ครูวิชัยคนเดิม


การจัดการเรียนการสอนแบบ Inquiry method

การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน ( Inguiry )

                       Dr.Richard Suchman กล่าวว่า ความรู้ต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นผลที่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะการศึกษาที่เรียกว่า สืบสวนสอบสวน( Inguiry ) ” ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าและสืบสวนสอบสวนความรู้ด้วยตนเอง ทั้งยังช่วยให้เกิดความคิดอย่างมีเหตุผลอีกด้วย และจากความเชื่อดังกล่าว Richard Suchman ได้ตั้งโครงการวิจัยเกี่ยวกับการสอนแบบสืบสวนสอบสวน( Inguiry ) ขึ้นที่มหาวิทยาลัย Illinois โดยเน้นการสอนวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีให้นักเรียนตั้งคำถาม เพื่อให้นักเรียนค้นพบหลักการและกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองสำหรับในประเทศไทย ดร.วีระยุทธ วิเชียรโชติ ได้ตั้งโครงการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวนขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2513-2514 แต่การเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวนของ ดร.วีระยุทธ วิเชียรโชติ มีความแตกต่างจากการสอนแบบ Inguiry ของ Suchman เพราะดร.วีระยุทธ วิเชียรโชติ มีความคิดว่าการสอนแบบ Inguiry ของ Suchman นั้นไม่เหมาะสมกับเด็กนักเรียนไทย ซึ่งไม่ค่อยชอบถามและด้อยความสามารถทางความคิด อันอาจจะทำให้เด็กไทยเกิดความเบื่อหน่ายและท้อแท้ต่อวิธีการนี้ ดังนั้น ดร.วีระยุทธ วิเชียรโชติ จึงได้พัฒนาทฤษฎีการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวน
          การสอนแบบสืบสวนสอบสวน มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ เช่น การสอนแบบสืบ สวนสอบสวน การสอนแบบสืบสอบ การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ การสอนแบบให้คิดสืบค้น และการสอนโดยนักเรียนค้นหาความรู้โดยใช้กระบวนการคิด เป็นต้น
          ดร.วีระยุทธ วิเชียรโชติ ( 2515 ) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวน คือการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในหลักการของการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตย เรียกว่า ปัญญาธรรม นอกจากนั้นการเรียนการสอนแบบสืบสวนสอบสวนยังเน้นการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากการแสวงหา นำไปสู่การค้นพบหลักเกณฑ์ต่างๆที่เป็นวิทยาศาสตร์ และสรุปลงด้วยการนำเอาหลักเกณฑ์ใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริง ในรูปของประยุกต์วิทยาอีกด้วย
ดร.นาตยา ภัทรแสงไทย ( 2525 ) ได้ให้ความหมายการสืบสวนสอบสวนไว้ว่า การสอนแบบสืบสวนสอบสวนเป็นกระบวนการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล โดยจะเริ่มต้นด้วยปัญหา จากนั้นจึงตั้งสมมติฐาน ทดสอบสมมติฐาน หาแนวทางแก้ปัญหา โดยอาศัยข้อมูลที่รวบรวมมาได้ วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลต่างๆที่รวบรวมมาได้ จากนั้นจึงนำมาทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ แก้ปัญหาจนได้ข้อสรุปออกมา
สรุปได้ว่า ในการจัดการเรียนรู้โดยการใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้รู้จักกระบวนการแสวงหาความรู้อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความจริงต่างๆด้วยตนเอง โดยอาศัยวิธีการแก้ปัญหา
              การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน มีสื่อกลางสำคัญ คือการใช้คำถามและการตอบคำถาม ดังนั้นอาจแบ่งการสืบสวนสอบสวนโดยพิจารณาลักษณะการถามระหว่างครูผู้จัดการเรียนรู้และผู้เรียน ได้ดังนี้
1. การสอนแบบสืบสวนสอบสวนที่ครูเป็นผู้ถาม ( Passive Inguiry ) เป็นลักษณะของการสอนตามรูปแบบของ Hilda Taba ซึ่งเป็นลักษณะครูเป็นผู้ตั้งคำถาม และผู้เรียนเป็นผู้ตอบ
คำถาม นั่นคือผู้เรียนจะต้องเป็นแหล่งข้อมูลหรือควบคุมข้อมูล
2. การสอนแบบสืบสวนสอบสวนที่ผู้เรียนเป็นผู้ถาม ( Active Inguiry )เป็นการสอนตามแบบของ Suchman ซึ่งลักษณะนี้ผู้เรียนจะเป็นผู้ตั้งคำถามและครูจะเป็นผู้ตอบคำถาม นั่นคือครูจะเป็นแหล่งของข้อมูลหรือควบคุมข้อมูล
3. การสอนแบบสืบสวนสอบสวนที่ครูและผู้เรียนช่วยกันถาม ( Combined Inguiry )
วิธีการสอนแบบนี้เป็นการประยุกต์ใช้วิธีการของ Taba และ Suchman เข้าด้วยกัน กล่าวคือ
ครูถาม-ผู้เรียนตอบ ผู้เรียนถาม-ครูตอบ สลับกันไปแล้วแต่ความเหมาะสม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ครูควรระลึกไว้เสมอคือ ครูผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่าใจร้อนรีบบอกผู้เรียน

        วิธีการสอนแบบสืบสวนสอบสวน
Romey ได้เสนอแนวทางการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้ดังนี้
1. ครูยกปัญหาขึ้นถาม
2. นักเรียนหาวิธีเพื่อแก้ปัญหา
3. นักเรียนรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการแก้ปัญหา
4. นักเรียนตีความหมายข้อมูล
5. นักเรียนสร้างข้อสรุปเป็นหลักเกณฑ์ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้เป็นพื้นฐาน
6. มีการจัดอภิปรายกลุ่มเกี่ยวกับความหมายความจำกัดของข้อมูล ความสัมพันธ์ต่อปัญหาอื่นๆ หรืออภิปรายสิ่งที่เกี่ยวข้องในการศึกษาครั้งนั้น
7. ถ้านักเรียนมีความสนใจเพียงพอ อาจให้มีการอภิปรายเฉพาะประเด็น
8. ในการอภิปรายควรใช้ตำราประกอบ ซึ่งเป็นการขยายความคิดของนักเรียน

        สำหรับ ดร.วีระยุทธ วิเชียรโชติ ได้ศึกษาการสอนแบบสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย
ใช้ชื่อว่า การสอนแบบสืบสวนสอบสวน ( Investigation or OEPC inguiry ) และได้เสนอโครงการของการสอนหรือวิธีการสอนไว้ 4 ขั้นดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นการสังเกต ( Observation ) เป็นขั้นที่ครูสร้างสถานการณ์ หรือทดลองให้นักเรียนได้สังเกต และวิเคราะห์องค์ประกอบและธรรมชาติของปัญหาอย่างละเอียด ซึ่งเด็กจะถามเพื่อให้ได้ข้อมูลมา เพื่ออภิปรายข้อสงสัยที่เกิดขึ้น คำตอบคำถามต้องเป็นแบบ ใช่ หรือ ไม่ใช่ หรืออาจจะเป็นไปได้แล้วแต่กรณี เพื่อกระตุ้นให้ถามโดยใช้ความคิด ในขั้นนี้ครูจะไม่อธิบายอะไรนอกจากคำถาม
ขั้นที่ 2 ขั้นการอภิปรายปัญหา ( Explanation ) เด็กจะอาศัยข้อมูลที่ได้เป็นเหตุผลมาอภิปรายหรืออธิบายปัญหาหรือสาเหตุปัญหา ส่วนมากใช้ความคิดแบบโยงความสัมพันธ์และแบบอ้างอิง อันจะนำไปสร้างสมมติฐานทั่วไปและทฤษฎี คำอธิบายในขั้นนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นความจริงเสมอไป เพราะคำอธิบายนั้นก็คือ สมมติฐานกว้างๆ หรือทฤษฎีนั่นเอง ซึ่งยังเป็นการคาดคะเนอยู่ ความจริงอาจไม่เป็นไปตามคำอธิบายนี้ก็ได้ ขั้นที่กล่าวมานี้เป็นเพียงขั้นของการสืบสวนเท่านั้น
ขั้นที่ 3 ขั้นพยากรณ์หรือทำนายผล ( Prediction ) เมื่อลองตั้งสมมติฐานเพื่อหาทางอธิบายว่าปัญหาเหล่านั้นมีมูลเหตุจากอะไรแล้วผู้เรียนพอจะจับเค้าโครงของปัญหาได้ชัดขั้น ดังนั้นก็สามารถตั้งสมมติฐานเชิงทำนายได้ หรือคาดคะเนผลของสาเหตุต่างๆได้ การเรียนที่สำคัญในขั้นนี้คือ การเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา โดยนำหลักการเรียนรู้ในขั้นที่ 2 มาใช้ ซึ่งเป็นการสอบสวนนั่นเอง
ขั้นที่ 4 ขั้นควบคุมและสร้างสรรค์ ( Control or Greativity ) หรือขั้นนำไปใช้ เป็นขั้นที่นำผลของการแก้ปัญหา หรือสิ่งที่ค้นพบในขั้นอธิบายและขั้นทำนายผล มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง สามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ วิธีการใหม่ เพื่อเกิดประโยชน์และนำไปใช้ได้

การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน
1. ลักษณะเด่นเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนแก้ไขปัญหา เป็นการทำให้ผู้เรียนใช้ความคิดและเป็นวิธียั่วยุความสนใจให้ผู้เรียนอยากติดตาม เพื่อค้นหาความจริงต่อไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ผู้จัดการเรียนรู้จะต้องมีการจัดลำดับเนื้อหาและกิจกรรมต่างๆไว้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ดี
2. วัตถุประสงค์เบื้องต้นหรือเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน
2.1 เป็นการพัฒนาการตัดสินใจของผู้เรียนอย่างมีเหตุผล
2.2 ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการสังเกตตั้งคำถามและแสวงหาข้อเท็จจริง
2.3 ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในเหตุผล กล้าที่จะนำเอาความเข้าใจ
ของตนมาใช้ปฏิบัติจริงได้
3. บทบาทของครูและผู้เรียน
บทบาทของครูผู้จัดการเรียนรู้ คือ การตั้งคำถามหรือตั้งปัญหาและบอกแหล่งข้อมูลให้กับผู้เรียน เพื่อที่จะได้สืบค้นหาคำตอบในการแก้ไขปัญหา และครูยังมีบทบาทควบคุมเข้าสู่จุดหมายของการเรียนรู้
บทบาทของผู้เรียน คือ การสืบค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล เพื่อนำมาแสดงเหตุผลในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
4. สิ่งที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในเทคนิควิธีการสอนแบบสืบสวนสอบสวนก็คือ วิธีการซักถาม ตอบคำถาม โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้หาข้อมูล เก็บข้อมูล ใช้ความคิด ตั้งคำถาม ตอบคำถาม อย่างอิสระที่สุด ถ้าครูจะมีบทบาทในการตั้งคำถาม ก็ควรเป็นคำถามที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าสู่จุดหมายที่ต้องการ
5. จากการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน จะช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้านต่างๆ เช่น
5.1 ทักษะทางปัญญา ผู้เรียนได้ใช้ความคิดและสติปัญญาในการหาข้อมูล
แสดงเหตุผลอย่างอิสระ
5.2 ทักษะทางสังคม ทำให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่น กล้าคิดกล้าแสดงออก
หรือรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
5.3 ทักษะทางการปฏิบัติ เป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน
มีความรอบคอบ รู้จักการสังเกต ไม่เชื่ออะไรง่ายๆโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #inquiry
หมายเลขบันทึก: 188047เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2008 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท