Scenario Planning KKU(1)


การวิจัยอนาคต

 

 

 

 

ความอยากรู้อนาคตเป็นสิ่งที่มนุษย์ปุตุชนคนธรรมดามีประจำตัว และพยายามหาวิธีการที่จะรู้อนาคตให้ได้ เพราะหากเป็นสิ่งที่ไม่ดี จะได้เตรียมตัวหาทางป้องกันทั้งกายและใจ หากเป็นสิ่งที่ดีก็จะอิ่มเอมใจ มีความสุข สบายใจ ผู้หยั่งรู้อนาคตได้จะเป็นผู้มีความสามารถเฉพาะตนจากการศึกษาวิธีการต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำนายอนาคต ผู้หยั่งรู้อนาคตจึงต้องมีความชำนาญ มีประสบการณ์ หากสามารถทำนายอนาคตได้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นที่นิยมของผู้ใช้บริการมาก ผู้หยั่งรู้อนาคตนี้ เราจะเรียกว่า “หมอดู” นั่นเอง

เมื่อมาเทียบกับองค์การ หน่วยงานต่างๆ การอยากรู้อนาคตก็เป็นความต้องการขององค์การสมัยใหม่เช่นเดียวกัน เพราะองค์การต้องการความแน่นอนของผลกำไร ผลประโยชน์ หรือการดำรงอยู่ได้ในสังคม และองค์การยังประกอบด้วย “คน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะ “คน” เป็นสิ่งมีชีวิต มีความรู้สึก จึงต้องการรู้อนาคตเหมือนกัน การวิจัยอนาคตจึงเป็นเครื่องมือที่ “หมอดู” ในองค์การใช้ในการวางภาพอนาคต ใช้ในการพยากรณ์ คาดคะเน เพื่อกำหนดทางเดิน วางเป้าหมายความสำเร็จ กำหนดกลยุทธ์การทำงาน การจัดทำแผนทรัพยากร ปรับวิธีการทำงาน กระบวนงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนหรือเตรียมตัวการทำงานให้ได้ผลงานที่เป็นไปในทางเดียวกันกับภาพอนาคตที่พยากรณ์ไว้ องค์การที่มีขนาดเล็ก ภารกิจไม่มาก การวางภาพอนาคตจะไม่ซับซ้อน แต่หากองค์การมีภารกิจหลากหลาย ผู้ใช้บริการจำนวนมาก หลายกลุ่ม การวางภาพอนาคตจะยุ่งยาก ซับซ้อนมากขึ้น ต้องมีเครื่องมือในการทำนายที่ดี เพื่อให้ภาพอนาคตแม่นยำ เป็นภาพที่ใกล้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง

การวิจัยอนาคตเป็นวิธีการศึกษาที่เป็นระบบ เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานของข้อมูลสารสนเทศทั้งภายในและภายนอกองค์การ เป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือ แล้วการวิจัยอนาคตทำกันอย่างไร การวิจัยอนาคตทำได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณลักษณะ การวิจัยอนาคตเชิงปริมาณ เช่น วิเคราะห์แนวโน้มราคาสินค้าตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นในอีก 10 หรือ 20  หรือ 30 ปี ข้างหน้า การวิจัยอนาคตเชิงคุณลักษณะ เป็นการวาดภาพที่ควรจะเป็น วิธีการที่นิยมกันขณะนี้มีสองวิธี คือ วิธีที่หนึ่ง เรียกว่า Delhi technique เป็นการสำรวจ รวบรวม ความคิดของผู้เขี่ยวชาญหลายๆคน ที่อยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อมูลแล้ว จะสรุปเป็นผลของกลุ่ม แล้วนำไปถามซ้ำอีกสองครั้ง เพื่อให้ทบทวนความคิด ยืนยัน แล้วสรุปเป็นภาพอนาคต และวิธีที่สองเรียกว่า Multiple Scenario เป็นการจินตนาการ นำเสนอความคิดเห็น การวาดภาพทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศในปัจจุบัน หลายๆด้าน ทั้งในและนอกองค์การ ประกอบกัน เมื่อได้ผลแล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้องให้ความเห็น แล้วนำไปทำเป็นแผนอนาคตขององค์การ (Scenario Planning)

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นองค์การที่มีหน้าที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้ประเทศชาติ เป็นองค์การที่ต้องพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน การวิจัยอนาคตเป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นวางเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกลางปี พ.ศ.2551 เมื่อได้ภาพอนาคตของมหาวิทยาลัยแล้ว จะนำไปใช้ในการวางแผนการทำงาน  กำหนดกลยุทธ์ วิธีการ เป้าหมาย การจัดเตรียมทรัพยากรเพื่อให้ภาพอนาคตประสบความสำเร็จ การวิจัยอนาคตของมหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้วิธีการแบบผสม คือ การวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย การรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทุกด้านทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ผู้ใช้บริการจากมหาวิทยาลัย ผู้มีส่วนได้ส่วยเสีย เช่น นักศึกศึกษา คณาจารย์ ผู้ปฏิบัติงาน องค์การเอกชนและราชการภายนอกมหาวิทยาลัย เป็นต้น แล้วนำมาบูรณาการกับข้อมูลสารสนเทศที่วิเคราะห์แล้ว สังเคราะห์ กลั่นกรองเป็นภาพฝัน ภาพอนาคตของมหาวิทยาลัย แล้วนำผลที่ได้เสนอผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นเพื่อทำเป็นแผนอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU Scenario Planning)

 

หมายเลขบันทึก: 189918เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2008 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2023 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท