Scenario Planning KKU(2)


การวิจัยอนาคต

แผนอนาคตเป็นแผนที่นำทางขององค์การหรือหน่วยงานที่จะบอกให้คนในองค์การว่าควรจะเดินไปทางไหน เดินอย่างไร  โดยการทำนายด้วยวิธีการที่ยอมรับได้ เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อธิบายด้วยเหตุและบอกผลที่คาดว่าจะเกิด มีสมมุติฐานในการวิเคราะห์ แผนอนาคตเป็นแผนที่คนในปัจจุบันออกแบบไว้ให้คนในอนาคตใช้ กำหนดเป้าหมายไว้ให้ เหมือนพ่อ แม่ที่เป็นห่วงอนาคตลูก พยายามกำหนดเป้าหมายที่ดีที่สุดไว้ให้   ลูกจะเดินตามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ เวลานั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ออกแบบอนาคตย่อมมีความรัก ความห่วงใย และหาวิธีการที่ดี เพื่อออกแบบอนาคตให้ครอบคลุม มองการณ์ได้ไกลและใกล้เคียงความจริงที่สุด  คนในอนาคตก็จะลดความเสี่ยงได้มากขึ้น

เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า ทำไมเราต้องทำงานโดยแผนและเป้าหมายร่วมกัน นิทาน เรื่อง “จักรยานสามัคคี” จะให้ข้อคิด เพื่อให้เข้าใจการทำงานที่ต้องกำหนดเป้าหมาย และมีใจร่วมกัน ขอเล่านิทานดังนี้..... กาลครั้งหนึ่ง ไม่น่าจะนานเกินไป มีเด็ก(อาจรวมผู้ใหญ่ด้วยก็ได้) สี่คน ไปเที่ยวชายทะเลด้วยกัน มีจักรยานให้เช่าหลายคัน มีทั้งแบบขี่คนเดียว ขี่สองคน ขี่สี่คน เด็กๆทั้งสี่คนอยากขี่จักรยานสี่คน เพราะคิดว่าน่าจะสนุกสนาน และขี่ถึงสี่คนคงจะถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็วกว่าขี่คนเดียว

จึงเช่าจักรยานสี่คนมาขี่หนึ่งคัน เมื่อเริ่มขี่ก็ให้ผู้ที่แข็งแรงที่สุดขี่ข้างหน้าสุด คนที่อ้วนที่สุดขี่เป็นคนที่สาม คนที่สองเป็นคนที่น่าจะช่วยคนแรกได้ดี ช่วยมองทาง บอกทางให้ ส่วนคนที่สี่ คนสุดท้ายเป็นคนที่ตัวเล็กที่สุด เรียบร้อย เป็นคนฉลาด ไม่ต้องใช้แรงขี่จักรยานมาก คอยช่วยขี่เมื่อคนที่หนึ่ง สอง และสามเหนื่อย และเล่าเรื่องข้างทางที่ขี่ผ่านไปอย่างสนุกสนาน

แล้วทั้งสี่คนก็เริ่มขี่จักรยาน เมื่อขี่ไปได้สักสองร้อยเมตร คนที่หนึ่งบังคับแฮนด์จักรยานไม่ได้ ขี่ไม่ได้เต็มที่ พะวักพะวนใจตลอดเวลา จักรยานเริ่มส่ายไปมา ดูเหมือนจะล้ม คนที่สองพยายามช่วยขี่ คนที่สามเริ่มนั่งเฉยๆ ช่วยขี่ไม่ได้และร้องด้วยความกลัว เอาเท้าช่วยเบรก โดยลากไปกับพื้นถนน คนสุดท้ายนั่งเฉยๆ ไม่ขี่ ปล่อยให้จักรยานไปเรื่อยๆ เพราะสามคนแรกร้องโวยวาย  จึงตกใจกลัว ในที่สุดคนที่หนึ่งต้องบอกให้ทุกคนหยุดขี่ จอดรถ และตกลงกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้การขี่จักรยานสี่คนไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งใจไป ทั้งสี่คนพยายามประคองและขี่ไปอีกครั้ง โดยคนที่หนึ่งออกแรงมากที่สุด โดยมีคนที่สองช่วย คนที่สามและสี่นั่งเฉยๆ ห้ามบังคับแฮนด์จักรยาน และก็ถึงจุดหมายจนได้  เมื่อถึงแล้ว ทั้งสี่คนก็ตกลงกันว่าจะเปลี่ยนจักรยานใหม่ ขอเป็นจักรยานที่ขี่สองคนดีกว่า น่าไปได้เร็วกว่า ไม่ล้มแน่ๆ แล้วทั้งสี่คนก็เปลี่ยนมาขี่จักรยานสองคน ขี่สองคัน และถึงที่หมายได้อย่างราบรื่น

บทเรียนจากนิทานเรื่องนี้ ถ้านำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์การ โดยให้จักรยานเป็นวิธีการ(How to) ที่คนในองค์การต้องไปให้ถึงเป้าหมาย คนขี่จักรยานเป็นคนทำงานในองค์การแล้ว จะพบว่า การขี่จักรยานสี่คนนั้น คนขี่ทั้งสี่คน ต้องรักกัน สามัคคีกัน มีเป้าหมายร่วมกัน พร้อมที่จะไปทางเดียวกัน จึงจะถึงที่หมายได้ อย่างไรก็ตาม หากคนขี่ทั้งสี่คนไม่อยากขี่คันเดียวกัน ก็แยกกันขี่ก็ได้ แต่ขอให้ตกลงใจว่าจะไปสู่จุดหมายเดียวกัน แม้จะไปกันคนละคัน แต่ก็ไปด้วยกัน รักและความห่วงใยกัน ใช้แรงขี่ที่ใกล้เคียงกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ก็จะถึงจุดหมายและประสบความสำเร็จได้พร้อมๆกัน จักรยานสี่คนจึงเป็นจักรยานสามัคคี ที่มีเป้าหมายความสำเร็จร่วมกัน 

หมายเลขบันทึก: 189919เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2008 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2023 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รวมกัน เราทำได้

รวม หมายถึง รวมใจ ร่วมมือกัน ผ่านการสื่อสาร การประสาน ร่วมดำเนินการไปสู่จุดหมายเดียวกัน

อนุโมทนา กับแนวความคิดดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท