เรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิด และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ห้องเรียน ตอนที่ ๑


คุณภาพของผู้เรียนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษา

ตอนที่ ๑

คุณภาพของผู้เรียนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษา ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับต้องยึดถือเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติงาน ซึ่งหากการพัฒนาผู้เรียนของทุกฝ่ายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ภายใต้การดำเนินงานอย่างจริงจัง เป็นระบบ ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพการศึกษาตามที่พึงประสงค์

คนที่มีคุณภาพในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดอย่างเป็นระบบ สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ในการดำเนินชีวิต ซึ่งคุณลักษณะที่พึงประสงค์เหล่านี้ปรากฏในมาตรฐานการศึกษาชาติ ที่จำเป็นต้องปลูกฝังให้ผู้เรียนบรรลุผล และเป็นกรอบในการประเมินผลการจัดการศึกษาของหน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานภายนอก แต่..จากการประเมินคุณภาพของเด็กไทยที่ผ่านมา พบว่า ผลยังไม่น่าพึงพอใจ (ผลมันน่าตกใจเสียมากกว่า)ดังนั้น ผมจึงขอเสนอการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาครูผู้สอนให้มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ ภายใต้บรรยากาศเชิงบวก เสริมการเรียนรู้ การใช้คำถามนำการคิด นำการเรียนรู้ การกำหนดกิจกรรมนำสู่ผลการเรียนรู้ระดับสูง โดยใช้วิธีการประเมินคุณภาพผลงานจริง เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดติดตัวไป คิดเป็น คิดดี และมีกระบวนการคิด โดยจะนำเสนอผ่านบล็อค G๒K แห่งนี้   คอยติดตามเป็นตอนๆนะครับ สำหรับคุณครูที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนทั้งหลาย

อาจารย์เก

หมายเลขบันทึก: 185950เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อาจารย์เก ....ไม่ใช่อาจารย์เกเรแน่นอน เพราะมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียนที่น่าสนใจ หวังว่าในตอนต่อ ๆ ไป คงจะเห็น BP ทั้งของท่านและของคุณครุนะคะ

สวัสดีคะ อาจารย์เก ก้ามปูจะรอศึกษานะคะ ขอบคุณมากนะคะ สำหรับคำแนะนำ และ กำลังใจที่มอบให้ึคะ

สวัสดีครับ พี่หวาน พี่ศน.โคราช ดีใจที่เข้ามาเยี่ยมศน.แม่ฮ่องสอน คนชายแดน ผมคิดได้ว่ามีวิธีนี้วิธีเดียวสำหรับบทบาทหน้าที่เรา ที่จะเปลี่ยนเด็กไทยได้ คือ การพัฒนาครูเพื่อปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เพื่อไปสู่ "การสร้างเด็กคุณภาพ" 1. เปลี่ยนให้เป็นคนคุณภาพ (เด็กคุณภาพ ไปสู่ประชากรคุณภาพ) 2. เปลี่ยนให้คิดเป็น คิดถูก เห็นคุณค่าศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมกันอนุรักษ์และสืบสาน 3. เปลี่ยนให้คิดเป็น คิดถูก มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นนักการเมืองที่ดี ไม่สร้างปัญหาในระบบการเมือง 4. เปลี่ยนให้คิดเป็น ทำเป็น เป็นประชากรคุณภาพ ที่พึ่งพาตนเองได้ ไม่ยึดติดอยู่กับกระแสทุนนิยม ผมจึงอยากสะท้อนไปถึงครูผู้สอน ทั้งๆที่รู้ว่ามันยากที่จะปรับเปลี่ยนคุณครูเหล่านั้น แต่ก็ยังพอมีความหวังสำหรับครูที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้จักเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่เสมอ อย่างน้อยครูที่เป็นสมาชิก G2K เพราะเขาเหล่านั้น คือนักจัดการความรู้ หรือผู้ที่อยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ จึงยังพอมีความหวัง แม้จะน้อยนิดก็ตาม อาจารย์เก

คุณก้ามปูครับ ทั้งๆที่เป็นพยาบาล ยังอุตส่าห์สนใจเรื่องการเรียนการสอน สมควรเป็นนักเรียนรู้จริงๆ ในพื้นที่ของหนูก้ามปู มีความเสี่ยงเรื่องปัญหาทางภาคใต้บ้างหรือเปล่าครับ ถ้ามี ขอให้หนูเอาชุมชนเป็นเกราะกำบังนะ เข้าให้ถึง พึงปฏิบัติต่อเขาด้วยจิตสาธารณะ แล้วหนูจะเป็นที่รักของคนทุกคน โชคดีครับ ด้านชุมชนหากหนูมีปัญหาสิ่งใดก็ขอให้ถามมา แล้วลุงจะหาคำตอบให้ ลุงเก

พี่หวานค่ะ...รายงานตัวดึกหน่อย

ด้วยงานของ ศน. ก็ต้องมีส่วนร่วมกับงานเพื่อน ศน.ด้วยกัน วันนี้เป็นวันแรกของการเข้าค่ายคุณธรรมของนักเรียนช่วงชั้นที่ 4 กว่าจะกลับถึงบ้านก็เกือบที่ทุ่มแล้ว โดยหน้าที่แล้วเราน่าจะต้องค้างคืนที่วัดเช่นเดียวกับนักเรียนและคุณครู แต่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องดูแลพ่อแม่ที่ชราแล้ว จึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของโครงการอยู่โยงเป็นเพื่อนคุณครูและนักเรียน

ร่ายยาวเรื่องส่วนตัวจบ ก็ต้องแวะเข้ามาเรื่องวิชาการเสียบ้าง น่าสนใจนะเรื่อง"การพัฒนาครูเพื่อไปสร้างเด็ก" จะพัฒนาครูในเรื่องอะไรก็อย่าลืมพัฒนาจากฐานความรู้เดิมของครู ยึดครูเป็นศูนย์กลาง คิดไว้เสมอว่าครูทุกคนมีฐานความรู้เดิมในเรื่องที่เราจะพัฒนาอยู่ทุกคน ทำอย่างไรเราจะดึงฐานความรู้เดิมหรือความรู้ที่ฝังลึกของครูออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แล้วจึงขายความรู้ใหม่ให้ครูนำไปผสมผสานกับความรู้ที่ครูเขามีอยู่ แล้วนำไปจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ได้ผลเป็นอย่างไร ก็ให้ครูนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีก เป็นการต่อยอดความรู้แบบไม่รู้จบ

คิดว่าการพัฒนาครุต่อไปนี้ไม่น่าจะเป็นการอบรมโดยวิทยากรมาพูดทฤษฏีให้ครูฟังอย่างเดียว ลองเปลี่ยนมาตั้งวงคุยกันในเรื่องที่เราต้องการพัฒนาครู ให้ครูเล่าประสบการณ์ที่เขาเคยสอนสู่กันฟัง นำสิ่งที่มาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อนำไปปรับใช้ในบริบทของแต่ละโรงเรียน นำกลับไปใช้สักระยะหนึ่ง แล้ว ศน. ก็นัดครูมาตั้งวงคุยกันอีก องค์ความรู้น่าจะเกิดการต่อยอดไปเรื่อย ๆ

ดีใจที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ "ลุงเก" ค่ะ และขอปรบมือให้ ศน.มืออาชีพ

สวัสดีครับท่านอาจารย์เก

  • ดีครับ จะได้แนวทางในการพัฒนาครูที่ดีครับ
  • จะรอรับความรู้จากอาจารย์เกครับ
  • ขอบคุณครับ
นายประเสริฐ ประดิษฐ์

เรียนพี่หวานครับ การเข้าค่ายคุณธรรมที่แม่ฮ่องสอน เขต 1 จัดเสร็จไปนานแล้ว ผมก็ได้เช้าไปร่วมจัดในเขตอำเภอเมือง เราใช้สถานที่วัดพระธาตุดอยกองมู และมีพระองค์หนึ่ง ซึ่งเก่งมากทำหน้าที่วืทยากรกระบวนการ สำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการคิดนั้น เริ่มต้นผมกำลังจะแก้กระบวนการคิดของครูเองเสียก่อนที่เกี่ยวกับการสอน ครูเราส่วนใหญ่ไม่ชาชินในการใช้เทคนิคการสอนที่เน้นกระบวนการคิด ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด ไม่กำกับการคิดของผู้เรียน ไม่รู้จักใช้คำถามกระตุ้นการคิด เป็นลักษณะการครอบงำเด็ก แถมยังยึดติดว่า เด็กต้องเรียนรู้จากครู เพราะครูเป็นครู ถ้าเราเปลี่ยนความเชื่อของครูยังไม่ได้ เราก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ที่พี่หวานแนะนำมาก็คือกระบวนการ KM เป็นกระบวนการหลักและกระบวนการสำคัญในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาครูครับ ผมก็จะปฏิบัติตามนั้น ผมใช้วิธีพูดคุยกันภายใน สำหรับโรงเรียนที่ผมรับผิดชอบ แล้วเรามาพบกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวันเสาร์ ณ ห้องประชุมกลุ่มนิเทศฯ เรียนรู้ร่วมกันแบบไม่เป็นทางการครับ อบอุ่นโดยการเรียนรู้จากกันและกัน ผมกำลังทดลองใช้กระบวนการนี้อยู่ครับพี่ อาจารย์เก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท