ชมสาวเหนือเปลือยอก


มีเรื่องราวมาฝาก ถึงภาพความงดงาม ของจิตรกรรมฝาผนัง วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เวียงเชียงใหม่ พร้อมเรื่องราวความหมายบางประการ ในแต่ละภาพสะท้อนของอดีต จากจิตรกรรมฝาผนังชิ้นยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทย ด้วยความงดงามซึ่งแอบซ่อน รอคอยเพียงการค้นหา และการนั่งชมอย่างเงียบเงียบ ในความงดงามของแผ่นดิน

ชมสาวเหนือเปลือยอก

อ้างอิง - ภาพ Kati1789

สวัสดีครับ

มิตรรักแฟนข้อเขียน

และญาติสนิทมิตรสหายทุกท่าน

เนื่องจากช่วงนี้ อากาศและการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย ผมจึงใคร่คิดว่า น่าจะนำความบันเทิงเริงรมย์ เบิกบานสำราญใจ แลความงดงามแห่งศิลปะวัฒนธรรม มาสู่ข้อเขียนความเรียงให้มากขึ้น นอกเหนือจากก่นด่ารำคาญใจ บ่นพึมพำให้ใครต่อใครได้ฟัง หรือระบายความกลัดกลุ้มอัดอั้นตันใจของตัว ที่มีต่อแง่มุมการเมืองไทยให้น้อยลง น่าจะเป็นการดี สำหรับชีวิตในแง่งาม

ยิ่งในยามเข้าพรรษาเช่นนี้

ยิ่งให้คิดคำนึงถึงวัดวา

ถึงคุณพระคุณเจ้า

ว่าน่าจะช่วยกล่อมเกลา และขัดส่วนด้านส่วนเสียของชีวิต ให้คลายกระด้างหยาบกร้าน จนนำไปสู่ความละเอียดถึงเบื้องลึกจิตใจ จึงใคร่หันหน้าเข้าวัด เพื่อพบความงามด้วยความสงบ แม้ว่าจะไปในวัดวาใด ก็คงจะพบเห็นแต่หน้าผู้คน ซึ่งอิ่มบุญอิ่มใจ กับการปฏิบัติศาสนกิจ

เที่ยวนี้

ผมหนีขึ้นเวียง

แอ่วเมืองแอ่วเวียงเจียงใหม่

ให้ชีวิตได้เบิกบานสำราญใจ กับสถานที่ทั่วไปซึ่งไม่ใช่แค่มาทำงาน แต่อยากเดินไปเรื่อยเรื่อย มองผู้คน มองถนน มองรถรา และมองวัดวาอารามประดามี ซึ่งดุจดั่งขุมทรัพย์แห่งภูมิธรรมภูมิปัญญา ให้เราได้พาใจพากายไปซึมซับ รสแห่งความสงบ แม้หลายวัดในเวียงจะเปลี่ยนไป

เที่ยวนี้สำหรับการเดินทาง

ผมหนีไปนั่งสงบมุม

ด้วยการมอง

ลดละเลิกอบายมุข งดเว้นการสังสรรค์ด้วยเครื่องดองของเมา ส่วนยาเส้นนั้นก็ละเลิกได้เนิ่นนานนับปี พอที่จะมีแรงออกกำลังกาย วิ่งเล่น และเดินเหินไปมา เพื่อมองหาความงดงามของศิลปะแต่หนหลัง งานนี้ได้แอบไปนั่งหย่อนอารมณ์ในวัดกลางเวียงหลายแห่ง ที่สุดท้ายจบลง ด้วยความงดงามของวิหารลายคำ สถานแห่งหนึ่ง ซึ่งแวะเวียนไปมาอยู่บ่อยครั้ง

แต่ครั้งนี้

ได้สะดุ้งใจเล็กเล็ก

กับความงดงามของภาพวาด

เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลง ในภาพวาดปูนเปียกซึ่งเริ่มเสื่อมโทรม และเสื่อมทรุดไปพร้อมกาลเวลา จนทิ้งร่องรอยแห่งกาลเวลา ไว้ให้เราได้แต่ทอดถอนใจ ว่าวันหนึ่งวันใด ธรรมชาติและกาลเวลา จะนำพาความเปลี่ยนแปลงอันงดงาม ของภาพวาดอันยิ่งใหญ่นี้ไปจากคนไทย

ครั้งนี้ผมนั่งแอบมุมไปด้านขวาของวิหาร

เมื่อก้าวผ่านธรณีประตูวิหารลายคำ

ทั้งนั่งทั้งยืนอิงแอบรั้วมองดู

ความงดงามซึ่งทิ้งร่องรอย ผ่านจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งสันนิษฐานกันว่า น่าจะเขียนขึ้นในคราวที่มีการบูรณะวิหาร ในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 จากเดิมที่มีการประมาณการว่า วิหารลายคำ สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 พุทธศักราช 2061 โดยจากลักษณะที่เห็นอยู่นั้น

ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ

ลายการประดับตกแต่ง

ล้วนแต่เป็นงานบูรณะขึ้นใหม่

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 - 25 ลงมา โดยยังคงรักษาแบบแผนดั้งเดิมของวิหาร ในช่วงพุทธศตวรรษที่  21 เอาไว้ นั่นคือ การคงรูปแบบอาคารที่มีมณฑปเชื่อมต่ออยู่ส่วนท้ายของวิหาร โดยภายในความตื่นตะลึงครั้งนี้ ผมนั่งมองภาพวาดฝาผนังในฝั่งซึ่งวาดภาพเรื่องราว สังข์ทอง

โดย อาจารย์ ภาณุพงษ์ เลาหสม

สันนิษฐานเรื่องราวทั้งสองว่า

ไม่เคยมีการเขียนมาก่อน

ในการเขียนลายอาคารทางศาสนาของล้านนา ซึ่งการเปลี่ยนไปวาดเรื่องราวนิทานเช่นนี้ เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 - 5 ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า เชียงใหม่คงรับแนวคิด และขนบงานเขียนนี้จากกรุงเทพมหานคร นั่นเอง โดยมีเรื่องเล่าขานเมื่อพิจารณาจากงานวาดกันว่า

 

 

ภาพจิตรกรรม

ฝาผนังในวิหารลายคำ

เกิดขึ้นจากการวาดประชันฝีมือ

ระหว่างช่างเขียนสองคน ที่แบ่งกันวาดภาพคนละเรื่อง แยกกันอยู่คนละฝั่งของวิหารลายคำ โดย เจ็กเส็ง วาดเรื่อง สังข์ทอง ส่วน หนานโพธา วาดเรื่องสุวรรณหงส์ ซึ่งเมื่อพิจารณาความงามเปรียบเทียบลายเส้น ต่างยกย่องกันว่า ภาพวาดฝาผนังในฝั่งขวา เมื่อหันหน้าสู่องค์พระพุทธสิหิงค์ เรื่อง สังข์ทอง นั้น งดงามกว่ามากนัก แต่อย่างไรก็ตามแล้ว

ผลงานของนายช่างทั้งสองท่าน

ก็ได้รับการยอมรับว่า

มีฝีมือชั้นเยี่ยม

ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยม ความเป็นอยู่ของคนชั้นสูงในล้านนาได้เป็นอย่างดี แม้รูปแบบของภาพวาด จะผสมผสานอิทธิพลงานเขียนขนบแบบแผนจิตรกรรมรัตนโกสินทร์  และจิตรกรรมพม่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ซึ่งมีความโดดเด่นที่งานวาดสถาปัตยกรรม และการเขียนหน้าตาอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องราวของ สังข์ทอง ซึ่งวาดอยู่ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เวียงเชียงใหม่

พบว่าเมื่อดูลำดับ

ตามเนื้อเรื่องเนื้อหาแล้ว

สอดคล้องกับบทละครนอก

เรื่อง สังข์ทอง ซึ่งเป็นงานพระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา และท้องเรื่องซึ่งดำเนินสืบเนื่องกันไป การวาดรูปลงลาย อธิบายเครื่องแต่งกายของไพร่พล ไม่ว่าจะเป็นคนม่าน คนมอญ นางกำนัลแต่งกายแบบชาววังในกรุงเทพฯ นุ่งโจงกระเบน ห่มสไปไว้จอนยาว ซึ่งเดินตามนางรจนา ที่กำลังเสี่ยงพวงมาลัยเลือกเจ้าเงาะ

หรือภาพวาดไพร่พลทหารเลว

ซึ่งแต่งกายเช่นข้ากรุงเทพฯ

กับชายแต่งกายล้านนา

หญิงสาวรัดหมวยผมนุ่งซิ่น เช่นสาวล้านนา ปล่อยชายผ้าคล้องไหล่ ปล่อยหน้าอกให้เผยโฉมความงดงาม ของหน้าอกหน้าใจ โดยไม่นับรวมความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเจ็กเส็งได้วาดไว้บนฝาผนังประดับลาย ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมวิถีชีวิต และภาพความงดงามของผู้คนผ่านกาลเวลา

ภาพแห่งความงามนี้

ล้วนบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต

มากมายเกินคำพรรณาความถึงสังคม

หรือวิถีชีวิตอย่างมากมาย ไม่นับรวมความเปลี่ยนแปลงจากราชอาณาจักรแดนใต้ ซึ่งกำลังแผ่คลุมอิทธิพล และสานสัมพันธ์กับราชอาณาจักรเมืองเหนือ ด้วยผู้คน วัฒนธรรม ขนบจารีต ภาษาพูด เครื่องแต่งกาย และผู้คนซึ่งต่างไปมาหาสู่ ขี่วัวต่างฬ่อต่างม้าต่าง สังสรรค์ชีวิตร่วมกัน

ในความงดงามของวิถีชีวิตเมืองเหนือ

ซึ่งแอบซ่อนในเรื่องสังข์ทอง

มีภาพหญิงสาวนางหนึ่ง

ซึ่งไม่แน่ใจ ว่ากำลังรับบุหรี่มวนยาจากมือชายหนุ่ม หรือว่าเธอกำลังหยิบยื่นม้วนบุหรี่ทอดไมตรีนี้ให้ชายกันแน่ เมื่อเราได้เห็นกลางภาพ เหนือปราสาทราชมณเฑียรเรือนยอดแบบพม่า มีภาพของแม่หญิงเก็บดอกกาสะลอง ซึ่งเป็นดอกไม้หอมที่คนเหนือนิยมนำมามวนยาสูบ ภาพหยิบจับยามวนยาเส้น ของแม่หญิงนางนี้ช่างบรรจงได้งดงามยิ่งนัก

มิพักจะมองเพียงความงดงามของใบหน้า

หรือมองเพียงผาดผาดผ่านไป

ตามแต่ใครผู้ใดจะเมียงมอง

ถึงความงามของแม่หญิง กับมวนยา นางนี้

 

 

 

หมายเหตุ : ภาพถ่ายชุดนี้ ถ่ายจากภาพฝาผนัง วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ พร้อมข้อมูลอ้างอิง เรื่องเล่าเรื่องราวความหมายจากประวัติศาสตร์ อ้างอิงข้อมูลงานเขียน คู่มือท่องเที่ยว-เรียนรู้ : ล้านนา-เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง งานเขียนของ อาจารย์สุรชัย จงจิตงาม สำนักพิมพ์ มิวเซียมเพรส เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ ISBN 974-94971-6-3

 

หมายเลขบันทึก: 195703เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2008 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีเพื่อนฝรั่งถามว่า ทำไมภาพวาดนางฟ้าของไทยจึงเปลือยอก เพราะเขารู้สึกเขินอายที่จะนำเอาเข็มกลัดรูปนางฟ้าเปลือยอกไปติดไว้ที่หมวกแก๊ปของเขา

ดิฉันไม่มีความรู้ด้านนี้เลยค่ะ เลยตอบไม่ถูก

สวัสดีครับ ดร.จันทวรรณ

ความงามแบบฝรั่งที่ว่า

น่าจะมองหน้าอก การเปลือยอก และถันของหญิงสาว ว่าเป็นเรื่องราวของกามารมณ์ อาจเป็นหนึ่งในขนบคิดทางศาสนา ที่มองเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ยั่วยุกามารมณ์ ขณะที่ศิลปะตะวันออกมากมาย สะท้อนภาพหน้าอกของหญิงสาว ด้วยการอธิบายธรรมชาติของชีวิต ของความจริง และการใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิต

หญิงสาว แม่หญิงเปลือยอก หรือแม้กระทั่งนางฟ้า นางสวรรค์ ในขนบศิลปะไทยแต่ดั้งเดิม ไม่ใช่สิ่งหยาบคาย แต่กลับเป็นเครื่องแสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต เป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตน้อยน้อย นอกเหนือจากนั้น ขนบในการเปลือยอก ยังไม่ใช่เรื่องราวทางกามารมณ์ เนื่องจากหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว โดยส่วนใหญ่ก็เปลือยอก (นับระยะเวลาจากภาพถ่ายเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา)

ตามจารีตและขนบ ระเบียบแบบแผน และการดำรงชีวิตของผู้คนในถิ่นอุษาคเนย์ ความจริงแบบจารีตนิยมทางศาสนา แบบโลกตะวันตก ไม่สามารถอธิบายความงามอันพิสุทธิ์ของนางฟ้า หญิงสาว แม่ญิงบนสรวงสวรรค์ได้อย่างแน่นอน ครับ

เป็นประเด็นที่น่าคุย น่าเขียนอย่างยิ่ง ครับ อาจารย์

ขอบคุณอย่างมากครับ สำหรับประเด็นนี้

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำตอบที่ชัดเจนเป็นที่สุด ผ่านมาหลายปีแล้วค่ะตั้งแต่เพื่อนตั้งคำถามไว้ให้ ตอนนี้ไม่รู้ว่ายังเขินอยู่หรือเปล่า สงสัยต้องถามดูค่ะ :)

ปากแดงๆจะไว้ใจได้กา....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท