อัจฉรา
นางสาว อัจฉรา มิว สุทธิสุนทรินทร์

ทางทฤษฎีแตกต่างกับทางปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง


เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ มาถึง ฝันที่จะเป็นจริงในวันนี้ กลับพังทลาย การขอลงรายการสัญชาติไทยไม่เป็นไปตามที่ระบุในพระราชบัญญัติสักนิด ผู้ที่เฝ้ารอมานานนับแรมปีก็ยังคงผิดหวังดังเดิม

          เมื่อครั้งที่ยังเป็นนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ ได้มีโอกาสเรียนวิชากฎหมายเบื้องต้น อาจารย์ผู้สอนได้สอนถึงลำดับชั้นของกฎหมาย ความสำคัญของกฎหมายแต่ละลำดับชั้น นั้นคือ รัฐธรรมนูญใหญ่สุดไม่มีกฎหมายตัวใดมาขัดกับรัฐธรรมนูญได้ รองลงมาก็เป็นประมวลกฎหมาย , พระราชบัญญัติ , พระราชกำหนด , ระเบียบ ประกาศ หนังสือสั่งการ เรียงลงมาเป็นขั้น ๆ ไป เชื่อได้ว่าทุกมหาวิทยาลัยก็คงสอนเช่นนี้เหมือนกันหมด

          แต่เมื่อจบการศึกษาและได้ทำงาน จึงได้รู้ว่า ในทางทฤษฎีแตกต่างกับทางปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง บางครั้งทำให้กลับมาคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะเรียนทางทฤษฎีไปทำไม?” ขณะเดียวกันในทางปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติแต่ละคนก็ปฏิบัติแตกต่างกันอีก

          เมื่อครั้งที่ยังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น สนช.ได้มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับการขอสัญชาติไทยด้วยวิธีต่าง ๆ คือ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ แต่มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

          มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีการระบุให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถขอลงรายการสัญชาติไทยได้ โดยมาตรา ๒๓ นี้จะมีใช้บังคับได้ต่อเมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วัน นับแต่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ก็คือ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ดังนั้น ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยและเข้าคุณสมบัติตามมาตรา ๒๓ ต่างเฝ้ารอวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เพื่อจะได้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย คนเหล่านี้จะได้สัญชาติไทยเสียที

          เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ มาถึง ฝันที่จะเป็นจริงในวันนี้ กลับพังทลาย การขอลงรายการสัญชาติไทยไม่เป็นไปตามที่ระบุในพระราชบัญญัติสักนิด ผู้ที่เฝ้ารอมานานนับแรมปีก็ยังคงผิดหวังดังเดิม

          สิ่งที่ทำให้ความฝันพังทลายไม่ใช่อื่นไกล เหตุผลแค่ว่า หนังสือสั่งการจากจังหวัดยังมาไม่ถึงทางอำเภอ ทั้งที่ได้มีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยออนไลน์ไว้ ซึ่งจริงแล้วไม่ต้องรอหนังสือสั่งการแต่อย่างใด ในเมื่อพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายที่ลำดับชั้นสูงกว่าหนังสือสั่งการได้ให้อำนาจไว้อยู่แล้ว

         เหตุผลนี้เองที่ทำให้ทางทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาแตกต่างกับทางปฏิบัติที่แต่ละอำเภอปฏิบัติกันมาเป็นธรรมเนียม

          ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ที่ แต่ละอำเภอไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ คือ

-          ปลัดฝ่ายทะเบียน , นายอำเภอไม่อยู่อำเภอ

-          กรณีเป็นนักเรียนต้องมีใบรับรองเป็นนักเรียนด้วย

-          การสอบพยานบุคคลจะต้องเป็นผู้ใหญ่บ้าน , กำนันเท่านั้น

-          บิดา และมารดาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดในประเทศไทยจะต้องจดทะเบียนสมรส

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเหตุผลของอำเภอเพียงไม่กี่อำเภอเท่านั้น แต่ก็ได้สร้างความลำบากแก่คนกลุ่มนี้ที่จะได้สัญชาติไทยในไม่ช้านี้

ถ้าแต่ละอำเภอปฏิบัติกันตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นแนวทางเดียวกันโดยปฏิบัติตามหนังสือจากกระทรวงมหาดไทย เลขที่ มท.๐๓๐๙.๑/ว๑๕๘๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ลงนามโดยปลัดกระทรวงมหาดไทยก็คงไม่มีปัญหาเช่นทุกวันนี้ ไม่ต้องสร้างความลำบากให้แก่ผู้ที่จะขอลงรายการสัญชาติไทย

และสิ่งที่ทุกคนเคยเรียนมาในมหาวิทยาลัย กับ สิ่งที่เป็นทางปฏิบัติของอำเภอก็จะเป็นแนวทางเดียวกัน และคำถามต่าง ๆ ก็จะหมดไปในที่สุดนั่นเอง

วันนี้ที่รอคอยมาถึงเสียที

         

         

หมายเลขบันทึก: 186971เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2008 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยกับ พี่มิว อย่างยิ่งค่ะ

มิวคะ

ถ้านักกฎหมายยืนหยัดสู้นะคะ เราจะชนะค่ะ

ดูซิคะจากวันที่ ๒๘ ซึ่งเราสู้ไม่ถอย โทรไล่บี้การกระทำที่ผิดกฎหมาย สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ

สู้ต่อค่ะ

 

นำสื่อดีๆ ที่เห็นมิติของบุญกุศล
และองค์ความรู้ที่จะนำไปปฎิบัติในการเรียนการสอนมาฝากครับ


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท