BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๘


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๘. ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในเมืองไทย

ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าหลังจากการสังคายนาครั้งที่สามในปีพ.ศ. ๒๑๘ แล้วก็ได้มีสมณทูตคณะหนึ่งมายังสุวรรณภูมิ แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสุวรรณภูมิตามหลักฐานในคัมภีร์นั้นเป็นที่ไหนกันแน่ สิ่งที่ยืนยันได้ว่าพระพุทธศาสนาได้ตั้งรกรากอยู่ในดินแดนแถบนี้มาเกินกว่าพันปีแล้วมีสามประการคือ โบราณสถานโบรานวัตถุ ๑ ประเพณี ๑ และคัมภีร์ ๑

หลักฐานประการแรกก็คือโบราณสถานและโบราณวัตถุ เรามีวัดใหญ่ๆ มากมายทั่วประเทศไทย เช่น วัดมหาธาตุนครศรีธรรมราช ก็บอกว่าสร้างประมาณ พ.ศ. ๕๐๐... ประวัติวัดพระธาตุนครพนมก็ระบุว่าสร้างพ.ศ. ๘ (เลขแปด พิมพ์ไม่ผิด แต่ผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อเพราะตำนานวัดทั่วไปทางเหนือและอีสานมักจะอ้างถึงพระมหากัสสปะ พระอานนท์ หรือพระอุบาลี ว่าเป็นผู้นำพระธาตุหรือวัตถุสำคัญมา เช่น ตำนานพระธาตุดอยตุงก็อ้างพระมหากัสสปะ เป็นต้น) หรือวัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูน ก็สร้างมากว่าพันปีแล้วเช่นเดียวกัน

ส่วนโบราณวัตถุที่เราขุดพบก็เช่นใบเสมาหินที่จังหวัดเลย เป็นต้น นอกจากนั้นเรายังขุดพบพระพุทธรูปตามแนวคิดของมหายานอีกทั่วประเทศซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่าพระพุทธศาสนามหายานเคยเจริญรุ่งเรืองในมาตุภูมิของเรามาก่อนเถรวาทในปัจจุบัน (หลักฐานนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่า เรารับพระพุทธศาสนาผ่านมาทางประเทศจีนในเบื้องต้น เพราะจีนนับถือมหายาน)

 

ประการที่สองคือประเพณีทางพระพุทธศาสนา ตัวอย่างที่ผุ้เขียนคิดว่าสำคัญมากก็คือการเทศนามหาชาติซึ่งว่าด้วยประวัติของพระเวสสันดร เหตุไฉนเราจึงมีประเพณีเทศน์มหาชาติเป็นทำนองเทศน์แหล่ในท้องถิ่นต่างๆ โดยที่แหล่มหาชาติของแต่ละภาคแตกต่างกันไป เช่นของภาคกลางก็แตกต่างไปจากของภาคเหนือ อิทธิพลเทศนามหาชาติยังมีอยู่แม้ในกรุงเทพฯ เพราะงานวัดประจำปีทั่วไปในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นวัดเล็กวัดใหญ่ วัดราษฎร์หรือพระอารามหลวง โดยทั่วไปปีหนึ่งจัดงานเพียงสองครั้งคืองานกฐินและงานเทศน์มหาชาติ...  ในภาคอีสานได้จัด บุญพระเวศน์ ไว้ในประเพณีสิบสองเดือนประจำปีที่เรียกว่า ฮีต ๑๒ ...

ส่วนภาคใต้เรามีแนวคิดไปไกลกว่าภาคอื่นๆ คือเราม ีมหาชาติทรงเครื่อง ซึ่งมีการเทศน์เป็นรายกัณฑ์ สลับกับการแสดงละครตามแบบมโนราห์หรือลิเก ว่าด้วยเรื่องเวสสันดรชาดก ผู้เขียนคิดว่าเป็นภูมิปัญญาคนปักษ์ใต้บ้านเรา เพราะเด็กทนนั่งฟังเทศน์ไม่ได้นานๆ ส่วนคนเฒ่าคนแก่ก็ไปยืนดูมโนราห์ไม่ได้นานๆ เช่นเดียวกัน จึงมีการสลับกัน โดยให้คนเฒ่าคนแก่ฟังเทศน์กัณฑ์หนึ่งแล้วได้พักผ่อนเปลี่ยนอิริยาบถ ส่วนเด็กๆ ก็ไปคอยดูการแสดงกัณฑ์หนึ่งแล้วก็ไปวิ่งเล่นต่อ ดังนี้ ... แต่มหาชาติทรงเครื่องภูมิปัญญาปักษ์ใต้ปัจจุบันก็ทำท่าจะค่อยๆ เลือนหายไปตามสภาพ ที่จัดอยุ่บ้างก็กลางวันเทศน์อย่างเดียว ส่วนกลางคืนก็แสดงลิเกหรือมโนราห์อย่างเดียว พิจารณาแล้วก็เสียดายภูมิปัญญาบรรพบุรุษของเรา จะคงไว้ก็ยากเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป

 

ประการสุดท้ายที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองมายาวนานของพระพุทธศาสนาในบ้านเมืองเราก็คือการรจนาคัมภีร์สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้เขียนขอยกพระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่เป็นตัวอย่าง ท่านได้รจนาคัมภีร์ไว้ ๔ เล่ม คือ จกฺกวาลทีปนี มงฺคลตฺถทีปนี เวสสนฺตรทีปนี และ สงฺขยาปกาสกฎีกา เล่นสุดท้ายเป็นคัมภีร์อธิฺบายเรื่องจำนวนนับหรือกลาวได้ว่าเป็นคณิตศาสตร์โบราณก็ได้ จึงขอยกไว้ ขอแนะนำเพียงสามเล่มข้างต้นสักเล็กน้อย

คัมภีร์แรกคือ จกฺกวาลทีปนี เป็นการประมวลเรื่องราวแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต โลก และจักรวาล จากคัมภีร์ต่างๆ ของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยลักษณะของโลกและจักรวาลว่าเป็นอย่างไร สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จำแนกได้เป็นอะไรบ้าง และเรื่องภพภูมิต่างๆ มีนรกสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งวรรณคดีบาลีมีภัมภีร์ตามแนวจักรวาลทีปนีนี้หลายเล่ม เช่น โลกทีปนี โลกปญฺญติ โลกทีปกสาร แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเพราะเป็นภาษาบาลี คัมภีร์ตามนแวนี้เรารุ้จักกันแต่เพียง เตภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง) เท่านั้นเพราะแต่งเป็นภาษาไทย

 

มีเรื่องขำขันเล่ากันภายในวัดว่า อุบาสกเฒ่าคนหนึ่งชอบมานั่งสนทนาธรรมกับสามเณรน้อยภายในร่มเงาของวัดเสมอ วันหนึ่งทั้งสองมีความเห็นแย้งกัน โดยอุบาสกเฒ่าเชื่อว่า "สัตว์น้ำมากกว่าสัตว์บก" ส่วนสามเณรน้อยเชื่อว่า "สัตว์บกมากกว่าสัตว์น้ำ" ต่างฝ่ายก็อ้างเหตุผลมายืนยันโดยไม่ยอมรับความเห็นฝ่ายตรงข้าม น้องเณรทำท่าจะจนปัญญาจึงอ้างว่า "แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ สัตว์
บกมากกว่าสัตว์น้ำ " ท่านผู้เฒ่าได้ฟังเณรยกบาลีมาอ้างสนับสนุนก็พนมมือยอมรับว่าสัตว์บกมากกว่าสัตว์น้ำ...

พระสิริมังคลาจารย์ได้ให้คำเฉลยไว้ในคัมภีร์จักรวาลทีปนี ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

  • "อันสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยุ่ในน้ำ มากกว่าสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่บนบก ด้วยเหตุนั้น ในสัจจสังยุตจึงได้กล่าวไว้ว่า
  • พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ? ฝุ่นอันน้อยที่เรายกขึ้นไว้บนปลายเล็บนี้กับแผ่นดินนี้อย่างไหนจะมากกว่ากัน ?
  • ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า ส่วนฝุ่นอันน้อยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นไว้บนปลายพระนขานี้มีประมาณน้อย นับกันไม่ได้ เทียบกันไม่ได้ ไม่เข้าถึงแม้ส่วนเสี้ยว เทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว ฝุ่นนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นไว้บนปลายพระนขา มีประมาณน้อย
  • พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือนกันนั่นแหละภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่เกิดบนบกมีประมาณน้อย ส่วนสัตว์ท่ี่เกิดในน้ำนั่นแหละมีมากกว่าแท้แล ฯ"

 

แนวคิดเรื่องชีวิต โลกจักรวาล นรก สวรรค์ ทำนองนี้เป็นความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาและฝังรากลึกอยู่ในความรู้สึกของคนไทยทั่วไป แต่เราทุกคนก็ยังสงสัยอยู่่ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ผู้เขียนคิดว่าสมัยพระสิริมังคลาจารย์ถือกำเนิด (ยังคนไม่เจอว่าท่านเกิดเมื่อไหร่ แต่ท่านได้รจนาคัมภีร์จักรวาลทีปนีเล่มนี้ในปีพ.ศ. ๒๐๖๓) เรื่องราวเหล่านี้คงได้ฝังรากลึกมาและคนทั่วไปก็น่าจะตั้งข้อสงสัยมาแล้วไม่ต่างจากปัจจุบัน พระสิริมังคลาจารย์จึงได้ตรวจสอบเรื่องนี้ นั่น ! บ่งชี้ว่าพระพุทธศาสนาตั้งมั่นมานานแล้ว

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195125เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท