กฎเกณฑ์ เป็นความจำเป็นระดับต่ำสุดที่มนุษย์ร้องขอ


“ปัจจุบันนี้ เวาลาจะคุยกันก็ต้องเสียตังค์ คนเมื่อก่อนคุยกันได้สบาย ๆ”

     ชาวบ้านตำบลเขาปู่ อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง ประมาณ 80 คน ซึ่งผมและทีมงานไตรภาคีฯ ได้มาทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตาม “โครงการพัฒนาศักยภาพทีมสุขภาพภาคประชาชน” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา เอื้อให้เกิดเวทีขึ้นโดย สอ.เขาปู่ ซึ่งมีหมออนามัยผู้หญิงล้วน 2 คน อยู่ปฏิบัติการเท่านั้น และรับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน เป็นอย่างนี้มานานแล้ว คำถามว่าทำไมเขาอยู่กันได้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก แต่เอาไว้บันทึกหลัง ๆ ยังจะมีเรื่องเล่าจากที่นี่อีกหลาย ๆ บันทึก เพราะประทับใจมาก

     มีอยู่ตอนหนึ่งในขณะที่ได้แบ่งกลุ่มตามอายุ เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม “คนแต่แรก (คนสมัยก่อน)” “คนในอยู่ (คนยุคปัจจุบัน)” และ “เด็กรุ่นไหม” (คนอนาคต) [ในเครื่องหมายคำพูดให้อ่านเป็นภาษาใต้] ผมมอบโจทย์ว่า... “คนแต่ละยุค (จะ) อยู่กันอย่างไร” โดยให้แต่ละกลุ่มแยกไประดมสมองกันและกลับมานำเสนอต่อที่ประชุม

     ในกลุ่มของคนปัจจุบัน (ตามภาพ) ได้นำเสนอในหลาย ๆ ประเด็นที่น่าประทับใจมากคือ “ปัจจุบันนี้ เวาลาจะคุยกันก็ต้องเสียตังค์ คนเมื่อก่อนคุยกันได้สบาย ๆ” เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมตั้งใจว่าจะขยายความในอีกบันทึกหนึ่ง แต่ในบันทึกนี้จะขอกล่าวถึงประเด็นแรกสุดที่ทางกลุ่มได้ให้ความสำคัญสูงสุดในการจัดเรียง คือ “คนปัจจุบันขาดอิสระ เสรีภาพ” ผมนั่งฟังด้วยใจจดใจจ่อว่าเขาคิดอะไรต่อ และจะอธิบายสิ่งที่เขา (กลุ่ม) คิดออกมาในลักษณะใด แล้วก็ทึ่ง...ใช้คำนี้แหละครับเหมาะที่สุด

     คนโดยเฉพาะชาวบ้านอย่างเรา ๆ ในปัจจุบันถูกบังคับโดยกฎหมาย กฎระเบียบ ต่าง ๆ นานา ที่ไม่เคยทราบมาก่อน มากมายจนทำตัวไม่ถูก ไปติดต่อราชการก็ต้อง...อย่างนั้น...อย่างนี้ สุดท้ายไปแล้วไปอีกก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร แถมถูกต่อว่ากลับมาอีกว่า “ไม่รู้เรื่องอะไรเลย” “ไม่มีการศึกษา ก็พูดยากอย่างนี้แหละ” ฯลฯ เป็นวลีที่ “พี่วี” (คนถือไมค์) พรุ่งพรูออกมา ทำให้ทั้งผู้เข้าร่วมเวที ทีมงาน และผมหัวเราะ เออออ ไปกับพี่เขา ลึก ๆ กลุ่มนี้ยังคิดไปไกลกว่านั้น โดยพี่วีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “กฎเกณฑ์ ต่าง ๆ น่าจะเป็นความจำเป็นระดับต่ำสุดที่เรา ๆ จะร้องขอ แต่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย”

     ผมเริ่มเปิดประเด็นต่อกับ “พี่วี” ในช่วงพักเที่ยงว่าทุกวันนี้เราเลือกทางเดินชีวิตผิดไปไหม ที่อะไร ๆ ก็ต้องบังคับกัน ทำไมเราไม่เลือกที่จะทบทวนเพื่อนำเอาของเก่า ๆ ของ “คนแต่แรก” กลับมาใช้อีกบ้าง เช่นการเอื้ออาทรกัน การให้ใจกัน การนับย่านสาวโยด หรือการอยู่ด้วยกันแบบเครือญาติ ตามที่กลุ่ม “คนแต่แรก” (คนในอดีต) ได้นำเสนอไว้ และดูท่าทางหลังการสนทนา “พี่วี” คิดอะไรได้หลายอย่าง ในฐานะผู้นำชุมชน ผมคงต้องติดตามดูอีกครั้งว่าพี่เขาจะขยายผลจากความเข้าใจนี้ไปอย่างไรบ้าง

     ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าโดนจุดดวงใจผม เมื่อกลุ่มนี้นำเสนอในประเด็นที่ว่า “กฎเกณฑ์ เป็นความจำเป็นระดับต่ำสุดที่มนุษย์ร้องขอ” เพราะการใช้กฏเกณฑ์ต่าง ๆ มาบังคับใช้ในสังคม เป็นการสร้างแรงจูงใจเชิงลบ ซึ่งผมจะไม่ค่อยเชื่อถือนักว่าจะได้ผลในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันหากไม่มีเสียเลยก็ย่อมจะไม่เกิดผลดีในกรณีที่มีคนรวมกันอยู่เป็นหมู่มาก แต่หากมีมากเกินพอดีนี่แหละที่ทำให้เกิดความสับสน อาจจะไม่รู้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน ไม่เข้าใจ หรือเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่ให้รู้อย่างชัดแจ้งโดยเท่าเทียมกัน อย่างนี้กฏเกณฑ์ที่ว่าก็รังแต่จะสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้น ตรงกับที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง เล็ก ๆ ที่มาร่วมเวทีฯ มีอาชีพทำสวนผลไม้ ทำสวนยางพารา ได้สะท้อนออกมาตรง ๆ ว่า “ขาดอิสระ เสรีภาพ” ทั้ง ๆ ที่อยู่ในระบบการปกครองแบบประชาธิบไตยเต็มใบ (ตามที่ว่า...กัน)

     อนึ่งมองว่าเป็นธรรมชาติโดยสามัญหรือว่า...อย่างไร ที่กฎระเบียบมีไว้เพื่อข้ามพ้น หลีกหนี หลีกเลี่ยง ฉ้อฉล หรือการได้แหกกฎ เป็นเรื่องเท่ห์ เป็นเรื่องที่ดี ก็ไม่ทราบได้ ฉะนั้นเราจะมีกฏเกณฑ์ ไว้เป็นพันธนาการทำไมตั้งมากมาย ทำไมเราไม่พยายามปลดพันธการนี้กันเสียบ้าง เรียกว่า “No-Condition” หรืออยู่กันอย่างไร้เงื่อนไขใด ๆ เสียบ้าง (ไม่ใช้ทั้งหมด) เราอาจจะค้นพบความสุขเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ต่อจิตใจ และต่อความเป็นมนุษย์ก็ได้...น่าลองดู

หมายเลขบันทึก: 19057เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2006 01:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
     เข้าใจเลยว่า "คุณดอกหญ้า" ลึกซึ้งกับวิถีชุมชนอย่างไรด้วยถ้อยสำนวนประมาณนี้คือ "กฏเกณฑ์จะไม่เป็นกฎเกณฑ์แต่พร้อมปฏิบัติ หากชุมชนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นปทัสฐานของชุมชน-สังคม"...อืม

ในความจริงแท้...

ในความจริงแท้..ดิฉันแทบจะไม่ได้อยู่ในวิถีชุมชนมากนัก..
ด้วยภาระหน้าที่..แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ถูกรับเลือกมา..เพื่อภาระกิจนี้คือ...
ความเชื่อและศรัทธา..ในกระบวนการทางปัญญา...ที่มีอยู่ใน "มนุษย์"
และทุกครั้งที่มาพบเจอ...มีความสุขค่ะ..
งดงามมากค่ะ..กระบวนการทางปัญญา...อันชาญฉลาด..
ของ..เหล่าชาวบ้านและชุมชน...

สีเล นะ สุคติง ยันติ          ศีลนำพาความสุขมาให้ทั้งโลกนี้

                                    และโลกหน้า.......

สีเล นะโภคสัมภทา          ศีล นำโภคทรัพย์(ทั้งทรัพย์ภายใน

                                   และภายนอก)มาให้ทั้งในชาตินี้และ

                                   ชาติหน้า.....

สีเล นะ นิพพุติง ยันติ        ศีล นำทางไปสู่พระนิพพาน......

ตัสสมา สีลัง วิโส ทะเย      ไม่มีอะไรวิเศษไปกว่าศีล.ดังนี้แล ฯ

ขอยกบทสวดที่แสนคุ้นเคยจากhttp://bloggang.com/viewdiary.php?id=amatamahanippan&group=3&month=12-2005&date=30&blog=1

เพื่อประกอบการแสดงความเห็น

ศีล วินัย กฎเกณฑ์ ล้วนอยู่ในแนวเดียวกัน

ศีลเป็น Explicit Knowledge

ธรรมเป็น Tacit Knowledge

ถ้าระดับธรรมของเราไม่พอเราก็จะอึดอัดกับกฎเกณฑ์

(หย่อนไป) หรือ ยึดมั่นกับกฏเกณฑ์ เกินไป (ตึงไป)

ถ้าระดับธรรมของเราพอเราก็จะรู้เมื่อใดต้องใช้กฏใด

ถ้าตอนนี้เราอึดอัดกับกฏเกณฑ์บางอย่างลองเรียนรู้

เข้าสู่วงจร S-E-C-I เมื่อถึงระยะ internalization

ความอึดอัดก็จะคลายไปเอง

อิสระที่แท้จะเกิดขึ้นได้ต้องขจัดอวิชชาครับ

เอวัง

 

กฏและเกณฑ์

กฎและเกณฑ์...คือสิ่งที่ "คน"..."มนุษย์"...กำหนด
กำหนด...เพื่อ..กำหนด
หากบางครั้งหรือหลายๆ..ครั้ง
คน...มนุษย์..นั้น..ต่างหลุดไปใน "บ่วง"
แห่งกฏและเกณฑ์นั้น...
ไม่หลุดพ้น...และเกิดทุกข์
หา..ทางไม่เจอ..เพราะหลงทาง
ไปในกฏและเกณฑ์...
หากบางครั้ง...
ลองที่จะอยู่...นอกเหนือ..กฏและเกณฑ์...
อย่างไร้เงื่อนไขใดใด...อย่างไม่คาดหวัง
บางครั้ง...อาจพบหนทาง...ที่ "มีสุข"...
ในจิต..ใจ..ที่เคยใฝ่หามานาน..ก็อาจเป็นได้

     ขอบคุณที่ได้เปิดประเด็นเรื่องศีลและธรรม เพื่อตอกย้ำการดำเนินชีวิตที่พยายามลดกฎเกณฑ์ลง ที่มาของศีล ก็เพราะขาดธรรมในปฐมไม่ใช่หรือ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติศีล เพื่อค้ำจุนสังคม ในขณะที่ธรรมเป็นเครื่องหนุนเสริมสังคมสู่ศานติ และความสุข "ศีล" จึงเป็นความจำเป็นขั้นต่ำสุด (เน้นว่าจำเป็น) และ "ธรรม" เป็นความจำเป็นขั้นสูง โดยธรรม(ชาติ)

ความดีงามที่มีอยู่ในจิตใจผู้คนเป็นสิ่งที่มีอยู่เดิม ดำรงอยู่และนำมาใช้เพื่อการอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติ ภาคอดีต (แตแรก ภาษาใต้พัทลุง)จากมุมมองของกลุ่มคนในที่ได้ร่วม ลปรร.หลายเวทีสะท้อนถึงความสุขใจ มีเสียงหัวเราะ เปี่ยมรอยยิ้ม มีปิติแห่งความภาคภูมิใจอย่างเห็นได้ชัด มากและหลากหลายประเด็น ร่องรอยของอดีตช่างมีความสุขและน่าประทับใจ ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้บรรยากาศของอดีตที่มีคุณค่าสืบทอดมาสู่ยุคสมัยของเราเพื่อการส่งต่อสู่ยุคสมัยในรุ่นลุกหลาน ภาคปัจจุบัน(ในอยู)มีมุมมองที่หลากหลายเงื่อนไขทางสังคมเพิ่มขึ้นผู้คนคิดอะไรที่แยกส่วนเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น เรียนสูง ผู้คนมีความรู้ตามแบบฉบับการศึกษาสมัยใหม่มากขึ้น บางครั้งหรือหลายครั้งมีความสับสนในบทบาทที่มีต่อสังคม มีแนวคิดแบบวัตถุนิยมหลงไหลเทคโนโลยี(แม้กระทั่งพูดกันก็เสียเบี้ย....ฮา)บรรยากาศการแลกเปลี่ยนหลายเวทีที่สังเกตุได้มักเคร่งเครียดจริงจัง ค่อนข้างมีรูปแบบเป็นทางการ ภาคอนาคต(ตอไปข้างหน้า)เนื้อหาที่บรรทึกไว้หรือประเด็นค่อนข้างน้อยบรรยากาศก็ค่อนข้างเครียดและมองไปข้างหน้าอย่างไร้ทิศทางไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน

                  ถ้าการเชื่อมโยงอดีต ปัจุจบัน และอนาคต ไม่สอดประสานกัน ไม่ไปด้วยกัน ไม่ต่อกัน การส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นจะเกิดอะไรขึ้น ลูกหลานเราจะเป็นอย่างไร คนยุคสมัยเราควรจะทำอย่างไร ณ  วันนี้

มีโอกาสได้อ่าน บล็อกก็อยากบอกคุณชายขอบ(ชื่อไม่คุ้น)  ว่า

               เอาง่าย  ๆ  สาระของเรา(สังคม)

                อดีต  เป็นความรู้สึกที่สดชื่น เป็นความสบายในทุกด้านของชีวิต อิสระ การกล่าวถึงอดีตเต็มไปด้วยความสุขเปี่ยมล้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพูดถึง

                 ปัจจุบัน  เป็นความรู้สึกแห่งการสารภาพผิดที่ละทิ้งและทำลายสิ่งที่ดีงาม ต่าง ๆ อย่างอาลัยยิ่ง แต่ถูกพันธนาการด้วยโลกอนาคต

                 อนาคต  อยากหวนคืน สู่ความสุขเดิมที่เคยมี แต่อดีตเท่าที่หวนคืนได้โดยการชดใช้แต่ต้องไม่มีพันธะไม่มีพันธนาการของโลกอนาคต แม้จะเป็นการหวนคืนที่ต้องใช้เวลาเดินย้อนหลังกลับ.........นานเท่าไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท