BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วัดเปลี่ยนไป ๗


วัดเปลี่ยนไป

๗. การทำวัตรสวดมนต์ (ต่อ)

จะขอแทรกเรื่องวิทยุโทรทัศน์สักเล็กน้อย สมัยผู้เขียนเด็กๆ จำได้ว่า เคยได้ยินผู้ใหญ่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าพระฟังวิทยาสมควรหรือไม่ ? ส่วนโทรทัศน์เริ่มเข้ามาสู่วัดในระยะที่ผู้เขียนแรกบวช (ปี ๒๕๒๘) ก็เคยได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์กันว่าพระชมโทรทัศน์ได้หรือไม่ ? บางวัดที่เริ่มมีโทรทัศน์ก็ถูกวัดที่ยังไม่มีวิพากษ์วิจารณ์มากบ้างน้อยบ้างตามกิเลสของแต่ละคน

และเมื่อผู้เขียนมาอยู่วัดยางทอง (ปี ๒๕๓๐) ท่านอาจารย์มหาประดับ เจ้าอาวาสสมัยนั้นชี้แจงว่า วัดนี้ไม่อนุญาตให้มีโทรทัศน์ เพราะถ้ามัวแต่ดูโทรทัศน์ก็ไม่มีเวลาเรียนหนังสือ อนุญาตให้มีได้แต่เพียงวิทยุไว้ฟังข่าวฟังเพลงบ้างคลายเครียดเท่านั้น... จริงอยู่ว่าวัดยางทองไม่มีโทรทัศน์ แต่วัดใกล้ๆ ก็มีบ้างแล้ว พระภิกษุสามเณรวัดยางทองก็ไปอาศัยดูโทรทัศน์วัดใกล้เคียง (วัดเลียบ วัดดอนแย้ วัดโรงวาส) ครั้นบางครั้ง ท่านอาจารย์มหาประดับนอกจากจะไปธุระที่วัดใกล้เคียงแล้วก็ถือโอกาสคลายเครียดชมมวยหรือฟุตบอลทางโทรทัศน์ไปด้วยเช่นกัน ครั้นแล้วเวลาดึกๆ ประมาณ ๔-๕ ทุ่ม ท่านสมภารเจ้าวัดก็มาเจอกันที่หน้าประตูวัดกับพระภิกษุสามเณรลูกวัด เมื่อเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็สร้างความตะขิดตะขวงใจทั้งสองฝ่าย ท่านอาจารย์สวัสดิ์ (พระสมุห์เจษฎา) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันจึงเสนอในที่ประชุมว่าให้สร้างโทรทัศน์สักเครื่องเพื่อพระภิกษุสามเณรในวัดเราจะได้ไม่ต้องไปดูวัดอื่นแล้วกลับดึกๆ ดื่นๆ หลังจากท่านอาจารย์มหาประดับสร้างโทรทัศน์ไม่นาน ผู้เขียนก็สอบประโยคสามได้ (ปี ๒๕๓๓) และน้องสาวของผู้เขียนก็ซื้อโทรทัศน์ถวายหนึ่งเครื่องเป็นรางวัล ผู้เขียนย้ำกะน้องสาวด้วยว่าให้ซื้อชนิดมีรีโมตซึ่งเพิ่งออกใหม่ สันนิษฐานนว่าผู้เขียนมีโทรทัศน์ที่ใช้รีโมตเครื่องแรกของวัดแถวนี้ในสมัยนั้น

จะขอเล่าเรื่องโทรทัศน์เข้ามายังวัดอีกนิดเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนไปของสังคม ประมาณสิบปีมาแล้ว มีวัดที่เจ้าอาวาสเป็นนักเทศก์ฝีปากเอกและมีอัธยาศัยดีงามรูปหนึ่งในอำเภอสทิงพระ เวลาบ่ายๆ บรรดาคนเฒ่าคนแก่ก็มักจะไปคุยเชิงสนทนาธรรมกับท่าน แต่เมื่องตรงวันเสาร์-อาทิตย์ขาประจำบางคนมักจะเริ่มขาดหายไป บางคนมาคุยได้นิดหน่อยก็ลาพ่อท่านกลับด้วยอ้างว่ามีธุระเล็กน้อย ต่อมาความแตกว่าพวกที่ขาดหายไปและพวกที่อ้างว่ามีธุระนั้น แท้ที่จริงก็คือกลับไปดูมวยตู้ที่บ้านนั่นเอง ขาประจำเหล่านี้ก็เลยแก้ปัญหาโดยการลงขันคนละห้าร้อยบาทพหรือพันบาทบ้างซื้อโทรทัศน์ถวายพ่อท่านซะเลย เผื่อว่าคุยธัมมะธัมโมแล้วเ็ซ็งก็จะได้เปิดดูโทรทัศน์แก้เซ็งหรือคลายเครียดกันบ้าง นั่นคือ สมัยนี้ แม้คนเฒ่าคนแก่นักธัมมะธัมโมนอกเมืองก็ยอมรับได้แล้วเรื่องพระภิกษุสามเณรดูโทรทัศน์


ปัญหาเรื่องพระภิกษุสามเณรยุคนี้ไม่ชอบทำวัตรเช้า-เย็นนี้ มิใช่ว่าจะมีการปล่อยปละละเลยเสียที่เดียว บางวัดก็เริ่มใช้มาตรการเชิงบังคับบกวกับแรงจูงใจให้การทำวัตรเช้า-เย็นในวัดยังคงดำรงอยู่ เช่น หลายๆ วัดมีการขานชื่อพระภิกษุสามเณรหลังจากทำวัตร และออกกฎระเบียบว่าพระภิกษุสามเณรภายในวัดทั้งหมดจะต้องทำวัตรเช้า-เย็นให้ได้ ๓๐ เวลาในแต่ละเดือน (เดือนหนึ่ง ๖๐ เวลา) ถ้าละเลยก็จะถูกมาตรการลงโทษตามระเบียบ บางวัดที่มีฐานะทางการเงินดีก็เพิ่มแรงจูงใจว่า ถ้าทำได้ ๕๐ เวลาในแต่ละเดือนก็จะได้ปัจจัยเดือนละ ๕๐๐ บาท อะไรทำนองนี้

เฉพาะวัดฝายหิน มช. ที่เชียงใหม่ซึ่งผู้เขียนเคยไปพักอาศัยเรียนหนังสืออยู่ ก็มีระเบียบว่า สามเณรรูปที่ทำวัตรเช้าหรือวัตรเย็น จะได้ปัจจัยเวลาละ ๑๕ บาท เป็นทุนไปเรียนหนังสือ นั่นคือ สามเณรรูปใดขยันทำวัตรทั้งเช้าและเย็นก็จะได้ปัจจัยวันละ ๓๐ บาททุกวัน (ส่วนพระภิกษุไม่มีระเบียบบังคับ โดยถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องลงทำวัตรบ้างเป็นตัวอย่างของสามเณร) แต่ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นอีก นั่นคือ มีสามเณรบางรูปขยันทำวัตรทั้งเช้าและเย็น ตอนแรกท่านอาจารย์ผู้ปกครองภายในวัดก็เข้าใจว่าเป็นสามเณรเรียบร้อยขยันเรียน ภายหลังทราบว่าสามเณรรูปนี้ไปไม่ถึงโรงเรียน เพราะเอาปัจจัยไปเล่นเกมส์อยู่ที่ร้านเกมส์ข้างวัด

ตามตัวอย่างที่เล่ามาเป็นลำดับ จะเห็นได้ว่าเรื่องการทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นภายในวัดยุคปัจจุบันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนไปของวัดปัจจุบันได้เช่นเดียวกัน และสิ่งที่ปรากฏชัดเจนก็คือวัดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่สามารถที่จะอยู่แยกจากสังคมได้ นั่นคือ วัดและสังคมย่อมเป็นไปทำนองเดียวกัน จะนำเสนอกิจกรรมวันอุโบสถในหัวข้อต่อไป...

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195383เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการ พระคุณเจ้าหรือเรียกหลวงพี่ดีครับ มาอ่านเรื่องดีๆยามเช้าครับ สามเณรแถววัดบ้านผมก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันครับ ผมได้เคยสอนมาบ้าง แต่เณรเป็นเด้กม้งครับ ไม่ค่อยฟัง วิธีดัดนิสัยของวัดคือให้สวดมนต์ครับ แต่ก็แก้ไม่หายครับ

P

คนพลัดถิ่น

 

พระคุณเจ้า. หลวงพี่. หลวงอา. พระอาจารย์. หรือท่านมหาฯ ... เลือกเอาเองตามความเหมาะสม

เด็กคือเณร เณรก็คือเด็ก ...พ่อแม่เลี้ยงลูกทุ่มเทเต็มที แต่ลูกก็แตกต่างกันไป... เณรก็ทำนองนั้นแหละ จะได้ดีแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีของแต่ละรูปด้วย...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท