BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๒


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๓. บวช : ความหมาย

คำว่า "บวช" หนังสือคู่มือการบวชและหนังสือสวดมนต์โดยมากอธิบายไว้ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก เช่น หนังสือ มนต์พิธีของพระครูสมุห์เอี่ยม สิริวณฺโณ บอกไว้ว่า

"คำว่า บวช มาจาก ป+วช แปลว่าเว้นทั่ว คือเว้นจากกาม ในที่นี้หมายเพียงบวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น จุดมุ่งหมายในการบวชก็คือการปฏิบัติตนเพื่อรื้อถอนออกจากทุกข์ และทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือการดับทุกข์ อย่างไรก็ตาม การบวชได้แม้เพียงชั่วคราวก็นับว่าดี เพราะนอกจากเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาแล้ว อย่างน้อยก็ยังเป็นเหตุให้รู้จักฝึกหัดความอดทน และความเสียสละอย่างมาก อาจทำให้เข้าถึงพุทธธรรมได้โดยใกล้ชิด"

และผู้เขียนก็ได้ยินพระอุปัชฌาย์สอนเจ้านาคในโบสถ์มาหลายปีแล้วเช่นเดียวกันว่าบวชมาจาก แปลว่า ทั่ว ผสมกับ วช แปลว่า เว้น รวมความว่า เว้นจากฆราวาสคือผู้ครองเรือน หรือเว้นจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้านทั้งหมด เช่น การนุ่งห่ม การเลี้ยงชีพ และสถานที่อยู่อาศัย เป็นต้น

สาเหตุที่ได้ให้ความหมายอย่างนี้เพราะมีการสันนิษฐานว่า คำว่าบวชได้ประยุกต์มาจากคำภาษาบาลีว่า ปพฺพชฺชา (มาจาก ป+วช+ย โดย เป็นอุปสัค วช เป็นรากศัพท์ และ เป็นปัจจัย วิธีการทำตัวก็แปลง ว.แหวน เป็น พ.พาน แล้วซ้อน พ.พานมาอีกตัวตามหลักไวยากรณ์ ส่วน ย.ยักษ์ เป็นปัจจัย นำ ย.ยักษ์มาผสมกับ ช.ช้าง จะได้เป็น ชฺช สำเร็จรูปเป็น ปพฺพชฺชา ... บางครั้งบาลีก็ใช้ว่า ปพฺพชา มาจาก ป+วช+อ วิธีการทำตัวก็ทำนองเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นลง อ.อ่างปัจจัยแทนเท่านั้น) แต่เมื่อกลายมาเป็นภาษาไทยก็นิยมใช้ว่า บรรพชา และเป็นความชาญฉลาดของคนไทยสมัยไหนก็ไม่ทราบที่ได้แปลงเป็นคำไทยง่ายๆ ว่า บวช จนกลายเป็นคำสามัญที่เราใช้กันทั่วไป ดังนั้น คำว่า บวช. ปพฺพชฺชา. และ บรรพชา จึงมีความหมายเหมือนกัน โดยถ้าประสงค์เอาว่า ป. แปลว่า ทั่ว ซึ่งบ่งความถึงทั้งหมดหรือทุกอย่าง และ วช แปลว่า เว้น แล้ว คำทั้งสามนี้จึงควรแปลว่า การเว้นทั่ว หมายถึง การเว้นจากามทั้งหมด หรือ การเว้นจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้านทุกอย่าง

 

แต่บรรดาผู้เรียนบาลีจะรู้ว่า ป. อุปสัคนั้น มิได้แปลว่า ทั่ว เพียงอย่างเดียว เช่นหนังสือไวยากรณ์บาลีของพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ให้ความหมายไว้ ๔ อย่าง คือ ทั่ว. ข้างหน้า. ก่อน. ออก. และคำว่า วช ซึ่งเป็นรากศัพท์ (บาลีเรียกว่าธาตุ) ก็ไม่ได้แปลว่า เว้น อย่างเดียว ยังมีความหมายว่า ไป หรือ ถึง อีกด้วย ดังนั้น คำว่า บวช จึงอาจไม่ได้แปลว่า การเว้นทั่ว ก็ได้ และจากการตรวจสอบตำราภาษาบาลีหลายเล่มได้แปลคำว่าบรรพชาหรือบวชว่า "ออกไป" โดย ป. อุปสัค แปลว่า ออก และ วช. ธาตุ แปลว่า ไป หมายถึงการออกไปจากการครองเรือนหรือการออกไปจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน เช่น คัมภีร์สมันตปสาทิกา อรรถกถาพระวินัย อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า

  • ยนฺนูนาหํ เกเส จ มสฺสุญฺจ โอหาเรตฺวา กาสายรสปิตฺตาย กาสายานิ พฺรหฺมจริยํ จรนฺตานํ อนุจฺฉวิกานิ อจฺฉาเทตฺวา ปริทหิตฺวา อคารมฺหา นิกฺขมิตฺวา อนคาริยํ ปพฺพเชยฺยํ ฯ เอตฺถ จ ยสฺมา อคารสฺส หิตํ กสิวณิชฺชาทิกมฺมํ อคาริยนฺติ วุจฺจติ ตญฺจ ปพฺพชฺชาย นตฺถิ ตสฺมา ปพฺพชฺชา อนคาริยาติ ญาตพฺพา ฯ ตํ อนคาริยํ ปพฺพชฺชํ ฯ
  • "ไฉนหนอ ! เราจะพึงปลงผมและโกนหนวด ครองผ้า หรือนุ่งห่มผ้าที่ชือว่ากาสายะเพราะย้อมแล้วด้วยรสแห่งน้ำฝาด อันเป็นของสมควรแก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แล้วออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนฯ ก็เพราะในคำนี้ กสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้นนั้นย่อมไม่มีในบรรพชา เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่าการบรรพชาคือการไม่ครองเรือนฯ ซึ่งการบรรพชาที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลการการครองเรือนนั้น ฯ

ในคัมภีร์ธาตุปปทีปิกาของหลวงเทพดรุณานุศิษฎ์ (ทวี ธรมธัช ป.๙) ก็บอกว่า ปพฺพชฺชา หรือ บวช มาจาก วช ธาตุที่แปลว่า ไป เช่นเดียวกันดังที่ท่านบรรยายไว้ว่า

  • ๑. บรรพชา, บวช, "ออกไป" [ป+วช]
  • ๒. บรรพชิต, นักบวช, "ผู้ออกไป"

ตามลักษณะของคำว่า ปพฺพชฺชา หรือ บรรพชา เป็นคำนาม คือ การบวช หรือ การออกบวช ส่วนคำว่า ปพฺพชิโต หรือใช้ตามภาษาไทยว่า บรรพชิต เป็นคำคุณนาม คือ นักบวช หรือ ผู้ออกไป ดังนั้น เราจึงได้ความหมายที่สองของคำว่าบวช คือ การออกไป หมายถึง การออกไปจากการอยู่ครองเรือน หรือ การออกไปจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน

 

แต่ผู้เขียนยังพบอีกความหมายหนึ่งที่น่าสนใจในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฎีกา (ในวรรณคดีบาลีมีคัมภีร์ชื่ออภิธานัปปทีปิกาซึ่งรวบรวมคำศัพท์ต่างๆ ไว้ เช่น คำที่ใช้เรียกชื่อพระพุทธเจ้ามีเท่าไหร่ อะไรบ้าง เป็นต้น ส่วนคัมภีร์นี้จะนำเอาคำศัพท์เหล่านั้นมาอธิบายว่าแต่ละคำมีความหมายอย่างไร) แต่ท่านไม่ได้อธิบายคำว่าบรรพชาไว้ อธิบายเพียงคำว่าบรรพชิตเท่านั้นว่า

  • ปพฺพชา สญฺชาตา ยสฺสาติ ปพฺพชิโต, สญฺชาตตฺเถ อิโต, เสฏฺฐตฺตํ วชตีติ วา ปพฺพชิโต, วช คมเน, โต ฯ
  • "การบวชของผู้ใด เกิดแล้ว ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ผู้บวชแล้ว (ผู้มีการบวช), อิต ปัจจัยใช้ในความหมายว่า เกิดแล้ว, อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใด ย่อมถึง ซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ดังนั้น ผู้นั้น ชื่อว่าผู้ถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด, วช ธาตุใช้ในความหมายว่า ถึง, ลง ต ปัจจัย ฯ "

ตามที่ยกมาท่านอธิบายไว้สองนั้ย โดยนัยแรก ปพฺพชิต (ปพฺพชา + อิต = ปพฺพชิต เป็นศัพท์ตัทธิตตามไวยากรณ์บาลี) แปลว่า "ผู้มีการบวช" หรือ  "ผู้บวชแล้ว" นั้นไม่แตกต่างจากความหมายที่สองตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว ส่วนนัยที่สอง ปพฺพชิต (ป+วช+ต ลง อิ อาคม = ปพฺพชิต  เป็นศัพท์นามกิตก์ตามไวยากรณ์บาลี) แปลว่า "ผู้ถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด"  โดยใช้ ป. แทนเนื้อความว่า "ความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด" ส่วน วช. แปลว่า "ถึง"

ตามนัยที่สองนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้า บรรพชิต ซึ่งเป็นคุณนามแปลว่าผู้ถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแล้ว บรรพชา ซึ่งเป็นคำนามจะต้องแปลว่า "การถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด" และความหมายนี้ก็จะบ่งถึงคำว่า บวช ด้วยเพราะเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่าบรรพชา ดังนั้น จึงได้ความหมายของการบวชประการสุดท้ายว่า การถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด

ก่อนที่จะสรุปความหมายของการบวชทั้งหมด ผู้เขียนขอแทรกเรื่องการใช้ความหมายของอุปสัคอีกเล็กน้อย ป. อุปสัคในประเด็นที่แปลว่า ข้างหน้า. ก่อน. นั้น สามารถใช้บ่งถึงความหมายที่เจริญที่สุดหรือยิ่งใหญ่ที่สุดได้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า บรรดาฝูงสัตว์จะมีจ่าฝูงอยู่ข้างหน้าหรือได้สิ่งต่างๆ ก่อนสัตว์ตัวอื่นๆ ภายในฝูง หรือในสังคมของมนุษย์ก็จะมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่ข้างหน้าและเริ่มต้นภารกิจนั้นๆ ก่อนเป็นคนแรก เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกรัฐมนตรี ญาติผู้ใหญ่ในงาน หรือแม้แต่ในวัดก็มีพ่อท่าน ท่านเจ้าคุณ เป็นต้น ถ้าใครนั่งอยู่ข้างหน้าในงานก็แสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในงาน และการงานจะมีผู้ยิ่งใหญ่ในงานเริ่มต้นก่อน แม้จะไม่ได้ทำเองเพียงแต่สั่งหรืออนุญาตก็กล่าวได้ว่าเป็นผู้ทำก่อน ฉะนั้น ป. อุปสัคที่แปลกันสั้นๆ ว่า ข้างหน้า. ก่อน. ในคำว่าบวชจึงบ่งถึงความเป็นผู้ประเสริฐที่สุดหรือยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นเอง

 

ดังนั้น คำว่า บวช ที่สันนิษฐานว่าเป็น ป+วช ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ปพฺพชฺชา หรือ บรรพชา นั้น จึงมีความหมายตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ๓ ประการด้วยกัน คือ

๑. ป (ทั่ว) + วช (เว้น) = เว้นทั่ว หมายถึง เว้นจากกามทั้งหมด หรือเว้นจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้านทุกประการ

๒. ป (ออก) + วช (ไป) = ออกไป หมายถึง ออกไปจากการอยู่ครองเรือน หรือออกไปจากการใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน

๓. ป. (ข้างหน้า,ก่อน) + วช (ถึง) = ถึงก่อน, ถึงข้างหน้า หมายความว่า ถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด หรือถึงซึ่งความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด

ถามว่า การบวชมีความหมายว่าเว้นจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน หรือออกไปจากความเป็นอยู่แบบชาวบ้านเพราะเหตุอะไร ? และนักบวชควรจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเหตุอะไร ? เพื่อจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนจะนำแนวคิดเรื่องการบวชในคัมภีร์พระเวทก่อนสมัยพุทธกาลมาเล่าให้ฟังสักเล็กน้อยเพื่อจะได้เข้าใจความหมายเดิมของการบวชได้ดียิ่งขึ้น

(มีต่อ)

 

หมายเลขบันทึก: 194840เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2008 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

P

@..สายธาร..@

 

เห็นรูปภาพแล้วนึกขำ (5 5 5...) คล้ายๆ ว่าตั้งอกตั้งใจฟัง...

หนังสือมี ๔๔ หน้า ได้สองตอนแล้ว เพิ่งขึ้นหน้าที่ ๘ ...ตอนพิมพ์ไม่ค่อยเบื่อเท่าไหร่ เบื่อนักก็ตอนตรวจนี้แหละ...

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท