ประชุมคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและประเมินสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) - สบร.


         วันที่ 14 มี.ค.49   ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการชุดนี้ของ กพร.   โดยมี มรว. จัตุมงคล  โสณกุล  เป็นประธาน,   ศ. นพ. วันชัย  วัฒนศัพท์,  รองเลขาธิการอาคม  เต็มพิทยาไพสิฐ (สภาพัฒน์),  และผม  เป็นกรรมการ

         ผู้มาชี้แจงมี 2 ฝ่าย   คือฝ่าย สบร.  กับฝ่ายทริส   ผู้ประเมินตอนแรกก็สับสนกันนิดหน่อย   เพราะผู้รับผิดชอบการประชุมไม่ได้ส่งข้อมูลเรื่อง สบร. ให้แก่คณะกรรมการให้ศึกษามาก่อนเลย   ท่านประธานจึงซักเอา ๆ   แต่ด้วยความหัวไว  ท่านก็เข้าใจได้โดยเร็วและทำให้ผมได้ข้อมูลว่าหน่วยงานนี้ได้งบประมาณถึงปีละ 2,200 ล้านบาท   ทำงานมาได้ปีเศษ   เวลานี้ยังไม่มีผู้อำนวยการ สบร.  มีคุณพันธ์ศักดิ์   วิญญรัตน์  รักษาการผู้อำนวยการ   และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารในเวลาเดียวกัน   มีเสียงลือกันว่าตำแหน่งผู้อำนวยการเงินเดือนถึง 5 แสนบาท   ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่   ส่วนประธานคณะกรรมการนโยบายคือนายกรัฐมนตรี

สบร. มีสภาพคล้าย container ภายในมี "กล่อง" หรือหน่วยงาน 7 หน่วยงานคือ
 1. สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park)  ดร. สิริกร  มณีรินทร์   ประธานกรรมการและปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ
 2. สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) นายพันธ์ศักดิ์  วิญญรัตน์  ประธานกรรมการ   นายไชยยง รัตนอังกูร ผู้อำนวยการ
 3. สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
 4. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS)  ศ. นพ. พรชัย  มาตังคสมบัติ  ประธานกรรมการ   นพ. ธงชัย  ทวิชาชาติ  ผู้อำนวยการ
 5. ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ (NGT) อยู่ระหว่างสรรหาประธานกรรมการ   นางงามมาศ  เกษมเศรษฐ ผู้อำนวยการ
 6. สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (Brain - based Learning, NBL) ดร. กฤษณพงศ์  กีรติกร  ประธานกรรมการและปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ
 7. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (Moral Center) นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการ   น.ส. นราธิป  พุ่มทรัพย์  ผู้อำนวยการ

         ผู้มาชี้แจงจาก สบร. ไม่ใช่ CEO ตัวจริง   การชี้แจงจึงอ้อม ๆ แอ้ม ๆ และผมรู้สึกว่าค่อนข้างไม่โปร่งใส   ไม่ทราบว่าผมมีอคติหรือเปล่า   ผมสงสัยด้วยว่า   ในวาระเจรจาเรื่องสำคัญแบบนี้ทำไม กพร. ยอมให้คนระดับ middle management เป็นผู้มาชี้แจง

         เป้าหมายลึก ๆ ของ สบร. คือ "สร้างคนพันธุ์ใหม่"  นี่คือคำที่หลุดออกมาจากปากของผู้มาชี้แจง   เน้นการพัฒนานโยบาย value creation เน้น cultural sector

         มีคนบอกผมหลายเดือนมาแล้วว่า   นายกทักษิณเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาจากคนในวงการศึกษาหรือกระทรวงศึกษาไม่มีทางสำเร็จ   จึงตั้งหน่วยงาน สบร. เพื่อ manage change จากภายนอกวงการศึกษา

         ประธานซักอุตลุด   เพราะท่านไม่รู้จักหน่วยงานนี้   ในที่สุดก็สรุปได้ว่า 6 แท่งแรกเน้นสร้างคนเก่ง   แท่งสุดท้ายเน้นสร้างคนดี   การซักและตอบทุลักทุเลมาก   เพราะคนซักกับคนตอบมีระดับความคิดต่างกัน

         หน้าที่ของคณะกรรมการ  คือเจรจาและมีมติเกี่ยวกับตัวชี้วัด   เป้าหมายและเกณฑ์การให้คะแนน   ซึ่งในที่สุดก็มีมติให้แก้ไขตัวชี้วัดให้เป็น composite indicators  เพื่อให้สะท้อนงานได้จริง   ไม่ใช่เอาไก่,  หมู,  ช้าง  มานับรวมกันแล้วบอกว่าจะเลี้ยงสัตว์ 100 ตัว

         ผมมีความรู้สึกลึก ๆ ว่างานนี้ poor management   กรรมการไม่ได้รับเอกสารล่วงหน้า   เสียเวลาทำความเข้าใจเรื่องนานเกินไปกว่าจะได้เข้าเรื่อง   และเกณฑ์ที่ใช้วัดที่เตรียมมาก็ผิวเผิน

         ในบันทึกวันพรุ่งนี้จะนำสรุปความเป็นมาและสาระสำคัญของการจัดตั้ง สบร. มาลงไว้   เพราะจริง ๆ แล้วเป็นงานที่ถ้าเชื่อมโยงกับ สคส. จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน   และทำประโยชน์ให้แก่ประเทศได้มาก

วิจารณ์  พานิช
 15 มี.ค.49

หมายเลขบันทึก: 19137เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2006 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

                      ชัดเจนดีครับอาจารย์ ขอบพระคุณครับ แล้วเร็ว ๆ นี้จะมาแลกเปลี่ยน หน่วยที่ ๕

                       ผมสนใจและติดตามเรื่องนี้ โดยเฉพาะ NGT มีการขยายศูนย์ไป  เมื่ออยู่ใกล้เลยไปเรียนรู้กับศูนย์ GTXNAN2  ด้วยครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท