วิธีสอนที่ดีต้อง ง่าย สนุก และ ได้ผล


แผนการสอนภายใต้ลักษณะ ง่าย สนุก และได้ผล ถือว่าเป็นนวัตกรรม เพราะการสอนที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน มันยาก น่าเบื่อ และไม่ได้ผล

 

 

 

 

 

วิธีสอนที่ดีต้อง ง่าย สนุก  และ ได้ผล

 

          ผมคิดอยู่นานเกี่ยวกับวิธีสอนที่ดี  มันควรเป็นอย่างไร

         ในชีวิตการเป็นครูของผมใคร่ครวญเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ่อย ๆ

                ตอนแรก ๆก็ใช้วิธีทบทวนถึงวิธีสอนที่ครูที่เคยสอนเราใช้  ก็รู้สึกว่าไม่มีอะไร  ครูที่สอนเราท่านก็ใช้วิธีบอกกันเป็นส่วนใหญ่  แถมบางท่านบอกจดอีกต่างหาก
   
                ต่อมา ก็พยามยามติดตามอ่านตำรับตำราว่าด้วยการสอนต่าง ๆ  รู้สึกตื่นเต้นกับวิธีสอนที่มีผู้เขียนไว้ในตำรา      ยิ่งยุคหลัง ๆนี้  จะมีวิธีสอน และเทคนิคการสอน  อะไร ต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด   ผมพยามเอามาลองใช้หลายครั้งมีความรู้สึกว่าเข้าไม่ถึงเทคนิควิธีเหล่านั้น  สุดท้ายสรุปว่าวิธีเหล่านั้นก็ไม่ค่อยได้ผล  มันไปติดอยู่ที่ขั้นตอนและกิจกรรมต่าง ๆ(ทั้งครูและนักเรียน)ของเทคนิควิธีที่นำมาใช้เสียฉิบ

                แล้วก็วนเวียนอยู่กับความสงสัย และความไม่มั่นใจอย่างนั้นอยู่หลายสิบปี(แหมมันช่างขี้เท่อจริงนะหัวเรา)  จนลืมคิดถึงประเด็นนี้ไปเสียนาน 

 

                เมื่อ 2 -3 เดือน ที่ผ่านมาลูกศิษย์จะทำผลงานมาถามว่า   เรื่องนี้จะสอนอย่างไรดี   เรื่องนั้นจะสอนอย่างไรดี   ก็ให้คำแนะนำเขาไม่ได้  แต่ก็ได้บอกไปว่า  ให้เด็กได้ลงมือทำนั่นแหละดี  คุย ๆ กันไปอีกพักใหญ่ก็นึกได้อีกคำหนึ่งว่า สอนให้มันสนุกซี  แล้วถามเขาว่าเรียนกับครูที่สอนสนุก ๆ  เธอ ๆชอบไหม  หลายคนก็บอกว่าชอบ  ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้น  พอผมนึกถึงครู  นึกถึงการเรียนการสอนในอดีต   ผมก็นึกถึงครูตอนที่ครูพาไปควักดินเหนียวในนามาปั้นวัวปั้นควาย  นึกถึงครูสอนเราแล้วให้เราร้องเพลง  ฟังนิทาน  ให้เราได้ตีเกราะ เคาะไม้    นึกถึงครูพาเราถีบจักรยานไปวาดรูปที่หาดเจ้าสำราญ  เป็นต้น  แต่วันนั้นได้ยินลูกศิษย์เขาปรึกษากัน แว่ว ๆชื่อวิธีสอนออกฝรั่ง ๆอยู่หลายชื่อ  ผมก็ไม่ได้คัดค้านอะไร  แต่ในใจผมไม่เชื่อเหมือน ๆที่พวกเขาเชื่อกัน

                ผมมานึกทบทวนถึงการสอนของตนเองในช่วง       10 ปีหลังที่ผ่านมานี้  ก็รู้สึกว่าผมพูดน้อยลง  แต่ให้นักเรียนอ่านมากขึ้น  และเน้นให้นักเรียนได้ลงมือทำมากขึ้น  เช่น    เรียนเรื่องหลักสูตร    ก็เอาหลักสูตรมาดูกันจริง ๆ  แล้วลองทำหลักสูตรของตนเองบ้าง  เอาหลักสูตรไปลองใช้  เอามาปรับปรุง  เอาไปใช้ใหม่  จนพอใจ  ในที่สุดนักเรียนก็ทำหลักสูตรเป็น  อาจกล่าวได้ว่า  ไม่ว่าจะเรียนอะไร  ผมพยายามให้นักเรียนได้ลงมือทำ  และเน้นให้ทำด้วยกัน  โดยเฉพาะช่วงหลัง  นักเรียนอ่อนมาก ๆ มากขึ้น  การให้ได้ลงมือทำ  ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ทำให้ ทั้งผู้เรียนและผู้สอนมีความสุขมากที่สุด 

               

                เมื่อวาน ดูรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่  ครูพาเด็กไปเรียนในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ  พาไปเรียนกับการปฏิบัติจริงในชีวิตกับชุมชน  กับชาวบ้าน  มีกิจกรรมที่เด็กได้เล่น  ได้ทำงาน  ได้แสดงออก  ได้ทำงานร่วมกัน  ได้ช่วยเหลือกัน ฯลฯ  ปรากฏว่าการเรียนการสอนแบบนี้ได้ผลที่น่าสนใจ  เด็กมีพัฒนาการทางสังคมดีขึ้นมาก  รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น  รู้จักแบ่งปัน  กล้าคิดกล้าแสดงออก  เชื่อมั่นตนเอง  รู้จักตน  รู้จักคนอื่น  และรู้จักชีวิต(จากปากคำของอาจารย์ผู้ดูแลโครงการ)และผู้ปกครองเห็นผลดีดังกล่าว  ได้สนับสนุนให้บุตรหลานได้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นเป็นลำดับ

 

                หันมาดูโรงเรียนที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในปัจจุบันว่ามีการจัดการเรียนการสอนดี  สามารถพัฒนาเด็กให้เป็นผู้เป็นคนได้กว่าโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามแบบเดิม ๆ เช่นโรงเรียนรุ่งอรุณ  โรงเรียนปัญโญทัย  และโรงเรียนสัตยาไสย  เป็นต้น  ก็จัดการศึกษาในแนวที่ได้ดูในโทรทัศน์เมื่อวาน  ตัวอย่างเช่น  ผู้ปกครองเด็กโรงเรียนรุ่งอรุณได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “โรงเรียนนี้แปลกดี เก็บค่าเล่าเรียนแสนแพง แต่เด็กไม่ค่อยได้อยู่ในห้องเรียน ไปหัดทำนาเกี่ยวข้าวบ้าง ไปเดินธุดงค์กับพระที่ภาคอีสานตอนปิดเทอมบ้าง ไปหัดทอผ้าในหมู่บ้านแถวเชียงใหม่บ้าง บางวันก็มาช่วยกันหล่อพระพุทธรูปประจำโรงเรียน พอเกิดสึนามิ ครูก็พาลูกฉันไปอยู่กับชาวบ้านที่ปักษ์ใต้”

 

                ก็เลยเกิดความมั่นใจที่จะพูดว่าการสอนมันก็วิธีง่าย ๆแบบนี้แหละ  เป็นการนำเด็กเข้าถึงความจริงตรง ๆอย่างนี้แหละ  มันง่าย ไม่ต้องยึดติด  ไม่ต้องไปห่วง  ไม่ต้องไปกังวลอยู่กับเทคนิควิธีอะไร  ครูก็สอนง่าย เด็กก็เรียนง่าย  ผลก็เห็นชัด  จะวัดจะประเมินก็ง่าย

 

ผมมี  VCD ที่ว่าด้วยวิธีการทำงานบริการด้านสาธารณสุขชุมชนอยู่แผ่นหนึ่ง   ใน VCD นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)  เป็นผู้ดำเนินเรื่อง  ท่านได้เสนอความคิดสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับวิธีทำงานในด้านนี้ว่าจะควรมีลักษณะ  ง่าย  สนุก  และได้ผล ผมเอาแผ่น VCD  แผ่นนั้นมาเปิดดูอีกที  ( ใครสนใจเกี่ยวกับการทำงานชุมชนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กดตรงนี้   2  3  6  และ 7 )เลยอยากจะขอยืมคำของท่านที่บ่งลักษณะของงานบริการสุขภาพที่ว่าควรมีลักษณะ ง่าย  สนุก  และได้ผล มาใช้อธิบายลักษณะการสอนที่ดีว่า  การสอนที่ดีควรออกแบบให้ง่าย  สนุก  และได้ผล  ถ้าใช้เกณฑ์ที่ว่านี้มาเป็นกรอบในการออกแบบการสอน  เข้าใจว่าเราจะลดความยุ่งยากในการคิดเขียนแผนการสอนไปได้มาก

 

 ผมเชื่อว่าแผนการสอนภายใต้ลักษณะ  ง่าย  สนุก  และได้ผล  ถือว่าเป็นนวัตกรรม  เพราะการสอนที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน  มันยาก  น่า เบื่อ  และไม่ได้ผล

                                                                                                               Paaoobtong

หมายเลขบันทึก: 194680เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2008 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2012 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมมาแนะนำค่ะ อาจารย์ลองเข้าไปดูตามลิงค์นี้นะคะ จากธัญชนก จอมทรักษ์ ป.บริหารการศึกษา รุ่น 3/50

http://gotoknow.org/blog/tanchanok/212108

มีแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรม อาจารย์ลองเข้าไปดู จาก นายวิรัตน์ เกษสุริยงค์ นักศึกษา ป.บัณฑิต รุ่น 3/2550

มีแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรม อาจารย์ลองเข้าไปดู จาก นายวิรัตน์ เกษสุริยงค์ นักศึกษา ป.บัณฑิต รุ่น 3/2550

http://gotoknow.org/blog/vrkkes/212003

สัวสดีครับอาจารย์ขอช่วยดูข้อความของผมหน่อยครับ

จาก นายจรัส ตั้งโช๊ะ

http://gotoknow.org/blog/head/212132

เรียนอาจารย์ที่เคารพ สุนันทา การะเวก ขอนำเสนอการจัดกระทำกับปัญหาเพื่อการพัฒนานวัตกรรมค่ะ

คลิกที่นี่เพื่อเปิดบันทึก

มีงานสรุปนวัตกรรมนำเสนอ จาก ด.ต.อำนาจ สัมพันธ์

http://gotoknow.org/blog/amnaj/212221

มีนวัตกรรมใหม่ในการจัดการปัญหาในการเรียนการสอนเรื่องความรับผิดชอบ จาก นายบรรจบ ศิริกุลวิวัฒน์

http://gotoknow.org/blog/banchobsamyod/212237

ขอบคุณค่ะ กระจ่างขึ้นเยอะเลยค่ะสำหรับคำว่า"นวัตกรรม"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท