ไหมเนี่ย ... ฟังดูน่าเชื่อซะ ... ก็...อย่าเชื่อในทันที....จนกว่า ท่านจะได้ "ศึกษา"....

ยังไม่จบนะครับ เหลือ ญาณ ๓ อีกสองความหมาย และ อื่นๆอีกมากมาย ขออนุญาต ต่อตอนที่ ๓ ก็แล้วกันครับ

หมายเลขบันทึก: 196580เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2008 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีครับ  เรื่อง  การสอนด้วยวิถีพุทธ

   ตอนนี้ผมรณรงค์ให้เข้าค่ายธรรมะ แบบ พุทธ ที่ เน้น ปัญญา อยู่ครับ  

   ค่อนข้างถูกต่อต้านพอสมควร  เพราะเรามักจะคุ้นชินแต่ศีลและสมาธิ  แบบทำตามๆกันมา  เชื่อง่ายโดยไม่ถาม (ผิดหลักกาลามสูตร)

  ซึ่งถ้าว่าตามจริงแล้ว ศีล ก็ต้อง ประกอบด้วย ปัญญา  แม้กระทั่งสมาธิ  ก็ต้องมัปัญญา ประกอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท