BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๑๑


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๑๐. คุณค่าการบวชในปัจจุบัน

กล่าวได้ว่าในอดีตนั้น "การบวชเรียนตามประเพณี" คือ การบวชแล้วศึกษาเล่าเรียนเพื่อจะได้อ่านออกเขียนได้และมีความรู้บางอย่างติดตัวไปใช้ชีวิตแบบชาวช้านเป็นประเพณีวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนาในเมืองไทย แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้แตกแขนงออกไปเป็น "การบวชเรียน" และ "การบวชตามประเพณี" กล่าวคือมีคนกลุ่มหนึ่งตั้งใจบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนแล้วสึกออกมาใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน ในกลุ่มนี้บางคนก็มีศรัทธาที่จะบวชต่อไปเพื่อสืบทอดพระศาสนา ขณะอีกกลุ่มหนึ่งมิได้ตั้งใจบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนแบบกลุ่มแรก บวชเพียงแต่รักษาประเพณีที่บรรพบุรุษได้กระทำมาระยะหนึ่งแล้วก็สึกออกมาเท่านั้น แต่ในกลุ่มนี้ก็ยังมีบางคน ครั้นบวชแล้วก็ไม่สมัครใจสึก สมัครใจที่จะบวชต่อไปเพื่อสืบทอดพระศาสนา และจำนวนผู้ที่ไม่ได้สึกออกไปทั้งสองฝ่ายนี้แหละ เป็นกำลังหลักสืบทอดพระศาสนามาตราบจนทุกวันนี้

ตามความเห็นของผู้เขียน ความเปลี่ยนแปลงเรื่องค่านิยมการบวชในปัจจุบันนั้นมีสาเหตุเริ่มต้นอยู่ที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปเมื่อสองสามร้อยปีก่อน เล่าเรื่องย่อๆ ว่า หลังจากมีการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำแล้วก็เริ่มการนำเครื่องจักรมาใช้แทนที่แรงงานคน เครื่องจักรผลิตสินค้าได้มากจึงก่อให้เกิดปัญหาว่าจะต้องแสวงหาตลาดเพื่อขายสินค้า และจะต้องมีการแสวงหาวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงาน ในยุคนั้นยาวยุโรปโดยเแฑาะอังกฤษและฝรั่งเศสจึงมีการล่าอาณานิยมไปทั่วโลกรวมทั้งแถบประเทศไทยด้วย จะเห็นได้ว่าในสมัยรัชการที่ ๔-๕ ไทยยอมเสียดินแดนหลายส่วนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อแรกกับเสรีภาพส่วนใหญ่ ต่อมาเมืองไทย (และชาติอื่นๆ) ซึ่งต้องการความเจริญก้าวหน้า จึงได้มีการส่งคนไปเรียนต่อยุโรปเพื่อเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่ การศึกษาซึ่งเมื่อก่อนมีวัดเป็นแหล่งวิชาการต่างๆ ก็ค่อยๆ ทยอยออกไปจากวัดโดยการสร้างโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยตามลำดับ

การบวชเรียนคือการบวชแล้วศึกษาเล่าเรียนวิชาการตามถนัดในวัดก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นการบวชเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีตามทีบรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาเท่านั้น สถานศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตกค่อยๆ แย่งชิงวิชาการแขนงต่างๆ ที่มีอยู่ในวัดไปจัดการเอง เกิดค่านิยมว่าการศึกษาในวัดเป็นของเก่าๆ คร่ำครึ ไม่ทันสมัย ส่วนผู้ที่ยังบวชเรียนอยู่ก็จะเป็นเพียงลูกคนจน ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา หรือผู้ที่พ่อแม่ไม่สามารถจัดการให้เป็นไปตามความต้องการได้จึงให้มาบวชอยู่ในวัดตามสำนวนว่า "ตัดหางปล่อยวัด" แบบแผนการศึกษาในวัดที่มีอยู่ก็คงเหลือแต่วิชาพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพิ่งมีการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนปริยัติสามัญและมหาวิทยาลัยสงฆ์เพื่อรองรับการศึกษาสมัยใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังเป็นเพียงลูกคนจน ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ถูกตัดหางมาปล่อยไว้เท่านั้น

ผู้เขียนคิดว่าเฉพาะการบวชเรียนในปัจจุบันยังมีคุณค่าอยู่เหมือนเดิม คือเป็นการสร้างคุณภาพของผู้บวชให้มีความรู้ติดตัวออกไปใช้ชีวิตแบบชาวบ้านได้ ซึ่งโดยมากผู้ที่บวชเรียนแล้วสึกออกไปมักจะเป็นคนดีของสังคม และคนกลุ่มนี้จะมีความเห็นที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนาเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้จะเป็นกองหน้าที่จะคอยแก้ต่าง สนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะนอกจากจะได้รับการศึกษาทั่วไปแล้วก็ได้มีโอกาสอบรมบ่มนิสัยตามคติของพระพุทธศาสนาไปด้วย ดังพระเถระท่านหนึ่งกล่าวไ้ว้ว่า "มหาจุฬาฯ คือแหล่งผลิตลูกเขยที่ดีให้แก่ชาวบ้าน" (มหาจุฬาฯ คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์)

แต่การศึกษาของคณะสงฆ์ปัจจุบันมีปัญหามาก เช่น นโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาทำให้มีผู้บวชเรียนน้อยลง ค่านิยมในการเรียนนักธรรมและบาลีในหมู่พระหนุ่มเณรน้อยลงต่ำลงกว่าเดิมมาก หรือธรรมเนียมและค่านิยมแบบเดิมๆ ของวัดทำให้ไม่สามารถตอบสนองสังคมปัจจุบันได้ สาเหตุนี้ทำให้มหาวิทยาลัยข้างนอกเริ่มเปิดสอนสาขาพระพุทธศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ ข้อสังเกตอีกอย่างก็คือปัจจุบันคนมาวัดฟังเทศน์ฟังธรรมค่อยๆ น้อยลง แต่มุมหนังสือธรรมะในร้านหนังสือจะค่อยๆ มากขึ้น

 

การบวชตามประเพณี คือ ค่านิยมว่าลูกผู้ชายไทยอายุครบยี่สิบปีแล้วจะต้องบวชก่อนการแต่งงานมีครอบครัวตามสำนวนว่า "บวชก่อนเบียด" ก็มีมาแต่โบราณควบคู่กับการบวชเรียน ผู้เขียนคิดว่าเป็นความฉลาดของบรรพบุรุษที่นิยมให้ลูกหลานบวชเสียก่อนแต่งงาน เพราะคนเรานั้นผ่านชีวิตวัยเด็ก วัยรุ่น จนกระทั้งถึงวัยหนุ่ม ย่อมได้ประสบความสุขความทุกข์ หรือสิ่งที่ดีและชั่ว มาพอสมควร เมื่อได้มาบวชก็ย่อมมีเวลาตริตรอง ทบทวนเรื่องที่ผ่านมา ได้ศึกษาธรรมะก็ย่อมเป็นแว่นขยายให้เข้าใจโลกและชีวิตมากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะออกไปครองเรือนและใช้ชีวิตที่ดีงามตามค่านิยมของพระพุทธศาสนาได้ ผู้เขียนคิดว่าการบวชตามประเพพณีที่เชื่อกันว่าทดแทนค่าน้ำนมแม่ หรือพ่อแม่ได้บุญนี้ น่าจะมาจากประเด็นว่าผู้ที่มาบวชได้มีโอกาสทบทวนตนเอง ทำให้เข้าใจสิ่งที่ผ่านมาได้ดียิ่งขึ้น เมื่อสึกออกมาก็จะได้นำสิ่งที่ตริตรองไว้ไปปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง ทำให้พ่อแม่เบาใจขึ้น

ส่วนคำกล่าวที่ว่า ถ้าได้เมียเสียก่อนมาบวชนั้น บุญจะแบ่งไปให้เมียครึ่งหนึ่ง น่าจะมาจากประเด็นว่าเมื่อคิดได้ก็ทำให้ภรรยาพลอยเบาใจไปด้วย ระยะเวลาที่บวชนั้น สมัยก่อนยึดถือกันว่าสามพรรษาเหมาะสม หรืออย่างน้อยควรจะให้ได้หนึ่งพรรษา แต่ถ้ามากเกินไปก็ไม่ดีที่จะออกมาใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน ดังสำนวนของพ่อท่านเฒ่าว่า "พรรษาหนึ่งดี สองงาม สามสวย บวชสิบษา สึกออกมา หมาไม่แล" หรือคำพังเพยว่า "ตื่นแต่ดึก สึกแต่หนุ่ม" อะไรทำนองนี้

ดังนั้น การบวชตามประเพณีหนึ่งพรรษาจึงมีคุณค่าคือ "ได้มีโอกาสทบทวนการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ทำความเข้าใจตนเอง และวางแผนปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นเมื่อสึกออกไป"

(มีต่อ)

 

หมายเลขบันทึก: 195387เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท