สภามหาวิทยาลัยทำอะไร อย่างไร


ระบบกำกับดูแลองค์กรเป็นงาน ad hoc ไม่ใช่งาน fulltime และต้องไม่แยกออกจากฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด แต่ก็มีโครงสร้างและกลไกการทำงานที่ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร คือต้องกำกับได้จริง และกำกับแบบมี value add ต่อองค์กร ไม่ใช่กำกับแบบถ่วงดุลย์อำนาจ (balance of power) แต่กำกับแบบเสริมอำนาจ (empowerment)

 

          เมื่อวันที่ ๑๒ มิ.ย. ๕๑ ผมนัดคุยแบบไม่เป็นทางการกับท่านอธิการบดีปิยะสกล และท่านรองอธิการบดีและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย พาสน์ศิริ    ผมถามคำถามแรกว่า สภามหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่ดีหรือยัง    ซึ่งหมายความว่าฝ่ายบริหารมีความคาดหวังต่อสภาฯ    ผมอยากทราบว่าฝ่ายบริหารได้ตามที่คาดหวังหรือไม่


          เราคุยกันเรื่องสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ซึ่งกำหนดไว้ใน พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๕๐   และคนทั่วไปคงจะนึกว่าต้องเป็นสำนักงานที่ใหญ่เหมือนสำนักงานอธิการบดี   บางคนอาจไปไกลถึงขนาดมีตึกสำนักงานสภาฯ    และบางคนอาจบอกว่าต้องแยกออกจากสำนักงานอธิการบดีอย่างเด็ดขาด   ซึงผมไม่เห็นด้วย   ผมมองว่าระบบกำกับดูแลองค์กรเป็นงาน ad hoc ไม่ใช่งาน fulltime   และต้องไม่แยกออกจากฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด   แต่ก็มีโครงสร้างและกลไกการทำงานที่ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร    คือต้องกำกับได้จริง    และกำกับแบบมี value add ต่อองค์กร   ไม่ใช่กำกับแบบถ่วงดุลย์อำนาจ (balance of power)    แต่กำกับแบบเสริมอำนาจ (empowerment)


          ผมไม่ทราบว่าคิดเช่นนี้ถูกหรือผิด   จึงพยายามพูดคุยถามความเห็นจากผู้คนหลากหลาย    คนหนึ่งคือ อ. หมอประเวศ ซึ่งก็เป็นกรรมการสภาฯ ด้วย    ท่านก็เห็นด้วย    ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเราคุยกันบ่อย จนความเห็นเหมือนกันมากเกินไปหรือเปล่า    ผมจึงดำเนินสภามหาวิทยาลัยมหิดลแนวนี้อย่างระมัดระวัง    ว่าตนเองอาจวางโครงสร้างผิด    ซึ่งก็จะพิสูจน์ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า

 
          ผมมีความเห็นว่า ทั้งโครงสร้างเพื่อ การกำกับดูแล (governance), การจัดการ (management), และการปฏิบัติงานหลัก (operation) ต่างก็เพื่อความเจริญมั่นคงถาวร ของ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งสิ้น    คือเป็นต่างอวัยวะของร่างกาย จิตใจ และวิญญาณเดียวกัน    ต้องไม่แยกกัน   และทั้งหมดนี้เพื่อถวายชีวิตแก่แผ่นดินไทย หรือสังคมไทย    และทั้งหมดนี้ทำหน้าที่อย่างเสริมพลัง (synergy) กัน   เป็นร่างกายที่ไม่มี “ไขมัน” สะสม    ไม่เกิดประโยชน์ต่อการทำหน้าที่    เกิดการทำงานซึ้นซ้อน (redundant) โดยไม่ก่อประโยชน์ หรือยิ่งเกิดโทษโดยไม่รู้ตัว    ซึ่งงานแบบนี้ในหน่วยงานใหญ่ๆ (bureaucracy) เกิดมาก

 
          สิ่งที่ผมกำลังพยายามทำคือ สร้างสำนักงานสภามหาวิทยาลัยที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร   รู้แน่ว่าต้องทำงานแบบ generative ช่วยคิดและผลักดันวิธีการบรรลุเป้าหมาย (vision) ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ประชาคมมหิดลร่วมกันกำหนดแล้ว   สภาฯ ไม่ใช่ทำหน้าที่บริหารหรือจัดการหรือลงมือทำ    แต่ก็ยังต้องทำอะไรบางอย่างหรือหลายอย่างที่ช่วยให้ฝ่ายจัดการและฝ่ายปฏิบัติการมีกำลัง    และที่ผมคิดว่าเสริมกำลังได้มากคือทำให้เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน   จากการที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน  (trust)    ผมกำลังฝึกฝนวิธีทำหน้าที่สร้าง trust / mutual trust ขึ้นภายในองค์กร    เพื่อใช้ trust สร้าง synergy อีกต่อหนึ่ง   

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ มิ.ย. ๕๑

เพิ่มเติม ๑๘ มิ.ย. ๕๑

ผศ. นพ. ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์ อี-เมล์ เสนอความเห็นมาอย่างสร้างสรรค์ดีมาก จึงนำมาลงไว้ ดังต่อไปนี้

กราบเรียน ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลที่เคารพอย่างสูง
       กระผมขอขอบพระคุณที่ท่านช่วยแสดงความคิดเห็นสนับสนุน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับความสะดวก
       กระผมจึงขอถือโอกาสนี้ กราบเรียนเสนอเพิ่มเติม ข้อสังเกตบางประการมายังท่านนายกสภาฯเพื่อพิจารณาต่อไป เผื่อว่า จะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกดังนี้
1. การเผยแพร่ผลการประชุมสภามหาวิทยาลัย
               แต่เดิมมา ก่อนที่จะมีสำนักงานสภามหาวิทยาลัย หากเราดูใน intranet จะสามารถติดตาม "มติจากการประชุมสภามหาวิทยาลัย" ครั้งต่างๆ ย้อนหลังไปได้หลายปี เป็นประโยชน์แก่ประชาคมในการติดตามเรื่องจากสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งสามารถใช้อ้างอิงได้
       แต่มาบัดนี้ ทั้งที่มีสำนักงานสภามหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งเราคาดหวังว่า การดำเนินงานของสภาฯ น่าจะดีขึ้น แต่กระผมเห็นว่า แย่ลงอย่างชัดเจน กล่าวคือ เมื่อติดตามใน intranet ที่ webpage เดิม จะเห็นว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 เป็นต้นมา กลับไม่มีมติจากการประชุมสภามหาวิทยาลัย แล้ว แต่กลับนำเสนอ (ร่าง) .......... ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งว่า จะเชื่อถือหรืออ้างอิงได้หรือไม่ หรือจะทำให้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น จึงขอเสนอให้ท่านนายกสภาฯ สั่งการให้มีการปรับปรุงโดยด่วนที่สุด
2. ที่ทำการของสำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล
       หลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวคิดการมีสำนักงานสภามหาวิทยาลัยฯ ก็เพื่อหวังจะให้มีบทบาทในการช่วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากส่วนต่างๆ ที่ไม่ใช่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะท่านเหล่านี้ ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการจากคณาจารย์ และอื่นๆ ล้วนไม่มีฐานหรือตัวช่วยใดๆ ที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่สะดวก รวดเร็ว เช่นเดียวกับผู้บริหาร
       แต่กระผมสังเกตว่า สำนักงานสภาฯ ไม่ได้ดำเนินการให้สามารถสนับสนุนบทบาทในส่วนที่กล่าวข้างต้นเลย ยังคงมีธรรมชาติเป็นเพียงที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาทำหน้าที่ในส่วนนี้เท่านั้น นับเป็นอีกกรณีที่กระผมขอเสนอให้ท่านนายกสภาฯ ได้โปรดพิจารณาด้วย
       สำหรับกรณีที่ 2 นี้ กระผมขอเสนอว่า น่าจะจัดให้มีห้องประชุมเล็กซึ่งเป็นสัดส่วน และสามารถใช้เป็นห้องรับรองกรรมการสภาฯ ในกรณีที่ต้องมาก่อนเวลาประชุม หรือต้องมาติดต่อสภามหาวิทยาลัยด้วยเหตุต่างๆ หรือแม้แต่หากมีเหตุให้ต้องนัดประชาคมมหิดลท่านใดมาปรึกษาหารือในกิจการที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัย สำนักงานสภาฯก็น่าจะสามารถสนับสนุนและเอื้อให้กรรมการสภาฯ สามารถปฏิบัติกิจเหล่านี้ได้ เรื่องนี้สุดแล้วแต่ท่านนายกสภาฯ จะใช้ดุลยพินิจและวินิจฉัยนะครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์
กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลจากคณาจารย์ประจำ

                                    

หมายเลขบันทึก: 188493เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2008 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มหาวิทยาลัยเป็นโรงงานผลิต "คนที่มีความรู้" ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยไม่ได้ คนที่ออกไป ก็จะไม่มีความรู้ ทั้งที่องค์ความรู้มีอยู่มากในมหาวิทยาลัย

เรื่องการจัดการความรู้นั้น คำถามแรก ก็คือ เราจัดการเพื่อใคร ? ใช่ไหมคะ ?

อาจารย์แหววครับ

ลองอ่าน http://gotoknow.org/blog/thaikm/tag/rafe แล้วแปลงจากครูกับเด็ก ป. ๕ เป็นอาจารย์กับ นศ. มหาวิทยาลัย เราจะเห็นโอกาสสร้างนวัตกรรมในการเรียนรู้ของ นศ. อย่างมากมาย อีก บล็อกหนึ่งคือ http://gotoknow.org/blog/sirisuhk

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท