The Toyota Way : วิถีโตโยต้าในทรรศนะของข้าพเจ้า


           ที่บ้านผมไม่เคยมีรถโตโยต้า เลยสักคัน ที่บ้านต้องบอกว่าเป็นสาวกของ Honda เพราะรถคันแรกของทุกคนในครอบครัวเริ่มต้นที่ Honda โดยเฉพาะ Honda Civic ส่วนรถคันที่สองผมเกือบได้ใช้โตโยต้า เพราะไปจองและจ่ายเงินจองไว้เรียบร้อยแล้ว แต่สุดท้ายด้วยคำพูดของพ่อที่ว่า "ไปซื้อทำไมโตโยต้า ซื้ออีซูซุดีกว่า พ่อใช้มา 16 ปี ไม่เคยเห็นต้องทำอะไรดูแค่น้ำมันเครื่องแล้วก็เติมน้ำมันเท่านั้น" สุดท้ายผมก็เลยต้องตัดสินใจซื้ออีผุผุ เอ๊ยไม่ใช่ อีซูซุ แต่จริงๆ แล้วอีกปัจจัยก็คือราคาน้ำมันที่แพงเป็นบ้า ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เซลที่ขายรถเป็นงง ว่าทำไมเราตัดสินใจซื้อโตโยต้า ซึ่งสวนกระแสกับคนส่วนใหญ่ที่ซื้อโตโยต้า

 

             ผมมาโตโยต้ากับทีมเอ็มเค เอ๊ยไม่ใช่ เคเอ็มของมหาวิทยาลัยนเรศวร แปดชีวิตฝากไว้กับฝีมือขับรถตู้โตโยต้ามหาวิทยาลัยของคุณวิทยา โดยมีคุณตูนทำหน้าที่เป็นเนวิเกเตอร์ และ อาจารย์มาลิณี คณบดีสหเวชเป็นหัวหน้าทีม พวกเราต้องแข่งกับเวลา เพราะรู้ว่าบริษัทญี่ปุ่นนี่เรื่องการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องซีเรียนสำหรับเค้ามาก แต่ในท้ายที่สุดเราก็เห็นว่าวัฒนธรรมไทยเป็นเรื่องสำคัญกว่าเราจึงต้องรักษาไว้ซึ่งวิถีของเราคือไปช้านิดหน่อย แค่ 15 นาทีเอง พอเข้าเขตโตโยต้า ผมก็สอดส่ายสายตามองหารถยี่ห้ออื่นในโรงงาน ด้วยความหวังว่าจะเห็นผู้จัดการใช้เบ๊นส์ แต่สุดท้ายก็หาไม่เจอ มีแต่รถโตโยต้าทั้งโรงงาน แล้วก็มีรถบรรทุกเป็นฮีโน่ ซึ่งก็เป็นพาร์ตเนอร์กับโตโยต้า ผมนึกในใจแหมชาวญี่ปุ่นนี่ช่างชาตินิยมเสียจริงๆ

 

            หลังจากฟังการบรรยายสรุปถึงแนวทางของ ToYoTa Way และ เดินชมโรงงาน ทำให้ผมเก็บเล็กผสมน้อยเกี่ยวกับวิถีของโตโยต้า ในหลายๆ เรื่อง

            เรื่องแรกที่ผมประทับใจก็คือเค้าทำอย่างไรให้ผู้บริหารในโรงงานทั้งระดับกลางและระดับสูง รับฟังปัญหา และนำปัญหาออกมาสู่แนวทางของการแก้ไขปัญหา หาต้นตอของปัญหาโดยใช้คำว่า ทำไม และย้ำในการหาคำตอบอีกว่า ทำไม ทำไม อะไรคือต้นตอของปัญหา โดยการย้ำที่คำว่าทำไม ทำไม จนเกิดเป็น 5 วาย (5 why) ผู้บรรยายสรุปให้พวกเราฟังว่าที่นี่ (toyota) เราไม่มีการซุกปัญหา เค้าปลูกฝังให้คนของเค้ากล้าที่จะนำเสนอปัญหา ปัญหาเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการเหลียวแล และแก้ไข ปัญหาไม่ใช่สิ่งที่เป็นความผิดและต้องได้รับการลงโทษ เพราะฉนั้นไม่สงสัยเลยว่าทำไมระดับปฏิบัติ หรือลูกน้องจึงกล้าแสดงออกทางความคิด และเสนอปัญหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพราะถ้าลูกน้องพูดถึงปัญหาในไลน์การผลิตโดยที่ผู้บริหารไม่รับฟังและใส่ใจในปัญหา ปัญหานั้นก็คงถูกซุกไว้จนทำให้ไลน์การผลิดไม่ต่อเนื่อง และจากปัญหาสู่แนวคิดในการนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหา โตโยต้ามีรางวัลสำหรับนักคิดที่มีไอเดียดีๆ ในการพัฒนา ความคิดเล็กๆ อาจจะมีค่าตอบแทน 50 บาท จนถึง 5,000 บาท สำหรับความคิดที่มีคุณค่ามากๆ ดังนั้นตลอดทางที่เราเดินชมไลน์การผลิด เราจึงจะเห็นแผ่นชาร์ต ความคิด และภาพถ่ายของปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยมีภาพของเจ้าของความคิดติดอยู่พร้อมกับจั่วหัวเรื่องว่า เจ้าของผลงานความคิดที่ได้รับรางวัลการแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อผมดูใกล้ๆ แล้วปัญหาเป็นแค่เรื่องเล็กๆ และมีข้อความสั้นๆ ที่อธิบายถึงปัญหา แต่ถ้ามองในภาพรวมถึง QC แล้วคงเป็นปัญหาใหญ่แน่สำหรับผู้ซื้อรถ

          อีกส่วนหนึ่งก็คือโตโยต้าปลูกฝังให้ทุกคนในองค์กรมีความรู้สึกเป็นเจ้าของผลิตภันฑ์ เป็นเจ้าของโตโยต้า องค์กรไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่องค์กรเป็นของทุกคน

           ที่โตโยต้าจะเน้นการทำงานเป็นทีม การวางแผนเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีม ทีมของโตโยต้าจะใช้เวลาในการวางแผนกันนาน ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประชุม Debate ปัญหา เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไรให้แสดงออกมา และเมื่อทุกคนได้แสดงความคิดและตัดสินใจร่วมกัน ก็จะเกิดการยอมรับ เพราะฉนั้นสิ่งที่ทำจะเกิดจากทีม เกิดจากการตัดสินใจร่วมกัน งานที่ทำจึงจะเร็วและไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้งกัน

           การนำเสนอโครงการโดยใช้เพียงกระดาษ A3 โตโยต้าไม่เน้นหลักการและเหตุผล ไม่เน้นว่าต้องมีเอกสารอ้างอิงมากมาย แต่การเสอน Proposal ใช้เพียงกระดาษ A3  โดยภายในกระดาษจะมีขั้นตอนเพียง 8 ขั้นตอน ตามวงจรเดมมิ่ง PDCA แต่พบว่า 5 ขั้นแรกจะอยู่ใน P คือ 1) หาปัญหา 2) หาต้นตอของปัญหา 3) กำหนดเป้าหมาย 4) วางแผนดำเนินการ 5)???? ส่วนขั้น DCA จะมีเพียงขั้นละ 1 ขั้น 6) ลงมือทำ  7) ตรวจสอบ 8) มีมาตรฐานในการดำเนินงาน แสดงให้เห็นว่าโตโยต้าเน้นที่การวางแผน ถ้าวางแผนดีก็จะทำได้ดี และสิ่งสำคัญก็คือการตรวจสอบอย่างมีข้อมูล งานที่ทำต้องมีมาตรฐาน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่านำไปใช้ที่ไหนก็จะได้ผลเหมือนกัน

            และอีกหนึ่งความประทับใจก็คือโตโยต้าลดเวลาในการผลิตรถโตโยต้า วีโก้ จาก 4 นาที 1คัน จนปัจจุบันเป็น นาทีละ 1 คัน (แต่พอไปดูแล้วยอมรับว่ากลัวเลยครับ นาทีละ 1คัน) และที่สำคัญหายสงสัยเลยว่าทำไมวีโก้จึงสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดเหนืออีซูซุได้ เพราะโตโยต้าไม่ได้มองแค่อีซูซุ แต่โตโยต้ามองไปที่เบอร์หนึ่งแห่งวงการรถยนตร์นั่นก็คือ GM  นั่นเอง

         วันที่ไปโตโยต้า เราได้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นมาหลายคำ อาทิเช่น ไคเซ็น (Kaizen) เก็นจิ เก็นบุตซึ (Genchi Genbutsu)

 

 

 

 

         

 

หมายเลขบันทึก: 18713เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2006 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เที่ยงวันนี้ (14 มี.ค.) คุยกันต่ออีกทีเกี่ยวกับ 2 Pillars และ 5 Principles
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • อ่านแล้วสนุกมากครับ
  • ได้ทั้งสาระและบันเทิง
ถ้าอาจารย์ไม่เตือนผมเกือบลืมเหมือนกันครับ ขอบคุณคุณหมอ วัลลภมากครับ

อ่านรวดเดียวจบครับ เขียนได้สาระปนความบันเทิง สนุกดีครับ มาทีหลังแต่ดังกว่าครับ... คิดช้า ทำเร็ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท