การนิเทศต้องคงอยู่คู่กับคุณภาพการศึกษา


การนิเทศต้องคงอยู่คู่กับคุณภาพการศึกษา

            การนิเทศต้องคงอยู่คู่กับคุณภาพการศึกษา
                                                                      
ธเนศ  ขำเกิด
                                                                                                       www.gotoknow.org/blog/tanes
                 พอเอ่ยถึงการนิเทศการศึกษาเรามักจะนึกถึงผู้นิเทศซึ่งหมายถึงศึกษานิเทศก์เป็นเป้าหมายใหญ่  และคนในกลุ่มนี้มักจะถูกวิพากษ์จากผู้ใช้บริการหรือจากคนในวงวิชาการด้วยกันทั้งในแง่บวกและแง่ลบเสมอ  แต่ระยะหลังการวิจารณ์จะออกมาในเชิงลบกันมากขึ้น  คนที่ออกมาปกป้องและเรียกร้องความเป็นธรรมก็มักจะมาจากกลุ่มของศึกษานิเทศก์เอง  โดยคนวิจารณ์ต่างก็ยืนอยู่กันคนละขั้วคนละมุม
               ในฐานะที่อยู่ในวิชาชีพนี้มา 25 ปี ทำงานตั้งแต่เป็นศึกษานิเทศก์ปฏิบัติการ  จนเป็น
หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ เขตการศึกษา  และเป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์กรมฯคนสุดท้าย  จนถึงเวลาปรับโครงสร้างตามกฎหมาย  ก็ต้องไปอยู่ที่เขตพื้นที่การศึกษาเหมือนกับคนอื่นๆ  พอได้เห็นคนในและคนนอกวงการวิจารณ์วิชาชีพนี้กันหนาหู  ทั้งมีข้อมูลบ้างและใช้ความรู้สึกกันบ้าง ก็รู้สึกอดรนทนไม่ได้   จึงอยากจะพูดในเรื่องนี้บ้าง  แต่จะขอพูดด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่าความรู้สึก  โดยจะนำเสนอแนวคิดด้วยเหตุด้วยผล และด้วยใจที่เป็นกลางที่สุด  เป็นประเด็นๆไป  กล่าวคือ

การนิเทศการศึกษามีความเป็นมาอย่างไร?
         
การนิเทศมีมานานแล้วในต่างประเทศ  แต่ในเมืองไทยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในสมัยรัชกาลที่
5 มาพร้อมกับการจัดการศึกษาอย่างมีแบบแผน แต่เป็นลักษณะการควบคุมดูแล และการตรวจตราด้านคุณภาพมากกว่า 
         เราเริ่มมีศึกษานิเทศก์และหน่วยศึกษานิเทศก์ครั้งแรกใน พ..2496 มี
ดร.ก่อ  สวัสดิพาณิชย์ เป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษาคนแรก  ต่อมาได้มีการก่อตั้งกรมใหม่ และมีการยุบรวมกรมกันหลายครั้ง ซึ่งแต่ละกรมก็จะมีหน่วยศึกษานิเทศก์เป็นของตนเองเกือบทั้งสิ้น    รายชื่อหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์คนต่อๆมาก็ล้วนมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงทั้งสิ้น เช่น
หม่อมหลวงบุญเหลือ  กุญชร(เทพยสุวรรณ)  ดร.สาย  ภาณุรัตน์  ศจ.ฐะปะนีย์  นาครทรรพ  นายสมาน  แสงมลิ  นายพะนอม  แก้วกำเนิด   ดร.อาคม  จันทสุนทร  ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ  นายมังกร 
กุลวานิช เป็นต้น

         การกำหนดให้มีการนิเทศการศึกษา และมีศึกษานิเทศก์ขึ้นมา  ก็เพื่อให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ  แนะนำครู เพื่อให้การสอนดีขึ้น  จะเห็นว่าการนิเทศการศึกษาจะอยู่คู่กับการจัดการศึกษามาตั้งแต่ต้น  ซึ่งฝ่ายบริหารสมัยนั้นท่านให้ความสำคัญกับศึกษานิเทศก์อย่างมาก  เพราะท่านใช้งานวิชาการเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการศึกษา 
                                                                               -2-
เอาใครมาเป็นศึกษานิเทศก์?      
             การคัดเลือกคนจะมาเป็นศึกษานิเทศก์สมัยก่อน   เขาต้องสรรหามาจากครูเก่งและครูดีจริงๆ  โดยกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานทั้งด้านคุณวุฒิ  ด้านผลงาน และด้านการวางตน ที่มีเกณฑ์สูงมาก  โดยต้องผ่านการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติงานเป็นเวลานานจึงจะบรรจุให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ เพราะถือว่าศึกษานิเทศก์จะต้องมาเป็นครูของครู  ด้วยเหตุนี้ศึกษานิเทศก์จึงถือว่าเป็นวิชาชีพโดยสมบูรณ์  เพราะมีมาตรฐานวิชาชีพเฉพาะ  มีจรรยาบรรณวิชาชีพ  และมีองค์กรบริหารวิชาชีพของตนเอง
เมื่อวันเวลาผ่านไปเกิดอะไรขึ้นกับศึกษานิเทศก์?

            วันเวลาผ่านไปผู้บริหารระดับสูงซึ่งต่างก็มีนโยบายให้ความสำคัญในด้านวิชาการทั้งสิ้น  แต่กลับปฎิบัติต่อวิชาชีพของผู้ที่ดูแลด้านวิชาการคือศึกษานิเทศก์ในทางตรงกันข้าม  นอกจากจะไม่สนใจให้เกียรติในตำแหน่งนี้แล้ว  ยังทำร้ายวิชาชีพนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม  เช่น เมื่อผู้บริหารคนใดมีปัญหาในการบริหารก็แก้ปัญหาโดยให้มาเป็นศึกษานิเทศก์  กำหนดให้คนทำงานทางด้านพัสดุ  ธุรการ  การเงินมาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์  ลดเกณฑ์ด้านคุณสมบัติของคนมาเป็นศึกษานิเทศก์ให้ต่ำลงลง  ใช้กลไกการบริหารสั่งการให้ศึกษานิเทศก์ปฏิบัติงานตามความต้องการของผู้บริหารเอง รวมทั้งไม่จูงใจให้ศึกษานิเทศก์เก่งๆอยู่ในองค์กรโดยปล่อยให้สมองไหลไปสร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก  และขั้นท้ายสุดก่อนจะปรับโครงสร้างกระทรวงฯ ถึงกับมีการเสนอให้ยุบตำแหน่งศึกษานิเทศก์  เป็นต้น
         เมื่อมีกระแสคัดค้านในที่สุดก็ยังคงตำแหน่งนี้ไว้ โดยให้มีตำแหน่งและวิทยฐานะที่มีโอกาสก้าวหน้าเช่นเดียวกับข้าราชการครูซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี  แต่การไม่มีตำแหน่งนี้อยู่ที่ส่วนกลางโดยให้ไปรวมอยู่ภายใต้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 175 เขต เลยกลายเป็น มังกรไร้หัว ที่ขาดผู้บริหารในการประสานสัมพันธ์กันทั้งประเทศ  ซึ่งผิดหลักการของการเป็นวิชาชีพ เพราะไม่มีหน่วยงานบริหารวิชาชีพของตนเอง
ปัญหาศึกษานิเทศก์ขาดและเกินในเขตพื้นที่        
          การกระจายศึกษานิเทศก์ จากแต่ละกรม แต่ละพื้นที่ ที่ดูแลการนิเทศต่างระดับการศึกษากัน ลงไปในเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 175 เขต ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย  โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์เดิมที่เคยดูแลระดับมัธยมศึกษาซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ส่วนกลาง  และ 12 เขตการศึกษา  ซึ่งจะมีบางส่วนอยู่ที่ตัวจังหวัดบ้าง  เมื่อปรับโครงสร้างใหม่ศึกษานิเทศก์เหล่านี้ จึงสมัครใจอยู่ในเขตพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาเดิมของตนคือใน กรุงเทพมหานคร และตัวจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของเขตการศึกษาเดิม 12 จังหวัด  นอกนั้นก็จะอยู่ตามตัวจังหวัด  ทำให้มีศึกษานิเทศก์เกินในเขตเหล่านี้  ส่วนเขตพื้นที่อื่นจะ

 

                                                                     

                                                                         -3-

ขาดแคลนศึกษานิเทศก์ระดับมัธยมศึกษาอย่างมาก  โดยบางเขตไม่มีศึกษานิเทศก์ระดับมัธยมศึกษาเลย  แม้จะจูงใจหรือให้ทำโครงการนิเทศร่วมกันระหว่างเขตแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากนักปัญหาโรงเรียนไม่ยอมรับศึกษานิเทศก์ในบางเขตพื้นที่
         นอกจากศึกษานิเทศก์จะขาดและเกินอย่างไม่เป็นสัดส่วนแล้ว  ยังมีปัญหาสำคัญอีกคือเรื่องคุณภาพของศึกษานิเทศก์ที่บางคนยังไม่เป็นที่ยอมรับของโรงเรียน

           ผมเคยถาม
ดร.กอบกิจ  ส่งศิริ  ผู้อำนวยการโรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม จังหวัดนครสวรรค์ว่า   "ถ้าท่านจะขอให้ศึกษานิเทศก์ไปช่วยโรงเรียน  ท่านต้องการได้ศึกษานิเทศก์อย่างไร ?"   
 ดร.กอบกิจ ตอบแทบจะไม่ต้องคิดว่า 
    
"ผมต้องการศึกษานิเทศก์ที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการจริงๆ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่โดดเด่น  เป็นที่ยอมรับ  เช่น เทคนิคการบริหาร  เทคนิคการจัดการเรียนการสอน  มีวิทยาการอะไรใหม่ๆที่จะเป็นประโยชน์แก่โรงเรียน ผมก็จะไปเชิญให้มาช่วยโรงเรียน   ผมไม่ต้องการ
ศึกษานิเทศก์ที่เป็นนักประสานงาน  นักจัดการ  เพราะครูที่โรงเรียนผมมีเยอะแล้ว  ถ้าเข้ามาในลักษณะนี้จะสร้างภาระให้แก่โรงเรียนมากกว่ามาช่วยโรงเรียน"
       
ผมถาม
  ศจ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส) อีกท่านหนึ่ง  ว่าอยากเห็นศึกษานิเทศก์เป็นอย่างไร  ท่านก็บอกว่า
       "ศึกษานิเทศก์ต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ได้จึงจะเป็นที่ยอมรับจากโรงเรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเยอะก็ได้ แต่ต้องเก่ง และไม่ใช่ทำหน้าที่เหมือนปัจจุบัน"
จริงๆศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่เขาทำงานกันอย่างไร?
       ผมสงสัยเหมือนกันว่า ก...กำหนดมาตรฐานตำแหน่ง มาตรฐานวิทยฐานะของศึกษานิเทศก์ เป็นอย่างหนึ่ง  แต่พอศึกษานิเทศก์ไปปฏิบัติงานจริงๆ ในแต่ละเขตพื้นที่ ยังเห็นศึกษานิเทศก์ส่วนใหญ่ยังทำงานในลักษณะนักจัดการ  นักประสานงาน มาดูแลรับผิดชอบโครงการ  จนถึงงานธุรการต่างๆ  ว่าถูกต้องไหม?
      ทุกวันนี้ ศึกษานิเทศก์หลายคนถอยห่างทางวิชาการไปมาก  ไม่ศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนา ความรู้ก็ถดถอยไป  จนบางคนความรู้ยังสู้ครูไม่ได้  ถ้าขืนปล่อยไปเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้น  ถ้า ศึกษานิเทศก์ขาดความเชี่ยวชาญจะเกิดอะไรขึ้นแก่วงการศึกษา  และจะเป็นการทำร้ายวิชาชีพ ศึกษานิเทศก์ทางอ้อมหรือไม่?
      ...กำหนดตำแหน่งของ ศึกษานิเทศก์ที่แตกต่างจากบุคลากรทางการศึกษาอื่น จนทำให้
บุคลากรในหน่วยงานเดียวกันเขาอิจฉา  แต่เวลาทำงานจริงแทบจะไม่ต่างกัน เพียงแต่มีโอกาสก้าวหน้าทางวิทยฐานะมากกว่าเท่านั้น  ผมคิดว่าถ้าจะให้ทำงานในลักษณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องมีตำแหน่งนี้ก็ได้ ให้เป็นบุคลากรทั้งหมดเลย  แต่ใครจะรับผิดชอบดูแลในเรื่องคุณภาพการศึกษา?

 

                                                                     -4-        
แล้วจะแก้ปัญหาให้ยั่งยืนได้อย่างไร?
      
ปัญหาปัจจุบันบุคลากรที่เขตพื้นที่มีจำกัด
  จึงใช้วิธีการแก้ปัญหา โดยการแบ่งเป็นกลุ่มย่อย  แต่ให้ทำงานแบบหารเฉลี่ยทุกเรื่องที่มีเข้ามา  อย่างนี้คงไม่เรียกว่า บูรณาการหรือทำให้มีเอกภาพ
           หากต้องการเอาเรื่องคุณภาพการศึกษาเป็นตัวตั้ง  (ไม่จำเป็นต้องเอาศึกษานิเทศก์เป็นตัวตั้ง) และเห็นว่าวิชาชีพนี้ยังมีความสำคัญอย่างที่นานาประเทศเขาปฏิบัติก็ต้องปรับบทบาทภารกิจของศึกษานิเทศก์กันใหม่ และควรให้เขามีองค์กรบริหารวิชาชีพของเขาเอง  ไม่ใช่เขียนอย่างหนึ่งแต่ให้ทำงานอีกอย่างหนึ่ง  ศึกษานิเทศก์ที่ยังอยู่ในระบบนี้แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากลูกค้าก็ต้องยอมรับ  และต้องพัฒนาเขาไป  จะให้มีคุณภาพดีเต็มร้อยคงไม่ได้  แต่ต้องมาจัดระบบการสรรหาศึกษานิเทศก์ในรุ่นใหม่ ให้ได้คนที่ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับจริงๆเหมือนในอดีต  ซึ่งในอนาคตอาจลดจำนวนลงก็ได้  จะปรับหรือแก้อย่างไรก็อยากให้คิดอย่างรอบคอบ  ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมู่เรียกร้องเพื่อตัวเอง 
ดร.อาคม  จันทสุนทร  อดีตหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ เคยพูดกับศึกษานิเทศก์ไว้ว่า
 
      
"ถ้าเราสามารถทำให้โรงเรียนมีระบบนิเทศภายในที่เข้มแข็งได้ทุกโรงเรียน ก็อาจไม่ต้องใช้ศึกษานิเทศก์อีกก็ได้  แต่ศึกษานิเทศก์อาจมาทำหน้าที่คิดค้นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่สูงขึ้นเพื่อช่วยเหลือครู เฉพาะด้าน เพราะครูเขาไม่มีเวลาพอ"
       ผมเลยคิดต่ออีกว่า  ถ้าโรงเรียนสามารถบริหารตนเองโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน   ผู้บริหารสามารถเป็นผู้นำการนิเทศภายในได้  และครูส่วนใหญ่ก้าวหน้าจริงๆ   อาจไม่ต้องมีศึกษานิเทศก์ก็ยังได้    ถ้าจะมีก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  เพื่อเป็นที่ปรึกษาในแต่ละด้านเท่านั้น   แต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานถ้าจะให้พร้อมคงต้องใช้เวลาอีกนาน  จึงยังจะต้องมีศึกษานิเทศก์ต่อไปอีก     
           ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นคือศึกษานิเทศก์กรมการฝึกหัดครู  เมื่อสถาบันฝึกหัดครูเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎ  มีอาจารย์เก่งๆมากมายแล้ว  เขาก็ไม่จำเป็นต้องมีศึกษานิเทศก์อีก  แต่เรื่องการนิเทศการศึกษาก็ยังคงมีอยู่และจะมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเป็นการนิเทศภายในมหาวิทยาลัยแทนการนิเทศจากภายนอก
      มหาวิทยาลัยต่างๆเขาจึงกำหนดให้มี
วิชานิเทศการศึกษา ให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนกัน  ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการบริหารการศึกษา โดยจะอยู่ในคณะหรือภาควิชาบริหารการศึกษา  ซึ่งช่วงก่อนปรับโครงสร้างใหม่  ผมเกรงว่าศาสตร์ด้านการนิเทศในอดีตจะถูกลบหายไป  จึงได้ให้คณะศึกษานิเทศก์เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ บันทึกไว้ในแผ่นดินและได้ส่งให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อเป็นตำราให้คนที่เรียนทางครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ได้ศึกษากันด้วย

      เห็นหรือยังว่า 
การนิเทศการศึกษาไม่มีวันตาย  แต่จะปรับไปตามบริบทของการเปลี่ยนแปลง
                            **********************************************
         

คำสำคัญ (Tags): #การนิเทศ
หมายเลขบันทึก: 194362เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2008 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เมี้ยวแวะมาเยี่ยมค่ะมีเรื่องน่ารู้น่าสนใจแต่ยังไม่มีเวลาอ่านเลยค่ะ...

เอ๊ะมาแว้วครับ ยาย เรื่องนี้น่าอ่านดีครับ แต่ตาลายแล้ว ไว้พรุ่งนี้ดีกว่า

ขอบคุณ คุณครูเมี้ยว คุณหนุ่มเอ๊ะเจ้า

สวัสดีครับ

แวะมาเยี่ยมครับ

และหวังว่าการศึกษาของเมืองไทยคงได้รับการแก้ไขและพัฒนาให่ดีขึ้นๆต่อไปครับ

สวัสดีค่ะ ขอบุณที่แวะเยี่ยมนะคะ อยากเห็นการศึกษาไทยได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท