อันเนื่องมาจากดาวอังคารและดาวพระศุกร์ (ภาคสอง: ปุจฉาวิสัชนา)


พูดกันคนละภาษา มาจากดาวคนละดวง


         ความเดิมตอนที่แล้ว โดยสรุปก็คือว่า การสื่อสารระหว่างกันมีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อน มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เกิดความเสียหายเลยจนกระทั่งเสียหายมาก ยิ่งถ้าเป็นความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลเสียกับผู้อื่น โดยเฉพาะคนไข้ของเรา ก็เป็นความคลาดเคลื่อนที่ควรจะมีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเป็นดีที่สุด
        ปัญหามา ปัญญามี ในกรณีนี้ ต้องบอกว่า เรียนรู้จากลูกค้า จริงๆ ค่ะ ลูกค้าตรงก็คือแพทย์เจ้าของไข้ แต่ลูกค้าตัวจริงก็คือคนไข้เจ้าของชิ้นเนื้อเหล่านั้นนั่นเอง
        ลองดูเรื่องเหล่านี้หน่อยไหมคะ เป็นเรื่องจริง คำถามจริง อันเนื่องมาจาก ภาษา ที่ต่างกันหรือ ตามไม่ทันกัน ระหว่างหมอปาโถกับหมอสาขาอื่น แต่ก่อนฉันอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของ ผู้รับสาร ที่จะต้องรู้ได้เองว่า ผู้ส่งสาร อย่างฉันหมายความถึงอะไร แต่ฉันไม่คิดอย่างนั้นแล้วค่ะ เพราะฉันคิดอยู่เสมอว่า ประโยชน์ทุกอย่างควรจะตกอยู่กับคนไข้ อะไรก็ตามที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนไข้ ก็ควรทำ อะไรที่คิดว่าอาจจะก่อให้เกิดผลเสียกับคนไข้ได้ ก็ควรหลีกเลี่ยง ใช้ทั้ง “do no harm” แล้วก็ “do no any potential harm” ด้วย

เรื่องที่หนึ่ง
วันหนึ่งเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นพร้อมคำถามว่า ไดแอก atypical medullary carcinoma ที่เต้านมแปลว่าคนไข้เป็นมะเร็งหรือเปล่า (ไดแอกมาจาก diagnosis แปลว่าการวินิจฉัย) ฉันคงไม่แปลกใจ ถ้าถามฉันว่า มันคือมะเร็งชนิดไหน เนื่องจากว่ามันเป็นมะเร็งชนิดที่จำเพาะมากมากและอาจใหม่จนหมอหลายๆ ท่านไม่รู้จัก บทเรียนนี้สอนให้ฉันรู้ว่า การวินิจฉัยอะไรที่มัน ใหม่มากๆ นั้น เป็นไปไม่ได้ที่หมอทุกคนจะเข้าใจได้ตรงกัน ก็เหมือนกันกับฉันที่ ไม่รู้จักยาเคมีบำบัดบางตัวที่มันใหม่มากๆ การเป็นแพทย์เฉพาะทาง เราก็มักเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาตนเอง  เป็นไปไม่ได้ที่เราจะตาม วิวัฒนาการ ของสาขาอื่นๆ ได้ทัน นับตั้งแต่นั้นมา คราวไหนที่ฉันจะวินิจฉัยรอยโรคอะไรที่ฉันคาดว่ามันจะ แปลก สำหรับคนอื่น ฉันก็จะเขียนคำอธิบายต่อท้ายไปอีก เพื่อลดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน หรือกรณีที่รอยโรคนั้นเปลี่ยนชื่อใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกัน ฉันก็จะใส่ชื่อเดิมของรอยโรคนั้นไปด้วยเสมอ

เรื่องที่สอง
สำหรับเรื่องนี้ ฉันไม่แน่ใจว่ามันเป็นเพราะ “language barrier” หรืออะไรกันแน่ เรื่องมีอยู่ว่า เวลาที่หมอศัลย์ตัดเอาเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งออกมานั้น สิ่งหนึ่งที่หมอปาโถต้องดูเสมอก็คือว่า ขอบของเนื้อเยื่อที่ตัดออกมานั้นยังมีมะเร็งเหลืออยู่อีกหรือเปล่า เพราะถ้าขอบในชิ้นเนื้อที่หมอปาโถได้รับยังมีมะเร็งอยู่ แสดงว่ายังมีส่วนของมะเร็งเหลืออยู่ในตัวคนไข้อีก ในกรณีนี้เรื่องมันเกิดเมื่อ ก้อนมะเร็งก้อนหนึ่งมันอยู่ใกล้กับขอบที่ตัดออกมามากๆ ฉันเองก็รายงานว่า “tumor is very close to the margin (<1mm)”
ปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้ เพราะประโยคนี้แหละค่ะ ประโยคข้างบนนั้นแปลว่า

ก้อนมะเร็งนั้นอยู่ใกล้กับขอบมากๆ ระยะห่างระหว่างมะเร็งกับขอบน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร หรือว่า
ก้อนมะเร็งทั้งก้อนนั้น ส่วนของมะเร็งที่อยู่ใกล้กับขอบมีขนาดน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร


จริงด้วย ฉันไม่เคยสงสัยในคำวินิจฉัยของฉันเลย จนกระทั่งวันหนึ่งที่มีคนถาม ฉันกลับมาอ่านเองทั้งยังหารือกับเพื่อนหมอคนอื่นๆ ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า มีโอกาสจริงๆ ที่จะมีคนเข้าใจผิดว่า แปลว่า ก้อนมะเร็งทั้งก้อนนั้น ส่วนของมะเร็งที่อยู่ใกล้กับขอบมีขนาดน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คำวินิจฉัยของฉันก็เปลี่ยนไปเป็นระบุเลยว่า
“tumor is very close to the margin (tumor-margin distance <1mm)" ยังไม่เห็นว่ามีคนถามอีกว่าแปลว่าอะไร
          
ฉันต้องขอบคุณหมอทั้งสองท่านที่ถามฉัน เพราะเขาได้ทำให้ฉันย้อนกลับมามองตัวเอง และพยายามที่จะ พูด ด้วยภาษาเดียวกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ฉันทำนั้น มันยังเป็นเพียงความพยายามส่วนเล็กน้อยเท่านั้นในการแก้ ปัญหา ที่เกิดขึ้นในงาน ฉันเชื่อแน่ว่า ยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอีกหลายๆ เรื่องทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่เกิดขึ้น อันเนื่องจากเราพูดกันคนละภาษา มาจากดาวคนละดวง ฉันอาจจะโชคดีที่มีเพื่อนๆ เป็น ลูกค้า อยู่หลายคน ทำให้มีโอกาสได้ฟัง เสียง อยู่เรื่อยๆ เวลาที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกิดขึ้น เราก็จะพูดคุยกันโดยตรง และพยายาม จูนคลื่นความเข้าใจ ให้มันตรงกันมากที่สุด ฉันคิดว่า ลูกค้า ของเรานี่ล่ะค่ะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีในการพัฒนางานของเราๆ ทุกคน ฉันรู้สึกอิจฉาด้วยซ้ำ สำหรับหน่วยงานที่มีการปรึกษาหารือกับลูกค้า อย่างที่นายดำได้ทำไปแล้ว แม้ว่าเป็นการปรึกษาเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ฉันเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น มันส่งผลดีต่อการบริการในภาพรวม ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ทุกอย่างเกิดกับคนไข้ของเรา 
         สงสัยว่า ฉันต้องไปปรึกษาหารือ รับฟังเสียงของ ลูกค้า อื่นๆ บ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 18714เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2006 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

พี่เม่ยอ่านชื่อบันทึกนี้ และก่อนหน้านี้ ก็ตีความไปเองก่อนว่าเป็นเรื่องของช่องว่างระหว่าง หญิง/ชาย (ผู้ชายดาวอังคาร หญิงดาวพระศุกร์?..ไม่แน่ใจว่าจำผิดหรือไม่ค่ะ)..แต่..ผิดคาด

ปุจฉา..เราจะใช้คำว่า "Standardization" กับการเขียนคำวินิจฉัยของแพทย์ปาโถได้หรือไม่คะ? ..เพื่อจะช่วยให้ทุกๆคนจากดาวทุกๆดวง..ได้เข้ามาอยู่บนดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน คือ "โลกใบนี้" ร่วมกันได้?

เนื่องจากใบรายงานปาโถส่วนหนึ่งมันเป็น free writing ค่ะ ฉะนั้นมันจะมีความหลากหลายในสไตล์การเขียนของแต่ละคน ซึ่งตาม American standard (ไม่มี Thai standard เนื่องจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่ขยับ) ก็ไม่ได้ระบุสไตล์ แต่ระบุเพียงแค่สิ่งที่ "ต้อง" มีเท่านั้น กำลังพยายามที่จะเปลี่ยน free writing บางอย่างให้เป็น "pattern"  ขอบคุณพี่เม่ยมากค่ะ

ถึงแม้จะเป็นความพยายามเล็กๆ ในการแก้ ปัญหา ที่เกิดขึ้นในงาน แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลต่อลูกค้า ซึ่งคือผู้ป่วย  บางทีหมอปาโถคนอื่นก็เจอปัญหาเล็กๆ แบบนี้และมีวิทีแก้ของแต่ละคน  แต่ก็ไม่ได้เล่าสู่กันฟัง และเรียนรู้ best practice ซึ่งกันและกัน คุณ dogaholic ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า เราสามารถใช้ blog  เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ยกระดับความรู้ และยกระดับการบริการของเราได้อย่างไร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท