คำผู้เฒ่าผู้แก่


มุมหนึ่งของความคิด เมื่อมีโอกาส ได้นั่งพินิจถึงคำบอกเล่าตักเตือน ของผู้เฒ่าผู้แก่วันวาน ด้วยคิดถึงความเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิต และความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อ ความคิด และคำบอกเล่าที่ลางเลือนจางหาย วันวานนั้นมีคำบอกเล่า ในขณะที่วันนี้มีเรื่องราวของการทบทวนสิ่งรอบตัว ให้ได้เข้าใจ ในแต่ละความเปลี่ยนแปลงของชีวิต

คำผู้เฒ่าผู้แก่

อ้างอิง - ภาพ http://bangnoikoyrak.multiply.com/

ยามเราเด็กเล็ก

เราทุกคนต่างเคยได้ยิน

ได้ฟังคำบอกสอนตักเตือนระวังตน

หรือกระทั่งคำบ่น พร่ำบอกกล่าวลูกหลาน ให้พึงระวังกิริยามารยาท ระวังการกระทำ กายใจ หรือกระทั่งจะคิดสิ่งใด ก็ให้พึงเป็นมงคลต่อชีวิตเข้าไว้ คำเหล่านี้ล้วนวนเวียนอยู่ในย่างก้าวการเติบโต จะโดยปู่ย่าตายาย หรือคำกล่าวของพ่อแม่ ซึ่งอ้างอิง ว่าผู้เฒ่าผู้แก่เคยบอกสอนไว้

จะว่าเป็นความถูกต้องดีงามทั้งหมด

ก็คงไม่อาจสรุปความไว้ได้

ถึงความจริงในคำพูด

เพราะคำบอกกล่าวดังกล่าว บางครั้งก็ไม่อาจเดินทางผ่านกาลเวลา สำหรับสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลง ตามแต่สภาพชีวิตผู้คน จะไม่ให้ตัดเล็บตอนมืด จะไม่ให้กวาดห้องหลังพระอาทิตย์ตกดิน ไม่ทำสิ่งนั้น ไม่ทำสิ่งนี้ สำหรับชีวิตคนเมืองทั่วไป ซึ่งวันวัยคนทำงานหมดไปในแต่ละกลางวัน

ยามจะได้กลับบ้าน

ได้กลับเข้าห้องก็ล่วงเลย

จนชีวิตแทบจะอยู่กับโมงยามกลางคืน

วันเวลาและความเหมาะสมของคำกล่าว คำพูดคำจา จากสิ่งตักเตือนของคนเฒ่าคนแก่ จึงกลายเป็นหนึ่งภาพสะท้อนสำคัญ สำหรับการฉุกคิดปรับเปลี่ยน แปลงเรื่องเตือนตน หรือกระทั่งระลึกถึงจารีตอันเหมาะสม ซึ่งชีวิตคนทั่วไปพึงจะต้องประพฤติปฎิบัติ หรือต้องปรับเปลี่ยน

ครั้งหนึ่งรุ่นน้องผู้ชายที่ไปเรียนเชียงใหม่

เคยบ่นเล่าให้ฟังปนเสียงหัวเราะ

ว่าเคยเล่นไม่ถูกที่ถูกทาง

เล่นกับเพื่อนผู้หญิงแบบถึงเนื้อต้องตัว โดยเพื่อนผู้หญิงก็เป็นคนเมืองเชียงใหม่ ในเขตอำเภอรอบนอก ที่ยังคงเชื่อมั่นในจารีตของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งบอกกล่าวด้วยสีหน้าจริงจังว่า ถ้าทำอย่างนี้ต้องเสียผี เพราะเป็นความไม่ดีไม่งาม และไม่เหมาะสมเหมือนเช่นแถวบ้านเธอ พึงจะไม่กระทำ

เรื่องไม่ต้องยุ่งยาก

สำหรับสิ่งที่ไม่รู้ตัวตนของคนอื่น

ก็ต้องรับกันไปสำหรับการเสียผีในครั้งนี้

มองได้หลายแง่ คุยได้หลายมุม หากจะคิดเป็นเรื่องสนุกสนานปาก หรือข้อถกเถียงให้ชีวิตได้หัวเราะหยอกล้อเล่น กระทั่งนับเรื่องราวเหล่านี้ เป็นความจริงที่ชีวิตพึงตระหนัก และเตือนตนไว้ให้จงหนัก สำหรับโลกในความคิด กรอบคิดและวิธีทำความเข้าใจโลกที่อยู่แวดล้อม

สำหรับสังคมที่มอบขวัญและมอบมงคล

ให้กับชีวิตและสิ่งควรเคารพ

สำหรับการให้เกียรติ

และให้ความตระหนักถึงมงคลอันพึงกระทำ และสิ่งไม่มงคลอันมิพึงกระทำ จนแม้แต่ความเข้าใจโดยส่วนตัว ว่าจะเลือกประพฤติเช่นไร หรือเลือกเรื่องราวสถานการณ์ใด ต่อสิ่งที่เป็นบรรทัดฐาน ปทัสถาน จารีต ค่านิยม คำบอกกล่าว และคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เตือนลูกหลาน

 

 

จำได้บ้าง

หรือจำไม่ได้บ้าง

ก็ตามแต่ชีวิตจะคอยบอกกล่าว

กระทั่งความเชื่อขั้นพื้นฐาน ซึ่งฝังลึกอยู่ในจิตใจ ยามคิดใคร่ครวญถึงเป้าหมายชีวิต หรือแหล่งพักพิงของจิตวิญญาณ ยามจะดำรงอยู่แวดล้อมโลกซึ่งเล็กลง แม้ในยามอยู่เพียงลำพัง ก็จะนำสิ่งเหล่านี้ไว้คอยกำกับ หลายครั้งอาจล่วงเลย กลายเป็นหนึ่งคำบอกกล่าวลูกหลานตัวเอง

เพื่อนหลายคนที่หลงรักการเดินทาง

การก้าวย่างในแต่ละขุนเขา

ป่าหรือถิ่นแดนไกล

หลายคนเลือกหยิบข้าวหยิบมือ กับข้าวนิดหน่อย หรืออาจเป็นเทเหล้าหยดแรกของขวด เพื่อเลี้ยงชีวิตอันแวดล้อมราวป่า เลี้ยงทุกอย่างในความเคารพ และหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณที่เชื่อของตนเอง ก่อนจะกล่าวเชิญชวนยินดี สำหรับคำขอร้องขออาศัย อธิบายว่ามาขอพึงพิง

ใครว่าจะค้นหา

ว่าสิ่งนอกเหนือจากที่เห็น

หรือสิ่งเหนือการพิสูจน์เป็นเรื่องไม่จริง

ก็คงต้องค้นหากันต่อไป แต่สำหรับใครหลายคน ที่สามารถกระทำได้ในท่ามกลางความอบอุ่นใจ กระทำได้ในทุกความสุขใจของชีวิต หรือแม้แต่คิดถึงความงดงาม ยามได้มอบให้ ได้ทำให้ตามคำปู่ย่าตายายเคยบอกกล่าว สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของหัวใจ

หากจะยืนยันเพื่อค้นหาปรับเปลี่ยน

ในคำอันอบอุ่นใจยามนึกถึง

น่าจะเป็นส่วนสำคัญ

ที่ทำให้เราตระหนักในแต่ละคืนวัน ถึงรากเหง้าที่มาของชีวิต เหมือนเช่นเพื่อนบางคนยามกลับบ้าน ต้องเที่ยวเดินไปหาต้นไม้ขวัญของชีวิต ต้นไม้ใหญ่ซึ่งฝักรกฝังรากของชีวิตเขานับจากเกิด กระทั่งเมื่อเติบใหญ่ เดินทางกลับบ้านครั้งใด ความรู้สึกรับรู้ถึงรกราก จะเกิดขึ้นในทุกครั้ง

จะยึดมั่นไม่ยึดมั่น

ก็สุดแท้แต่หัวใจจะโลดแล่น

หรือคอยนำทางชีวิตของเราออกไป

ยามคิดได้ ว่าคำอบอุ่นใจเหล่านี้ ทำให้เรายิ้มขึ้นมาได้ ถึงน้ำเสียงของใครหลายคนในชีวิต ที่เคยบอกกล่าวคำนี้ไว้จดเราจำได้ขึ้นใจ ครั้งหนึ่งผมเคยได้ยินเพื่อนผู้หญิงที่สนิทกัน บ่นให้ฟังว่าถึงรายละเอียดเล็กเล็กน้อยน้อยของชีวิต บอกกล่าวติติงให้เพื่อนชายที่เป็นเกย์ฟัง ในขณะนั่งกินข้าวด้วยกันว่า ยายฉันเคยบอกว่า อย่าร้องเพลงตอนกินข้าว มันไม่ดี ยายฉันบอกว่า ถ้าทำแล้วจะได้ผัวแก่

หลังจากนั้น เนิ่นนานในทุกครั้งที่กินข้าวด้วยกัน

เธอมักจะได้ยินเสียงเพื่อนชายของเธอ

ร้องเพลงตอนกินข้าวทุกครั้ง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 186415เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2008 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สมัยเด็กยายสอนให้กินข้าวให้หมดเกลี้ยง ห้ามเหลือซักเม็ด..ในวันนี้เข้าใจแล้วคำว่า"ข้าวยากหมากแพง"คืออย่างนี้นี่เอง ดีนะที่เชื่อยายมาตลอด

หวัดดีค่ะ...

สนใจภาพประกอบค่ะ...

ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโรงพิมพ์

เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

สำหรับคำสอนต่าง ๆ ในสมัยก่อน

แม้จะรู้ว่าเป็นกุสโลบาย...แต่บางเรื่องก็น่าเชื่ออยู่เหมือนกันนะค๊ะ !!

ห้ามลบหลู่เด็ดขาด ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท