กะหรี่ : ดีกรีทางวิชาชีพหรือเหยื่อทางวิชาการ (1)


กะหรี่ : วจีที่เอื้อนเอ่ย ถึงอาชีพคู่บ้านคู่เมือง เชียงใหม่ มีที่มา ที่ไป อย่างไร?

      เชียงใหม่วันนี้ เป็นปีที่ 712 นับตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างเมืองโดย "ผญามังราย" ในปี พ.ศ.1839
แต่หาได้เพียงพอไม่สำหรับการคงอยู่ภายใต้มิติกาลเวลาของเมืองที่ได้ชื่อว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์" ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่เป็นศูนย์รวมประเพณี วัฒนธรรม การท่องเที่ยว รวมถึงความคิด ความเชื่อ และความจริงที่มีความเป็นมา เป็นอยู่ และกำลังเป็นไป ในเรื่องของการ "มาถึง" และ "การเลี้ยงดูปูเสื่อ" ที่ยังมีอยู่จริงในสังคมที่ได้ชื่อว่ายังมี "เปลือก" ของความเป็นล้านนาหลงเหลืออยู่บ้าง
(ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่าแก่นของความเป็นล้านนาในความคิดของแต่ละคนคืออะไร)

       วันนี้ การมองภาพสังคมไม่ควรที่จะเป็นขาวกับดำ ถูกกับผิด ฉันกับเธอ ดังเช่น กรณี บุคคลกลุ่มหนึ่งที่เคยถูกเรียกว่า "กะหรี่" หรือ หญิงขายบริการ,หญิงอาชีพพิเศษ ,Sex workers หรือถูกเรียกว่าอะไรก็ตาม ที่กำลังกลายเป็น "วาทกรรม" ของกันและกัน โดยเฉพาะการใช้กฎหมายมาเป็นกรอบหรือมุมมองในการมองว่าถูกหรือผิดกฎหมายจนละเลยเรื่องของ

        1)คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2)มิติเวลา 3)วัฒนธรรมชุมชน ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องล้าสมัยและอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว แต่มันมีอยู่จริง และกำกับอยู่ในวิถีของเราเป็นทุนเดิม
หากมองในมิติเวลาจะพบความเป็นพลวัตรของการค้าประเวณีในดินแดนล้านนา ดังนี้

ล้านนายุคก่อนประวัติศาสตร์ : ยุคแว่นแคว้น-นครรัฐ ในเขตที่ราบน้ำปิงตอนบน (ที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน) เป็นที่อยู่ของชุมชนพื้นเมืองในนาม "ลัวะ"(ไม่ใช่ละว้า)มาช้านาน ซึ่งมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับระหว่าง คนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติมาแต่เดิม มีความเชื่อเรื่องเสาอินทขิล ปู่แสะ ย่าแสะและให้ความสำคัญกับเพศชายในการเป็นผู้นำ ดังจะเห็นได้จาก การยกย่องขุนหลวงวิลังคะเป็นผู้นำในยุคสุดท้าย

ล้านนายุคเริ่มต้น : ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ขุนหลวงวิลังคะ ทำสงครามพ่ายแพ้ต่อพระนางจามเทวี
ซึ่งมีพระปรีชาสามารถด้านการปกครองเทียบเท่าผู้ชาย จึงส่งผลให้ผู้หญิงสามัญชนเกิดการยอมรับในฐานะผู้มีบทบาทการสืบทอดพิธีกรรม เช่น ผีปู่ย่า ผีเจ้านาย ผีหม้อนึ่ง ฯลฯ

ล้านนายุคสร้างเมืองเชียงใหม่ : ราว พ.ศ.1835-1854 เริ่มจากที่ ผญามังราย สถาปนาอาณาจักรล้านนา โดยเริ่มสร้างบ้านเมือง ณ เวียงกุมกาม ซึ่งในขณะที่ยังมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ ณ เมืองเชียงแสน ได้เคยขยายพระราชอำนาจไปถึงเมืองหงสาวดี  ซึ่งเจ้าเมืองหงสาวดีได้ถวายธิดาชื่อ "อุสาพายโค"แก่ผญามังราย หรือการที่ผญามังรายได้มอบเจ้าหญิงองค์หนึ่งให้เป็นชายาของผญางำเมืองพระสหาย
เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ที่มั่นคง ซึ่งสะท้อนให้เห็นบทบาทของสตรีในมิติของการเมืองการปกครองในสมัยนั้น ที่เพศชายได้รับการยกย่อจากสังคมมากกว่าเพศหญิง การได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ส่งผลให้เพศชายได้รับโอกาสในการบวชเรียน ในขณะที่ผู้หญิงได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นกุลสตรี อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ในขณะที่ผู้ชายได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ปกบ้านคุ้มเมือง

ล้านนายุคราชวงศ์มังราย : ราว พ.ศ.1854-1928 เป็นยุคบ้านเมืองสุขสงบจึงก่อเกิดจารีตประเพณีและศีลธรรมที่ดีงาม ผู้หญิงได้รับบทบาทของการเป็นผู้สืบทอดทางพิธีกรรม การเลี้ยงผีปู่ย่า หรือผีประจำตระกูล การเป็นม้าขี่ (ทรงเจ้า) เป็นต้น ซึ่ง "ผี" กลายเป็นกลไกหรือเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมทางสังคม การเป็นผู้สืบทอดทางพิธีกรรมนี่เองที่ทำให้ฝ่ายหญิงต้องถูกควบคุมพฤติกรรมมากกว่าผู้ชาย
มีการกำหนดค่าตัวผู้หญิงเป็นเงินหรือค่าปรับไหมที่สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับ "ผี" ของตระกูล เพื่อป้องกันการ "ผิดผี" หญิงที่มีคุณสมบัติเป็นกุลสตรีจะได้รับความยกย่องจากสังคมมากกว่าหญิงที่มากชู้หลายผัว ในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลำดับ 7
บทบาทสตรีเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคม มีการกล่าวขานถึงหญิงในบทบาทของผู้ให้บริการทางเพศว่า "แม่กำลัง"
(อ้างใน นิตยา ระวังพาล,เสาวภา พรสิริพงษ์ 2539:9)

ล้านนายุคเสียเอกราช : พ.ศ.1928-2101 ซึ่งเป็นภาวะสงครามที่ต้องรับศึกทั้งจากอยุธยา และพม่า เป็นช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระสายผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ผัวไปทาง เมียไปทาง เกิดภาวะยากแค้น ลำเค็ญ หลังจากเสียเอกราชแก่พม่า ได้มีการอัญเชิญพระนางวิสุทธิเทวีขึ้นเสวยอำนาจภายใต้การควบคุมของพม่า ยุคนี้สตรีชั้นสูงยังได้รับการยกย่องในขณะที่สตรีชาวบ้านทุกข์ยากและอดอยากในระหว่างที่ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม

ล้านนายุคเป็นประเทศราชของพม่า : ช่วง พ.ศ.2101-2317 มีขุนนางพม่ามาปกครองบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนแสนสาหัส ผู้หญิงถูกข่มเหงย่ำยีตามอำเภอใจโดยขุนนางและทหารที่มาปกครอง ด้วยความยากจน อดอยากทำให้ผู้หญิงบางคนต้องขายตัวแก่ทหารพม่าเพื่อนำเงินมาใช้ยังชีพ บางคนออกไปหาเงินทุกวันพอได้เงินมาก็เอามาใช้จ่ายอย่างสนุกสนานชายไม่ให้ก็ฉกชิงเอาอย่างน่าอาย
(จิราลักษณ์ จงสถิตมั่น อ้างใน นิตยา ระวังพาล,2539:10) เป็นยุคที่ผู้หญิงล้านนาเริ่มถูกครอบงำจากผู้ชายสังคมอื่นโดยเฉพาะเรื่องเพศ แต่บทบาทด้านการเป็นผู้สืบทอดทางพิธีกรรมของผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงอยู่ “ผี” จึงยังเป็นตัวกำหนดคุณค่าของผู้หญิงในสังคม

ล้านนายุคภายใต้การปกครองของอาณาจักรไทย : ช่วงหลังปี พ.ศ.2317 มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศโดยพ่อค้าวัวต่าง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบากในการเดินทางพ่อค้าส่วนใหญ่จึงมิได้นำครอบครัวมาด้วยจึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีแหล่งให้บริการทางเพศแก่พ่อค้าอย่างไม่เป็นที่เปิดเผยนัก จนกระทั่งในสมัยเจ้าชีวิตอ้าว มีการปกครอบระบบเด็ดขาด ห้ามในเมืองเชียงใหม่มีโสเภณีในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการรวมอำนาจสู่ส่วนกลางด้วยการปฏิรูปการปกครอง ท่ามกลางการก่อเหตุวุ่นวายในบ้านเมืองที่ถูกยัดเยียดความเป็น "กบฏ" ของคนในพื้นที่ เช่น "กบฏเงี้ยว"และ"กบฎผญาผาบ" ซึ่งส่วนกลางได้ส่งทหารมาควบคุมสถานการณ์ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมนำมาซึ่งตัณหาราคะของทหารเลวที่ไม่เคยพบเห็นผู้หญิงพื้นบ้านที่นุ่งแต่ซิ่น เปลือยช่วงอกไม่ใส่เสื้อ หากมีเพียงผ้าสะหวายแล่ง ปิดทับช่วงบน จึงได้ลวนลาม ข่มเหง ฉุดคร่า ทำอนาจารโดยไม่สามารถฟ้องร้องได้ทำให้ตั้งแต่นั้นมผู้หญิงในเชียงใหม่จึงเริ่มใส่เสื้อผ้าห่อหุ้มร่างกายมิดชิด
(บุญเสริม สาสตราภัย อ้างใน นิตยา ระวังพาล,2539:14)

ในสมัยนี้ผู้หญิงในสังคมระดับสูงมีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ในฐานะตัวเชื่อมโยงสัมพันธภาพดังจะเห็นได้จากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ถวายพระราชธิดา คือเจ้าดารารัศมีให้เป็นพระชายาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับมีธิดาของเจ้านายฝ่ายเหนือหลายคนที่สมรสกับขุนนางและเจ้านายจากทางกรุงเทพฯ ซึ่งโดยบุคลิกลักษณะของสตรีเชียงใหม่ที่แตกต่างจากสตรีในวัฒนธรรมกรุงเทพฯ จึงได้รับการยกย่อง ชื่นชม ชื่นชอบ แก่บุรุษเพศจากแดนไกลที่ไม่เว้นแม้แต่ระดับเจ้านาย

หากแต่หมายรวมถึงบรรดาข้าราชการผู้ชายที่มาตรวจราชการทางฝ่ายเหนือที่มักจะได้รับการเอาอเอาใจ จากคนในพื้นที่หรือภาษาชาวบ้านเรียกง่าย ๆ ว่า "ประจบสอพลอ" เจ้านายด้วยการหาผู้หญิงมาปรนเปรอความใคร่ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างพม่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และอังกฤษได้เข้ามาสัมปทานป่าไม้ที่เชียงใหม่ซึ่งก่อให้เกิดแรงงานลูกจ้างทำป่าไม้จำนวนมากจึงมีแม่เล้าจากสำเพ็งชื่อนางตาด หรือนางตาบ ที่ถูกเรียกให้เป็น "แม่เล้าคนแรกของเชียงใหม่" ได้นำโสเภณีจากกรุงเทพฯ มาเปิดโรงค้าประเวณีแห่งแรกที่เชียงใหม่

ในยุคนี้การค้าประเวณีเป็นที่รังเกียจของชาวเชียงใหม่ มีการต่อต้านแสดงความเกลียดชังด้วยการใช้ก้อนหินขว้างปาหญิงบริการ รวมถึงการทำข้อความติดประจานหน้าบ้านและเรียกผู้หญิงกลุ่มนี้ว่า "อีสำเป็ง" (เทพชู ทับทอง อ้างใน นิตยา ระวังพาล,2539:16) ช่วงเวลานี้มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ควบคู่กับการพัฒนาทางการแพทย์โดยมิสชั่นนารี ซึ่งในคณะดังกล่าว ได้มีกลุ่มบุคคลที่ได้รับการโปรดปราน
จากเจ้านายระดับสูงจนถึงขั้นปูนบำเหน็จรางวัลเป็นที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและมอบหญิงรับใช้ของเจ้านายฝ่ายเหนือให้เป็นเมีย

             ต่อมา มีการทำมาค้าขายจนกิจการรุ่งเรือง จึงมีการสรรหาหญิงมาให้บริการทางเพศแก่กลุ่มฝรั่งที่ทำธุรกิจดังกล่าว โดยมีหญิงชาวเหนือในสถานที่ดังกล่าวประมาณ 20 คน หญิงเหล่านี้ได้มาจากการใช้โคกระบือ 2–3 ตัว แลกเปลี่ยนมาจากพ่อแม่ซึ่งล้วนแล้วแต่ยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
ที่ลูกสาวจะมีชีวิตที่สุขสบาย สังคมช่วงนั้นนิยมชมชอบชาวตะวันตก โดยมองว่าเป็นคนที่มาจากเมืองที่เจริญแล้ว มีความฉลาด เป็นคนเก่ง จึงพยายามเลียนแบบตามอารยะธรรมตะวันตกเพื่อให้คนทั่วไปมองว่าตนเองเป็นคนทันสมัย (นิตยา ระวังพาล,2539:19)


 ล้านนายุคเลิกทาส : พ.ศ.2448–2475 มีการขยายเส้นทางการคมนาคมทางรถไฟทำให้มีการเดินทางที่สะดวกขึ้น มีการติดต่อค้าขายเชิงพานิชที่กว้างขวางขึ้น มีสินค้าอุปโภคบริโภคฟุ่มเฟือย ถูกลำเลียงเข้าสู่มณฑลพายัพอย่างไม่ขาดสายพร้อมกับการอ้าแขนรับความทันสมัยของคนล้านนาอย่างเต็มอกเต็มใจ การเคลื่อนย้ายทางประชากรกลุ่มค้าประเวณีทั้งในรูปแบบของความเต็มใจและการหลอกลวงเริ่มปรากฏชัดเจน ในช่วงเวลาดังกล่าว

ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาส หญิงทาสส่วนหนึ่งที่พ้นจากการเป็นทาสไม่รู้จะทำอะไรจึงหันหน้าเข้าหาอาชีพโสเภณี มีการรวบรวมคนและจัดตั้งเป็นสำนักขึ้น และก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค "อุปทม"หรือ "กามโรค" ในกลุ่มชายนักเที่ยวและหญิงนักขาย จนต้องมีการออก พ.ร.บ.สัญจรโรค ร.ศ.127 เพื่อตราไว้บังคับหญิงโสเภณีซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรก มีสาระสำคัญว่าหญิงที่มาประกอบอาชีพนี้ทุกคนต้องมีใบอนุญาตและต้องอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี รวมถึงการกำหนดบทลงโทษต่อเจ้าสำนัก โสเภณี นายหน้าค้าหญิง และแมงดา แต่ยังปรากฏการลักลอบค้าประเวณีโดยไม่ยอมจดทะเบียนและเสียภาษีให้รัฐ จนในสมัยรัชการที่ 7 มีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ.2471 ที่กำหนดบทลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีทั้งหมด

ล้านนายุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง : ช่วงปี 2475–2503 เชียงใหม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยซึ่งคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ เช่น สงครามโลก ซึ่งเมื่อมีทหาร ความต้องการทางเพศก็ย่อมเกิด หญิงที่ถูกหลอกลวงก็มากสมัครใจก็เยอะ ผลพวงหลังสงครามโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง
ทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้สหประชาชาติออกอนุสัญญาปราบปรามการค้าสตรีและเด็ก รวมทั้งการค้ากำไรจากหญิงบริการ ยกเลิกการจดทะเบียนโสเภณีแต่ใช้กฎหมาย "ปราบปรามการค้าประเวณี"แทน โดยที่ประเทศไทยได้ออก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ขึ้น แต่ยิ่งกลับกลายให้เกิดการค้าประเวณีในลักษณะแอบแฝงมากยิ่งขึ้นจากผลพวง ที่เป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย เช่นการเปิดโรงแรม สถานบันเทิง ไนต์คลับ บาร์ ต่าง ๆ บังหน้า

ล้านนายุคส่งเสริมการท่องเที่ยว : ราว พ.ศ. 2504 – 2516 มีการเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เท่าเทียมอารยะประเทศโดยไม่ใส่ใจต่อรากเหง้าทางวัฒนธรรมในลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของวาทกรรม "โง่ จน เจ็บ" มีการขยายฐานการศึกษา โดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกพร้อมกับค่านิยมการปลูกฝังความเป็นชายด้วยการ "ขึ้นครู" ควบคู่กับการส่งเสริมและการลงทุนทางธุรกิจที่หลากหลาย ด้วยกระบวนการเอา "ภูมินิเวศ-ภูมิวัฒนธรรม" ของเชียงใหม่เป็นจุดขาย

ส่งผลต่อการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดินจากชาวบ้านสู่นายทุน ที่ถูกยกย่องให้เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเงินและหน้าตาในวงสังคมในฐานะ "ป้อเลี้ยง" เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินหลุดลอยต้องมีการเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของที่ดินมาสู่การเป็นผู้เช่าที่ดินตนเอง ลูกหลานที่เคยมีหลายคนจึงจำเป็นต้องผันตัวเองเข้าสู่การรับจ้างเพื่อหารายได้ รูปแบบการใช้ประโยชน์จากที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรแบบยังชีพพึ่งพา มาสู่การเป็นเกษตรแบบพึ่งพิงตลาดกระแสหลัก วงจรอุบาทในรูปแบบของหนี้สินชาวนาเริ่มพอกพูนขึ้น ภายใต้สังคมเมืองที่มีธุรกิจหลากหลาย ภายใต้บริบทชุมชนท้องถิ่นที่มีภาวะหนี้สินและการติดค่านิยมฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นทั้งแรงดึงและแรงผลักที่เหมาะสมให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าสู่อาชีพการขายบริการโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจได้อย่างลงตัว

หมายเลขบันทึก: 195691เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2008 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ผมเคยได้อ่านประวัติศาสตร์ของเมืองปาย มีการเขียนถึงเรื่อง "อีสำเป็ง" ด้วยน่าสนใจมากครับ อีสำเป็งนี้บริการให้กับนายฝรั่งที่มาเป็นนายทุนสัมปทานตัดไม้ รวมถึง ทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

ขอบคุณครับ บันทึกดีๆครับ และแลกเปลี่ยนกันในประเด็นที่น่าสนใจร่วมกันต่อไปครับ

ให้กำลังใจในการเขียนครับ

ขอบคุณ คุณจตุพรที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมครับ งานเขียนดังกล่าวถูกอ้างอิงในตอนจบของเรื่องนี้ ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ครับ

  ตอนเด็กๆ ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่ด่าลูกหลานที่เป็นผู้หญิงแล้วไม่ระมัดระวังตัว ไม่รักนวลสงวนตัวและชอบเที่ยวกลางคืน ว่า อี่สำเพ็ง  ผมก็เข้าใจว่าผู้ใหญ่เปรียบเทียบพวกเขากับหญิงโสเภณี  ผมมารู้มากขึ้นจากข้อคิดเห็นของคุณ จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นี้เอง ว่า อี่สำเป็ง หรือบ้านผมเรียกว่า อี่สำเพ็ง  คือผู้หญิงขายบริการให้กับนายทุนฝรั่งและทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

   ขอบคุณบันทึกดีๆเช่นกันครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท