อดีตของการศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษานอกโรงเรียนในประเทศไทย


การศึกษานอกโรงเรียนของไทยได้มีมาก่อนที่จะตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2483 ความเป็นมาของการศึกษานอกโรงเรียนอาจจะสืบสาวย้อนหลังไปได้ถึงยุคโบราณก่อนจะมีการจดจารึกเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จนถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1826 หรือประมาณเจ็ดร้อยกว่าปีมาแล้ว ทำให้คนไทยเรามีตัวหนังสือไทยสำหรับใช้ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยในหมู่คนไทยสืบมา อย่างไรก็ตามการศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยในสมัยก่อน ย่อมจะจำกัดอยู่เฉพาะในวงเจ้านายและบุตรหลานของคนชั้นสูง และผู้ที่บวชเป็นพระจำนวนไม่มากนัก ไม่ได้ดำเนินการให้กว้างขวางทั่วไปสถานที่เรียนก็คือวัด และสำนักราชบัณฑิตในวังหรือบ้านเรือนของบุคคลชั้นสูง จำนวนบุคคลที่อ่านออกเขียนได้ในสมัยก่อนจึงมีอยู่จำกัด

ขอนำเสนอข้อเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ ที่ท่านสุนทร สุนันทชัย อดีตผู้อำนวยการกองการศึกษาผู้ใหญ่ และรองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียนที่ได้เขียนไว้ในเอกสาร ศ.อ.ศ.อ. 50 ปี มานำเสนอ เพื่อให้ความเป็นมาของการศึกษาผู้ใหญ่ ที่เปลี่ยนมาเป็นการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในปัจจุบัน ว่าเป็นมาอย่างไร โดยจะทะยอยนำมาลงทีละตอน ดังต่อไปนี้


๕๐ ปี ของการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษานอกโรงเรียนในประเทศไทยในภาพรวม (พ.ศ. 2483-2533)
 โดย สุนทร  สุนันท์ชัย

 

      การศึกษานอกโรงเรียนของไทยได้มีมาก่อนที่จะตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2483 ความเป็นมาของการศึกษานอกโรงเรียนอาจจะสืบสาวย้อนหลังไปได้ถึงยุคโบราณก่อนจะมีการจดจารึกเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จนถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย  ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1826 หรือประมาณเจ็ดร้อยกว่าปีมาแล้ว ทำให้คนไทยเรามีตัวหนังสือไทยสำหรับใช้ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยในหมู่คนไทยสืบมา  อย่างไรก็ตามการศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยในสมัยก่อน ย่อมจะจำกัดอยู่เฉพาะในวงเจ้านายและบุตรหลานของคนชั้นสูง  และผู้ที่บวชเป็นพระจำนวนไม่มากนัก  ไม่ได้ดำเนินการให้กว้างขวางทั่วไปสถานที่เรียนก็คือวัด  และสำนักราชบัณฑิตในวังหรือบ้านเรือนของบุคคลชั้นสูง จำนวนบุคคลที่อ่านออกเขียนได้ในสมัยก่อนจึงมีอยู่จำกัด

      เป็นที่น่าสังเกตว่าการบวชเรียนเป็นวิถีทางในการศึกษาหาความรู้อย่างหนึ่งของคนไทยในสมัยโบราณ  นอกจากจะได้เรียนอักขรวิธีและหลักคำสอนในพระศาสนา  ตลอดจนได้รับการฝึกอบรมให้มีศีลธรรมจรรยาอันดีงาม  บางคนยังได้เรียนวิชาเฉพาะบางอย่างจากวัดไปด้วย  เช่น ช่างเขียน  ช่างหล่อ  ช่างไม้  โหราศาสตร์  หมอยา  คาถาอาคม  การทำดอกไม้ไฟ  พลุ  ตะไล  วัดจึงเป็นสถานฝึกอบรมแบบไม่เป็นทางการ  ที่ช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สังคมไทยในสมัยโบราณ

      ส่วนการศึกษาวิชาเฉพาะนั้น  ในสมัยก่อนย่อมฝึกอบรมถ่ายทอดกันในครอบครัวของตนเองหรือในแหล่งประกอบการอื่น  จนมีความรู้ความชำนาญ  การเข้าฝึกอาชีพในแหล่งประกอบการนั้นบุคคลจะต้องฝากตัวเป็นลูกศิษย์ทำนองเดียวกับลูกศิษย์พระ  คือไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแต่จะต้องปฏิบัติรับใช้ครูในด้านส่วนตัวเป็นการตอบแทน  วิชาการที่รับถ่ายทอดจากแหล่งประกอบการดังกล่าวนี้ก็มีการแพทย์  การช่างต่างๆ  ดนตรี  โขน  ละคร  ลิเก  เพลง  อาวุธ  เป็นอาทิ
 การศึกษาของสตรีได้รับการจำแนกให้แตกต่างจากบุรุษตามค่านิยมของสังคม  ดังนั้นสตรีจึงต้องเรียนการทำอาหาร เย็บปักถักร้อย  ดูแลบ้านเรือนเป็นสำคัญ  สำหรับสตรีชั้นสูงย่อมมีโอกาสได้เรียนหนังสือด้วย  จนบางท่านสามารถแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนได้ สำหรับสถานที่ฝึกอบรมนั้นนอกจากจะดำเนินการในครอบครัวของตนเองแล้วบางคนยังมีโอกาสเข้าฝึกอบรมในสำนักของเจ้านายเพื่อรับถ่ายทอดวิชาความรู้แบบชาววัง  สำหรับนำไปใช้เมื่อกลับไปอยู่บ้านเรือนของตน
     
      สรุปได้ว่า  ก่อนที่จะมีโรงเรียนตามแบบอย่างตะวันตก  ในรัชสมัยที่ห้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์การศึกษาในยุคก่อนย่อมดำเนินการในลักษณะไม่เป็นทางการได้มีขึ้นก่อน  และอาศัยบ้านและชุมชนเป็นแหล่งฝึกอบรมเป็นส่วนใหญ่
       เมื่อ พ.ศ. 2414  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ห้าแห่งจักรีวงศ์  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง  บริเวณโรงเรียนมหาดเล็ก  นับว่าเป็นโรงเรียนตามแบบตะวันตกที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก โรงเรียนนี้แตกต่างกับโรงเรียนวัด กล่าวคือ
       มีสถานที่เล่าเรียนซึ่งจัดไว้โดยเฉพาะ มีฆราวาสเป็นครู  และมาทำการสอนตามเวลาที่กำหนด  วิชาที่สอนมีภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และวิชาอื่นๆ ที่ไม่เคยมีสอนในโรงเรียนแผนโบราณ
       โรงเรียนที่จัดตามแบบอย่างตะวันตกนี้ ต่อมาได้เป็นต้นแบบของการศึกษาภาคบังคับตามความในกฎหมายประถมศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2464  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
       ประเทศไทย  จึงมีโรงเรียนตามแบบอย่างตะวันตกมาเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปี  และมีการศึกษาภาคบังคับมาเป็นเวลาประมาณแปดสิบปี

  การจัดการศึกษาผู้ใหญ่ของรัฐ 

      รัฐได้เข้ามามีบทบาทจัดการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2483  ถ้าพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมทางการเมืองในขณะนั้น จะเห็นว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 คณะปฏิวัติได้ประกาศหลัก 6 ประการเป็นแนวนโยบายในการพัฒนาบ้านเมือง  และข้อหนึ่งในหลัก 6 ประการนั้น  มีว่า  “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”  คำแถลงนโยบายของพระยาพหลพลพยุหเสนา  เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มีว่า
       ส่วนการศึกษานั้น  มีแผนการศึกษาและมีนโยบายวางไว้เป็นบรรทัดฐานดีแล้ว  รัฐบาลนี้จะได้หาวิถีทางที่ดีซึ่งจะนำไปให้ถึงจุดหมาย ให้พลเมืองรู้จักระบอบการปกครองตามแบบ  ประชาธิปไตย  ให้ได้มีความเป็นอยู่เหมาะสมแก่สมัยรัฐธรรมนูญ
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2475  ได้กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 ประเภท  ประเภทแรก ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา  ประเภทที่สอง คณะราษฎร์ (คณะปฏิวัติ) แต่งตั้งมีจำนวนประเภทละกึ่งหนึ่ง  รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กำหนดว่าให้สมาชิกประเภทที่สองหมดไปเมื่อประชาชนในประเทศรู้หนังสือถึงชั้นประถมศึกษา (ป.4) ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ  (การสำรวจสำมะโนครัว พ.ศ. 2480  ซึ่งเป็นเวลาห้าปี หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรากฏว่าทั่วประเทศมีพลเมือง 14,464,105 คน  มีผู้ไม่รู้หนังสืออายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  จำนวน 6,888,548 คน หรือร้อยละ 68.94 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมาชิกประเภทที่สองก็ยังจะต้องมีอยู่)
      การตัดสินใจของรัฐ  ที่จะเข้ามาจัดการศึกษาผู้ใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2483 อาจกล่าวได้ว่ามีเหตุผลหลายประการ  ประการแรก เพื่อขจัดการไม่รู้หนังสือให้แสดงน้อยลง  ประการที่สอง เห็นว่าการศึกษาเป็นมรรควิธีในการพัฒนาประเทศ  ดังผู้นำไทยในสมัยนั้นคือ พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2483 ว่า  “การชิงชัยของชาติจะบรรลุผลดีก็ต้องอาศัยประชากรดีกว่าย่อมจะชิงถึงหลักชัยอันไพบูลย์ก่อน...”  ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย
      รัฐบาลได้จัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงธรรมการ  เมื่อวันที่  6 สิงหาคม 2483 เพื่อให้ปฏิบัติงานให้การศึกษาแก่ประชาชนให้อ่านออกเขียนได้  และรู้หน้าที่พลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
      จึงอาจกล่าวได้ว่า การศึกษาผู้ใหญ่ที่รัฐเป็นผู้จัดได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2483 นับถึงบัดนี้ (พ.ศ. 2533) เป็นเวลา 50 ปี

 การรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือครั้งแรก (2483-2488)

      กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้เริ่มทดลองวิธีการในการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2484 ให้เป็นที่แน่ใจว่าหลักสูตร แบบเรียน วิธีการสอน และการดำเนินการต่างๆ จะใช้ได้ผลในการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ
      หลังจากได้ทดลองวิธีการใน พ.ศ. 2484  แล้วรัฐบาลได้ดำเนินการขยายงานในปี พ.ศ. 2485 และต่อเนื่องกันไปจนถึง พ.ศ. 2488 การดำเนินงานในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นการรณรงค์โดยแท้จริง แม้จะตกอยู่ในภาวะสงครามทางราชการสั่งให้บ้านเรือนปิดไฟป้องกันการโจมตีทางอากาศเวลากลางคืน จำต้องเลื่อนมาเปิดสอนเวลากลางวัน  และมีความขาดแคลนในด้านต่างๆ เกิดขึ้น แต่รัฐบาลก็ยังดำเนินการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือต่อไปอย่างไม่ลดละ  จนเป็นผลให้มีผู้รู้หนังสือเพิ่มขึ้นในช่วง พ.ศ. 2484-2488 อันเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถึง 1.4  ล้านคน จากจำนวนผู้ใหญ่ไม่รู้หนังสือทั้งหมดประมาณ 6.8 ล้านคน เท่ากับประมาณหนึ่งในห้า  หรือร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือทั้งหมด
      ความสำเร็จของการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือครั้งแรกนี้ ควรจดจารึกไว้ในประวัติการศึกษาไทย  เนื่องจากเป็นการรณรงค์ครั้งแรก และดำเนินการในภาวะสงคราม แต่สามารถทำให้มีผู้รู้หนังสือเพิ่มขึ้นนับจำนวนล้าน  หากจะเปรียบเทียบกับการดำเนินงานการศึกษาในช่วงหลายสิบปีหลังสงคราม จะเห็นว่าในช่วงระยะเวลาอันสั้นไม่กี่ปีนั้น  งานการศึกษาผู้ใหญ่ได้สร้างความเข้าใจที่ยิ่งใหญ่ไม่มีสมัยใดเปรียบได้
      เมื่อเปรียบเทียบกับการรณรงค์เพื่อการเรียนรู้หนังสือที่ได้ทำในประเทศต่างๆ ระยะหลังๆ นี้ จะเห็นว่าการดำเนินงานรณรงค์ที่ประเทศไทยได้จัดทำเมื่อห้าสิบปีมาแล้ว  ยังอาจเป็นตัวอย่างที่นำไปใช้ได้แม้ในปัจจุบัน  เช่น  การสร้างความมุ่งมั่นทางการเมือง  การผูกพันการรู้หนังสือกับการสร้างชาติ  และการสร้างมาตรการทางการบริหาร  ที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จของการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ

 การขยายการศึกษาผู้ใหญ่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  (2489-2503)

       การศึกษาผู้ใหญ่ได้ซบเซาไประยะหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง  เนื่องจากความตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระหว่างสงคราม  ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องต่อมาอีกหลายปี ประกอบทั้งรัฐบาลหลังสงครามได้ยุติมาตรการทุกอย่างที่เป็นไปทางบีบบังคับประชาชน  ซึ่งรวมทั้งมาตรการที่ใช้ในการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือด้วย
      อย่างไรก็ดี การศึกษาผู้ใหญ่ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกในเวลาไม่นานนัก ด้วยเหตุผลหลายประการ
       ก. การสนับสนุนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพและประชาธิปไตยโดยทางการศึกษาประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2492 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยูเนสโกกำลังส่งเสริมแผนการศึกษา ที่เรียกว่า “Fundamental Education”หรือ “การศึกษาภาคหลักมูลฐาน” ขึ้นในบรรดาสมาชิกประเทศ การศึกษาภาคหลักมูลฐานมุ่งที่จะขจัดการไม่รู้หนังสือให้หมดไปทั่วโลก เพราะเห็นว่าการไม่รู้หนังสือเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและเป็นสิ่งคุกคามต่อสันติภาพ ประเทศไทยจึงได้รับแผนดังกล่าวมาดำเนินงานในประเทศไทย
       ข. ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมหลังสงคราม ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระดับการครองชีพของประชาชน และความเป็นอยู่ในทุกด้าน ดังนั้นการศึกษาผู้ใหญ่สายอาชีพและการเผยแพร่ต่างๆ จึงมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ จะกล่าวว่าการศึกษาผู้ใหญ่เติบโตขึ้นเพราะตอบสนองความต้องการของประชาชนในยุคนั้น ก็คงจะไม่ผิดนัก
       หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ยุติลง ประเทศไทยได้ฟื้นฟูการศึกษาผู้ใหญ่ ขยายวัตถุประสงค์เดิมซึ่งวางไว้ว่า จะสอนให้รู้หนังสือ และรู้หน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นหัวข้อดังนี้

  1. ส่งเสริมให้รู้หนังสือ
  2. ส่งเสริมอาชีพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
  3. ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
  4. ส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
  5. ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

      จะเห็นว่า หัวข้อความมุ่งหมายของการศึกษาผู้ใหญ่ที่ได้ขยายเพิ่มขึ้น ก็คือ การส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมความเป็นอยู่ และ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
       สอดคล้องกับความมุ่งหมายดังกล่าวกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้จังหวัดทุกจังหวัดจัดการศึกษาในรูปใหม่ 4 ประเภท คือ

  1. การศึกษาหลักมูลฐาน
  2. การศึกษาประชาชน
  3. การอาชีวศึกษาผู้ใหญ่
  4. การมัธยมศึกษา

      1 การศึกษาหลักมูลฐาน เป็นโครงการสอนให้รู้หนังสือ ใช้แทนโครงการเดิมที่พัฒนาขึ้นในระหว่างสงคราม โดยใช้หลักการของ ดร.แฟรงค์ ซี เลาบัค (Dr.Frank C. Laubach) ซึ่งยูเนสโกได้ส่งเข้ามาช่วยแนะนำ โครงการใหม่นี้ได้พัฒนาหลักสูตรแบบเรียน และวิธีดำเนินการขึ้น ใช้เวลาเรียน 1 ปี แบ่งเป็นภาคต้น 6 เดือน และภาคปลาย6 เดือน ตามวิธีการของ ดร.เลาบัค นั้น การสอนให้รู้หนังสือใช้วิธี “ตัวต่อตัว” (Each One Teach One) หมายถึงผู้สอนอาสาสมัครคนหนึ่ง สอนนักเรียนคนหนึ่ง แต่วิธีการนี้ใช้อยู่ไม่นาน ในที่สุดก็ปรับเป็นแบบชั้นเรียนดังเดิม
      2 การศึกษาประชาชน เป็นวิธีการอบรมประชาชน โดยใช้ภาพยนตร์ และห้องสมุด เป็นเครื่องมือให้การศึกษาร่วมด้วย ดำเนินการในครั้งแรกในตำบลหมู่บ้านห่างไกล กิจกรรมที่ดำเนินการมีการจัดนิทรรศการ  ฉายภาพยนตร์ บริการการอ่านโดยห้องสมุดเคลื่อนที่ ฟังวิทยุ ปาฐกถา สนทนา
          ห้องสมุดประชาชน จัดตั้งขึ้นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยห้องสมุดประชาชนพ.ศ. 2492 นับว่าเป็นรากฐานของห้องสมุดประชาชนประจำที่และเคลื่อนที่เกิดขึ้นต่อมา
          โสตทัศนศึกษา เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2490 โดยการฉายภาพยนตร์และภาพนิ่ง และให้ฟังวิทยุ ต่อมาได้มีแผนกโสตทัศนศึกษา จัดตั้งในส่วนกลางและมีบริการโสตทัศนศึกษา ดำเนินการโดยหน่วยการศึกษาประชาชนจังหวัดทุกจังหวัด
      3. การอาชีวศึกษาผู้ใหญ่ เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2492 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนะไปยังจังหวัดต่างๆ ให้ดำเนินการอาชีวศึกษาผู้ใหญ่แบบประจำที่ การอาชีวศึกษาแบบอบรม ใช้ระยะเวลาสั้นกว่าแบบแรกและการอาชีวศึกษาแบบบรรยายอันเป็นการให้ความรู้เป็นครั้งคราว
กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้ดำเนินการร่วมกับสถานศึกษาของกรมอาชีวศึกษา โรงเรียนราษฎร์ ในการจัดการอาชีวศึกษาผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนที่กองการศึกษาผู้ใหญ่จัดตั้งขึ้นเองอีกส่วนหนึ่ง
      4. มัธยมศึกษา เริ่มจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2491 โดยจัดสอนเป็น 2 ระดับ คือระดับมัธยมตอนต้น และมัธยมตอนปลาย โดยใช้หลักสูตรและแบบเรียนของโรงเรียนมัธยมกลางวัน และสอนในลักษณะกวดวิชา ให้นักเรียนเข้าสอบเทียบความรู้ที่เปิดสำหรับบุคคลทั่วไป ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีปีละครั้ง ผู้ที่สอบเทียบความรู้ได้จะได้รับใบรับรองความรู้ว่าเทียบเท่าชั้นนั้นๆ แต่จะนำไปใช้ได้เพื่อสิทธิบางอย่างเท่านั้น

 การจัดตั้งศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี (ศ.อ.ศ.อ.)

       เมื่อ พ.ศ. 2497 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และรัฐบาลไทยได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี (ศ.อ.ศ.อ.) เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Thailand UNESCO Fundamental Education Center (TUFEC) เพื่อให้ทำหน้าที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับมูลสารศึกษา ที่เรียกว่า “สารนิเทศก์”  (Fundamental Education Supervisor) เพื่อออกไปปฏิบัติงานให้มูลสารศึกษาแก่ประชาชนในชนบท7 คำว่า  “มูลสารศึกษา” นั้น หมายถึง การศึกษาที่ให้แก่ผู้ใหญ่และเด็กที่พ้นจากเข้าโรงเรียนแล้วให้รู้เรื่องทั่วๆ ไป เพื่อให้เข้าใจสิ่งแวดล้อม รู้จักพัฒนาปัญหา รู้จักนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อความเจริญในด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนนั้นๆ ยิ่งขึ้น8
       การฝึกอบรมสารนิเทศก์ใช้เวลา 2 ปี ผู้ที่จะเข้าศึกษาจะต้องมีอายุระหว่าง 23-40 ปี รับราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี มีวุฒิ ป.ป. หรือเทียบเท่า ไม่จำกัดเพศชายหรือหญิง
       การเรียนจะมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การปฏิบัติ นักศึกษาจะต้องออกไปทำงานในหมู่บ้านเพื่อศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และให้การศึกษาแก่ประชาชน
       สารนิเทศก์แต่ละคน จะเรียนหนักด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ คือ เกษตร อนามัย การเรือน การช่างชนบท สวัสดิการสังคม และการศึกษา แต่เวลาทำงานจะทำงานเป็นทีมๆ ละ 6 คน ประกอบด้วยผู้ที่เรียนวิชาเฉพาะในแต่ละด้าน
       วิธีการปฏิบัติงานมูลสารศึกษา ไม่แตกต่างกับวิธีการของพัฒนาชุมชน กล่าวคือต้องไปอยู่กับชาวบ้าน ศึกษาความต้องการของชาวบ้าน ยั่วยุให้ชาวบ้านร่วมมือกันแก้ปัญหา และรู้จักขอความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ จึงเป็นการเตรียมประชาชนเพื่อการพัฒนาชุมชนนั่นเอง
      ความมุ่งหมายเบื้องแรกของยูเนสโกต้องการให้ศูนย์แห่งนี้ฝึกอบรมนักศึกษาจากหลายๆ ประเทศ ในภูมิภาคนี้คือ ไทย ลาว เขมร  ญวน แต่ในที่สุด ด้วยข้อจำกัดทางภาษาก็สามารถรับได้เพียงนักศึกษาของประเทศไทย และลาว เท่านั้น
      ศ.อ.ศ.อ. ดำเนินงานอยู่ได้ไม่นาน เมื่อ พ.ศ. 2502  ได้มีการโอนสารนิเทศก์ส่วนใหญ่จากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย  เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยมีโครงการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งทำงานลักษณะเดียวกับมูลสารศึกษาอยู่แล้ว การฝึกอบรมสารนิเทศก์จึงได้สิ้นสุดลง หลังจากผลิตสารนิเทศก์ได้ 7 รุ่น จำนวน 451 คนในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาจากราชอาณาจักรลาว 5 ทีม รวม 30 คน 


 การพัฒนาเชิงคุณภาพและการปรับแนวเข้าสู่การศึกษาตลอดชีวิต (2504-2519)

       ในช่วงเวลาจาก พ.ศ. 2503-2519 การศึกษาผู้ใหญ่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ หลายประการดังเช่นการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเพิ่งมีเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2504 นับถึง พ.ศ. 2519 ประเทศไทยได้มีแผนพัฒนารวม 3 ฉบับ9 แผนพัฒนาดังกล่าวได้เน้นการศึกษาภาคบังคับและการพัฒนากำลังคนตลอดมา จนถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 3  ในส่วนการศึกษาจึงได้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาผู้ใหญ่โดยระบุว่า จะจัดทำโครงการประสานงานการศึกษาผู้ใหญ่ ทำการฝึกอบรมวิชาชีพ และวางแผนดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเยาวชนในชนบท10
       นอกจากปัจจัยที่สืบเนื่องจากการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ประเทศไทยได้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 เน้นการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของสังคมและบุคคลและให้สอดคล้องกับแผนเศรษฐกิจและแผนการปกครองประเทศ ทั้งยังเน้นให้ผู้เรียนมีกิจนิสัย และความขยันหมั่นเพียรในการใช้มือปฏิบัติงานด้วย
       ปัจจัยที่สาม ได้แก่ความร่วมมือจากองค์การระหว่างประเทศและต่างประเทศ ในช่วงเวลาข้างต้นนี้ ยูเนสโก ได้ให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาแบบสมกิจ (Work-Oriented Literacy) องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (UCOM) ได้ให้ความสนับสนุนด้านการฝึกอาชีพ (หน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ ซึ่งเดิมสังกัดกรมอาชีวศึกษา) และองค์การศึกษาโลก (Word Education) ได้ให้ความสนับสนุนเรื่องการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ
       ปัจจัยที่สี่ ภาวะภายในประเทศได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นภาคการเมือง และภาคอุตสาหกรรมมากกว่าชนบท และระบอบการปกครองที่ยังไม่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง เนื่องจากการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ภายในและภายนอกประเทศ และการเรียกร้องให้มีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย
       การพัฒนาการศึกษาผู้ใหญ่ในช่วง พ.ศ. 2504-2519  โดยสาระสำคัญจะเน้นหนักการพัฒนาโครงการที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยจัดเนื้อหาสาระ และวิธีการให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้นและในช่วงท้ายๆ ได้พัฒนาแนวคิดทางปรัชญา และวิธีการให้สอดคล้องกับงานการศึกษานอกโรงเรียนมากยิ่งขึ้น
       การศึกษาระดับพื้นฐานสำหรับผู้เรียนในเมือง  การศึกษาภาคหลักมูลฐาน ภาคต้น และภาคปลายที่ใช้มาแต่เดิมเหมาะแก่นักศึกษาผู้ใหญ่ในชนบท ประกอบกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 ได้ขยายชั้นประถมศึกษาออกเป็น 7 ปี กองการศึกษาผู้ใหญ่จึงได้จัดทำหลักสูตรการศึกษาระดับพื้นฐานขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 เทียบเท่า ป.2  ระดับ 2 เทียบเท่า ป.4  ระดับ 3 เทียบเท่า ป.7  หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ มุ่งใช้สำหรับนักศึกษาในเมือง ซึ่งมุ่งจะเรียนวิชาสามัญให้สูงขึ้น ดังนั้นจึงได้จัดเนื้อหาให้คล้ายคลึงกับหลักสูตรในโรงเรียน เพื่อให้สะดวกที่จะใช้เรียนต่อได้

 การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ใช้แทนการศึกษาภาคหลักมูลฐาน

      เมื่อ พ.ศ. 2511 กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้เริ่มทดลองหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบสมกิจ (Work Oriented Functional Literacy) ตามข้อเสนอแนะของยูเนสโก หลักสูตรนี้นอกจากจะสอนให้อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็นแล้ว ยังมุ่งฝึกอาชีพควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ทั้งสองทาง อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ศ. 2513 องค์การศึกษาโลก (World Education) ได้เสนอให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในการปรับปรุงการศึกษาผู้ใหญ่แบบสมกิจให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรนี้ด้วย กองการศึกษาผู้ใหญ่เห็นว่าแทนที่จะมีเนื้อหาเพียงการวางแผนครอบครัว ควรจะถือโอกาสปรับปรุงหลักสูตรให้กว้างขึ้น ให้ครอบคลุมปัญหาและความต้องการต่างๆ ของผู้เรียนให้มากขึ้นอีก
       การศึกษาแบบเบ็ดเสร็จของไทย จึงไม่ได้เดินตามแนวของยูเนสโกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอาชีพ นอกจากนั้นยังได้พัฒนาปรัชญา และวิธีการขึ้นใช้เป็นของตนเองด้วย ดังที่รู้จักกันทั่วไปว่าปรัชญาคิดเป็น
       กล่าวโดยสรุป การศึกษาแบบเบ็ดเสร็จของไทยได้รับการพัฒนาทั้งระบบ ทั้งปรัชญา หลักสูตร แบบเรียน วิธีการสอน วิธีการประเมินผล ครูผู้สอนต้องได้รับการอบรมให้เข้าใจวิธีการสอน และยังมีการนิเทศติดตามผลที่เป็นระบบ
       ถือได้ว่าการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จของไทยเป็นโครงการหนึ่งในจำนวนไม่มากโครงการของประเทศต่างๆ ที่ได้รับการกล่าวถึงจากวงการสอนให้รู้หนังสือระหว่างประเทศ เคยได้รับรางวัลจากยูเนสโก และได้รับเชิญให้ส่งตัวแทนไปร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการสอนให้รู้หนังสือ ซึ่งจัดโดยองค์การระหว่างประทศที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการสอนผู้ใหญ่ให้รู้หนังสืออยู่เนื่องๆ
      การพัฒนาหลักสูตรสายสามัญต่อเนื่องใช้แทนหลักสูตรมัธยม หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ภาคมัธยมเดิมเป็นหลักสูตรที่ยืมมาใช้จากหลักสูตรโรงเรียนกลางวันโดยตรง ต่อมาใน พ.ศ. 2508 กองการศึกษาผู้ใหญ่เห็นว่ายังไม่เหมาะสมจึงได้พัฒนาหลักสูตรขึ้นใหม่ เรียกว่า หลักสูตรสายสามัญ ระดับที่ 4 เทียบเท่าหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (สำหรับหลักสูตรหลังนี้ยังไม่สามารถจะปรับใหม่ได้  เนื่องจากไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่กรมวิชาการ ซึ่งต้องการรักษามาตรฐานของการศึกษาระดับนี้ไว้ให้เป็นอย่างเดียวกับโรงเรียนกลางวัน)
      สรุปได้ว่า การศึกษาระดับพื้นฐาน และการศึกษาสายสามัญต่อเนื่องนี้ ในชนบทได้ใช้หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จโดยทั่วไป ส่วนในเมืองนั้นมีหลักสูตรอีกประเภทหนึ่งซึ่งเน้นการเรียนเนื้อหาเพื่อให้มีพื้นฐานความรู้มากกว่าในชนบท ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่สายสามัญ ระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับที่ 1-5
 หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่สายสามัญ ระดับที่ 4 ต่อมาได้มีการพัฒนาโดยใช้หลักการอย่างเดียวกับการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2518 เรียกว่า หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ระดับที่ 4
      การสอนผู้ใหญ่สายอาชีพ ใน พ.ศ. 2515 ได้มีการโอนโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ (เดิม หน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่) จากกรมอาชีวศึกษามาสังกัดกองการศึกษาผู้ใหญ่ หน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่นี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 ต่อมาได้ขยายออกไปจนมีทั้งหมด 45 หน่วยหรือโรงเรียน
     การศึกษาผู้ใหญ่สายอาชีพ จึงมี 3 ประเภทคือ
      1. โรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่  สอนวิชาเครื่องยนต์ ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้า ช่างโทรทัศน์และวิทยุ บัญชี พิมพ์ดีด อาหาร-ขนม ช่างตัดเสื้อ ช่างตัดผม และเสริมสวย ตัดผม หลักสูตรรุ่นละ 300 ชั่วโมง
      2. โรงเรียนผู้ใหญ่เคลื่อนที่ เปิดสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้า และตัดผมใช้เวลารุ่นละ 300 ชั่วโมง
      3. โรงเรียนผู้ใหญ่ประจำที่ เปิดสอนในสถานที่ของโรงเรียนต่างๆ ที่มีความพร้อม เปิดสอนวิชาต่างๆ ดังเช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า พิมพ์ดีด  ศิลปะประดิษฐ์  ดนตรีไทย ช่างวิทยุ  อาหาร-โภชนาการ เสริมสวย ตัดผม บัญชี อาหาร-ขนม ช่างมุก ช่างแกะสลักไม้ ช่างฝีมือ ดนตรี ช่างไม้ครุภัณฑ์ ช่างปูน ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ สนทนาภาษาอังกฤษ ขับรถยนต์ เกษตรกรรม เขียนแบบก่อสร้าง ช่างประปา หลักสูตรรุ่นละ 150 ชั่วโมง
      4. กลุ่มสนใจ เป็นวิธีจัดกลุ่มผู้เรียนอย่างหนึ่ง แต่ละกลุ่มต้องมีผู้เรียนไม่ต่ำกว่า 15 คน เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นไม่เกิน 30 ชั่วโมง ประเภทอาชีวะ สังคมศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ทางราชการเป็นผู้สนับสนุนค่าตอบแทนวิทยากร แต่ผู้เรียนจะต้องจัดหาอุปกรณ์การฝึกอบรมของตนมาเอง
       การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่สายอาชีพ  หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่สายอาชีพมักจะเป็นหลักสูตรค่อนข้างยาว ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรของโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ โรงเรียนผู้ใหญ่ประจำที่หรือโรงเรียนผู้ใหญ่เคลื่อนที่ ปรากฎว่ามีผู้เรียนออกกลางคันมาก เพราะไม่ประสงค์จะเรียนให้จบหลักสูตร ต้องการเพียงแต่จะนำไปใช้งานเท่านั้น ดังนั้น กองการศึกษาผู้ใหญ่จึงได้พัฒนาหลักสูตรวิชาชีพขึ้นใหม่ แบ่งซอยออกเป็นรายการย่อยๆ จบในตัวเพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความต้องการของตน เช่น ถ้าต้องการจะเรียนวิธีทำกับข้าวอย่างหนึ่งก็สามารถจะมาเรียนได้ในชั่วโมงนั้น และเมื่อจบแล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้น หลักสูตรนี้ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 252011
       งานส่งเสริมการอ่าน งานนี้ประกอบด้วยงานห้องสมุดประชาชน ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านและศูนย์รับบริจาคหนังสือ
      1. ห้องสมุดประชาชน ใน พ.ศ. 2508 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้มาตรฐานห้องสมุดประชาชน เพื่อยกระดับการดำเนินงานของห้องสมุดประชาชนให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น มาตรฐานของห้องสมุดประชาชน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ ขนาดของห้องสมุด เล็ก กลาง ใหญ่ ครุภัณฑ์และวัสดุของห้องสมุดขนาดต่างๆ คุณวุฒิของผู้ที่มาเป็นบรรณารักษ์ ฯลฯ ใน พ.ศ. 2509 กรมสามัญศึกษา ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการจัดห้องสมุดได้เริ่มดำเนินการขอเปลี่ยนอัตราจ้างประจำของบรรณารักษ์ที่ว่างลง มาเป็นอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อยกระดับบรรณารักษ์ให้เป็นข้าราชการ ทั้งนี้ได้ดำเนินการเปลี่ยนอัตราว่าง ตามหลักการนี้ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
       2. ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน จากการวิจัยของกรมสามัญศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2512 พบว่าผู้ที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไปแล้ว ประมาณ 3-4 ปี ประมาณร้อยละ 33 กลับกลายเป็นผู้ไม่รู้หนังสือตามเดิมอีก สาเหตุเนื่องจากไม่มีหนังสืออ่าน กองการศึกษาผู้ใหญ่จึงได้จัดตั้งที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านขึ้นที่จังหวัดลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2514  ต่อมาได้ขยายออกไปทั่วประเทศ เหตุที่ใช้ชื่อว่า “ที่อ่านหนังสือพิมพ์” แทนที่ใช้ว่า “ที่อ่านหนังสือ” เป็นเพราะว่าสิ่งที่ส่งไปให้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเห็นว่าประชาชนสนใจข่าวสารประจำวันและคงจะใช้ประโยชน์จากหนังสือพิมพ์มากกว่าหนังสือประเภทอื่นที่มักจะล้าสมัย  เป็นที่คาดหมายว่าที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านจะลดอัตราการลืมหนังสือ และช่วยให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันยิ่งขึ้น
       3. ศูนย์รับบริจาคหนังสือ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 เพื่อรับบริจาคหนังสือจากประชาชนที่มีหนังสือเหลือใช้  เหลือขาย และประสงค์จะบริจาคเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ดำเนินการรับบริจาคจากประชาชน และหน่วยราชการต่างๆ เพื่อคัดเลือกส่งไปให้ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน และห้องสมุดประชาชน

 นวัตกรรมทางการศึก

หมายเลขบันทึก: 192785เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2008 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
วุฒิศักดิ์ ศรีเสมาเมือง

ขอขอบคุณอาจารย์เชาว์ที่ได้ให้ข้อมูลที่ทรงคุณค่าสำหรับชาว กศน หากได้เรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์การศึกษาผู้ใหญ่ จะทำให้เรามีความภาคภูมิใจในอดีตและมีพลังที่จะก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งที่จะช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเอง

  • ปัจจุบัน
  • จะเปลี่ยนไปเป็นอะไรอีกไหมครับ
  • เห็นในกรุงเทพฯ
  • มารวมเขตกันแล้ว
  • เริ่มงง งงครับ

อ่านแล้วทำให้เข้าใจรากลึกความเป็นมาของการศึกษาไทย..และทำให้รำลึกถึงคุณค่าของความเป็นครูกราบคารวะนักการศึกษาไทยรุ่นชวด รุ่นทวดที่ทำให้มีการศึกษาถึงวันนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท