ชุมชนกับการจัดการเรียนรู้


การเรียนรู้จากการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดพลังชุมชน พลังชุมชน ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทำให้เกิดสังคมความรู้ สังคมความรู้ ทำให้คนในสังคมเกิดสันติสุขและสันติภาพ
ชุมชนกับการจัดการเรียนรู้     
   
ชุมชน  หมายถึง กลุ่มบุคคลที่อยู่รวมกันในพื้นที่เดียวกัน    มีวัตถุประสงค์ เป้าหมายในการเป็นอยู่อย่างเดียวกัน
            การจัดการเรียนรู้ หมายถึง การเสริมส่ง หรือสร้างประสานขั้นตอน วิธีการในการจัดให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ของบุคคลทั้งในระดับปัจเจกและพหุชน  ตลอดจนการสร้างวัตถุปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในสถานศึกษา   ชุมชนและสังคม
        ชุมชนกับการจัดการเรียนรู้ในสังคมบุพกาลกับสังคมปัจจุบัน   ไม่ได้มีความต่างกันมากนักในแง่กระบวนการ     หากมีความต่างกันเพียงแต่ขั้นตอนวิธีการเท่านั้น  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีคิดและการวางแผนของผู้ปกครอง    ผู้บริหารบ้านเมืองในแต่ละแหล่ง
        กล่าวสำหรับในสังคมพุทธ   หลักพระพุทธศาสนาได้เอื้อเฟื้อให้ปัจเจกและชุมชนเกิดการเรียนรู้และจัดการเรียนรู้ร่วมกันมาโดยเป็นไปตามระบบธรรมชาติของสังคมมนุษย์    ต่อมาได้มีแนวคิดทางการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามามีบทบาท จึงทำให้เกิดระเบียบการจัดการศึกษาเรียนรู้แนวใหม่
       จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ สยามประเทศไทยของเราได้เปลี่ยนแปลงระบบการทำงานด้านการศึกษาใหม่  กลับไปฟื้นฟูความเป็นชุมชนโดยการถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นและชุมชนเข้ามาร่วมกันจัดการศึกษา ตามพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542,   พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันเป็น พ.ร.บ. ที่แตกช่อออกดอกมาจากรัฐธรรมนูญ 2540
ตั้งแต่ 2542  จนถึงปัจจุบัน การถ่ายโอนอำนาจในการจัดการศึกษาแก่องค์กรส่วนท้องถิ่นเพิ่งเริ่มเขย่งก้าวแรก  อำนาจของชุมชนในการจัดการเรียนรู้ยังก้าวไปไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้านอื่นๆ เหมือนกับการเมืองการปกครอง  เพราะ
        1. วิธีคิดในการทำงานของรัฐยังยืนอยู่บนฐานคิดแบบตะวันตก
        2. วิธีคิดของคนในชุมชนยังอยู่ในระบบการเมืองแบบเดิม
        3. ผู้มีส่วนในการจัดการเรียนในชุมชนท้องถิ่นบางส่วนยังขาดการหยั่งเห็นและตระหนักรู้ถึงกระบวนการในการจัดการเรียนรู้
         อาจกล่าวรวบยอดได้ว่า อำนาจการเมืองการปกครองในบทบาทและสถานภาพของบุคคลยังยึดเกี่ยวกับเศรษฐกิจมากกว่าการสร้างเสริมสังคมความรู้   
        การเมือง  คือการจัดการ ที่ครอบคลุมหมดทั้งวิถีเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมธรรมชาติ และการเรียนรู้  นั่นคือ การเมืองที่แท้จริง  
        ไม่ใช่การเมืองที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
         นั่นคือ การเมืองของโลกย์  มิใช่การเมืองของธรรมหรือสรรพสิ่ง
        ชุมชนจักจัดการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง ต้องมิใช่ชุมชนที่มีบุคคลซึ่งใช้สิทธิและอำนาจในการจัดการตามกระบวนการทางการเมืองที่กำลังเป็นอยู่  เพราะสิทธิและอำนาจในการจัดการนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีอำนาจในชุมชนนั้นๆ
       สิทธิและอำนาจเสมอภาคกันอยู่ในระดับสิทธิมนุษยชน   สิทธิและอำนาจไม่ได้อยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามหน้าที่ทางสังคมเท่านั้น
      และหน้าที่ทางสังคมก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐข้าราชการหรือพนักงานของรัฐเท่านั้น
      แต่หน้าที่ทางสังคมอยู่กับมนุษยชนทุกคน
         นั่นคือ  คนทุกๆ คนในชุมชนนั้นๆ มีหน้าที่ตามสิทธิทั้งหมดแม้หน้าที่นั้นๆ จะต่างระดับกัน แต่สำคัญเท่ากันทั้งหมดด้วย
       ดังนั้น  การดำเนินการจึงเกิดพร้อมกันด้วยบทบาทของบุคคลและองค์กรเป็นทีม เป็นสามัคคี เป็นพลังชุมชน
      โดยธรรมชาติของสังคมมนุษย์  มีความเป็นอยู่และเป็นมาดังนี้เสมอมาและเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติสรรพสิ่ง   
      แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน ยังคงดำรงความสัมพันธ์อยู่อย่างนั้นเอง
      มีเพียงแต่วิธีคิดและวิถีการดำรงชีพ (ทั้งในระดับบุคคลและชุมชน)เท่านั้นที่ เปลี๋ยนไป๋
      องค์กรหลักในชุมชนท้องถิ่น คือ  บ้าน  วัด  โรงเรียน   ของสังคมสยามประเทศไทยเรายังมีอยู่
     ผู้บริหาร  ครู  ผู้ปกครอง  ผู้นำชุมชน (ทุกด้าน)  และเด็กๆ ยังมีอยู่
     ทั้งหมดไม่มีองค์กรหรือใคร สำคัญมากไปกว่าใคร ต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งหมดในนามมนุษย์ สังคมและธรรมชาติ   มีแต่เพียงบทบาท หน้าที่ในแต่ละสถานภาพเท่านั้นที่ต่างกันโดยนามกำหนดสมมติสัจจะสังคม เป็นระเบียบ แบบแผน หรือพิธีกรรมทางสังคม
     และในปัจจุบัน พิธีกรรมทางสังคมที่กำหนดให้  3  องค์กรในชุมชนร่วมกันจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาในนามของคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนซึ่งเรียกว่า ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากองค์กรส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน   แต่ทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาฯ (ซึ่งได้รับการคัดสรรและแต่งตั้งไปเมื่อต้นปี2547 ตามพิธีกรรมแผนการศึกษาแห่งชาติ 2545-2549)  นั้น ในชุมชนส่วนมาก ได้รับการคัดและตั้งไว้จริงๆ คือตั้งไว้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ตามพิธีกรรมลัทธิการศึกษาเท่านั้น
       ความภาคภูมิใจเกิดขึ้นแก่ผู้ได้รับแต่งตั้ง มีทั้งแบบได้เสริมความศิวิไลซ์แห่งตัวตน  แบบเต็มภาคภูมิใจที่จักได้เข้ามามีส่วนร่วม     แต่แล้วไม่มีโอกาสที่จะได้แสดงออกซึ่งบทบาทและหน้าที่  แบบเต็มใจเพราะเป็นหน้าที่การงานที่ต้องกระทำอยู่แล้ว   และมีทั้งแบบดีใจ แต่ต่อมาเฉยๆ ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอะไรมากนัก มีแต่ร่วมประชุมจัดงานผ้าป่าโรงเรียน  ฯลฯ
      ไม่ทราบว่าใคร- ผู้ได้รับการประกาศชื่อแต่งตั้ง  รู้สึกอย่างไรกันบ้าง?
      งานนี้ตามความคิดเห็นของผู้เขียน คิดว่า ผู้บริหารและครู   คือผู้สำคัญที่จักต้องเป็นผู้ประสาน
งานให้องค์กรท้องถิ่นและผู้นำด้านต่างๆ  ได้เข้ามาร่วมกันเรียนรู้และมีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้มากกว่าที่เป็นอยู่     โดยครูต้องสร้างศรัทธาและฟื้นฟูบทบาทในการเป็นผู้นำชุมชนด้านให้การศึกษาเรียนรู้เพื่อการพัฒนา
      และผู้นำทั้งหมดไม่ว่าจากบ้าน วัด โรงเรียน   โดยเฉพาะองค์กรส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ อบต. เทศบาล และ อบจ.   ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับอำนาจในการจัดการส่วนท้องถิ่นจากรัฐบาลกลางต้องตระหนักในบทบาทและหน้าที่ให้มากอย่างยิ่ง  ไม่ใช่แต่เพียงซื้อคอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ หรืออุปกรณ์การเรียนรู้ให้แก่สถานศึกษาเท่านั้น  (ในกรณีที่กล่าวกันว่าบางท้องถิ่นยังไม่พร้อมในการจัดการเรียนรู้ ไม่จริงหรอก    ท้องถิ่นมีระดับของความพร้อม เพียงแต่จะได้รับอำนาจในการจัดการหรือท้องถิ่นเห็นแจ้งในกระบวนการทำงานชุมชนด้านการศึกษามากน้อยเพียงใด) ตัวบุคคลและองค์กรในชุมชนทั้งหมด ต้องเป็นอุปกรณ์การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  สร้างฐานการเรียนรู้ และเข้าถึงการเรียนรู้ให้ได้ทั้งในระดับตนเองและสังคม   
        ผู้จัดการเรียนรู้ต้องมีฐานการเรียนรู้ เข้าถึงการเรียนรู้และความรู้ก่อนจึงจะสามารถสร้างหรือจัดการเรียนรู้ในชุมชนได้   
        และการจัดการเรียนรู้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่จัดในสถานศึกษาเท่านั้นต้องจัดให้เกิด ภูมิทัศน์ทางการศึกษาในชุมชนโดยใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เป็นทั้งรูปลักษณ์และอัตลักษณ์มารับใช้ในการเรียนรู้และการจัดการ
       ชุมชนจะเกิดการเรียนรู้และสามารถจักจัดการเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้นั้น ตามแนวการจัดการเรียนรู้แบบพุทธท่านวางหลักไว้ว่าต้องสร้างให้มีสิ่งสบายๆ  7 ประการ
คือ อาวาสสัปปายะ   สถานที่จัดการเรียนรู้สบายด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี      
อาหารสัปปายะ  มีอาหารทางกายภาพชีวภาพสบายพร้อมอุปกรณ์สร้างการเรียนรู้ที่ดี   ธรรมสัปปายะ   มีหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนรู้ที่ดีงามสร้างเสริมวิถีชีวิตที่สุข สงบ สบาย หมดทุกข์
อิริยปถสัปปายะ   มีกิจกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้ที่ทำให้ตนเองและชุมชนเกิดความเคลื่อนไหว พัฒนาการเรียนรู้ เสริมสร้างพลังแห่งตนและชุมชน  รวมทั้งขยายตัวสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และการพัฒนาที่ดีงาม จำเริญ  
อุตุสัปปายะ     มีบรรยากาศและฤดูกาลในการเรียนรู้ที่สม่ำเสมอ โดยมีความเป็นกลาง และ
ความพอเพียงเป็นแกนสัมผัสในใจที่สบาย        
ปุคคลสัปปายะ   อยู่ร่วมกับบุคคลที่ถึงธรรมผู้ก่อให้เราเกิดวิญญาณแห่งการเรียนรู้และการจัดการชีวิตอย่างสงบงาม    
และ โคจรสัปปายะ   ชุมชนที่เราอยู่นั้นเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่สืบทอดความเป็นอยู่ซึ่งกันและกันมาด้วยความเกื้อกูลด้วยดี  สร้างสมความเป็นชุมชนกันมาอย่างตระหนักรู้ในความดีงาม
      เมื่อชุมชนคือ ผู้จัดการเรียนรู้   (ทั้งตามแนวนโยบายแห่งรัฐและตามวิถีชุมชน)     ชุมชนต้องมีฐานการเรียนรู้ เข้าถึงการเรียนรู้และองค์ความรู้ตามวิถีชุมชนนั้นๆ ให้ได้เสียก่อน  
      นั่นคือ  ชุมชนต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  มีส่วนร่วมในทุกภารกรรม จึงจักทำให้เกิดพลังชุมชน  แล้วนำพลังนั้นมาจัดการชุมชนให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาในทุกๆ ด้านไปสู่สังคมคุณธรรม   ภูมิปัญญาและการเรียนรู้
      ชุมชนสยามประเทศไทยเป็นอยู่อย่างนี้
     เพียงแต่.....
................................
     การเรียนรู้จากการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดพลังชุมชน
     พลังชุมชน ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้
     ชุมชนแห่งการเรียนรู้  ทำให้เกิดสังคมความรู้
     สังคมความรู้  ทำให้คนในสังคมเกิดสันติสุขและสันติภาพ
ชุมชนกับการจัดการเรียนรู้จักดำเนินไปสู่ประสิทธิภาพในเป้าหมายก็ด้วย  กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนและการมีส่วนร่วมแห่งการงานที่แท้จริง
         ขอเราทุกท่านทุกคนในชุมชนมาร่วมกันจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมคือร่วมเรียนรู้และร่วมจัดให้เกิดการเรียนรู้ทั้งโดยส่วนตนเละชุมชน   ให้ดีงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดเถิด
     


ความเห็น (2)

     การเรียนรู้จากการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดพลังชุมชน
     พลังชุมชน ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้
     ชุมชนแห่งการเรียนรู้  ทำให้เกิดสังคมความรู้
     สังคมความรู้  ทำให้คนในสังคมเกิดสันติสุขและสันติภาพ

เห็นด้วยค่ะ  กับการเรียนรู้ที่ชุมชนมีส่วนร่วม 

 

 

ขอบคุณสำหรับความรู้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท