ฝายชะลอน้ำแห่งความทรงจำ


แรงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ ด้วยหัวใจอาสา

ในที่สุด ความมุ่งหวังที่จะได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ปรากฏขึ้นเป็นความจริงอีกครั้งหนึ่ง เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจของพระองค์ในการร่วมกันเริ่มต้นกระจายแนวคิดของการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน นั่นก็คือ โครงการทำฝายชะลอน้ำเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเราชาววิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพได้รับการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอย่างดี และความช่วยเหลือในการดำเนินกิจกรรม และการประสานงานตลอดโครงการจาก เครือซีเมนต์ไทย (SCG) และพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้

          

      

บันทึกการเดินทางของนนทรีผลิดอก

วันเวลาอันแสนเร่งรีบของเช้าวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2551 ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างยังเตรียมพร้อมไม่เต็มที่ เด็ก ๆ ต่างกระตือรือล้นที่จะมาช่วยงานอย่างเต็มที่ บางคนยังไม่ได้แต่งตัวมา บางคนก็แต่งตัวมาอย่างเรียบร้อย ของที่พวกเราต้องเตรียมไปมีไม่มากนัก แต่ต้องละเอียดเพราะเป็นการออกนอกพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมกับชาวบ้าน ก็ต้องมีการวางแผนกันสักหน่อย  พวกเราได้ความกรุณาจากวิทยาลัยและลุงคนขับรถเพื่อเอาของไปส่งที่สถานีรถไฟดอนเมือง ตอนเวลาบ่ายสองโมง เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มาถึงกันก่อนแล้ว สีหน้าทุกคนรู้สึกถึงความตื่นเต้น ส่วนตัวของผมเองตื่นเต้นมากกว่าพวกเขาเป็นไหน ๆ เพราะมันประกอบด้วยหลายเหตุปัจจัยคือ ประการแรก การที่เราจะได้ไปปฏิบัติกิจกรรมที่เราได้แรงบันดาลใจจากพ่อหลวงของเรา มันช่างเป็นแรงกระตุ้นให้เราต้องรีบไปให้ถึงที่หมาย ประการที่สอง กิจกรรมนี้เป็นการทำกิจกรรมกับเด็กใหม่ที่มีความท้าทายในความสามารถของผมและเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก มันมีแรงผลักดันให้ผมต้องทำอะไรสักอย่างในสถานการณ์ปัจจุบันที่เด็ก ต่างแสวงหาประโยชน์เพียงเพื่อตนเอง และประการสุดท้ายผมได้ห่างหายจากการนำคนไปออกค่ายอาสามาเป็นเวลาเกือบปี ไออุ่นของความรู้สึกแห่งความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมันช่างหอมกรุ่นไม่มีเสื่อมคลาย แต่ก็อย่างว่า เวลาในจุดเดิมอาจไม่เหมาะสมสำหรับตัวผมเอง กับคนคุ้นเคยซึ่งเริ่มห่างหายเสมือนคนไม่เคยรู้จัก มันทำให้ผมต้องลุกขึ้นสู้ด้วยวิธีการของผมบ้าง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นกรอบความคิดที่ผมสร้างขึ้นมา แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้พวกเขาได้สัมผัสกับกลิ่นอายของความเสียสละ การอยู่ร่วมกันอย่างเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้า การสัมผัสความสุขร่วมกัน  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันกำลังเล่นผ่านเข้ามาในหัวผมทุกขณะจิต

พาหนะที่จะนำเราไปสู่จุดหมาย "ม้าเหล็ก" ขบวนที่ 109 แล่นเข้าเทียบชานชาลาเกือบตรงเวลา บ่ายสามโมงนิด ๆ เราต้องเจออุปสรรคอย่างแรก นั่นก็คือการไปรอขึ้นรถผิดตู้จากรอตู้ที่ 11 ไปยังตู้ที่ 2 วิ่งกันอย่างเต็มที่ แต่เด็ก ๆ ก็ยังมีความรับผิดชอบและช่วยเหลือกันเอาของมาได้อย่างครบถ้วนไม่มีอะไรบกพร่อง

การนั่งรถไฟที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในรอบหลายปี และถือเป็นการนั่งรถไฟที่ยาวนานที่สุดของผมได้เริ่มเกิดขึ้น ผมรู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก เสียงรถไฟฉึกฉักที่ไม่คุ้นหูดูน่ารำคาญ มันกลับกลายเป็นเสียงที่ไพเราะจับใจยามได้ยิน หลังจากที่เด็ก ๆ ได้นั่งที่นั่ง เป็นตู้ชั้นสามอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ผมก็ต้องเดินฝ่าฟันกลุ่มชายฉกรรจ์ลำบึก กล่นเหล้าคลุ้งเมื่อต้องเดินผ่านนักศึกษาจากสถาบันหนึ่งที่กลับจากทำกิจกรรม ดูเป็นภาพที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเยาวชนไทยเลยแม้แต่น้อย  แต่ก็ยังมีสิ่งดีที่เกิดขึ้นในความคิด เพราะเด็ก ๆ จากวิทยาลัยของเราไม่ได้มีพฤติกรรมเช่นนี้ อีกสักพักผมก็เดินมาที่ตู้ที่ 11 ซึ่งเป็นตู้สุดท้ายของขบวน เป็นตู้นอน ซึ่งก็สร้างความสบายให้กับหลังของผมได้พอสมควร ด้วยความหวังดีที่จะให้เป็นที่คุยงานกัน และพักผ่อนก่อนที่จะเจอกับงานหนักข้างหน้าต่อไป

ระหว่างเดินทางผมพยายามหาของกินที่ผ่านไปมา แต่ทว่าในตู้นี้มักมีแต่ของทางรถไฟซึ่งมีราคาค่อนข้างมาก ประมาณ 70 บาทสำหรับอาหารตามสั่ง ซึ่งทำใจลำบากในการที่จะกินของเหล่านั้น ก็เลยรอไปก่อน จนกว่าจะถึงเวลาสมควร ก็มีอาหารกล่อง ๆ ละ 30 บาท ผ่านมาก็เลยซื้อไว้กินกัน มีเอ แคน ที่นั่งอยู่ด้วยกัน ได้กินข้าว ส้มโอครึ่งซีก 20 บาท แล้วก็น้ำเปล่าขวดละ 10 บาท(ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) ได้พอประทังความหิว และก็เหลือข้าวกล่องนึงซื้อเผื่อเจ้าต้น ก็นึกว่าจะกลับมากิน ก็เลยได้เป็นของกำนัลของเจ้านันไปเลย การเดินทางผ่านไปเรื่อย ๆ ผ่านสถานีรถไฟต่าง ๆ มากมาย พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เราได้ประชุมเตรียมงานกันสักครู่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเริ่มกางที่นอนออกให้กับพวกเรา ผมได้งีบหลับไปสักครู่ในช่วงประมาณเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งกว่า ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการพอสมควรจากการตรากตรำเตรียมงานมา และแล้วในที่สุดเราก็ถึงสถานีรถไฟนครลำปาง ตื่นเต้นมากอย่างบอกไม่ถูก ผมและเอ แคน นัน รีบกุลีกุจอเพื่อลงรถไปให้ถึงเด็ก ๆ ซึ่งอยู่ด้านหน้า เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย เวลาขณะนั้นโดยประมาณตีสาม ก็เป็นโชคดีที่เวลาไม่เกินจากกำหนดที่วางไว้มากนัก  เด็ก ๆ ทุกคนยังคงงัวเงียแต่สีหน้าเต็มไปด้วยความหวัง พวกเราถ่ายรูปกันทั้ง ๆ ที่สติยังไม่สมประดี งัวเงียเป็นที่สุด แต่เราก็ช่วยกันทำหน้าที่อย่างดี ของไม่ขาดตกบกพร่อง พวกเราทยอยออกจากสถานีรถไฟเพื่อพุ่งเป้าไปที่พาหนะที่ทางคุณ ดารณี ซึ่งเป็นผู้ติดต่อประสานงาน ได้กรุณาเตรียมไว้ให้เรา เราคาดว่ามันจะเป็นรถที่ไว้ใช้ขนทหาร แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เราได้พบกับรถปัสสภาพปานกลาง มีคุณลุงที่ยังไม่สูงวัยนักมารอให้การต้อนรับและช่วยเด็ก ๆ นำกระเป๋าขึ้นรถ ผมได้ถือโอกาสบอกลุงเขาว่าขอแวะ 7-11 สักครู่ เด็ก ๆ ทุกคนได้เริ่มเห็นค่าของร้านสะดวกซื้อมากขึ้นทุกขณะ มาม่าคัพยังคงเป็นที่ต้องการอันดับต้น ๆ ของรายการนี้ ไส้กรอกมาเป็นอันดับสอง นอกนั้นก็จะเป็นสบู่ผงซักฟอก ยาสีฟันของใช้ส่วนตัว เพราะผมให้เด็ก ๆ รับรู้ว่ามันกันดารมาก ๆ 555555

สถานที่ที่เราจะไปห่างจากสถานีรถไฟไปประมาณ  35 กิโลเมตร ระหว่างทางอันมืดมิดเราเห็นทางอันคดเคี้ยวขึ้นเขาอยู่เป็นระยะ แต่ลุงคนขับรถก็มีประสบการณ์ในการับรถเส้นทางนี้ดี เพราะก่อนหน้านี้ก็มีเด็กจาก ABAC มาก่อนหน้าเรา 2-3 วัน เราใช้เวลาประมาณสักสี่สิบนาที กำลังจะเคลิ้มหลับ ก็เข้ามาถึงบริเวณของ ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) เป็นที่เรียบร้อยอย่างปลอดภัย

เราดินทางมาถึง "เฮือนกาสะลอง" ประมาณเกือบตีสี่ มีพี่แม่บ้านสองคนออกมาให้การต้อนรับขับสู้อย่างเป็นกันเอง  งานนี้เรามีผู้ชายมา 23 คนและผู้หญิง 30 คน ได้แบ่งกันนอน ผู้ชายอยู่ด้านซ้ายมือของที่พัก ผู้หญิงอยู่ด้านขวามือ หลังจากที่ทุกคนเอาของเข้าที่พักซึ่งเป็นห้องโถงชั้นบนเห็นห้อง ๆ ชั้นล่างเป็นโถงโล่งกว้าง ผมก็ได้นอนตรงทางเข้าปราการด่านแรกของท่านชาย (เพราะที่อื่น ๆ ถูกจับจองหมดแล้ว) ได้นอนข้างโอเล่ และบอลตามลำดับ  ก่อนนอนก็เกือบเช้าเราก็มาประชุมทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อยโดยท่านประธานวุฒิ (วุฒิชัย แตกฉาน) ดูวุฒิยังใหม่กับงานนี้แต่ก็มีเพื่อน ๆ คอยเป็นกำลังใจ  เราทำข้อตกลงงดการนำโทรศัพท์ออกมาใช้ทุกคนเก็บโทรศัพท์ และยึดบุหรี่ไว้กับผม  นี่เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งแห่งการพัฒนาตนเองของการมาทำกิจกรรมครั้งนี้ ทุกคนให้ความร่วมมือ ไม่บ่นกันมากอย่างที่คิด ไม่มีเสียงโทรศัพท์ ไม่มีกลิ่นบุหรี่ นี่แหละเยาวชนของชาติที่แสนจะทรงคุณค่า

เสียงนกหวีดดังทะแม่ง ๆ ดังขึ้นสามครั้งเหมือนเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสา เหมือนกับเรายังไม่ได้นอนเลย แต่ก็ต้องมีภาระหน้าที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าอีกมากมาย เช้านี้เราจะเดินเท้าไปรับประทานอาหารเช้ากันที่ห้องอาหารและทำกิจกรรมกันที่อาคารเอนกประสงค์เพื่อจะมีพิธีเปิดการเข้าร่วมกิจกรรมของพวกเราชาววิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ พวกเรายังคงใส่เสื้อสีน้ำเงินตัวเดิม กลิ่นต่างๆ บ่งบอกถึงความเก๋า (ปนความเน่า) ของแต่ละคน ทุกคนดูสภาพอิดโรยเล็กน้อยแต่ก็ยังสู้

เราเดินเท้ากันมาถึงที่เรือนรับรอง เขาบอกว่าประมาณ 1 กิโลเมตร ตามทางก็เป็นธรรมชาติที่แสนจะน่าพิศมัย เราสูดอากาศได้เต็มปอดยาว ๆ หลายครั้ง สีเขียวทำให้อารมณ์แจ่มใสเบิกบาน ได้พบกับอาหารมื้อแรกของเรานั่นคือ "ข้าวต้มหมู" ซึ่งพี่ ๆ แม่ครัวได้จัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอ และมันก็สนองความต้องการของเราได้อย่างดี เพราะหิวมากกกกก

สำหรับสถานที่เรือนรับรองที่เรารับประทานอาหารกันนั้นก็มีมุมสวยงามมีห้องพักรับรอง มีน้ำตกมุมพักผ่อนหย่อนใจ สำหรับที่เรารับประทานอาหารก็เป็ฯโต๊ะจัดเป็นกลุ่มให้นั่งอย่างสะดวกสบาย อาหารที่เตรียมให้ไม่หรูหราแต่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและน้ำใจของคนทำ ผมเติมข้าวต้มไปรวมสามชาม ชาอีก 1 ถ้วย มันช่างเสริมสร้างพลังงานได้เป็นอย่างดีที่เดียว เราได้ปฏิบัติกิจกรรมการรับประทานอาหารเหมือนอยู่ค่าย แต่สิ่งที่เราไม่ได้ทำการล้างจานชามด้วยตนเอง ซึ่งเขาบอกว่าสถานที่ไม่อำนวยและคงไม่เหมาะที่เราจะมาทำเอง แต่ผมก็รู้สึกดีที่ได้ถามไป

เราเดินลัดเลาะเรือนรับรองมาเพื่อร่วมพิธีเปิดที่อาคารอเนกประสงค์ด้านข้างเรือนรับรอง ตรงนี้จะมีส่วนที่เป็นโรงยิมและส่วนที่เป็นการจัดนิทรรศการการสร้างฝายชะลอน้ำเฉลิมพระเกียรติตามแนวพระราชดำริ  เราได้พักถ่ายภาพกันครู่หนึ่งก่อนที่จะเข้าสู่ห้องประชุม

P1100193

ภายในห้องประชุมรับรองพิธีเปิดนั้น พวกเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้ติดต่อประสานงาน ก็คือพี่ดารณี ซึ่งคอยประสานงานกับคุณวีรยศที่ปูนใหญ่ มีพี่พี่อีกหลายคนที่มาร่วมกันต้อนรับ ซึ่งผมก็จำได้ไม่หมดหรอกนะครับ แต่อยู่ในสมุดบันทึก หลังจากได้ทำพิธีเปิดงานได้มีการบรรยายโดยพี่ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพี่เปิ้ล (คุณบวร วรรณศรี) ซึ่งมาแทนพี่หัวหน้าที่ติดภารกิจ  ท่านบรรยายให้ฟังเรื่องพระราชกรณียกิจของในหลวง และบอกว่า พวกเราเป็นลูกศิษย์ในหลวง เรามีอาจารย์คือในหลวงคอยสอนสิ่งต่าง ๆ เสมอมา นอกจากนี้ยังได้เล่าถึงเกร็ดของเครือ SCG คร่าว ๆ ว่า SCG จัดตั้งขึ้นด้วยเงินทุนส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน 1 ล้านบาทในปี 2456 โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ของรัชกาลที่ 6  โดยนำเข้าเครื่องจักรจากประเทศเยอรมันมาใช้ จากนั้นเป็นการบรรยายประเภทต่าง ๆ ของฝาย ซึ่งเราแบ่งได้ง่าย ๆ เป็น 3 ประเภท คือการสร้างฝายแบบผสมผสาน ซึ่งสามารถสร้างได้ง่าย ๆ เป็นหลายรูปแบบ เช่นชั้นเดียว สองชั้น (คอกหมู) หรือมากกว่าสองชั้นก็ได้  หรือแบบหินกอง  การสร้างฝายกึ่งถาวร และการสร้างฝายถาวร ซึ่งแต่ละแบบก็เหมาะสมกับพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป  เด็ก ๆ หลายคนนั่งฟังด้วยความตั้งใจ  ส่วนผมก็ฟังบ้างง่วงบ้าง เพราะได้นอนไปไม่เกิน 2 ชั่วโมง ท้ายที่สุดก็มีการตั้งคำถามและมอบเสื้อให้กับนักศึกษา เป็นเสื้อสีเหลืองประทับตรา SCG ก็สวยครับ แต่เขาไม่ให้อาจารย์ ก็เลยอดครับ แต่ที่ผมได้รับมาก็คือ DVD น้ำคือชีวิตที่ได้มาซึ่งจะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

หลังจากเสร็จภารกิจในห้องประชุมเราก็จัดการแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่มย่อย โดยผมให้คณะกรรมการนักศึกษาของคณะบริหารธุรกิจออกไปปฏิบัติภารกิจของคณะ ก็มีประมาณ 5 คนครับ ที่เหลือก็แบ่งกลุ่มกันออกไป ส่วนผมก็ได้อยู่กลุ่มที่ 5 กลุ่มเดียวกับแพท นัน แล้วก็เด็ก ๆ อีก 5 คนรวมเป็น 8 คน กลุ่มเราเป็นกลุ่มที่คนน้อยที่สุด แต่ฝายใหญ่มากกก แต่ก็ไม่หวั่น ก่อนที่เราจะทำงานเราก็รับประทานอาหารร่วมกันเป็นข้าวห่อ เป็นผัดพริกหมู รสชาติก็อร่อยดีครับ อิ่มดีด้วย จากนั้นเราก็ลงมือทำกันอย่างเข้มแข็ง เป็นการออกเดินทางทำงานครั้งแรกที่ค่อนข้างจะหนักหนาพอสมควร พี่ ๆ ที่คอยช่วยเหลือเรามี 3 คนคือ พี่กลยุทธ สมานวงษ์ (พี่เป็ด) พี่สินชัย สุวรรณศร (พี่สิน) และพี่อรรณพสุมา (พี่นพ) มาเป็นผู้แสดงฝีมือตั้งแต่การตัดไม้ไผ่ การแปรสภาพไม้เพื่อนำมาปักเป็นฝายชะลอน้ำ พี่เขาบอกว่าฝายของเรามันค่อนข้างใหญ่ ยาวเกือบสองเมตรครึ่ง เราต้องช่วยกันแบ่งงานกันทำ ไม่ว่าจะเป็นการโกยทรายเข้าถุง การเตรียมพื้นที่ในการทำฝาย การเตรียมไม้ หาไม้มาทำหลักและไม้วางนอนขวางเพื่อให้เกิดความแข็งแรงของฝาย จากนั้นเราก็นำไม้ที่จัดให้สั้นหน่อยมาใช้ค้อนปอนด์ตอกลงไปให้แน่นแล้วใช้ลวดมามัดเข้าให้แข็งแรง อากาศค่อนข้างร้อนและเหงื่อออกตลอดเวลา แต่ทุกคนยังคงมุ่งมันในการทำงานต่อไป  น้ำที่ใช้ดื่มเป็นน้ำของ SCG ขวดขนาด1 ลิตร ก็ถือเป็นน้ำดื่มที่ดูมีคุณภาพและน่าจะมีต้นทุนต่ำด้วยสำหรับการทำกิจกรรมของ SCG ในครั้งนี้ และยังถือเป็นโครงการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม CSR ที่กำลังได้รับความนิยมกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปตท. หรือกระทิงแดง เป็นต้น

 

เราใช้เวลาสักประมาณ 3 ชั่วโมงจนกว่าเราจะเสร็จภารกิจในการจัดทำฝายชะลอน้ำครั้งแรกในชีวิต แล้วก็ได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกครับ

 เมื่อเดินทางกลับมาถึงที่พัก ทาง  พี่ ๆ SCG ผู้ใจดีก็ได้เตรียมของว่างมาให้พวกเราที่หน้า เฮือนก๋าสะลอง เป็นผลไม้ใส่ถุงพลาสติกไว้ให้ จำไม่ผิดน่าจะมีมะม่วงและสับปะรด แกล้มกับน้ำอัดลม พวกเราได้ช่วยกันเสริฟตนเอง และช่วยกันเก็บเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนพี่ ๆ มากจนเกินไป มีพี่ท่านหนึ่งช่วยแจ้งเราว่ามีสนามบอลและโณงยิมที่สามารถพักผ่อนหย่อนใจได้ ซึ่งก็คือที่เราไปรับประทานอาหารเช้ากันนั่นเอง ก็คือต้องเดินไปประมาณ 2 กิโลเมตรครับ แต่ด้วยความใจสู้และอยากพักผ่อนหย่อนใจเราก็เลยตั้งใจว่าจะไปเล่นกัน แต่ก่อนที่จะไปเล่นนั้น ต้องเข้าไปช่วยคณะกรรมการคณะบริหารธุรกิจที่ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมจำนวน 5 คน ที่รออยู่ที่นี่เพื่อเขียนโครงการกัน เข้าไปดูแล้วเขาก็ตั้งใจทำงานกันอย่างขมีขมัน ได้ 2-3 โครงการแล้ว ก็เลยไปพักผ่อนตรงที่นอนได้สัก 15 นาที แล้วก็เลยเดินไปที่สนามกีฬากัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 186409เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2008 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วันสิ่งแวดล้อมโลก : 5 มิถุนายน ของทุกปี

3331

ผมรู้สึกมีความสุขกับความความเหนื่อยที่ยังแฝงด้วยแรง และพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่

ตอนนี้ความรู้สึกนั้นมันยังอยู่กับผม และจะเพิ่มเมื่อผมได้ทำ.......และทำไปเรื่อยๆ

สวัสดีค่ะอาจารย์

หายไปนานเลยนะคะ

1 ธค 51 พี่หนิงคงต้องไป วิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ อีกแล้วหละ  อิอิ

ต้องการเข้าร่วมการทำฝายชะลอน้ำ โดยมีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลานคนที่จะทำโครงการ และได้มองเห็นว่าโครงการนี้ดี เหมาะกับการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ต่อธรรมชาติ ซึ่งตรงกับประเด็นของโครงการที่นักศึกษาต้องการจะทำ จึงเรียนมาเพื่ออยากจะขอเข้าร่วมกิจกรรม ของโครงการนี้ ถ้าไงก็ขอให้ติดต่อตามอีเมลที่ให้ไว้ หรือ0875255537

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท