ตอนที่59 เรียนรู้ส้มโอขาวแตงกวากับเกษตรกรต้นแบบที่ชัยนาท


ส้มโอขาวแตงกวารสชาติที่กลมกล่อมจนเป็นที่เลื่องลือถึงความอร่อยที่เป็นเลิศกว่าส้มโอสายพันธุ์อื่น

เมื่อกล่าวถึงส้มโอต้องนึกถึงส้มโอขาวแตงกวา เพราะว่ามีรสชาติที่กลมกล่อมจนเป็นที่เลื่องลือถึงความอร่อยที่เป็นเลิศกว่าส้มโอสายพันธุ์อื่น แต่ว่าถ้าไปปลูกในถิ่นอื่นก็ยากนักที่จะผลิตให้รสชาติเหมือนกับปลูกที่จังหวัดชัยนาท อาจจะเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศ สภาพของดินในจังหวัดชัยนาท และความชำนาญการปลูกของเกษตรกรที่บ่มเพาะความรู้ความสามารถมายาวนาน

จากความสำคัญของส้มโอขาวแตงกวา สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท  จึงจัดคัดกรองความรู้การผลิตส้มโอขาวแตงกวา  จากเกษตรกรต้นแบบผู้มีความชำนาญการผลิตส้มโอ  โดยคัดเกษตรกร 9 คนจากอำเภอเมืองชัยนาท  มโนรมย์ และ สรรคบุรี ประกอบด้วยนายสว่าง  อ่อนศรี  นางทองหยิบ  นิยมธรรม   นายอุดม  สุขนาม  นายชัชชัย  ทับทอง  นายวินัย  ขำกล่ำ  นายแหวน  เอี่ยมฉ่ำ  นายสุชิน  เนียมทอง  น.ส.สุธิสา   ชื่นสันต์  นางสมนึก  อ่อนศรี  โดยมีเกษตรจังหวัดชัยนาท (นายรังสรรค์  กองเงิน)  เป็นผู้อำนวยการจัดเวที พอสรุปความรู้ได้ดังนี้

แรกเริ่มถ้าจะคิดปลุกส้มโอขาวแตงกวาจะต้องมีใจรักก่อน  แหล่งน้ำ  แหล่งน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ  แต่ถ้าเป็นน้ำบาดาลที่มีสนิมเหล็กจะต้องมีแหล่งพักน้ำไว้ไม่ต่ำกว่า 3 วัน   ดิน ควรเป็นดินร่วน ไม่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง และควรนำดินวิเคราะห์เพื่อทราบชนิด และธาตุอาหารในดิน 

การเตรียมดิน  จะต้องปรับสภาพดินให้เรียบสม่ำเสมอเพื่อสะดวกแก่การระบายน้ำ  ไถตากดินทิ้งให้แห้ง  ก่อนเตรียมแปลงปลูกตามสภาพของพื้นที่หรือประเภทของสวน พื้นที่ลุ่ม  ปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างด้วยปูนตามค่าวิเคราะห์ดินหรือประมาณ  500  กก./ไร่  หว่านให้ทั่ว  ยกร่องกว้าง 6-8  เมตร  ร่องน้ำลึก 1  เมตร  กว้าง 1-1.5  เมตร  บางรายปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงทิ้งไว้  10  วัน  เพื่อกำจัดศัตรูพืช  และให้เม็ดดินประสาน  พื้นที่ดอน ไม่ต้องยกร่องเพียงทำทางระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมขัง

การปลูก  หลังจากเตรียมกิ่งพันธุ์ที่เลือกกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์  ตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรคและแมลงที่จะระบาดต่อไปในอนาคต ควรเลือกซื้อในส่วนที่เชื่อถือได้  เตรียมหลุม โดยพูนดินปลูกทำเป็นโคกสูง  20-30  ซม.  ย่อยดินให้ละเอียด หากเป็นกิ่งตอนที่ตัดมาใหม่ ๆ ควรตัดกิ่งให้มีจำนวนน้อยลง  เอาใบอ่อนออกครึ่งหนึ่ง กิ่งตอนเหล่านี้ควรมัดรวมกันจุ่มน้ำให้มิดต้นทิ้งไว้จนฟองอากาศหมด  ตั้งกิ่งให้ตุ้มแช่น้ำทิ้งไว้ 1 ช.ม.  นำขึ้นไปพักรอปลูก  แต่ไม่ควรเกิน 4 วัน และต้องจุ่มแช่น้ำทุกวัน นำไปปลูกตรงกลางแอ่งที่ทำไว้บนโคกให้ระดับของดินอยู่เหนือตุ้มกาบมะพร้าวของกิ่งตอนประมาณ 5 ซ.ม. ข้อสำคัญอย่าลืมแกะเอาเชือกหรือตอกและผ้าพลาสติกที่หุ้มตุ้มตอนออกด้วย แต่ถ้าเป็นกิ่งตอนที่ชำแล้วให้วางต้นกล้าส้มโอลงหลุม กรีดถุงพลาสติกดึงออกอย่าให้ดินแตกกลบดิน  รดน้ำทันทีเพื่อให้เม็ดดินกระชับราก  การค้ำกิ่งต้องปักหลักเอียง 45 องศา   1-3  หลักเพื่อป้องกันลมพัดโยก  ควรใช้เชือกก้านกล้วยและหมั่นตรวจเสมอ  ป้องกันขาดก่อนหรือแน่นเกิดไป  จนกว่ากิ่งจะมีรากยึดลำต้นลมไม่สามารถโยกลำต้นได้จึงปลดออก  และควรให้น้ำสม่ำเสมอ โดยสังเกตความชื่นในดิน  แต่ไม่ควรแฉะเกินไป 

การดูแลรักษา   การใส่ปุ๋ย  ขึ้นอยู่กับสภาพดินและอายุของต้นส้ม  ส้มปลูกใหม่ใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ  เช่น  15-15-15  หรือ 16-16-16  ประมาณ 1 ขีด  ต่อต้น  ประมาณ 2-3  เดือนต่อครั้ง  สังเกตลักษณะของส้ม   ส้มโอยังไม่ให้ผล (อายุ 1-3 ปี)  ใช้ปุ๋ยสูตรเสมออัตรา 200  กรัมต่อต้น  เพิ่มปริมาณขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของทรงพุ่มส้มโอ หลังปลูก 1 เดือนใส่ปุ๋ย 25-7-7 อัตรา 50 กรัม/ต้น  ส้มโอที่ให้ผลผลิตแล้ว  (อายุ 4 ปีขึ้นไป)  ใส่ปุ๋ยเคมี 2 ช่วงคือ 

หลังเก็บเกี่ยวผล เมื่อตัดแต่งกิ่งเสร็จใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอต้นละ  1 กก. ขึ้นไป และปุ๋ยอินทรีย์ 5 กก./ต้น  หว่านให้ทั่วทรงพุ่ม

-   เมื่อส้มโอติดผล  ผลอายุ 2  เดือน  ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ สูตร 16-16-16 หรือ15-15-15 อัตราต้นละ 2 กก. ขึ้นไป และใส่ปุ๋ยปรับปรุงบำรุงผลผลิตเพื่อเพิ่มความหวานให้ส้มโอสูตร 13-13-21  หรือ 14-14-21  อัตรา 2  กก./ต้น  หว่านรอบทรงพุ่ม  การให้น้ำนั้นไม่ความให้ขณะพื้นดินแฉะน้ำ  ควรปล่อยให้พื้นแห้งแล้วจึงให้น้ำพอชื้นก่อนใส่ปุ๋ย  และรดน้ำพอชุ่มอย่าโชกเกินไป  และควรใส่ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์โดยเฉพาะขี้ค้างคาวจะมีสภาพดีมากในส้มโอ  เนื่องจากมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซี่ยมสูงทำให้รสชาติดีมาก

-    การให้ปุ๋ยทางใบ สามารถให้เป็นระยะ ๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของส้มในแต่ละพื้นที่ เช่น แคลเซี่ยม  โดยใช้สลับกับธาตุอาหารเสริม ฉีดพ่นช่วงแตกใบอ่อน ไม่ควรฉีดพ่นบ่อยสังเกตใบ ใบเหลืองเส้นใบเขียว ใบด่าง แสดงอาการขาดธาตุสังกะสี (Zn)   ปีละไม่ควรเกิน 4 ครั้ง ดูที่อาการใบเป็นหลัก

การบังคับให้ส้มโอออกดอก น้ำ  ถ้าเป็นสวนแบบยกร่อง  ต้องสูบน้ำออกให้แห้ง (เดือนธันวาคม) งดให้น้ำจนใบสลด  เริ่มให้น้ำครั้งเดียวก่อน  เพื่อให้ส้มโอปรับสภาพ และให้น้ำเต็มที่ติดต่อกันถึง 7 วัน  หลังจากนั้น  7-15  วัน  ส้มโอจะแตกใบอ่อนพร้อมดอก  ฉีดพ่นฮอร์โมนสาหร่ายทะเล  เพื่อกระตุ้นให้ออกดอกมาก ๆ และเป็นดอกที่สมบูรณ์เมื่อติดลูกแล้วฉีดพ่นธาตุอาหารเสริม  ผสมสารเคมีกำจัดเชื้อรา  หรือกำมะถัน  เพื่อป้องกันเชื้อราและศัตรูพืชทำลายขั้วผลทำให้ผลอ่อนร่วงในช่วงฤดูหนาวประมาณ  2   ครั้ง

โรคและแมลงศัตรูพืช โรครากเน่าโคนเน่า  ใช้เชื้อราไตรโครเดอร์ม่าใส่ลงดินเพื่อป้องกันโรครากเน่า โรคแคงเกอร์  จะระบาดมากในช่วงต้นฤดูหนาวใช้สารเคมีกำจัดหนอนชอนใบ  ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันโรค  ในส่วนของแมลงศัตรูพืช  ที่สำคัญ  คือ  เพลี้ยไฟ  ไรแดง หนอนชอนใบและเพลี้ยหอย  ใช้สารเคมีฉีดพ่นป้องกัน-กำจัด 

การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลส้มโออายุ 7-8  เดือน  หลังออกดอก

การตัดแต่งกิ่ง  ถ้าตัดแต่งกิ่งดีจะออกดอกดี ถ้าตัดแต่งกิ่งไม่ถูกต้องแล้วจะไม่ออกดอกในฤดูถัดไป ควรควบคุมพุ่มทุกระยะ ตัดกิ่งกระโดงภายในทรงพุ่มให้หมด ในส่วนกิ่งแขนงในทรงพุ่มต้องเก็บไว้บ้างเพื่อให้ออกดอกในฤดูถัดไป การตัดควรตัดชิดลำต้นหรือกิ่งหลัก  หลังตัดต้องมีการใส่ปุ๋ยและรดน้ำ 

หมายเลขบันทึก: 191479เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีครับ
  • แวะมาเยี่ยมเยียน
  • ขอบคุณมากครับ ที่บันทีกเรื่องดีๆ มาแบ่งปันเสมอ
บ.พีรันธร จำกัด 081-8476508

ขอบคุณสำหรับข้อมูล

ขอให้ประสบความสำเร็จทุกาอย่างที่คุณต้องการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท