จิตตปัญญาเวชศึกษา 71: EMPOWERMENT


EMPOWERMENT

องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้รณรงค์เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ health promotion มาหลายปีแล้ว และมีกฏบัตรหลายต่อหลายฉบับต่อเนื่องมาจากฉบับหนึ่งที่ใช้อ้างอิงกันบ่อย คือ Ottawa Charter หรือกฏบัตรออตตาวา ที่ได้มีการบอกนัยนิยามของ Health Promotion

Process that enables people to increase control over and to improve their health.

ซึ่งนับว่าเรียบง่าย และครบถ้วนชัดเจนดี คำว่าเรียบง่ายในที่นี้หมายถึงเข้าใจง่ายว่าหมายถึงอะไร แต่ไม่ได้แปลว่าทำง่ายเสมอไป keyword อีกคำหนึ่งก็คือ คนที่เราจะไปช่วยให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพนั้นจะต้องเกิด empowerment จึงจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน ยาวนาน เมื่อมองทั้งนิยามและกระบวนการทำ หรือเป้าหมายแล้ว เพียงเราเปลี่ยนคำว่า health มาเป็น education เราก็จะพบว่าทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ และการเรียนรู้นั้น เป็นเรื่องเดียวกันที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างมากทีเดียว

Process that enables students to increase control over and to improve their education.

ในการสร้างเสริมสุขภาพของชาวบ้านนั้น ประเด็นอยู่ที่เรามีความเข้าใจชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน ว่าในมิติต่างๆของสุขภาพนั้น แต่ละบ้าน แต่ละครอบครัว รวมไปถึงชุมชน หมู่บ้าน เขาคิดและรู้สึกว่าอะไรสำคัญ ไม่สำคัญ และจัดลำดับเช่นไร สิ่งเหล่านี้หมอหรือพยาบาลอาจจะมี idea คร่าวๆในใจว่าเป็นเช่นไร เพราะในแง่หนึ่ง เราเองก็เป็นชาวบ้านคนหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าความคิดความเห็นของเราอาจจะไม่ตรงกับของคนอื่นเสียทีเดียว หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นตรงกันข้ามกันก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราวัดดีกรีของความทุกข์ โดยบอกว่าถ้าทุกข์ขนาดที่อดรนทนไม่ได้ต้องออกมาป่าวประกาศ เรียกร้องขอความเปลี่ยนแปลง ถือว่าเป็นดีกรีที่สูง เราจะเห็นความต่างได้เยอะ ในบ้านเมืองของเราตอนนี้ มีคนออกมาเรียกร้องหาความเปลียนแปลงมากมาย ประเด็นที่ขอ ในมิติมุมมองของเราคงจะเป็น priority เหนือกว่ามิติอื่นๆในความเข้าใขของเขา จึงได้เลือกมาทำกิจกรรมที่ว่านี้ ในกระดานข่าว (message board) ของคณะแพทย์ ม.อ. ก็มีการ voice เรียกร้องเหมือนกัน แตกต่างจากที่ชาวบ้านเขาเรียกร้องพอสมควร อาทิ หมอบางท่านเดือดร้อนเรื่องจอดรถไกลจากที่พัก มีคนมาแย่งที่จอดรถที่หอ เป็นต้น ซึ่งในมุมมองหนึ่ง อาจจะเห็นเป็น blessing เพราะในความทุกข์ที่เป็นไปได้ทั้งหมด ถ้าเราทุกข์เหลืออยู่ที่จอดรถไกล เราอาจจะมองว่าเราเป็นคนโชคดีไม่น้อย ในยามที่บ้านเมือง ราคาน้ำมัน ราคาข้าวแบบนี้

ประเด็นที่นำเสนอ ไม่ได้อยู่ที่ว่าใคร "ควร" จะทุกข์เรื่องอะไรดี เพราะเรารู้สึกทุกข์จริงๆในเรื่องไหน เราก็ควรจะ sincere และเคารพในความทุกข์ของเรา ประเด็นอยู่ที่ว่า เราควรจะมี awareness หรือการตระหนักรู้ว่า ทุกข์ของเราไม่เหมือนกับทุกข์ของคนอื่น and vice versa

และในการจะหาทางออก ทางแก้ไขของ "นิเวศ" ของเรานั้น จะไม่มีทางเป็นไปได้เลย ถ้าเราสนใจแต่ประเด็นความทุกข์ของเรา (หรือที่เราคิดว่าน่าจะสำคัญที่สุด) โดยไม่ได้คิดหรือรู้สึกเผื่อถึงความทุกข์ ความรู้สึกของผู้อื่น (ที่ก็อาศัยอยู่ในนิเวศเดียวกับเรานี่เอง)

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Servant Leadership ของ Robert K. Greenleaf มี subtitle ว่า "A Journey into the Nature of Legitimate Power & Greatness" ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1977 กล่าวถึงสภาวะผู้นำที่แท้นั้น คือการเป็น servant หรือผู้รับใช้ของคนที่เขาจะมานำทีีดีอย่างไรนั้นเอง

 

และการเป็นผู้รับใช้ที่ดีนั้น เคล็ดลับไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการ "รู้ใจนาย" ก็คือทำความเข้าใจถึงความต้องการ ความรู้สึก ความปราถนา ของคนที่เราต้องการจะ serve จะบริการ จะรับใช้นั่นเอง เพียงแต่ concept ของการมาเป็นผู้นำคือการมาเป็นผู้รับใช้นี้ อาจจะไม่ได้ถูก shared โดยผู้นำส่วนใหญ่ที่คิดเพียงแต่จะมา "นำ" และผู้นำอีกส่วนหนึ่งที่คิดเพียงแต่จะ "รับใช้ตนเอง และเครือข่ายของตน" เท่านั้น

ในการเป็นครู​ หรือเป็นแพทย์ก็ตาม ต่างก็เป็นอาชีพที่เรามาให้บริการ มารับใช้คน จะเป็นนักเรียนหรือคนไข้ ก็เป็นทรัพยากรของนิเวศของเรา ที่เราเองก็เป็นส่วนหนึ่ง เมื่อไรก็ตามที่บทบาทที่ว่านี้บิดเบี้ยวไป ก็จะมีผลกระทบต่อเนื่องไปโดยทั่วถึงกันหมด

การเรียน Health Promotion ที่ ม.อ.

คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้จัด block Health Promotion ลงไปในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มาหลายปีแล้ว และมีการปรับเปลียนการเรียนการสอนไปเรื่อยๆ ผมเคยเขียนถึงไว้ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณปีที่แล้วนี้ในหัวข้อเรื่อง "เรียนหมอสนุกจังเลย คิดไม่ถึงมาก่อน" ซึ่งสาระวิชาจะเกี่ยวข้องกับการทำ health promotion เชิงระบบ เชิงชุมชน ต่อมาเราได้ขยายการเรียนการสอนวิชานี้เข้าไปใน block อื่นๆด้วย ของศัลยศาสตร์เองก็นำมาใช้ในการเรียนการสอนตอนนักเรียนชั้นปีที่ 4 ขึ้นมาปฏิบัติงานใน pre- and post-operative Care และผมได้เขียนถึงใน "อภิชาตศิษย์" เมื่อไม่นานมานี้ เกิดมีคำถามที่น่าสนใจตามมาว่า "อะไรเป็นกลไกผลักดันการเรียนการสอนที่เราจัดทำอยู่"

น่าจะเป็นสิ่งเหล่านี้กระมัง....

  • Relaxation การเรียนแบบผ่อนคลาย
  • Reframe/Redesign การปรับมุมมอง ปรับกระบวนทัศน์
  • Recreation การสร้างสรรค์
  • Reflection การสะท้อน

Relaxation

ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย จะเป็นคำที่เราใช้บ่อยใน class health promotion เชื่อหรือไม่ว่า บางครั้งเราพบว่าการเรียนของเรานั้นถ้าไม่น่าเบื่อ ก็น่ากลัว เคร่งเครียด tense ไปหมด ซึ่งเป็นบรรยากาศแวดล้อมที่ anti-thesis ต่อการเรียนรู้อย่างยิ่ง วัตถุประสงค์ของการผ่อนคลายก็คือเพื่อกำจัด Fear หรือ ความกลัว ออกไปก่อน เพราะนี่จะเป็น "ฐานกาย" ที่สำคัญของการเรียนรู้ ครูหรืออาจารย์จะมีผลในด้านนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะเรามีอิทธิพลต่อเด็ก เราเป็นผู้ "ประเมิน" เด็ก หรืออีกนัยหนึ่งคือ "ผู้ประเมินคุณค่า" อันเป็น self เป็น ego เป็นตัวตนของเขา ถ้าตอนที่นักเรียนกำลังเรียน มีความกลัว ความรู้สึกนี้จะไปเป็นอุปสรรคในการเรียนอย่างมาก

ในการผ่อนคลาย หรือการจัด class ที่ผ่อนคลายนั้น อันดับแรกที่สำคัญที่สุดก็คือ "คนจัด" จะต้องผ่อนคลายก่อน ตรงนี้ก็อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับคนที่เคร่งเครียดมาตลอดชีวิต แต่ถ้่าลองทำดู จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งนักเรียนและตัวเองอย่างยิ่ง ในการที่หมอ พยาบาล จะไป empower คนไข้ หรือประชาชนก็เช่นกัน ถ้าเราไปอย่างเคร่งเครียด อยากจะวัด อยากจะทดสอบ อยากจะ ฯลฯ สิ่งที่เราอยากอาจจะไปกระทบต่อ self ของเป้าหมายของเรา และถ้าเราทำให้เขากลัวเสียแล้ว ไม่ว่าจะจากผลตรวจเลือด จากการจะถูกตำหนิโดยหมอ โดยพยาบาล power ที่เราอยากจะ empower นั้นก็จะถูก block ไปเสียแต่เริ่มแรก

Reframe/Redesign

นักเรียนแต่ละคนจะนำพาเอา design หรือ frame กรอบกระบวนการคิดของตนเองเข้ามาใน class ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร คนทุกคนต่างก็มี แต่ในวัตถุประสงค์ที่จะไป empower คนอื่นนั้น เราจะต้อง "วางอัตตา" ของเราไว้ชั่วขณะ ไม่ใช่ทิ้งไปนะครับ แต่วางไว้ดีๆ เดี๋ยวจะต้องมาเก็บ ตอนนี้แค่ยังไม่ใช้ ขั้นตอนนี้ก็สำคัญ และอุปสรรคก็คือความกลัว ไม่กล้าวางอัตตา เพราะมันช่างสำคัญต่อเราเหลือเกิน ดังนั้น class ที่ไม่พ้นกระบวนการแรกคือ relaxation ก็จะไม่ทำให้เกิด reframe หรือ redesign ได้เลย และก็จะเป็นอุปสรรคที่เราจะ "เข้าใจ" ในความคิด ความรู้สึก ของคนที่เรากำลังจะไป empower

ใน class ที่ ม.อ. เราให้นักศึกษาไปสัมภาษณ์คนไข้อุบัติเหตุ (traumatic patients) นั้น เราวางกรอบไว้กว้างๆเพียงว่า ขอให้นักเรียนทุกคนไปค้นหาว่า คนไข้ (และครอบครัว) เขาคิดว่าอุบัติเหตุและทุพพลภาพที่มีอยู่นี้ เขาคิดว่าเกิดจากอะไร และผลจากอุบัติเหตุต่อตัวเขาเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม คืออะไร จากมุมมองของคนไข้เอง จะเป็นการสัมภาษณ์กี่ครั้งก็ได้ (มีเวลาประมาณ 4 อาทิตย์) และเมื่อสิ้นสุดการสัมภาษณ์ ลองให้คนไข้และตัวนักศึกษาเอง "ลองร่วมกัน" วาดวางแผนชีวิตต่อไปจากนี้กันดู ว่าชีวิตต่อไปนี้ เขาจะอยู่อย่างไร ทำอย่างไร พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ทำไมต้อง redesign หรือ reframe?

บ่อยครั้งที่เราพกพาทฤษฎีที่เราเรียนมาเกี่ยวกับ health promotion อาทิ การจัดระบบจราจร การสร้างถนนหนทางเป็นระเบียบ กฏหมายหมวกกันน็อค ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนไข้รับรู้ หรืออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย และหากเราไปยัดเยียดว่า จะต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ คนไข้บางคนก็จะพยักหน้าไปอย่างนั้น คือ เข้าใจ แต่ถามว่าปฏิบัติหรือไม่ "ขอคิดดูก่อนนะ... อือ.. ไม่ดีกว่า" ก็เพราะเขาคิดว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเขาลืมพกพระเครื่องไปนั่นเอง พฤติกรรมที่จะเกิดตามมาที่สอดคล้องกับความคิดก็จะเป็น "ครั้งหน้าต้องไม่ลืมพระเครื่อง"

ก่อนที่เราจะ discharge คนไข้ออกจาก รพ. เราจะทำแผนการแนะนำ และมักจะเป็น universal plan คือใช้้ได้หมดทุกคน ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกการศึกษา ซึ่งเป็นอะไรที่ oversimplify ความซับซ้อนของกระบวนการคิดของมนุษย์อย่างยิ่ง ก่อนที่คนไข้เขาจะ "ซื้อ" idea ของเรา คำแนะนำของเรา เราจะต้องผ่านกิจกรรมที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายไว้วางใจซึ่งกันและกัน หมอ พยาบาล มีศรัทธาเชื่อในศักยภาพ เชื่อในความเป็นมนุษย์ของชาวบ้าน คนไข้เชื่อและศรัทธาหมอ พยาบาล ว่าที่มาหา ที่มาแนะนั้น เพื่อประโยชน์ของคนไข้เองจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเอาไปทำวิทยานิพนธ์ เอาไปทำโครงการขอเงินเดือน และเมื่อพวกเราฟังใครอย่างดี อย่างตั้งใจ ในที่สุด เขาก็จะ return the favour โดยการยอมรับฟังเราขึ้นมาบ้าง สิ่งที่เราจะแนะนำไป จะผสมผสาน บูรณาการ กับแนววิถีชีวิตของเขา กับคุณค่า ความเชื่อ ของเขาเสียก่อน ออกมาเป็นวิถีชีวิตใหม่อันอุดม

Recreation

เมื่อนักเรียนของเรา "หลุดจากกรอบ" จะทำอะไรต่อไป?

ณ ขณะนี้ก็จะเป็น "โอกาสทอง" ที่ทุกๆคนกำลังใจจดใจจ่อกับสิ่งที่กำลังผุดบังเกิดขึ้น การสนทนาที่เปิดใจ นักเรียน/หมอ กับ subject/ผู้ป่วย ได้กระโดดลงมาอยู่ในนิเวศเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ปราศจากความกลัว ความกลัวถูกแทนที่ด้วยความไว้วางใจ กำลังจะงอกงามเป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไข (unconditional love) ความรู้สึกใหม่ๆ การมองโลกในอีกมุมหนึ่งที่ไม่เคยเห็น การยอมรับคุณค่าอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น เป็น foundation ของวิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่ เป็นรากฐานของแนวทางปฏิบัติแบบใหม่ กิจกรรมที่จะทำ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ติดยึดกับรูปแบบเดิมๆ possible choices ทั้งของเดิม และของใหม่ ของที่เป็นไปได้ ถูกวางแผ่ลงให้มองเห็น ให้เลือกอย่างเป็นอิสระ เต็มที่

คำแนะนำของคนไข้เบาหวาน ของทหารที่สูญเสียขา เป็นอัมพาต ก็จะเกิดขึ้นมา ณ ขณะปัจจุบันนั้นเอง ว่าคนไข้รายนี้ ครอบครัวนี้ ณ​เบื้องหน้าเรา เขาจะทำอย่างไรกันต่อไป ไม่สนใจว่าเป็นสิ่งที่เคยคิด เคยตระเตรียมมารึเปล่า กลายเป็น resource ทั้งหมดเป็นความเป็นไปได้ ที่เราจะสามารถนำมาใคร่ครวญ ไตร่ตรอง

ในการทำ health promotion ให้เกิด empowerment สำหรับปัจเจกบุคคล ก็จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น ที่คนทำก็สามารถเรียนรู้ไปด้วยได้ ไม่ได้ติดอยู่กับแนวทางปฏิบัติที่ทำมาตลอดเท่านั้น คลังอาวุธ คลังยุทธศาสตร์ของเราก็จะลึกและกว้างมากขึ้น เป็นประโยชน์ทวีคูณแก่คนไข้รายต่อๆไป ครอบครัวอื่นๆอีกมากมาย

Reflection

ที่จริงข้อ 3 และ 4 นี้ (reframe/redesign กับ reflection) อาจจะสลับที่กันไปมาได้ แต่เนื่องจากบริบทของบทความนี้เป็นเรื่องการเรียนการสอน จึงเห็นสมควรที่จะเอา reflection มาเป็นขั้นตอนที่ 4 เพราะขั้นตอนนี้เอง ที่ทำให้ผู้เรียน (และควรจะรวมทั้งผู้สอนด้วย) เกิดความหยั่งรู้ถึงอวัยวะใหม่ ความรู้ใหม่อะไรบ้าง และตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น

reflection หรือ การสะท้อน เป็นขั้นตอนการเรียนที่สำคัญมาก สิ่งที่เราคิดว่าได้เรียน ได้มีประสบการณ์ อาจจะกลายเป็นจุดเชื่อมหลวมๆที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราวเท่านั้น หากแต่กระบวนการ reflection จะทำใก้ประสบการณ์ต่างๆ เพ่ิม hard-wiring connection เป็นการเชื่อมต่อที่มั่นคงยิ่งขึ้น เพ่ิมความแข็งแรงของการเชื่อมโยงตัวตนกับความรู้ใหม่

ความรู้มากมายสามารถยั่งยืนเพียงชั่วครู่ชั่วยาม หาก reinforcement ที่จะทำให้ความรู้นั้นอยู่กับเรา เป็นเพียงแค่เพื่อคะแนน เพื่อการประเมิน เพื่อให้ครูชอบ ฯลฯ และพร้อมที่ขาดหายไปหากแรงกระตุ้น original พวกนี้หายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม หาก values เหล่านี้ไม่ได้ถูกทำให้เกิดการเชื่อมโยงแข็งแรง (hard-wiring) และเป็นเพียงแค่ temporary หรือ soft-wiring เท่านั้น ก็จะไม่เป็นที่แปลกใจแต่อย่างใดถ้าหากบัณฑิตจบการศึกษาไป ไม่ต้องถูกประเมิน ถุูกให้คะแนน แล้วบัณฑิตจะหันไปเอนอิงกับ​ "กรอบคุณค่าอันใหม่" ได้อย่างรวดเร็ว อาทิ materialism ต่างๆ

การจะปลูกฝังให้ว่าที่บัณฑิตของเรามี sustainability ที่สามารถธำรงรักษา professionalism ไว้ต่อไปได้ เป็น skill อีกแบบหนึ่ง ที่ผู้เรียนต้องใช้ทั้ง attention และ intention เพื่อทำให้เกิด และไม่มีใครจะบอกให้ทำได้ยกเว้นตัวบัณฑิตเอง ที่จะต้องเกิดฉันทา มองเห็นคุณค่าของกิจกรรมใดๆแล้วเชื่อมโยงเข้ากับ values ของตัวตนของเขาเองได้

SUMMARY

การสร้างเสริมสุขภาพ การทำให้เกิด empowerment ไม่ว่าจะเป็นของประชาชน หรือของนักเรียนก็ตาม เป็นการหล่อหลอมเจตนคติ ที่ต่างจากการสร้างแค่ทฤษฎีความรู้ หรือความเชี่ยวชาญชำนิชำนาญ การสร้าง affective domain นั้น "ตัวตน (ego)" ของผู้เรียนจะต้องถูก altered และ open เกิดใหม่ทุกๆครั้งที่มี encounter กับคนไข้ หรือใครก็ตาม ขั้นตอน relaxation, redesign/reframe, recreation และ reflection เป็นขั้นตอนที่สำคัญ และพบว่าสามารถนำดัดแปลงเป็นวิถีปฏิบัติได้โดยไม่ยาก และน่าจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องนี้ เพื่อการหลากหลายและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 192303เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2008 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • มาบอกอาจารย์ว่า ได้ตามอ่านบันทึกของอาจารย์แบบนักเรียนคนหนึ่ง และได้ลองเอาบทเรียนที่สอนสั่งไว้ไปทดลองทำเพื่อ empower คนเพื่อจะทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้ค่ะ
  • ไม่ได้อยู่ที่ว่าใคร "ควร" จะทุกข์เรื่องอะไรดี เพราะเรารู้สึกทุกข์จริงๆในเรื่องไหน เราก็ควรจะ sincere และเคารพในความทุกข์ของเรา
  • และตัวเราเท่านั้น คือ คนที่จะเป็นผู้แก้ไขมันได้
  • ตอนไปทำ พลิกตำราอาจารย์หลายรอบว่าจะหยิบอะไรไปใช้ดี ด้วยกลุ่มที่ไปทำให้ เป็นกลุ่มที่ชอบคุยมากกว่าฟัง ใช้พลังใจเยอะค่ะตอนที่ทำ ตอนเริ่มเหมือนจะไม่สำเร็จแต่ลงเอยสมความคาดหวังได้ค่ะ
  • จึงมาขอบคุณการถ่ายทอดค่ะ ที่ทำให้เข้าใจง่าย
  • .........
  • มาอ่านบันทึกนี้ ถึงบางอ้อค่ะว่า ที่ทำสำเร็จตามเป้า เพราะขั่นตอนที่ทำ บังเอิญตรงหลักข้างต้น
  • Relaxation การเรียนแบบผ่อนคลาย
  • Reframe/Redesign การปรับมุมมอง ปรับกระบวนทัศน์
  • Recreation การสร้างสรรค์
  • Reflection การสะท้อน
  • .........
  • ตามประสบการณ์ส่วนตัวกับสิ่งที่ทเพิ่งทำมานั้น คิดว่า จุดสำคัญ คือ การสะท้อนให้เกิดการสร้างสรรค์กระบวนทัศน์ใหม่ในตัวคนค่ะ
  • มาสมัครเป็นนักเรียนต่อค่ะ

สวัสดีครับ พี่หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ (ยาวจัง)

ถูกแล้วครับ หลักการที่ดี ก็คือ ภาคปฏิบัติที่ทำให้งานตรงหน้าเราสัมฤทธิ์ผลนั่นเอง ทำๆไปดูเหมือนกับว่าขอเพียงเราอยู่กับนักเรียน (หรือคนไข้) ข้างหน้าเราจริงๆจังๆ ไม่มัวไปกอดตำรา หาหลักการ พาลติดขัด เราก็จะได้ทั้งสอน ทั้งเรียน ไปพร้อมๆกันกับทั้งวงเลยทีเดียว

ขณะที่ผมเขียนไป ผมก็เรียนไปด้วยเหมือนกันครับ โดยเฉพาะจาก comments ของกัลยาณมิตรทั้งหมดนี่เอง

ทำไม บางกอก chater ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท