การที่เราได้มีชีวิตอยู่นี้ ทุกวันต้องเร่งสร้าง เร่งทำความเสียสละ เพื่อที่จะผละความขี้เกียจ ขี้คร้านให้พ้นจากตัวไป
ถ้าสิ่งใดเกิดประโยชน์แล้วจงทำเถิด จึงประเสริฐจะเกิดขึ้นตามมากับตน สังคม และผู้คนรอบข้าง
ทำดีนี้ขอจงทำและตั้งใจทำ เพื่อให้ ให้ ให้ และให้ มิต้องหวังลาภ ยศ สรรเสริญและนินทา
สุข ทุกข์ นั้นหนอล้วนอนิจจัง แต่ชีวิตเรากลับถูกฝังด้วยเรื่องอันไม่เที่ยงเหล่านี้
ความรู้นั้นก็ไม่เที่ยง ปริญญานั้นก็ไม่เที่ยง เราทั้งหลายผู้ที่ยังต้องอยู่ในสังคมที่ไม่เที่ยงนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายใช้ความไม่เที่ยงให้เป็นประโยชน์เถิด
ใช้ความไม่เที่ยงเป็นมิตรที่เปรียบดั่งกัลยาณมิตรคอยสอนตนเองเสมอ
ระวังไม่ให้เราตกเป็นทาสความไม่เที่ยง หรือคิดจะเอาชนะคะคานความไม่เที่ยงนี้เลย
ความรู้ทั้งหลายที่เกิดมาทั้งจากงาน (R2R :Research to Routine) การวิจัย (Research) หรือแม้กระทั่งการจัดการความรู้ (Knowledge management)ความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ถ้าใช้อย่างไม่ยึดติด ใช้แล้วไม่แสวงหาผลประโยชน์จากความรู้ ความรู้เหล่านี้จะนำมาซึ่งความสุขแท้คือ "ความสงบ"
สงบที่ไม่ต้องวิ่งวุ่นไปด้วยความรู้ ไม่ต้องกระวนกระวายเพื่อใช้ความรู้เพื่อมาสานต่อยศ ลาภ อำนาจ วาสนา
ความรู้อันประเสริฐนั้นคือความรู้เรื่องทุกข์และความดับทุกข์
ท่านจงหลายโปรดได้รวบรวมความรู้ทั้งหลายมาไว้เพื่อหาเหตุแห่งทุกข์และหนทางแห่งความดับทุกข์ทั้งสิ้นให้ลุล่วงไปเถิด
ทางอันประเสริฐสุดคือหนทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านทั้งหลายได้โปรดเดินทางตามเส้นทางแห่งอริยมรรคนี้เถิด
ธรรมอันประเสริฐที่สุดคือ วิราคะ อันได้แก่ ความสงบ สงัดจากกามทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงถ่ายถอนความยินดีในกามทั้งหลายเถิด
เมื่อนั้นท่านทั้งหลายจะพบกับความสุขแท้ อันได้แก่ความสุขที่เกิดจากความสงบ ไม่เร่าร้อน กระวนกระวาย
ท่านทั้งหลายโปรดใช้เวลาที่มีค่านี้วิจัยทุกข์ในชีวิตนี้เถิด (Research to Suffer of LIFE)
ไม่มีผู้ใดที่จะรู้ทุกข์ได้ดีเท่ากับตัวของเราเอง
ใช้เวลาในลมหายใจนี้วิเคราะห์วิจัยทุกข์และต้นเหตุของทุกข์แห่งตนเองเถิด
เมื่อท่านรู้แล้ว เห็นแล้ว ท่านก็จะมองเห็นทางแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง
ไม่มีความรู้ใดประเสริฐเท่าความรู้ในทุกข์และความรู้แห่งการดับทุกข์
ความรู้แห่งทุกข์และความดับทุกข์นั้นแลก็คือ อริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนไว้เพื่อให้มนุษย์ทั้งหลายคลายเสียซึ่งจากทุกข์
ท่านทั้งหลายพึงอย่าพอใจได้ความสุขด้านร่างกายเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้เลย พึงก้าวข้ามสุขแห่งกาย แล้วพึงรับสุขแท้แห่งใจ
ใจที่ดี ใจที่สบาย ใจที่สงบ ใจเช่นนี้คือใจของคนที่มีความดี ทำความดี มีความเสียสละ
เสียสละในการเรียนรู้ทุกข์ วิจัยทุกข์ แก้ปัญหาทุกข์ของตนด้วยตนเอง
ทั้งท่านหลายจงถ่ายถอนความทุกข์จากแดนเกิดนี้เถิด
อัตภาพที่ประเสริฐแท้แล้วที่ได้กำเนิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา
เป็นการยากที่พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นในโลก และเป็นการยากที่พระธรรมคำสอนนั้นจะเจริญ รุ่งเรืองและเฟื่องฟูในโลก
ในยุคแห่งความรู้ที่กำลังระเบิดนี้ (Knowledge Explostion) ท่านทั้งหลายจงระเบิดความทุกข์ด้วยความรู้แห่งทุกข์คืออริยสัจ ๔ นี้เถิด
เมื่อท่านทั้งหลายรู้แจ้ง แทงตลอดซึ่งทุกข์เสียได้ มูลเหตุแห่งทุกข์คือความเกิดในภพชาติต่อไปนั้นก็ไม่มี การวิจัยทุกข์และความดับทุกข์ในชีวิตนี้นั้นหรือก็คือ "การวิจัยแห่งชีวิต (Research of LIFE...)
สาธุ...เจ้าค่ะ
----
เมื่อเราใช้ชีวิต ดำเนินชีวิต บันทึกชีวิต คิดและวิเคราะห์ชีวิตอย่างตระหนี่ถี่ถ้วนแล้ว "ทุกข์" นั้นมีอยู่ ดำเนินอยู่ บันทึกอยู่ในทุก ๆ ย่างก้าวของชีวิต
ทุกข์นั้นเกิดขึ้นทั้งกับร่างกาย และโดยเฉพาะทุกข์นั้นเกิดขึ้นพร้อมกับจิตใจ
เมื่อเราเกิดมานั้นเราก็ร้องไห้ และเมื่อเราต้องตายจากโลกนี้ไป เราก็ยังคงต้องร้องไห้ หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้บุคคลอื่นหลั่งน้ำตา
การเกิดนั้นเองเป็นความทุกข์ การดำเนินอยู่ชีวิตย่อมต้องเจอทุกข์เนื่องด้วยความเจ็บและความชรา การตายนั้นเองดูเหมือนว่าจะพ้นทุกข์ แต่สังสารวัฏนี้ช่างยาวนานนัก
เราเพียงเปลี่ยนจากความทุกข์ในภพหนึ่ง อัตภาพหนึ่งไปรับทุกข์ภพใหม่ อัตภาพใหม่เท่านั้น
ท่านทั้งหลายโปรดอย่าหลงในชีวิตเลย จงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด
ขอท่านทั้งหลายวิจัยชีวิตโดยมีทุกข์ทั้งหลายเป็นพื้นฐาน มีหนทางดับทุกข์เป็นท่ามกลาง และการดับทุกข์ทั้งปวงเสียได้เป็นเบื้องปลาย
สตินั้นเองจะช่วยให้เราระลึกรู้ถึงความทุกข์
อริยมรรคนั้นเองจะเป็นเส้นทางอันประเสริฐที่จะดับทุกข์เสียได้
เมื่อท่านดำรงสติอยู่ในอริยมรรคอีกทั้งตั้งมั่นอยู่ในความดี มีศีลเป็นพื้นฐานแห่งจิตใจ
ท่านหลายจะได้พบกับสมาธิที่มีกำลัง ตั้งมั่นอย่างถูกทาง
ไม่หลงอยู่ในกำลังแห่งโลกียธรรม
หลุดพ้นได้จากฌานและญาณฝ่ายโลกียะเสียได้
เมื่อนั้นท่านจะนำกำลังสมาธิพิจารณาอริยสัจด้วย "ปัญญา" เพื่อความหลุดไปแห่งสังสารวัฏนี้
เมื่อนั้นท่านทั้งหลายจึงจะพ้นจากความทุกข์อันยาวนานในสังสารวัฏแห่งนี้...
นมัสการพระคุณเจ้าครับ
สาธุ สาธุ
---
วันก่อนผมมีโอกาสได้ฟังซีดีของท่านอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ท่านก็กล่าวไว้น่าฟังว่า ..."ความทุกข์เหมือนคนที่รักเรา แต่ความสุขเหมือนคนที่เรารัก ความทุกข์ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง ถ้าพยายามเข้าใจทุกข์ก็จะเห็นคุณค่าและเห็นประโยชน์จากทุกข์เหล่านั้น"