ข้อคิดท่านสันติกโรภิกขุ จากหนังสือ “วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21”


เรามีการนึกคิดที่สามารถสร้างความเห็นแก่ตัวได้ เราจึงเห็นแก่ตัวชนิดที่สัตว์ทำไม่เป็น เราจึงสร้างวิกฤตขึ้นมาชนิดที่สัตว์ทำไม่เป็น

         วันหยุดอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา  ได้เริ่มอ่านหนังสือเรื่อง วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21  ของ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี   เพียงแค่อ่านคำนำของหนังสือ ที่เขียนโดย ท่านสันติกโรภิกขุ  ที่ท่านกล่าวถึง  อิทัปปัจจยตา ได้อย่างกินใจ  ... เลยบันทึกข้อเขียนท่านบางตอนนำมาแบ่งปันกันในวันอาสาฬหบูชาครับ
        
...มนุษย์ดีมนุษย์เลวก็อยู่ภายใต้อำนาจกฎนี้(ซึ่งมักเรียกว่ากฎแห่งกรรม)  ชื่อที่เหมาะที่สุดสำหรับกฎนี้คือ อิทัปปัจจยตา  ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็โดยเหตุโดยปัจจัย  เปลี่ยนก็เปลี่ยนเพราะเหตุปัจจัย ...การที่สิ่งทั้งหลายดับลงหรือหายไปก็เพราะว่าไม่มีเหตุปัจจัยมาหล่อเลี้ยง  มันก็เลยอยู่ไม่ได้  กฎนี้เป็นกฎใหญ่ที่สุด ครอบคลุมเรื่องทั้งหมด...กฏนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมะ
          ...
เมื่อธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยอำนาจกฎนี้ ...บทบาทของเม็ดฝน  บทบาทของเชื้อรา  ปลาฉลาม  จนกระทั่งลิงและมนุษย์ ล้วนกำหนดขึ้นมาโดยเหตุปัจจัย
            ...สำหรับมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถตระหนักรู้และเข้าถึงธรรมชาตินี้ได้ดีที่สุด  เรามีหน้าที่อันใหญ่หลวงยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ  หน้าที่นั้นคือ  ไม่ใช่แค่ปล่อยให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ  เหมือนอย่างหินหรือเครื่องยนต์ที่รู้สึกนึกคิดอะไรไม่ได้  แต่เป็นไปอย่างตระหนักรู้และเลือกที่จะรับใช้กลมกลืนกับกฎธรรมชาติหรือธรรมชาติทั้งหมด
           ...ตรงนี้เองเป็นปัญหาใหญ่หลวงของมนุษย์  เรามีการนึกคิดที่สามารถสร้างความเห็นแก่ตัวได้  เราจึงเห็นแก่ตัวชนิดที่สัตว์ทำไม่เป็น  เราจึงสร้างวิกฤตขึ้นมาชนิดที่สัตว์ทำไม่เป็น  เพราะว่าเราสามารถคิดและรู้สึกตามความคิดที่เรียกว่ากิเลส  ที่จริงกิเลสก็คือ ความเห็นแก่ตัว  เห็นแก่ตัวที่จะได้  ที่จะทำลาย หรือมัวเมา 
         ...มนุษย์มีศักยภาพที่จะคิด  รู้สึก  จินตนาการ  ฝัน  และกระทำตามสติปัญญาของเรา  ศักยภาพนี้ถ้าไม่ระวังก็จะถูกใช้ในแง่ที่เห็นแก่ตัว  ทำลายทั้งชีวิตจิตวิญญาณตนเองและผู้อื่น  แต่ศักยภาพเดียวกันนี้เอง  สามารถพัฒนาไปใช้ในการที่จะเข้าใจธรรมชาติ  กฎธรรมชาติ  และเห็นบทบาทหน้าที่ของตนเองว่าตนเองมีฐานะอย่างไร  มีความรู้อย่างไร  มีอาชีพอย่างไร  มีเพื่อนฝูงพี่น้องอย่างไร  ถ้าสังเกตสภาพที่เป็นจริงของชีวิต  แต่ละคนสามารถค้นพบหน้าที่และความหมายของชีวิตตนเองได้...
         การทำหน้าที่นั้นเรียกว่า  การปฏิบัติธรรม...ถ้าทำหน้าที่เหมาะสมถูกต้องตามธรรมชาติ  กลมกลืนกับธรรมชาติ   แล้วผลที่ตามมาคือความสุข  ชีวิตจะไม่เครียด  ไม่คับแคบ  ชีวิตจะเต็มไปด้วยความรัก  ด้วยความอิ่มเอิบของผู้ที่มีคุณธรรม  และมั่นใจว่าชีวิตที่เกิดขึ้นมานี้มีคุณค่า  และพัฒนาตามคุณค่านั้น  ตรงนี้ก็แปลว่าธรรมะเหมือนกัน...

        

หมายเลขบันทึก: 194682เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2008 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 02:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาอ่านและซึมซับเอาบทความดีๆครับ อาจารย์ครับ

ตรงเฉพาะไฮไลท์สีสดๆนี้ ทำให้ผมคิดอะไรต่อไปได้มากมายครับ กระผมมองว่า เราล้วนแต่อยู่ภายใต้กฏแห่งกรรม และชีวิตหนึ่งอันน้อยนิดนี้ เป็นโอกาสให้เราบำเพ็ญเพียร หากเราละทิ้งซึ่งโอกาส เราก็เหมือนเดินทางเข้าสู่จุดสุดท้ายของวัฏจักรนี้แบบประมาท ขาดเสบียงกรังอันเป็นปัญญา

หน้าที่วันนี้จึงเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น เพื่อการอยู่อย่างมีความสุข สมดุล ซึ่งกระผมก็พยายามเรียนรู้ไปอย่างไม่หยุดครับ

ขอบคุณครับผม

   ผมได้อ่านและติดตามการทำงานของคุณจตุพรมาเช่นกัน รู้สึกชื่นชม ที่มีคนหนุ่มไฟแรง และมีแนวคิด วิถีชีวิต สอดคล้องกับบันทึกของผมข้างต้น ขออนุโมทนาด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท