เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา เมื่อ สคส. เรารับจัด Workshop คุณอำนวย ให้กับ ธนาคารกสิกรไทย โดยหลักสูตรนี้เราใช้เวลา 3 วัน 2 คืน กับผู้เข้าร่วมไม่เกิน 35 คน และมีเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมทุกคนต้องอยู่ครบทั้ง 3 วัน (คนที่เป็นภาคี สคส. มาตั้งแต่เดิมจะเข้าใจเงื่อนไขข้อนี้ดีค่ะ) ดังนั้นเราเริ่มทำการบ้านวางรูปแบบกิจกรรมเรียนรู้ให้เข้ากับกลุ่มผู้เข้าร่วม และวัตถุประสงค์ที่ต้องการของ แกนนำ ธ.กสิกรไทย ที่เข้ามาคุยกับเราก่อนหน้านี้ประมาณเดือนกว่า
พอถึงวันจริงทีมเรา (อ้อ + พี่อ้อม) ได้ข้อมูลเพิ่มเติมก่อนเริ่มว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มหัวกะทิ ไม่ชอบอะไรที่ช้าและน่าเบื่อ ชอบคำตอบที่ชัดเจน และมักต้องการจะรู้ว่าสิ่งที่ให้เรียนนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าไม่เห็นประโยชน์ก็อาจจะกลับก่อน (โอโห! ครบสูตรคนเก่งเลยค่ะ) หึ..หึ เราบอกกับพี่ๆ ธนาคารว่า “ไม่เป็นไร อย่ากังวลไปเลยค่ะ”
เมื่อกลุ่มผู้เข้าร่วมมากันพร้อม เราเริ่มด้วยการให้แต่ละคนเขียน “ความคาดหวังในการเรียนรู้ของตนเอง” และ “สิ่งที่ตัวเองควรจะทำเพื่อให้ได้ตามที่ตัวเองคาดหวัง” เป็นการทำ BAR (Before Action Review) ก่อน ผลที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นคำถามค่ะ เช่น KM คืออะไร? มีประโยชน์และนำไปใช้กับงานธนาคารได้อย่างไร? ต้องการความชัดเจนจากวิทยากร และอื่นๆ.................... ซึ่งพอเราได้ทราบความคาดหวังและคำถามต่างๆ ของผู้เข้าร่วม ทีมเราก็ยังไม่ได้ตอบแม้แต่ข้อเดียว
เราบอกผู้เข้าร่วมไปว่า เราสัญญาว่าคำถามทั้งหมดที่ทุกคนมี จะได้รับคำตอบทุกข้อเมื่อจบกระบวนการในวันสุดท้าย และขอให้สังเกตดีๆ เพราะบางคำตอบจะมีอยู่ในกิจกรรมและกระบวนการที่ผู้เข้าร่วมได้ทำ (เป็นการบรรเทาความรีบร้อนอยากรู้ของคนเก่งทั้งหลาย ของดีบางอย่างเราต้องอดใจอดทนรอนะคะ) ซึ่งในระหว่างที่ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมและเกมตลอดวันที่หนึ่ง ก็มักจะมีคำถามแทรกขึ้นมาเป็นระยะๆ แต่ทีมวิทยากรเราก็มักจะไม่ตอบให้จนกว่าจะจบกระบวนการหนึ่งๆ และมีการล้อมวงสะท้อนการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วม วิทยากรจึงจะ สรุปประมวลให้ทีหนึ่ง เพราะอยากให้ผู้เข้าร่วมรู้ว่าเขาสามารถค้นพบและตอบคำถามด้วยตัวเองได้จากกระบวนการเรียนรู้ (แต่บางคำถามก็ยังไม่ตอบอีก เพราะมันอยู่ในกิจกรรมถัดไป) ซึ่งเมื่อผ่านไปวันที่ 1 วันที่ 2 คำถามก็ถูกตอบไปเรื่อยๆ ด้วยกระบวนการและตัวผู้เข้าร่วมเองจนเกือบหมด (ก็เขาเป็นคนเก่งกันจริงๆ ค่ะ พอจับทางได้ก็เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว)
วันสุดท้ายหลังจากที่ผู้เข้าร่วมได้ฟัง อ.ประพนธ์ (วิทยากรรับเชิญพิเศษ 3 ชั่วโมง) Wrap up โดยสรุปให้และดูหนังฟังเพลงอีกนิดหน่อย ก็มาถึงกระบวนการสุดท้ายคือ AAR (After Action Review) ที่ผู้เข้าร่วมต้องตอบคำถามของตัวเองสุดท้ายว่า “จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปทำอะไร?” และที่ขอปรบมือให้ผู้เข้าร่วมทุกคนดังๆ เลย คือ ทุกคนตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนพอสมควรค่ะ ว่าจะกลับไปทำกับใคร เริ่มจุดไหนและด้วยแนวทางใด (ไม่ใช่แค่พูดว่า จะนำกลับไปใช้ต่อนะ)....... นี่แหล่ะการเรียนรู้ของคนเก่ง
ผลของรุ่น 1 ออกมาดีขนาดนี้ แล้วรุ่นต่อๆ ไป จะดีขนาดไหนเนี้ยะ น่าสนใจทีเดียวใช่ไหมคะ.....
อ้อ สคส.
สวัสดีค่ะ พี่หญิง พี่อ้อ พี่อ้อม
ไม่ได้แวะมาทักทายพี่ๆ ในบล็อกตั้งนานเลยค่ะ ได้มาอ่านบันทึกนี้ อ่านแล้วคิดถึงกสิกรไทยถิ่นเดิมค่ะ
อยากรู้ต่อไปจังเลยค่ะว่ารุ่นต่อๆ ไป จะเป็นอย่างไรบ้าง ท่าทางคงต้องมีัอะไรสนุกๆ ให้พี่ๆ มาเขียนเล่าในบล็อกกันอีกแน่ๆ เลยค่ะ
แล้วจะมาติดตามอ่านต่อนะคะ
ขอบคุณค่ะ
ผู้เข้าร่วมสามารถตอบคำถามที่ตนเองถามได้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในกิจกรรมครั้งนี้ค่ะ เยี่ยมค่ะ :)
มาชื่นชมทีมงานค่ะ เล่าได้ละเอียดตามเรื่องราวได้อย่างเข้าใจดีจังค่ะ ไม่น่าแปลกใจที่ผลออกมาดี ถ้าหน่วยงานเป็นคนริเริ่มโครงการแบบนี้ผลที่ได้ออกมาหลังจากนี้ น่าจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้เลยนะคะ เพราะไม่งั้นที่ผ่านๆมาคนไปอบรมมี"ไฟ"ที่ได้รับการจุดประกาย แต่พอกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมเดิมๆที่คนรอบข้างไม่ได้"อิน"ไปด้วย อะไรๆที่ได้มาก็ค่อยๆมอด น่าเสียดายแรงวิทยากรและค่าใช้จ่ายที่เสียไป งานนี้คงได้ผลชัดๆนะคะ อย่าลืมมาขยายกันอีกนะคะ สามสาวสามแรงแข็งขัน หญิง,อ้อ,อ้อม
ยินดีไปเรียนรู้ร่วมกับ สพท. สุพรรณบุรี เขต 2 ค่ะ
เพราะเชื่อว่า เราเชื่อมั่นใน "ศักยภาพคน" เหมือนกัน
อ้อม
อ่านแล้วเห็นว่าฝีมือของ ๒สาวพัฒนาไปไกล
ถ้ามีโอกาสจะขอเข้าไปขโมยกระบวนยุทธนะครับ
ขอบคุณค่ะที่นำมาเล่าให้ฟังจากสามสาวทำให้พี่คิดว่าที่มอนอเราก็มีคนเก่งแบบนี้เยอะจะลองดูค่ะแล้วจะเล่าให้ฟังที่พนาศรมนะค่ะ
ขอบคุณทุกๆ คนที่เข้ามาอ่านค่ะ
- อ.ย่ง ถ่อมตัวเกินไปหรือเปล่าคะ แล้วอย่าลืมมาเจอกันนะ
- พี่สิงห์ป่าสัก ก็มีทีมงานกำแพงเพชรที่เข้มแข็งเหมือนกันค่ะ พวกเราสู้ๆ (ให้กำลังใจกันเอง)
- พี่แก้วตา จ๊ะ เล่าให้อ้อฟังก่อนถึงพนาศรมก็ได้นะ พี่เลี้ยงอยู่ทางนี้เป็นห่วง