กระบวนทัศน์ใหม่ : เครื่องมือในการทำงาน (2)


เทคนิควิธีและเครื่องมือในการทำงาน (2)

สวัสดีค่ะ วันนี้ ต้องเตรียมความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำไปแชร์ให้กับพยาบาลน้องใหม่ของแผนก AE ให้รับทราบข้อมูลด้านคุณภาพว่าทำไมต้อง HA เครื่องมือคุณภาพ ต่อจากตอนที่ 1 ค่ะ

ตอนที่  2  เทคนิควิธีและเครื่องมือในการทำงาน

       ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของวิทยากรเครือข่ายชุมชน คือ การฟื้นฟูและพัฒนาความเชื่อมั่นในศักยภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วให้เกิดขึ้นให้ได้เพื่อชุมชนสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในการ พัฒนาศักยภาพดังกล่าว วิทยากรเครือข่ายชุมชนต้องมีเทคนิคและเครื่องมือในการทำงานดังนี้

 

ก. เทคนิคและเครื่องมือในการพัฒนา

 

1. เทคนิคการพัฒนาขีดความสามารถของคน

 

1.1 เทคนิคการพัฒนาระดับการคิดของประชาชน


การช่วยยกระดับการคิดของประชาชนให้มีความสามารถในการคิดสูงขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนมองเห็นทิศทางและแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จำแนกได้ 7 ระดับ ดังนี้

            1) การแลกเปลี่ยนความคิด (Sharing ideas)
            2) การคิดเพื่อการจับประเด็นสำคัญร่วมกัน (Exploring ideas ) เป็นการที่มีการกำหนดขอบเขตและเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมประชุมจะช่วยกันพิจารณาเสนอและมีสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ร่วมกัน
            3) การคิดเพื่อการระดมสมอง (Brainstroming) เป็นการร่วมกันแสดงความคิดหลังจากที่สามารถกำหนดประเด็นที่สำคัญ ๆ ได้แล้ว โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนั้น ๆ อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง
            4) การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นการคิดที่พัฒนาขึ้นมาจากระยะที่ 3 ภายหลังที่ได้ร่วมแสดงความคิดต่อประเด็นนั้น ๆ อย่างกว้างขวางแล้ว หากวิทยากรเครือข่ายชุมชนสามารถดำเนินการประชุมได้เป็นอย่างดี ก็สามารถช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมค้นพบความคิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
           5) การคิดที่เกิดจากแรงบันดาลใจใหม่ ๆ (Inspiration) เป็นการคิดที่พัฒนาจากระดับที่ 4 ผู้เข้าร่วมประชุมจะเกิดจินตนาการและเกิดความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาทิศทางและแนวทางใหม่รวมทั้งเกิดความเชื่อมั่นในพลังแห่งการคิดของตนเอง
          6) การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการคิดที่ต้องอาศัยวิจารณญาณอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง มองเห็นการเชื่อมโยงของเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน ทำให้คิดพิจารณาในเรื่องนั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง
          7) การคิดในขั้นสูงสุด (Critical Thinking) หมายถึงระดับการคิดที่ช่วยให้สามารถเข้าใจเรื่องหนึ่งได้อย่างแจ่มแจ้ง ถึงขั้นที่สามารถจัดการกับเรื่องนั้นได้อย่างเด็ดขาด เป็นความคิดที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่นได้

 

 1.2 เทคนิคการฟัง

               ในการสื่อสารกันระหว่างมนุษย์นั้น ร้อยละแปดสิบใช้การฟังเพียงร้อยละยี่สิบเท่านั้นที่ใช้ในการพูด การรู้จักฟังอย่างฉลาดเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การฟังจึงเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของวิทยากรเครือข่ายชุมชน วิทยากรเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นชุมชนต้องรู้จักฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหมายถึง การฟังด้วยกายและใจ เป็นการฟังที่มีความหมายมาก เพราะเป็นการแสดงออกซึ่งการเคารพและเชื่อมั่นในคุณค่าของผู้พูด การฟังเช่นนี้จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ

               1) ต้องมีความตื่นตัวตลอดเวลาที่ฟัง
               2) ต้องมีจิตใจที่จดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง
               3) ต้องมีที่ท่าที่ช่วยให้ผู้พูดเกิดความเชื่อมั่นและภูมิใจที่จะพูดให้ฟังวิทยากรเครือข่ายชุมชนต้องสามารถจับประเด็นและเชื่อมโยงประเด็นได้เป็นระบบ รวมทั้งต้องสามารถมองเห็นคุณค่าของเรื่องที่กำลังฟังได้อย่างชัดเจนด้วยวิทยากรเครือข่ายชุมชนฟังโดยไม่ประเมินและตัดสินความคิดของผู้พูด เพราะจะเป็นการสกัดกลั้นและบั่นทอนการพูด แต่ต้องเป็นการฟังที่ช่วยให้ผู้พูดเกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจที่พูดอย่างเต็มที่ ดังนั้น การฟังของวิทยากรเครือข่ายชุมชนจึงต้องฟังอย่างสร้างสรรค์โดยแท้

 

1.3 เทคนิคการพูด

                  คนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า การพูดเป็นการเปล่งถ้อยคำออกมาเป็นเรื่องราวเท่านั้น แท้จริงการพูดที่ลึกซึ้งหมายรวมถึงการใช้ถ้อยคำและท่าทางผสมกลมกลืนกันไป รวมทั้งการแสดงสีหน้าที่ปรากฏต่อการรับฟังของผู้ฟังด้วย วิทยากรเครือข่ายชุมชนจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าท่านสามารถใช้เสียงพูดและกริยาท่าทางของท่านประดุจนักดนตรี กล่าวคือ ท่านสามารถใช้เสียงพูดเพื่อประโยชน์อย่างน้อย 6 ประการ ดังต่อไปนี้

     1) ใช้เสียงพูดเพื่อการชี้นำ

     2) ใช้เสียงพูดเพื่อการกระตุ้นและปลุกเร้า

     3) ใช้เสียงพูดเพื่อการสนับสนุน

     4) ใช้เสียงพูดเพื่อการผ่อนคลาย

     5) ใช้เสียงพูดเพื่อการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ

     6) ใช้เสียงพูดเพื่อการหยอกล้อ

 

      การพูดที่ดีสามารถขับเคลื่อนมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์เคล็ดลับของการพูดที่มีประสิทธิภาพ คือการพูดที่ตรงออกมาจากหัวใจแห่งความรักและความปรารถนาดี มิใช่พูดออกมาจากหัวสมองอันแห้งแล้ง การพูดที่มุ่งประโยชน์เพื่อผู้ฟังอย่างจริงจังและจริงใจ วิทยากรเครือข่ายชุมชน จึงไม่ต้องเป็น

นักพูดหากแต่ต้องเป็นผู้มีความจริงใจในสิ่งที่พูด และมีความรักในตัวผู้ฟัง

 

1.4 เทคนิคการจัดการข้อมูลข่าวสาร

               วิทยากรเครือข่ายชุมชน ต้องมีเทคนิคด้านการจัดการข้อมูลข่าวสาร เพื่อสามารถกำหนดแนวทางไปสู่เป้าหมายที่ต้องได้ซึ่งได้แก่  การจัดหาและประเมินข้อมูลข่าวสาร

          *การนำข้อมูลข่าวสารแปลความสามารถแปลความและสื่อสาร

          * การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประมวลข้อมูลข่าวสาร

   

1.5 เทคนิคการทำงานเป็นทีม

           วิทยากรเครือข่ายชุมชน ต้องสามารถทำงานเป็นทีมได้เข้าร่วมกับทีมที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมต่างกันได้ ซึ่งการทำงานเป็นทีมมีเทคนิคดังนี้

          * การมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกของกลุ่ม โดยการให้ความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มความสามารถ

          * สอนหรือเผยแพร่ทักษะใหม่ ๆ ให้กับบุคคลอื่น

          * บริการให้ผู้รับเกิดความพอใจ

          * แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำด้วยการแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้องชัดเจนเหมาะสม สามารถโน้มน้าวและชักจูงผู้อื่นได้

         * ริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ คือการทำงานด้วยวิธีการคิดแบบใหม่ ๆ กำหนดและออกแบบหรือวางระบบใหม่ ๆ มีแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนางานใหม่ ๆ ที่หลากหลาย

         * ทำงานร่วมกับบุคคลที่มีความหลากหลายได้ดี

 

1.6 เทคนิคการใช้เทคโนโลยี

         * การเลือกสรรเทคโนโลยี เช่น การเลือกกระบวนการเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ รวมทั้งคอมพิวเตอร์และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

         * การประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อการทำงาน

         * การดูแลและการแก้ไขอุปกรณ์ ได้แก่ การป้องกันการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ทั้งที่เป็นคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่าง

 

2. เทคนิคการพัฒนาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน

        ความสำเร็จของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งสามารถจำแนกได้ 7 ระดับ ดังต่อไปนี้

 

        2.1 ระดับการมีส่วนร่วมโดยมีผู้กำกับอยู่เบื้องหลัง (Manipulation) หมายถึงการมีส่วนร่วมที่ประชาชนไม่ได้มีอิสรภาพ เพราะไม่ได้ใช้ความคิดพิจารณาของตัวเองอย่างแท้จริง แต่มีผู้กำหนดบทบาท จุดมุ่งหมายตลอดจนวิธีการดำเนินการ คนในท้องถิ่นเพียงดำเนินการตามที่ผู้มีบทบาท

กำหนดไว้

 

        2.2 ระดับการมีส่วนร่วมแบบปรึกษาหารือ (Consultation) หมายถึงการที่คนในท้องถิ่นถูกเชิญเข้าร่วมประชุมเพื่อขอความคิดเห็นโดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมายและประเด็นตลอดจนมีการกำหนดข้อสรุปไว้ล่วงหน้า ประชาชนเพียงแต่ทำหน้าที่ให้การรองรับตามความประสงค์ของผู้ดำเนินการเท่านั้น

 

         2.3 ระดับการมีส่วนร่วมเพื่อรับรอง (Consensus Building) หมายถึงการที่ประชาชนถูกเชิญให้เข้าร่วมประชุม เพื่อแสดงความเห็นพ้องกับสิ่งที่ผู้จัดประชุมได้มีข้อสรุปไว้แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงก็ได้ หรือเป็นข้อสรุปที่แฝงผลประโยชน์ของผู้จัดการประชุม

 

           2.4 ระดับการมีส่วนร่วมเพื่อการตัดสินใจ (Decision Making) หมายถึงการมีส่วนร่วมที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยคำนึงถึงความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ จึงเป็นการมีส่วนร่วมที่ให้ความสำคัญต่อความเห็นและความต้องการของประชาชนมากขึ้น

 

        2.5 ระดับการมีส่วนร่วมที่ประชาชนมีส่วนต้องรับผิดชอบในผลของการตัดสินใจ (Risk Sharing) เป็นการมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลทีเกิดจากการตัดสินใจนั้นด้วย การมีส่วนร่วมในระดับนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติยศและเชื่อมั่นในความคิดเห็นของประชาชนเป็นอย่างมาก

 

        2.6 ระดับการมีส่วนร่วมแบบคนที่เท่าเทียมกัน (Partnerships)หมายถึงการมีส่วนร่วมที่ประชาชนเป็นผู้มีสิทธิในการตัดสินใจอย่างเต็มที่เป็นการเคารพในภูมิปัญญาตลอดจนในวัฒนธรรมของประชาชน โดยถือว่าความคิดและวิถีของประชาชนมิได้มีคุณค่าน้อยไปกว่าความคิดและวิถีชีวิตของใคร

 

       2.7 ระดับการมีส่วนร่วมที่ประชาชนพึ่งพาตนเอง (Self Reliance) หมายถึงการมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนกำหนดทิศทางและแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาด้วยตัวของประชาชนเองอย่างเต็มที่ หน้าที่ของวิทยากรเครือข่ายชุมชน คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันใช้ความคิด และภูมิปัญญาที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อคนในท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

        ความหวังอันสูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ของวิทยากรเครือข่ายชุมชน ก็คือการช่วยให้คนในท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในระดับที่เจ็ด ซึ่งจะเป็นหลักประกันได้ว่าคนในท้องถิ่นจะสามารถพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนการที่จะช่วยให้คนในท้องถิ่นบรรลุสู่ระดับนี้ได้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความเพียรพยายามอย่างเสียสละของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

 

3. เทคนิคการจัดการความขัดแย้ง

     ในการทำหน้าที่ของวิทยากรเครือข่ายชุมชน ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะพบกับความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ วิทยากรเครือข่ายชมุชนต้องไม่รู้สึกตื่นตระหนก หากต้องเสียสละและพิจารณาหาวิธีการจัดการกับความขัดแย้งนั้นอย่างใจเย็นความขัดแย้งที่วิทยากรเครือข่ายชุมชนจะพบเห็นในการดำเนินงานอาจจำแนกออกได้เป็น 6 ลักษณะต่อไปนี้

 

      3.1 ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกขุ่นเคืองใจของ  ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมักจะแสดงออกโดยไม่รู้สึกตัวหรือไม่ตั้งใจแต่มีผลทำให้บรรยากาศของการจัดกิจกรรมไม่ราบรื่น

ความขุ่นเคืองนี้อาจติดค้างมาในใจก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือเกิดขึ้นหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมนี้แล้วก็ได้ หน้าที่ของวิทยากรเครือข่ายชุมชนก็คือ ต้องคอยสังเกตและจับความขุ่นเคืองที่มีอยู่ภายในจิตใจของผู้เข้าร่วมประชุมโดยการสังเกตจากสีหน้าท่าทางตลอดจนวิธีการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างใกล้ชิดวิธีการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ตัววิทยากรเครือข่ายชุมชนก็ต้องคอยตรวจสอบความขุ่นเคืองที่อาจมีอยู่ในจิตใจของตัวเองด้วย หากปล่อยไว้จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ราบรื่น

 

      3.2 ความขัดแย้งที่เกิดจากการตำหนิติเตียนและการหาผู้รับผิดชอบเป็นธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ที่มักหนีไม่พ้นการตำหนิติเตียนและการหาผู้รับผิดชอบในปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นสาเหตุสำคัญของเรื่องนี้เกิดจากความรู้สึกด้อยคุณค่าและด้อยอุดมการณ์ ของผู้ที่ตำหนิ ซึ่งจะนำไปสู่การติเตียนหรือการโยนความผิดให้ผู้อื่น วิทยากรเครือข่ายชุมชนจักต้องจัดการกับความขัดแย้งในลักษณะนี้ทันทีที่สังเกตเห็น โดยจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยหรือระบายความรู้สึกเกี่ยวกับปัญหานั้นๆทันที โดยถือว่าเป็นปัญหาที่คนทั้งกลุ่มต้องรับทราบและช่วยกันแก้ไขก็ทำให้ ปัญหานั้นละลายหายไปในที่สุด

 

      3.3 ความขัดแย้งที่เกิดจากการแยกเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่วิทยากรเครือข่ายชุมชนต้องถือเป็นเรื่องธรรมดาที่มักจะมีการแยกกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่ วิธีการจัดการกับปัญหานี้คือใช้กิจกรรมเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมกัน (Collective Dicision Making) แทนการใช้กิจกรรมที่ส่งเสริมการตัดสินใจเฉพาะกลุ่ม ตลอดจนอาจใช้วิธีการกระจายคนออกไปสู่การรวมกลุ่มในลักษณะอื่น ๆ ด้วยก็ได้

 

     3.4 ความขัดแย้งที่เกิดจากการคิดเป็นกลุ่ม ความขัดแย้งในลักษณะการคิดเป็นกลุ่มจะเกิดขึ้นในกรณีที่ปล่อยให้การรวมกลุ่มดำเนินไปในเวลายาวนานเกินสมควร หรือเกิดจากการส่งเสริมให้มีการแข่งขันระหว่างกลุ่มอย่างเอาจริงเอาจังในกรณีที่มีความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้น วิทยากรเครือข่าย

ชุมชนจักต้องชี้ให้สมาชิก มีความตระหนักและมีความตื่นตัวต่อปัญหาดังกล่าวทันที หรืออาจจะสลายความคิดของกลุ่มโดยการโยงความคิดนั้นไปสู่คุณค่า จุดมุ่งหมาย ตลอดจนวิสัยทัศน์ร่วมที่ตกลงไว้แล้วก็ได้

 

      3.5 ความขัดแย้งที่เกิดจากการท้าทายระหว่างสมาชิกเป็นเรื่องธรรมดาที่มักจะเกิดการท้าทายระหว่างสมาชิกในกลุ่มทั้งที่ท้าทายอย่างชัดเจนและอย่างนุ่มนวล หน้าที่ของวิทยากรเครือข่ายชุมชนก็คือ จักต้องใช้กิจกรรมที่สามารถสร้างความยอมรับและนับถือในความคิดของกันและกันโดยที่สมาชิกแต่ละคนตระหนักในคุณค่าของกันและกันเช่น กิจกรรมส่งเสริมให้แต่ละคนได้แสดงความเห็นประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นกลางตามแง่มุมที่แต่ละคนเห็น จะมีผลให้แต่ละคนได้มีความเข้าใจ ในประเด็นนั้น ๆ ได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง พึงเข้าใจด้วยว่าการท้าทายมีผลในทางบวกได้ หากวิทยากรเครือข่ายชุมชนสามารถพลิกความท้าทายนั้นให้เป็นพลังในการแสวงหาทิศทางหรือแนวทางคำตอบที่ดียิ่งขึ้นได้

 

     3.6 ความขัดแย้งที่เกิดจากการท้าทายตัววิทยากรเครือข่ายชุมชนโดยตรงผู้เป็นวิทยากรเครือข่ายชุมชนในระยะแรก ๆ มักเกิดความวิตกว่าจะถูกท้าทายจากสมาชิกซึ่งอาจเป็นการท้าทายโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้วิทยากรเครือข่ายชุมชนจะต้องถือว่าปัญหานี้เป็นเรื่องปกติและธรรมดาและไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือแสร้งทำเป็นไม่เข้าใจหรือไม่เห็น หากควรหาวิธีจัดการกับปัญหานี้ทันทีโดยการเปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความรู้สึกที่มีต่อวิทยากรเครือข่ายชุมชนอย่างตรงไปตรงมา และรับฟังความคิดนั้นด้วยความเคารพโดยไม่ปกป้องตัวเอง แต่ควรย้ำว่าเป็นสิทธิของสมาชิกที่สามารถจะสงสัยในคุณวุฒิหรือคุณสมบัติของผู้เป็นวิทยากรเครือข่ายชุมชนได้เสมอ

 

      วิทยากรเครือข่ายชุมชนพึงเข้าใจว่า ถึงแม้ว่าจะพบกับการท้าทายถึงขั้นไม่เป็นที่ยอมรับของสมาชิก ก็มิได้หมายความว่าจะต้องสูญเสียความมั่นใจ หรือรู้สึกว่าเป็นการเสียศักดิ์ศรีของการเป็นวิทยากรเครือข่ายชุมชน หากแต่เป็นสัญญาณที่เตือนให้ต้องมีความตระหนักว่าจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มาก ๆ ยิ่งขึ้น การยอมรับการท้าทายอย่างตรงไปตรงมา ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างแต่หนักแน่นและมั่นคงโดยพร้อมที่จะปรับปรุงยืดหยุ่นจักช่วยคลี่คลายปัญหานี้ได้ในที่สุด

 

4. เทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม

   การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นการวิจัยที่ประชาชนผู้เคยเป็นประชากรที่ถูกวิจัยเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ร่วมในกระบวนการวิจัยนั่นเอง การมีส่วนร่วมนี้จะต้องมีตลอดทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัย นับตั้งแต่การกำหนดปัญหาที่เริ่มศึกษาวิจัยในชุมชนนั้นๆ การเลือกระบุประเด็นปัญหา

การสร้างเครื่องมือ การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และการเสนอสิ่งที่ค้นพบ จนกระทั่งถึงการกระจายความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปสู่การปฎิบัติ หรือการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัยในการแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง กล่าวอีกนัยหนึ่ง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมก็คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ หลีกเลี่ยงการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมากเกินไป แต่เป็นการทำงานและเรียนรู้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอภาคระหว่างนักวิจัยและคนในท้องถิ่นยอมรับและเชื่อมั่นในภูมิปัญญา ตลอดจนศักยภาพในการแก้ปัญหาและพัฒนาชชุมชนของคนในท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่น เพื่อคนในท้องถิ่น

 

      วิทยากรเครือข่ายชุมชนพึงเข้าใจว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับใช้พัฒนาความสามารถในการคิดและการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น นอกจากจะส่งเสริมการคิดและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนในท้องถิ่นแล้ว คนในท้องถิ่นยังสามารถใช้ความรู้เกิดขึ้นในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นได้ทันทีอีกด้วย

 

ติดตามต่อตอนที่ 3  ค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 188495เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2008 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท