การประเมินผลโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ


งานวิจัยจาก ส.ม.1 มมส
ผู้วิจัย นายสมเกียรติ ธรรมสาร
ส.ม.1 มมส สาขาการจัดการระบบสุขภาพ

บทคัดย่อ

อำเภอหัวตะพานได้ดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นมา แต่ยังไม่มีการประเมินผลโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับอำเภอ ส่งผลกระทบให้องค์กรไม่ทราบถึงสถานการณ์ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดที่มีผลต่อโครงการ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ทำการประเมินผลโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญขึ้น โดยใช้รูปแบบซิปป์โมเดลในการประเมินผลโครงการในด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิตของโครงการ โดยศึกษากับผู้บริหาร บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบเก็บข้อมูล และแบบสอบถามความคิดเห็น เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 1-31 ธันวาคม 2546 สถิติที่ใช้ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติ t-test ผลการวิจัยมีดังนี้

ด้านบริบท มีการถ่ายทอดนโยบายสู่ผู้ปฎิบัติเป็นลายลักษณ์อักษร สภาพแวดล้อมทั่วไป มีศูนย์สุขภาพชุมชน 1 แห่งที่รับผิดชอบประชากรในพื้นที่เกิน 10,000 คน ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ด้านปัจจัยนำเข้า สถานบริการสาธารณสุขมีความครอบคลุมทุกพื้นที่ บุคลากรโดยเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับอัตราส่วนต่อประชากรตาาเกณฑ์มาตรฐานงบประมาณ มีรายรับจากเงินฝากรับโอนจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 56.55 รายรับไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานอื่นใน การดำเนินการอย่างน้อย 1 โครงการ ด้านกระบวนการ มีการสำรวจและลงทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย โปรแกรมสำเร็จรูป (THO) การโอนเงินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากส่วนกลางสู่พื้นที่ล่าช้า ศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตโรงพยาบาลศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตสำนักงานสาธารณสุข อำเภอ และสถานีอนามัยผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 83.65, 83.21, และ 89.67 ตามลำดับ ด้านผลผลิต มีการดำเนินการตามแผนงาน โครงการที่วางไว้ ร้อยละ 58.33 ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกเฉลี่ยต่อครั้งของโรงพยาบาล 55.93 บาท และค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกเฉลี่ยต่อครั้งของสถานีอนามัย 16.55 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
ส่วนค่าเฉลี่ย ผู้ป่วยในเฉลี่ยต่อครั้งของโรงพยาบาล 1,876.91 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ สถานบริการสาธารณสุขมีความครอบคลุมการมีหลักประกันสุขภาพร้อยละ 100.00

ด้านความคิดเห็น ผู้บริหารมีความคิดเห็นด้วยมากกว่าบุคลากรสาธารณสุขในด้านบริบท (P<0.05) แต่มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกันในด้านปัจจัยนำเข้าและกระบวนการของโครงการ ส่วนใหญ่เห็นว่าโครงการนี้ควรดำเนินต่อไป การมีส่วนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมรักษาพยาบาล 30 บาท ต่อครั้งของประชาชนมีความเหมาะสม และการลงทะเบียนผู้มีสิทธิมีความครอบคลุม บุคลากรสาธารณสุข มีความคิดเห็นว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรสาธารณสุขมีความเหมาะสม และระบบบริการของสถานบริการสาธารณสุข มีคุณภาพมาตรฐาน และประชาชนมีความคิดเห็นว่า นโยบายของโครงการมีความชัดเจน ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในโครงการและการสำรวจผู้มีสิทธิมีหลักประกันสุข ภาพมีความครอบคลุม

ด้านความพึงพอใจ ผู้รับบริการมีระดับความพึงพอใจมากที่สุด คือ การจัดอาคารสถานที่เป็นระเบียบและสะดวกต่อผู้รับบริการ เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ และการจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทต่อครั้งมีความเหมาะสม สำหรับความพึงพอใจของผู้รับบริการในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง

ความมุ่งหมายของการวิจัย

1. เพื่อประเมินบริบทของโครงการ ในด้านนโยบาย สภาพแวดล้อมทั่วไป และความคิดเห็นของผู้บริหาร บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนต่อบริบทของโครงการ

2. เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในด้านสถานบริการ บุคลากร งบประมาณ การมีส่วนร่วมจากหน่วยงานอื่น และความคิดเห็นของผู้บริหาร บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนต่อปัจจัยนำเข้าของโครงการในด้านบุคลากร งบประมาณ ทรัพยากร และการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานอื่นๆ

3. เพื่อประเมินกระบวนการของโครงการ ในด้านระบบทะเบียน ระบบบริหารจัดการ ระบบบริการ ระบบข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นของผู้บริหาร บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนต่อกระบวนการของโครงการในด้านระบบทะเบียน ระบบบริหารจัดการ ระบบบริการและระบบข้อมูลข่าวสาร

4. เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ ในด้านผลการดำเนินการ ความเสมอภาคและเป็นธรรม การบริการ ความครอบคลุมการมีหลักประกันสุขภาพ ความพึงพอใจของผู้รับบริการ และการรับรู้และประสบการณ์ในการรับบริการของประชาชน

5. เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของผู้บริหารกับบุคลากรสาธารณสุขต่อบริบท ปัจจัยนำเข้า และกระบวนการของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

6. เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

คำสำคัญ (Tags): #ส.ม.1#มมส#research
หมายเลขบันทึก: 19082เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2006 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท