ล้านนายุคธุรกิจทางเพศสู่อินเตอร์: หลังปี พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นยุคข้าวยากหมากแพง ก่อให้เกิดธุรกิจนายหน้าค้าสาวและการยกลูกสาว ให้เพื่อขัดดอกแก่เจ้าหนี้ในกลุ่มคนบางกลุ่ม ธุรกิจทางเพศช่วงนี้มิได้เป็นการล่อลวงหญิงเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นการเข้าไปซื้อตัวจากพ่อแม่เพื่อนำมาทำงานในร้านอาหาร ผับ บาร์ ต่าง ๆ บนพื้นฐานของความสมัครใจ และไม่สมัครใจของหญิงที่เข้าสู่ระบบค้าบริการ แต่เมื่อมีการส่งรายได้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาให้พ่อแม่ได้ลืมตาอ้าปาก มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกลับกลายเป็นแรงผลักจากชุมชนท้องถิ่นในการที่ต้องการให้บุตรหลานของตนเข้าสู่อาชีพขายบริการอย่างออกหน้าออกตาของชุมชนหลายแห่ง เพื่อแลกกับฐานะทางเศรษฐกิจ และความมีหน้ามีตาทางสังคม ในขณะที่สังคมเมืองยังต้องรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการ "มาถึง" เชียงใหม่อย่างไม่ขาดสาย จนกระทั้งช่วงปี พ.ศ. 2525 มีการเข้มงวดทางด้านกฎหมายทำให้รูปแบบการค้าประเวณีมีการแอบแฝงในรูปกิจการอื่นมากกว่าที่จะเปิดเผย เช่น ร้านอาหาร ตู้เพลง ต่าง ๆ
ล้านนายุคเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขายบริการทางเพศ: หลังปี พ.ศ. 2530 การเติบโตทางธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมชนบทสู่สังคมเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น เรื่องผี เรื่องการเป็นตัวแทนสืบทอดพิธีกรรมของผู้หญิงเริ่มถูกลดทอนและเปลี่ยนแปลงไป
Sex tour กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ขึ้นชื่อของการมาเยือนหัวเมืองฝ่ายเหนือในอดีต พร้อมกับการเข้ามาของนักธุรกิจ นักศึกษา ที่ต้องผ่านการขึ้นครูก่อน นั่นหมายถึงการปลูกฝังความเชื่อว่า การเข้าสู่ระบบการศึกษาจำเป็นต้องผ่านประสบการณ์ทางเพศก่อนทำให้หลายคนได้ทั้งประสบการณ์ และได้ทั้งของแถมไม่ว่าจะเป็นกามโรค หรือการเข้ามาของโรคเอดส์ที่เรียกกันในสมัยนั้น จนเป็นที่มาที่ไปของการทำงานเอดส์ภาคประชาชนขององค์กรหลากหลายในปัจจุบัน
ล้านนาในยุคติจิตอล: หลังปี พ.ศ.2535 เมื่อมีปรากฏการณ์เอดส์ที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งหญิงชายโดยเฉพาะวัยทำงานลงราวกับใบไม้ร่วงจนเมรุเผาศพ แต่ละป่าช้าแทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะเผาศพไม่เว้นแต่ละวันจนก่อให้เกิดองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชุมชนที่ทำงานด้านเอดส์กันมากมาย ซึ่งในช่วงแรก หวยก็ไปออกที่หญิงขายบริการ ที่ชายรักร่วมเพศ (หรือที่เรียกว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในปัจจุบัน) ซึ่งนำมาสู่การออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 , พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 แม้จะมีกฎหมายออกมาหลายฉบับซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีหากมองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ก็มิใช่เรื่องใหม่ เพราะ พ.ร.บ.แต่ละฉบับยังดำเนินการจริงได้ไม่ถึงปลายเล็บของเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย
วันนี้ภาพของการค้าประเวณีในสังคมเชียงใหม่จึงไม่ได้มีเพียงแม่เล้า ลูกเล้า และแมงดาเช่นในอดีต หากแต่ปรากฏภาพของความหลากหลายทั้งชายจริง หญิงแท้ หรือชายไม่จริง หญิงไม่แท้ ในสำนักตามย่านโลกีย์ ในอดีตเปลี่ยนจากการเอาผู้หญิงมานั่งโชว์เป็นนางงามตู้กระจกเป็นการให้แขกนักเที่ยวเลือกจากรูปถ่าย เปลี่ยนจาก "บ้านสาว" เป็นร้านคาราโอเกะ อาบอบนวด หรือแม้แต่นวดแผนไทย รวมถึงกลุ่มแอบแฝงในร้านผับ บาร์ ต่าง ๆ ยังไม่รวมทั้งสาวน้อย และสาวเหลือน้อยซึ่งไร้สังกัดร้านแต่สังกัดย่านหรือทำเลทองที่คอยเรียกจับแขกอยู่ริมถนนกลุ่มเหล่านี้ดูจะเป็นมืออาชีพเฉพาะด้านกับงานถนัดของตน และพร้อมที่จะยอมรับว่าตนคือผู้ให้บริการทางเพศ หรือ Sex Worker หรือ คนทำงานอาชีพพิเศษ หรืออะไรก็ตามที่จะเรียกกัน
แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือโครงสร้างสังคมเปลี่ยน ค่านิยมของคนในสังคมก็เปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องเพศ จึงทำให้ปรากฏภาพของ "แม่เล้าจิ๋ว" อายุเพียง 13–14 ปี ที่พาลูกทีมวัยกระเตาะข้ามจังหวัดมาหารายได้ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ในตัวเมืองเชียงใหม่ หรือ "แม่เล้าจิ๋ว" ที่ทำตัวเป็นนายหน้าติดต่อลูกเล้า ระดับ ขาสั้น คอซอง ให้กับบรรดาผู้นิยมมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก หรือการก่อเกิดโปรแกรมแชทไลน์ ต่าง ๆ ทั้ง แคมฟร๊อก เพิร์ช คิวคิว เอ็มเอสเอ็น ไฮไฟว์ ฯลฯ ส่งผลให้ปรากฏภาพการขายบริการของทั้งหญิงและชาย ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะแปลให้เป็นภาษาชาวบ้านก็คือ "กะหรี่ ดิจิตอล" นั่นเอง แต่จะมีสักกี่คนที่จะเดินออกมาขึ้นทะเบียนว่า ชั้นเป็น "กะหรี่ ดิจิตอล" เพราะคงหนีไม่พ้นข้ออ้างว่า ทำเพราะจำเป็นต้องเอาเงินมาจ่ายค่าเทอมหรือทำเป็นครั้งเป็นคราวไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพ ซึ่งกลุ่มนี้ก็คงไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่าขณะนี้กำลังมีคนสองกลุ่มที่ส่วนใหญ่ล้วนแล้วอายุหลังเลขสามถึงสี่ปลาย ๆ กำลังถกเถียงกันว่าอาชีพนี้ควรเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายหรือไม่ กลุ่มหนึ่งเป็นนักสตรีนิยม กลุ่มหนึ่งเป็นนักสตรีศึกษา ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีเหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดของตนเองและคัดค้านแนวคิดของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างน่าฟัง แต่อย่างที่บอกว่าโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้มีแค่ถูกกับผิด หรือขาวกับดำ จึงน่าแปลกใจว่าในมุมมองของศาสตร์และอาชีพที่มีอยู่อย่างหลากหลายทั้งพระ ครู นักกฎหมาย นักปกครอง นักการเมือง นักเที่ยว นักเรียน ฯลฯ มองอาชีพที่เกี่ยวกับเรื่องเพศกันอย่างไร หรือว่าสังคมกำลังเปลี่ยนรูปแบบการผลิตซ้ำ
การสร้างวาทกรรมของการค้าประเวณีให้กลับเข้าสู่ความเป็นชายขอบภายใต้มิติทางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีคำถามจากคนทำงานในสังคมอีกหลาย ๆ ท่าน ที่ยังมีข้อสงสัยต่อปรากฏการยกระดับทางวิชาชีพของนักสตรีนิยม และทางวิชาการของนักสตรีศึกษา การสร้างวาทกรรมของการค้าประเวณีให้กลับเข้าสู่ความเป็นชายขอบภายใต้มิติทางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีคำถามจากคนทำงานในสังคมอีกหลาย ๆ ท่านที่ยังมีข้อสงสัยต่อปรากฏการยกระดับทางวิชาชีพของนักสตรีนิยมและทางวิชาการของนักสตรีศึกษาในประเด็นต่อไปนี้
1. เป็นเรื่องดีที่นักสตรีนิยมออกมายืนยันการมีอยู่จริง ของ "ตัวตน" ภายใต้มิติเวลา โดยเฉพาะการขยายความเป็นตัวตนให้สังคมได้รับทราบถึงการดำรงคงอยู่ และ "เรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้" เช่นคนอื่นทั่วไป แต่ยังมีผู้สงสัยว่าอาชีพในการบริการทางเพศนั้นถึงแม้ว่าสังคมจะให้การยอมรับ แต่ในมิติของผู้ประกอบการในระดับผู้ปฏิบัติการหรือพนักงานบริการเองจะมีความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเองที่ได้รับรองตามกฎหมายมากน้อยเพียงใด
ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีการทำบุญ หรือการรับเป็นเจ้าภาพงานบุญ หากมีการติดประกาศชื่อและอาชีพลงในถาวรวัตถุต่างๆ นั้น หรือการไปประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนของลูกและครูให้ผู้ปกครองแนะนำตัวแล้ว การแนะนำตัวในวิชาชีพจะสามารถกระทำได้อย่างภาคภูมิใจทั้งต่อตนเองและทายาทหรือไม่ ความคิดเห็นหรือมุมมองจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stake holder) ที่ใกล้ชิดของตัวผู้ประกอบการกับการยอมรับของสังคม จะถูกจัดลำดับความสำคัญและจัดการอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้
2. ผู้ที่ประกอบอาชีพบริการทางเพศนอกระบบจะยินยอมพร้อมใจเข้าสู่ระบบ หรือแม้แต่การยอมรับสถานะตนเองในฐานะ "ผู้ให้บริการทางเพศ" โดยเฉพาะของบรรดา "กะหรี่ ดิจิตอล" ทั้งหลายได้มากน้อยหรือไม่อย่างไร เพราะบทเรียนในอดีตเหมือนกับว่า ต่อให้มีกฎหมายกี่ฉบับกระบวนการหลบเลี่ยงและใช้ประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมาย รวมถึงการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร "กฎหมาย" จึงไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียวที่จะสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมทางเพศในสังคมไทย หากการออกกฎหมายเป็นเหมือนการออกแบบรองเท้า วันนี้เราควรตัดรองเท้าให้เข้ากับเท้า หรือตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า: ควรตัดเกือกใส่ตีนหรือตัดตีนใส่เกือก)
3. เป็นเรื่องที่ดีที่ผู้มีส่วนได้เสียหลัก โดยเฉพาะตัวผู้ประกอบกิจกามเอง มีความต้องการที่จะยกระดับทางวิชาชีพหรือสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพ ตลอดจนการเรียกร้องสิทธิการคุ้มครองในหลายมิติทางกฎหมายและสังคม แต่ในสภาพจริง ผู้ประกอบกิจกามทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นส่วนใหญ่รับรู้และใส่ใจต่อเฉพาะมิติการได้เงินและเสียตัวมากกว่าที่จะเกิดการเรียนรู้ถึงการได้อะไรและเสียอะไรที่นอกเหนือจากนั้นหรือไม่
หากเป็นได้ในการสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพ (โดยมืออาชีพ)ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการทั้งกลุ่มเปิดเผยและกลุ่มหลบเร้น ที่ควรจะครอบคลุมทั้งมิติของทาง สุขภาพกาย จิต และสังคม เช่น การรับแขกไม่เกินวันละกี่คน หากเพศสภาพแต่ละคนมีเพศสัมพันธ์เกินกี่ครั้งต่อวันจะเกิดผลกระทบทางร่างกาย มีใบประกอบวิชาชีพเหมือนครูหรือแพทย์ มีการวางแผนกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม หรือมีการรวมกลุ่มการออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการสังคมของผู้ให้บริการ เป็นต้น หากการห้ามใช้ไม่ได้ผลในสังคมไทย เราจะนำหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) มาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร
การสร้างวาทกรรมของการค้าประเวณีให้กลับเข้าสู่ความเป็นชายขอบภายใต้มิติทางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีคำถามจากคนทำงานในสังคมอีกหลาย ๆ ท่านที่ยังมีข้อสงสัยต่อปรากฏการยกระดับทางวิชาชีพของนักสตรีนิยมและทางวิชาการของนักสตรีศึกษาในประเด็นต่อไปนี้
4. คงไม่มีใครที่ตั้งความหวังไว้แต่เล็กว่า "โตขึ้นฉันจะเป็นกะหรี่ชั้นนำของเมืองไทย" หากแต่หลายคนเข้าสู่กระบวนการด้วยหลากหลายปัจจัย เป็นเรื่องดีที่สังคมไทยก่อเกิด "นักสตรีศึกษา" แต่ถามว่ามีนักสตรีศึกษากี่คนที่เคยทำงานสายตรงในระบบธุรกิจทางเพศ โดยเฉพาะในระดับผู้ปฏิบัติกาม แต่ถึงอย่างไร "นักวิชาการ" ได้ถูกสถาปนาไว้บนหิ้งของความน่าเชื่อถือเป็นอีกฐานันดรหนึ่ง อันเป็นผลพวงจาก การวางบทบาทตนเองให้อยู่ในฐานะ"วิศวะกรทางวิชาการ" ด้วยการออกแบบงานวิจัยตามความถนัดที่ตนเองร่ำเรียนมา ส่วนใหญ่ก็อาศัยข้อมูลจาก "กรรมกรทางวิชาการ" ที่สวมบทบาท "มือปืนรับจ้าง" เก็บข้อมูลภาคสนาม
ดังนั้นหากมองในมิติของกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลและการนำข้อมูลไปใช้นั้น หลายครั้ง หลายคราจึงเป็นการ บอกแทนหรือคิดแทนผู้อยู่กับปัญหาหรือไม่ บางท่านย้อนถามว่า "หากเราเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง อยากจะเลี้ยงสุนัขซักตัว หากอยากจะรู้ว่ามันชอบกินรสชาติอย่างไร เราสามารถสังเกตได้ ซึ่งจำเป็นที่เจ้าของจะต้องลงไปเป็นสุนัขหรือไม่"
โดยส่วนตัวคิดว่า หากท่านรักสุนัขจริงควรจะชิมแต่หากท่านต้องการทราบถึงพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของมัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลองด้วยตนเองขึ้นอยู่กับว่าศึกษาอะไร และจะนำผลไปทำอะไรจะทำอย่างไรที่จะให้สังคมไทยมองเห็นมุมมองของผู้ที่อยู่กับปัญหาและคนใกล้ชิดรอบข้าง มากกว่าการใช้วิชาการ (ด้านเดียว)กำหนดนโยบายแทนที่จะมองปรากฏการอย่างเป็น "สหวิชาการ" การใช้มุมมองทางวิชาการด้านใดด้านหนึ่งมากำหนดทิศทางของสังคมใหญ่ และคนในสังคมก็บ้าเชื่อตามนักวิชาการในฐานะ "กูรู" หรือ "กูรู้" เป็นทัศนคติอันตรายสำหรับสังคมหรือไม่
5. มิติของ "การประกอบอาชีพพิเศษ" นี้โดยหลักแล้วมีผู้ซื้อ ก็ย่อมมีผู้ขาย หากมีแต่ผู้ขาย ไม่มีคนซื้อ คนขายก็ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การขาย เช่น up grade สินค้า เปลี่ยนกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องของ Demand และ Supply ซึ่งก็หนีไม้พ้นที่จะฉายภาพไปที่ฝ่ายผู้ขาย ทั้งการสร้างภาพให้เป็นไปในมิติต่าง ๆ เช่น จุดดำของสังคมที่ควรถูกกำจัดออกไป หรือภาพของการเป็นผู้ถูกกระทำเป็นผู้ถูกย่ำยีและตีตรา ให้เป็นสินค้าที่มีคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นใบกำกับสินค้า หรือเป็นอะไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่า เรามองอย่างรอบด้านแล้วจริงหรือไม่
สังคมฉายภาพ "ผู้ชาย" ออกมาในบทบาทของแมงดา ที่หากินใต้ชายกระโปรงผู้หญิง หนุ่มนักเที่ยว หนุ่มเจ้าสำราญ เฒ่าหัวงู หนุ่มอารมณ์เปลี่ยว ส่วนใหญ่มองว่าผู้ชายเป็นฝ่ายได้ (ความสุข) มากกว่าเสีย (ตัว) จริงหรือไม่ แต่มักจะไม่มีใครมองในมุมที่ว่า ผู้หญิงมีอิทธิพลเหนือชาย ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและทางเพศ ดังจะเห็นได้จาก พฤติกรรมการแย่งผู้หญิง การใช้กำลังต่อฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่การต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้เงินมาสำหรับการนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการทางเพศ ไม่รวมค่านั่งดริ๊งค์ ค่าโรงแรม ฯลฯ ที่รวม ๆ ในการใช้บริการทางเพศ ครั้งหนึ่งเท่ากับรายได้ขั้นต่ำหลายวัน ของผู้ชายหลายคนที่ยอมเหนื่อย ยอมอดออมเงิน ยอมเสี่ยงต่อภาวะครอบครัวแตกแยก เพื่อที่จะหาโอกาสมาใช้บริการ
แต่ทั้งนี้ที่เขียนมาในประเด็นสุดท้ายเพื่อที่อยากจะเห็นการศึกษาหรือข้อมูลที่รอบด้านโดยเฉพาะจากทางฝ่ายชายหรือฝ่ายซื้อบริการประกอบกันมากกว่าที่จะมุ่งวิพากษ์กันอย่างสนุกปากว่า "ผู้ชายมันเลว".
***
อ้างอิง
ธเนศวร์ เจริญเมือง : คนเมือง,โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2544
นิตยา ระวังพาล,เสาวภา พรสิริพงษ์ : เอดส์กับกระบวนการค้าหญิง, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล,2539
สรัสวดี อ๋องสกุล : ประวัติศาสตร์ล้านนา, สำนักพิมพ์อัมรินทร์,2544
อานันท์ กาญจนพันธ์ : พัฒนาการของชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา,มิตรนราการพิมพ์,2527